พ.ร.ก.กู้เงิน คืออะไร เข้าใจให้ถูก! ก่อหนี้ 1.9 ล้านล้านหรือไม่ หลังเข้าสภาฯ พิจารณาวันนี้

พ.ร.ก.กู้เงิน คืออะไร เข้าใจให้ถูก! ก่อหนี้ 1.9 ล้านล้านหรือไม่ หลังเข้าสภาฯ พิจารณาวันนี้

พ.ร.ก.กู้เงิน คืออะไร เข้าใจให้ถูก! ก่อหนี้ 1.9 ล้านล้านหรือไม่ หลังเข้าสภาฯ พิจารณาวันนี้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สแกนกันชัดๆ พ.ร.ก. 3 ฉบับ วงเงินรวม 1.9 ล้านล้านบาท ที่สภาผู้แทนราษฎรจะเริ่มพิจารณาในวันนี้ มีความสำคัญและจำเป็นอย่างไรที่รัฐบาลต้องนำมาใช้

วันนี้ (27 พ.ค.) การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 1 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1) เป็นพิเศษ จะมีการพิจารณาพระราชกำหนดเยียวยาผลกระทบจากโรคโควิด-19 จำนวน 3 ฉบับ วงเงินรวม 1.9 ล้านล้านบาท รวมถึงพระราชกำหนดว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2563 และร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย 8.8 หมื่นล้านบาท มาช่วยเยียวยาผลกระทบจาก COVID-19

ทั้งนี้ โฟกัสที่น่าสนใจจะอยู่ที่ตัว พ.ร.ก. 3 ฉบับ ซึ่งมีวงเงินรวมทั้งสิ้น 1.9 ล้านล้านบาท ซึ่งเมื่อวันที่ 7 เมษายน ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระยะที่ 3 โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1. พ.ร.ก.กู้เงินเพื่อการเยียวยาและดูแลเศรษฐกิจ วงเงิน 1 ล้านล้านบาท 

ประกอบด้วย 2 มาตรการย่อย คือ

1.1 แผนงานสาธารณสุขและแผนงานเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ วงเงินรวม 6 แสนล้านบาท

  • เยียวยาประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการ วงเงิน 555,000 ล้านบาท
  • ดูแลด้านสาธารณสุข วงเงิน 45,000 ล้านบาท

1.2 แผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม วงเงินรวม 4 แสนล้านบาท

โดยครอบคลุมโครงการดูแลสนับสนุนเศรษฐกิจในพื้นที่ ได้แก่ สนับสนุนและสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจชุมชน และสนับสนุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในระดับพื้นที่

2. พ.ร.ก.ให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทยออก Soft Loan เพื่อดูแลภาคธุรกิจ โดยเฉพาะ SMEs วงเงินรวม 5 แสนล้านบาท 

ประกอบด้วย 2 มาตรการย่อย ได้แก่

2.1 สินเชื่อใหม่ 5 แสนล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 2% สำหรับ SMEs ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 500 ล้านบาท วงเงิน 5 แสนล้านบาท

2.2 ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ พักชำระหนี้ (ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย) เป็นเวลา 6 เดือน ให้ SMEs ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาท

3. พ.ร.ก.ดูแลเสถียรภาพภาคการเงิน วงเงิน 4 แสนล้านบาท 

จัดตั้งกองทุนรวม Corporate Bond Liquidity Stabilization Fund หรือ BSF และให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซื้อขายหน่วยลงทุนในกองทุนดังกล่าว

3-loan-decrees

อย่างไรก็ตาม นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กระทรวงการคลัง เคยโพสต์แจกแจงรายละเอียดของ พ.ร.ก. ทั้ง 3 ฉบับ ด้วยการยกเป็น 6 ประเด็นคำถามเอาไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้

1. รัฐบาลกู้ 1.9 ล้านล้านบาท จริงเหรอ?

คำตอบคือ ไม่จริง พ.ร.ก.ที่รัฐบาลออกมา มีอยู่ 3 ฉบับ แบ่งเป็น 1. พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท 2. พ.ร.ก.Softloan 500,000 ล้านบาท และ 3. พ.ร.ก.Bond Stabilization Fund BSF 400,000 ล้านบาท

แม้ว่าถ้าบวกกันจะมีมูลค่ารวม 1.9 ล้านล้านบาท แต่มีเพียง พ.ร.ก.ฉบับที่ 1 ฉบับเดียวเท่านั้นที่จะใช้เงินกู้ ส่วนอีก 2 ฉบับ เป็นการใช้สภาพคล่องของ ธปท. ดังนั้น การบอกว่ารัฐบาลกู้เงิน 1.9 ล้านล้านบาท เป็นการเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง

2. รัฐบาลจะกู้เงินจากที่ไหน?

คำตอบคือ รัฐบาลมีเครื่องมือในการกู้เงินทั้งเครื่องมือระยะยาว เช่น การขายพันธบัตร ตั้งแต่อายุ 5-50 ปีให้นักลงทุนสถาบัน การขายพันธบัตรออมทรัพย์ให้ประชาชน การกู้จากองค์การระหว่างประเทศหรือสถาบันการเงินระหว่างประเทศ และเครื่องมือระยะสั้น เช่น การออกตั๋วเงินคลัง การกู้เงินผ่านสถาบันการเงินในรูป PN หรือ Term loan ซึ่งภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาทนี้ ก็จะกระจายการกู้เงินไม่ให้กระจุกตัวอยู่ในเครื่องมือใดเครื่องมือนึงเป็นการเฉพาะ

3. รัฐบาลกู้เงินมา 1 ล้านล้านบาทแล้วหรือยัง?

คำตอบคือ ยังไม่ได้กู้​ รัฐบาลจะทยอยกู้เงินตามความต้องการใช้เงิน ซึ่งในขณะนี้มีเพียง 2 โครงการเท่านั้น ที่ได้รับอนุมัติให้ใช้เงินกู้ คือ การเยียวยาประชาชน และเกษตรกร

โดยเมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2563 ได้ทำการกู้เงินไปแล้ว 170,000 ล้านบาท ผ่านตั๋วสัญญาใช้เงินและพันธบัตรออมทรัพย์ เครื่องมืออื่นจะทยอยตามมา

4. จำเป็นต้องกู้ทั้ง 1 ล้านล้านบาทไหม?

คำตอบคือ อาจจะไม่จำเป็น ทั้งนี้ จะต้องกู้เป็นจำนวนเท่าไร ขึ้นอยู่กับความจำเป็นในการใช้เงิน ถ้า COVID-19 ทำให้เศรษฐกิจฟุบนาน งบประมาณปี 2564 ใช้ไม่เพียงพอในการดูแลประชาชนและเศรษฐกิจ ก็อาจจะต้องกู้จนครบจำนวน 1 ล้านล้านบาท แต่ถ้าพวกเราช่วยกันแล้วคุมโรคอยู่ ทุกๆ อย่างค่อยๆ ผ่อนคลาย เศรษฐกิจเริ่มหมุน คนกลับมามีรายได้ เงินงบประมาณ 2564 ดูแลได้อย่างเพียงพอ ก็อาจจะไม่ต้องกู้จนครบ 1 ล้านล้านบาทก็เป็นได้

5. เมื่อกู้ครบ 1 ล้านล้านบาทแล้ว สภาวะหนี้ของรัฐบาลจะเป็นอย่างไร?

คำตอบคือ จากการประมาณการ หากต้องกู้เงินครบ 1 ล้านล้านบาท ภายใน 30 กันยายน 2564 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่จะสามารถกู้ได้ตาม พ.ร.ก.ฉบับนี้ คาดว่าหนี้สาธารณะของไทย ณ 30 กันยายน 2564 จะอยู่ที่ 57.96% ของ GDP ซึ่งยังอยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลังที่ประกาศกำหนด Debt/GDP ไว้ที่ 60%

อย่างไรก็ดี Debt/GDP ที่ระดับ 60% นี้ เป็นระดับหนี้พึงมีในสภาวการณ์เศรษฐกิจที่ปกติ แต่ในสภาวการณ์ที่ไม่ปกติ หากมีความจำเป็นต้องมีเงินเพื่อดูแลประชาชนและเศรษฐกิจเพื่อให้เดินต่อไปได้ และสามารถกลับสู่สภาวะปกติโดยเร็ว และอาจทำให้หนี้สาธารณะเกินระดับ 60% ไปบ้างก็ไม่ใช่เรื่องที่โลกจะถล่ม ประเทศจะทลาย ซึ่งเมื่อเศรษฐกิจกลับมาเจริญเติบโต สัดส่วนดังกล่าวก็จะกลับมาอยู่ในภาวะปกติ

สมัยวิกฤติต้มยำกุ้ง เป็นช่วงที่หนี้สาธารณะสูงที่สุด คือ 59.9% และเมื่อเศรษฐกิจดีขึ้นประกอบกับการมีวินัยในเรื่องหนี้ที่ดี ทำให้ในปัจจุบันหนี้สาธารณะอยู่ในระดับเพียง 41.4% ของ GDP

6. หนี้ก้อนนี้เมื่อไรจะใช้หมด?

คำตอบคือ อายุเฉลี่ยของหนี้สาธารณะในปัจจุบันอยู่ที่ 10 ปีกว่าๆ โดยหนี้ที่อายุยาวที่สุดคืออายุ 50 ปี ทั้งนี้ ในการชำระหนี้ รัฐบาลได้ตั้งงบประมาณเพื่อชำระหนี้ไว้ในงบประมาณทุกปี ซึ่งจากการศึกษาพบว่า​ อัตราการชำระหนี้ที่เหมาะสมในแต่ละปี ควรจะจัดสรรงบประมาณไม่ต่ำกว่า 3% ของงบประมาณ เพื่อใช้ในการชำระเงินต้น

ดังนั้น​ การจะตอบว่าประเทศไทยจะชำระหนี้ก้อนนี้หมดเมื่อไร มันขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย คงไม่สามารถตอบเป็นจำนวนปีที่ชัดเจนได้ อย่างไรก็ดี หากเศรษฐกิจดี ประเทศไทยจัดเก็บรายได้ได้มากขึ้น และได้รับการจัดสรรงบชำระหนี้อย่างเหมาะสม จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยทำให้ชำระหนี้ก้อนนี้ให้หมดได้เร็วขึ้น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook