''เอนก'' แนะรัฐเบรกชุมชนพอเพียง ตั้งองค์กรบริหารใหม่ปลอดการเมือง

''เอนก'' แนะรัฐเบรกชุมชนพอเพียง ตั้งองค์กรบริหารใหม่ปลอดการเมือง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ปัญหาการทุจริตในโครงการเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับชุมชน (สพช.)หรือ โครงการชุมชนพอเพียงฯ กว่า 8,000 ล้านบาท จากจำนวน 30,000 ชุมชน เพื่อจัดซื้ออุปกรณ์สร้างรายได้ให้ชุมชน อาทิ ตู้หยอดน้ำแผงโซลาร์เซลล์ เครื่องผลิตปุ๋ยอินทรีย์และก๊าซชีวภาพ และเครื่องผลิตไบโอดีเซล ที่แพงเกินจริงหลายเท่า วันนี้กำลังจะกลายเป็นระเบิดเวลาลูกใหญ่ที่ถล่มเข้าใส่รัฐบาล

แม้ว่าล่าสุดจะมีการแต่งตั้ง นายมีชัย วีระไวทยะ เป็นประธานบริหารโครงการแทน นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี ที่ประกาศลาออกเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม ที่ผ่านมา แต่กระแสสังคมยังจับตาการเข้ามาสะสาง และการขับเคลื่อนงานชุมชนของ ประธานบอร์ด สพช. คนใหม่ จะทำให้ชุมชนพอเพียงได้ตามที่รัฐบาลประกาศ เป็นวาระเร่งด่วน เพื่อประชาชนได้จริงหรือไม่

กรณีดังกล่าว ฐานเศรษฐกิจ ได้สัมภาษณ์ นายเอนก นาคะบุตร อดีตผู้อำนวยการโครงการกองทุนเพื่อการลงทุนทางสังคม ได้สะท้อนแนวคิด ปัญหาและแนะทางออกให้รัฐบาลพิจารณา

+แนะเบรกโครงการไว้ก่อน

จุดอ่อนของโครงการ สพช.คือ การเมืองใช้อำนาจเป็นผู้ตั้งได้ แต่ไม่ควรมานั่งบริหาร เพราะจะหนีไม่พ้นว่าทำเพื่อผลประโยชน์ แทนที่จะเป็นวาระประชาชนหรือวาระแห่งชาติอย่างที่เคยประกาศออกมาก่อนหน้านี้ สิ่งสำคัญที่สุดคือ วันนี้รัฐบาลกำลังเอาสิ่งที่มีคุณค่าที่สุด ปรัชญาที่ดีที่สุด เป็นของบุคคลที่สำคัญที่สุด มาทำให้เป็นแบรนด์ทางการเมือง คิดว่าไม่ควร รัฐบาลกำลังใช้คำนี้เป็นแบรนด์เพื่อซ่อนเร้นการทำงานของรัฐบาล โดยเงินก้อนนี้ไม่ได้ลงไปที่ชุมชน ไม่ได้ไปสร้างผู้ประกอบการ ไม่ทำให้มีการแลกเปลี่ยนสินค้า ไม่ได้เข้าไปสร้างขีดความสามารถในการจัดการฐานชีวิต และทรัพยากรของชุมชนแต่อย่างใด ผมเสนอว่าให้หยุดทันที

หากไม่หยุดภาพที่จะเกิดขึ้นตามมา ก็คือ จะได้เห็นภาคประชาสังคม และภาคประชาชนจะออกมาต่อต้านภาคการเมือง เพราะเห็นว่ารัฐบาลกำลังเดินทางผิด ไม่บอกสิ่งที่เกิดขึ้นจริงกับประชาชนให้รับทราบ โดยเฉพาะสถานการณ์โลกที่กำลังตกต่ำลง

สิ่งที่รัฐบาลต้องทำขณะนี้คือ ต้องหยุด ไม่ใช่ออกมาแก้ตัวไปวันๆ ที่สำคัญวิกฤติเศรษฐกิจโลกมันจะรุนแรงกว่านี้มาก ผมยังไม่เคยเห็นความยากจนที่เกิดขึ้นในรอบ 40 ปีตั้งแต่ทำงานเป็นนักศึกษาจนถึงวันนี้ ประชาชนมีหนี้สินล้นพ้นตัว สิ่งที่เห็นก็คือ ทุนทางสังคมยังมีอยู่ แต่ทุนทางทรัพยากรกำลังถูกไล่ล่าอย่างที่เห็น ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นทุกคนจะไม่มีความหวังเหลือ แต่

แบรนด์นี้ที่ทำให้ทุกคนรู้สึกเข้าถึงได้ มีความศรัทธาที่ยึดต่อพระองค์ท่านร่วมกัน

ส่วนการเปลี่ยนตัวบุคคลบริหารโครงการ ไม่ว่า คุณมีชัย หรือใครก็ตาม มิใช่การแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น เนื่องจากมองว่า คุณมีชัย ยังต้องทำงานรับคำสั่งจากภาคการเมืองซึ่งเป็นระบบเดิม รัฐบาลวิเคราะห์ตัวเองยังไม่ขาด ยังคงใช้โครงสร้างการบริหารงานระบบเดิมอยู่

+เสนอออกก.ม.ตั้งองค์กรใหม่

สำหรับแนวทางการแก้ปัญหาที่รัฐบาลควรเร่งดำเนินการทันทีนั้น ถ้าจะทำต่อต้องผ่าตัดใหญ่ ทั้งสมองและหัวใจ แล้วเปลี่ยนโครงสร้างการบริหาร ต้องทำให้ออกจากการเมืองให้เร็วที่สุด โดย 1.ต้องแก้ให้เป็นวาระแห่งชาติก่อน โดยรัฐบาลต้องรีบร่าง พ.ร.บ. เพื่อจัดตั้งเป็นองค์กรอิสระมหาชนมาขับเคลื่อน เพื่อทำให้เกิดความต่อเนื่องในระยะยาว

2.โครงสร้างการบริหารจัดการต้องปรับเปลี่ยนใหม่หมด ไม่ให้นักการเมืองมาบริหารแต่ต้องผสมกันเป็นพหุภาคี ที่สามารถทำงานเป็นอิสระจากฝ่ายการเมือง 3.เสริมระบบที่ขาด คือ ระบบสร้างความเข้าใจให้กับประชาชน โดยใช้สื่อที่มีอยู่ โดยเฉพาะสื่อท้องถิ่นที่มีทั้งวิทยุชุมชนและเคเบิลทีวี ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลยังไม่ได้ใช้จุดนี้เลย

นอกจากนี้ให้ภาคประชาชนที่มีความเข้มแข็งแล้วเข้ามามีส่วนร่วม มีกระบวนการตรวจสอบลงไปกำกับดูแลอีกครั้งหนึ่ง พร้อมติดตามผลที่ต้องอิสระด้วย ในระดับท้องถิ่นมีการตั้งคณะกรรมการทำงานระดับท้องถิ่น อำเภอ และจังหวัด มีการรายงานและประเมินผลจากภาคอื่นๆที่ไม่ใช่ภาคการเมือง ซึ่งที่ผ่านมาเป็นการรายงานผลมาจากภาคการเมืองทั้งหมด ติดตามสิ่งที่ทำสำเร็จเป็น Best Practice ( กรณีศึกษาที่ดีที่สุด ) ออกสื่อ นำมาเปิดเผยข้อมูลให้รับรู้ในวงกว้าง

+ เปิดช่องเอกชนเป็นแนวร่วม

ผมว่าให้หยุด 3 เดือน ระหว่างนี้ให้สถาบันที่น่าเชื่อถือหลายๆแห่ง อาทิเช่น มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยราชภัฏที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ลงไปประเมินผลงานโครงการ และจุดอ่อนที่เกิดขึ้น เพราะถ้าให้นักการเมืองประเมินกันเองก็จะคล้ายกับ กองทุนหมู่บ้าน ที่ออกมาบอกว่า หนี้ไม่เสีย เพราะบังคับให้ชาวบ้านมาใช้หนี้ และสร้าง พ.ร.บ. จัดตั้งองค์กรอิสระมหาชนขึ้นมาโดยเร็ว ซึ่งไม่ยาก เพื่อให้เรื่องนี้ออกจากการเมืองและมีความชอบธรรม ตั้งคณะทำงานที่ดีขึ้นมากำกับดูแล ไม่ใช่แค่ 3 แกนอย่างตอนนี้ คือ ภาคการเมือง กับภาคราชการนั่งเป็นหัว และบัญชาการโดยนักการเมือง ซึ่งไม่รู้ว่าอีก 2 เดือนข้างหน้าจะอยู่หรือไม่

ทั้งนี้ เสนอว่า ทั้ง 2 โครงสร้างควรเป็นโครงสร้างผสม โดยระบบการบริหารให้กระจายอำนาจลงไปทุกจังหวัด จัดโครงสร้างคณะกรรมการที่จังหวัด อำเภอ และชุมชน ใช้พลังสื่อ พลังวิชาการทางภาคประชาสังคมและภาคธุรกิจเอกชนที่ทำงานเพื่อสังคม และมีศักยภาพอยู่แล้วให้เข้าเป็นแนวร่วมในการพัฒนาชุมชน กับชาวบ้านในโครงการชุมชนพอเพียง

+ติงรัฐไม่เข้าใจภาคประชาชน

ปัญหาของรัฐบาล คือ ยังขาดจิตสำนึกจิตวิญญาณ ความเข้าใจยังไม่ลึกซึ้งพอทั้งระดับนโยบาย ระดับปฏิบัติการ และภาคประชาชน ซึ่งยังมีความเข้าใจไม่ถึง 1 ใน 5 ของทั้งประเทศ ต้องแก้ไขโครงสร้างที่ยังเป็นระบบปิดอยู่ พร้อมกับกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่น หากใช้โครงสร้างเดิมที่มีปลิงเกาะอยู่แล้ว 3-4 ชั้นย่อมไม่เกิดประโยชน์ ที่สำคัญทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลไม่ควรนำเรื่องนี้มาเป็นเกมทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นระดับล่างจนถึงระดับชุมชน

ดังนั้น รัฐบาลต้องทำให้เป็นวาระแห่งชาติก่อน ไม่ใช่วาระการเมือง และไม่ควรทำเรื่องนี้เข้าสู่สภา เพื่อล้มล้างกันเอง ไม่มีการซักฟอกกันในสภา เพราะไม่ใช่เรื่องของการเมืองที่จะนำมาแย่งชิงฐานเสียงและสร้างประชานิยม เพราะเรื่องนี้เป็นของสูง แต่ควรตั้งทีมนักวิชาการลงไปตรวจสอบ และประเมินผลงาน ปรับโครงสร้างใหม่ ให้การเมืองเป็นแกน แต่มีฝ่ายประชาสังคม ภาคนักวิชาการเข้ามาทำงาน ทำให้เป็นระบบเปิด ด้วยการกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่น

วันนี้ชาวบ้านสงสัยว่า สิ่งที่เสนอไปทำไมไม่ได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook