ศาลไม่รับ''บรรณวิทย์''ฟ้องครม.-''มาร์ค''ออกมติฟื้นฟู รฟท.

ศาลไม่รับ''บรรณวิทย์''ฟ้องครม.-''มาร์ค''ออกมติฟื้นฟู รฟท.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
วันนี้(18 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอนุวัฒน์ ธาราแสวง ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองกลาง เจ้าของสำนวนมีคำสั่งไม่รับฟ้อง คดีหมายเลขดำที่ 1121/2552 พล.ร.อ.บรรณวิทย์ เก่งเรียน ประธานตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ สมัชชาคนจนแห่งประเทศไทย และอดีตประธานกรรมาธิการคมนาคม ยุคสนช.และนายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ เลขาธิการสมัชชาคนจนแห่งประเทศไทย และนายกฤษฎา วัฒนพงศ์ ทนายความ เดินทางมายื่นฟ้อง คณะรัฐมนตรี(ครม.), นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี, นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นประธานกำกับนโนยบายด้านรัฐวิสาหกิจ, นายโสภณ ซารัมย์ รมว.คมนาคม, กระทรวงคมนาคม, การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) และคณะกรรมการกำกับนโยบายด้านรัฐวิสาหกิจ เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-7 เรื่องกระทำการโดยมิชอบ กรณีที่ ครม. มีมติเมื่อวันที่ 3 มิ.ย.52 ให้ปรับปรุงโครงสร้างบริหารจัดการเพื่อฟื้นฟูฐานทางการเงินของรฟท.โดยให้โอนทรัพย์สิน รฟท. มูลค่าหลายแสนล้านบาท ซึ่งเป็นสาธารณูปโภคและบริการสาธารณะ ภายใน 180 วัน ให้เอกชนที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการเดินรถไฟ และให้ รฟท.จัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ และบริษัทเดินรถ ถือ รฟท. ถือหุ้นเต็มร้อยเปอร์เซ้นต์ อันเป็นการนำทุนบางส่วนของรัฐวิสาหกิจมาแปรสภาพเป็นหุ้นบริษัทโดยมิชอบ ซึ่งขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 57 และ 87 ในการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และขัดต่อ พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 รวมทั้งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1305

โดยศาลพิเคราะห์ ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่าคดีนี้ครม.ผู้ถูกฟ้องที่ 1 แม้จะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ แต่เป็นการใช้อำนาจในฐานะเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ที่ใช้อำนาจบริหาราชการแผ่นดินและดำเนินตามนโยบายรัฐบาลตามหน้าที่ของ่ายบริหาร จึงไม่ใช่คดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ส่วนที่ ครม.มีมติอนุมัติหลักการปรับปรุงโครงสร้างฯนั้น ศาลเห็นว่าไม่ได้ทำให้การรถไฟฯ ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจเปลี่ยนแปลงไป และจะจัดตั้งบริษัทลูกแต่การรถไฟฯ ก็ยังถือหุ้นร้อยละ 100 รวมถึงบริษัทลูกก็ยังมาสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ โดยผู้ฟ้องอ้างว่า เป็นประชาชนที่ต้องเสียภาษีอากร เห็นว่าเป็นหน้าที่ที่ประชาชนต้องชำระภาษีให้รัฐบาลอยู่แล้ว ผู้ฟ้องทั้งสาม จึงไม่ได้เป็นผู้เสียหายหรือเดือดร้อนโดยตรงที่จะมีสิทธิมาฟ้องร้องต่อศาลปกครองได้ จึงมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องคดีนี้ไว้พิจารณาและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook