เกษตรฯจ่อคิวยกเลิกใช้สารไดโครตฟอส สารทู,โฟ-ดี อันตราย

เกษตรฯจ่อคิวยกเลิกใช้สารไดโครตฟอส สารทู,โฟ-ดี อันตราย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
เกษตรฯเกาะติดเฝ้าระวัง "สารไดโครโตฟอส "สารทู,โฟ-ดี เร่งรวบรวมข้อมูลจ่อคิวเสนอรัฐบาลให้พิจารณายกเลิก-ห้ามใช้อย่างเป็นทางการ ชี้เป็นวัตถุอันตรายต่อสุขภาพมนุษย์และก่อปัญหาสิ่งแวดล้อม

นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมวิชาการเกษตรได้ติดตามเฝ้าระวังวัตถุอันตรายทางการเกษตร 2 ชนิดเป็นพิเศษ ได้แก่ สารไดโครโตฟอส(dicrotophos) และสารทู,โฟ-ดี(2,4-dichlorophenoxyacetic) เนื่องจากเป็นสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพมนุษย์และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยเบื้องต้นได้สั่งการทีมเจ้าหน้าที่สารวัตรเกษตรให้เฝ้าติดตามตรวจสอบอย่างเข้มงวด ทั้งในโรงงานผลิต ร้านจำหน่ายปัจจัยการผลิตการเกษตร ตลอดจนในแปลงเกษตรกรซึ่งยังมีการใช้สารเคมีทั้ง 2 ชนิดดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันยังได้เร่งศึกษาและรวบรวมข้อมูล เพื่อเตรียมเสนอให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายพิจารณาประกาศให้สารไดโครโตฟอส และสารทู,โฟ-ดี เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ที่ห้ามมีให้มีการผลิต นำเข้า ส่งออก และห้ามมีไว้ในครอบครองด้วย

สารโตฟอสเป็นอนุพันธ์ของสารโมโนโครโตฟอส(Monocrotophos) ซึ่งเป็นหนึ่งใน สารเคมี 96 ชนิดที่รัฐบาลไทยได้ประกาศห้ามใช้และห้ามจำหน่ายอย่างเป็นทางการแล้ว แต่ปัจจุบันเกษตรกรยังมีการใช้สารไดโครโตฟอสในการกำจัดแมลงศัตรูพืช อาทิ เพลี้ยแป้ง เพลี้ยอ่อน เพลี้ยจั๊กจั่น เพลี้ยไก่แจ้ เพลี้ยกระโดด ไรชนิดต่างๆ หนอนม้วนใบ หนอนกระทู้กล้า หนอนกอ หนอนเจาะลำต้น หนอนใยผัก บั่ว มวนเขียว และด้วงงวงเจาะสมอ เป็นต้น ซึ่งภายหลังการใช้ 8 ชั่วโมง สารนี้จะถูกดูดซึมเข้าไปในต้นพืชมากกว่า 50 % และสามารถออกฤทธิ์อยู่ได้นาน 7-21 วัน รวมทั้งหากใช้ไม่ถูกวิธีอาจเกิดปัญหาสารพิษตกค้างปนเปื้อนในผลผลิตได้

"ส่วนการเฝ้าระวังสารทู,โฟ-ดี ได้สั่งการให้นักวิจัยเร่งศึกษาวิจัยเกี่ยวกับสารชนิดนี้ เนื่องจากเป็นสารกลุ่มอนุพันธ์เดียวกับสารทู,โฟ,ไฟฟ์-ดี(2,4,5-D) ที่สหรัฐอเมริกาใช้ในสงครามเวียดนาม หรือที่เรียกกันว่า ฝนเหลือง ซึ่งนอกจากจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพมนุษย์แล้วยังตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อมเป็นระยะเวลานานมาก ขณะนี้เกษตรกรบางรายยังมีกใช้สารทู,โฟ-ดี ในการกำจัดวัชพืชในนาข้าว ไร่ข้าวโพด ข้าวฟ่าง อ้อย หน่อไม้ฝรั่ง และบริเวณที่ไม่ได้ทำการเกษตร ซึ่งจากรายงานการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม พบว่า มีพิษค่อนข้างสูง ดังนั้น จึงจำเป็นต้องรวบรวมข้อมูลให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายพิจารณายกเลิกและห้ามใช้ในอนาคตอันใกล้นี้ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว

กรมวิชาการเกษตรได้ปรับปรุงระบบการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการจำหน่ายวัตถุอันตรายทางการเกษตรใหม่ ซึ่งทุกบริษัทต้องรับผิดชอบผลิตภัณฑ์สินค้าที่จำหน่ายโดยบริษัทต้องดำเนินการทดสอบประสิทธิภาพกับพืชที่ปลูกในไร่นาว่า เป็นไปตามคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ที่ระบุไว้หรือไม่ และยังต้องมีข้อมูลการทดสอบด้านพิษวิทยามาประกอบการขึ้นทะเบียนด้วย โดยห้ามใช้ข้อมูลของบริษัทอื่นมาอ้างอิงเด็ดขาด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook