“หน้ากากอนามัย” จุดประกายความขัดแย้งในสังคมอเมริกันในภาวะ COVID-19

“หน้ากากอนามัย” จุดประกายความขัดแย้งในสังคมอเมริกันในภาวะ COVID-19

“หน้ากากอนามัย” จุดประกายความขัดแย้งในสังคมอเมริกันในภาวะ COVID-19
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ขณะที่ชาวอเมริกันเริ่มกลับมาใช้ชีวิตตามปกติท่ามกลางการระบาดใหญ่ของเชื้อไวรัสโคโรนา การสวมหน้ากากอนามัยกลับกลายเป็นประเด็นที่สร้างความขัดแย้ง ผู้ที่ไม่สวมหน้ากากอนามัยจะถูกมองด้วยสายตาตำหนิ ถูกด่าว่าอย่างรุนแรง การใช้อารมณ์ และการเผชิญหน้าที่นำไปสู่ความรุนแรง

ที่เมืองฟลินต์ในรัฐมิชิแกน เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของร้าน Family Dollar ถูกยิงบาดเจ็บสาหัสเมื่อบ่ายวันศุกร์ที่ผ่านมา หลังจากที่มีการทะเลาะกับลูกค้าที่ไม่ยอมสวมหน้ากากตามข้อกำหนดของรัฐที่ประชาชนต้องสวมหน้ากากเมื่อเข้าพื้นที่ปิด

ส่วนในสติลวอเตอร์ รัฐโอกลาโฮมา การประกาศฉุกเฉินที่กำหนดให้ประชาชนสวมหน้ากากนำไปสู่การพูดจาเหยียดหยามกันตั้งแต่ 3 ชม. แรกของการประกาศเมื่อวันศุกร์ รวมถึงการใช้ปืนข่มขู่ โดยกลุ่มคนที่ไม่ยอมสวมหน้ากาก จนกระทั่งทางการต้องรีบแก้ไขคำประกาศ โดยสนับสนุนให้สวมหน้ากาก แต่ไม่ได้เรียกร้องให้ประชาชนสวมหน้ากาก

สำหรับบางคน การไม่สวมหน้ากากถือเป็นการประท้วงมาตรการที่ละเมิดเสรีภาพส่วนบุคคล และสำหรับคนอื่นๆ ทางเลือกในการสวมหน้ากากนั้นเป็นเรื่องของความสะดวกมากกว่าประเด็นทางการเมือง นอกจากนี้ ทางเลือกในการสวมหน้ากากยังสะท้อนถึงความโอหัง หรือความไม่เข้าใจว่าควรสวมหน้ากากเมื่อไรและในสถานที่แบบใด ประชาชนบางคนกล่าวว่ารู้สึกอึดอัดและรำคาญเมื่อต้องสวมหน้ากาก

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขต่างก็มีท่าทีตื่นตระหนกเมื่อเห็นว่าประชาชนไม่สวมหน้ากากในพื้นที่สาธารณะที่แออัด เช่นเดียวกับในการประท้วงที่มิชิแกนและแคลิฟอร์เนีย ซึ่งผู้ประท้วงไม่ได้สวมหน้ากากมารวมตัวกันอย่างหนาแน่น และตะโกนใส่หน้าเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญอธิบายว่าการสวมหน้ากากเป็นการปกป้องผู้อื่นมากกว่าตัวผู้สวมใส่เอง

ดร.เดบอราห์ เบิร์กซ์ ผู้ประสานงานของทำเนียบขาวในทีมเฉพาะกิจไวรัสโคโรนา กล่าวว่า เธอรู้สึกตกใจเมื่อเห็นว่าผู้ประท้วงไม่ได้สวมหน้ากาก เนื่องจากคนเหล่านี้อาจติดเชื้อและนำเชื้อไปติดสมาชิกในครอบครัว และพวกเขาอาจจะรู้สึกผิดไปตลอดชีวิต

“เราจำเป็นต้องปกป้องกันและกัน ในขณะที่ส่งเสียงสะท้อนความไม่พอใจของเรา” ดร.เบิร์กซ์กล่าว

ไมค์ เดอไวน์ ผู้ว่าการรัฐโอไฮโอ กำหนดให้การสวมหน้ากากเป็นส่วนหนึ่งของแผนการเปิดระบบเศรษฐกิจ แต่กลับเปลี่ยนใจในภายหลัง เนื่องจากมองว่าแนวทางนี้ยากที่จะประสบความสำเร็จ เพราะประชาชนยังไม่ยอมรับคำสั่งจากรัฐ

ในขณะที่หลายรัฐกำลังเปิดเมืองให้ธุรกิจต่างๆ กลับมาดำเนินการ และให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ แนวทางและมาตรการต่างๆ ก็มีความแตกต่างกันไปในแต่ละรัฐ และการสวมหน้ากากก็เป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดความแตกต่างในแนวทางเหล่านั้น ซึ่งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขก็สนับสนุนให้ประชาชนสวมหน้ากาก และใช้แนวทางเว้นระยะห่างทางสังคม ด้านศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (C.D.C.) ก็แนะนำให้ใช้หน้ากากผ้าธรรมดา เพื่อชะลอการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส

ราฟาเอล พาลมา เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์วัย 43 ปี ตัดสินใจไม่สวมหน้ากากออกจากบ้าน ทั้งไปโบสถ์และเข้าร่วมการประท้วงให้ผู้ว่าการรัฐผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในซาคราเมนโต เขาให้เหตุผลว่า แนวทางการสวมหน้ากากนั้นมีความสับสน โดยในระยะแรกกำหนดให้เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์สวมหน้ากากเท่านั้น และหน้ากากก็ทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้ไวรัสแพร่กระจายจากผู้ป่วย ส่วนผู้ที่ไม่สวมหน้ากากก็ถูกโจมตีว่าเป็นคนที่ไม่คิดถึงผู้อื่น และเป็นตัวแพร่เชื้อ

เอลซา อัลเดเกอร์ เจ้าหน้าที่ด้านสุขภาพวัย 46 ปี กล่าวว่า ปัญหาทางเศรษฐกิจเป็นวิกฤตที่แท้จริงในสถานการณ์นี้ และการประกาศปิดสถานที่สาธารณะอย่างชายหาดหรือสวนสาธารณะ ก็เป็นการลงโทษประชาชน เนื่องจากสถานที่เหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็นต่อสุขภาพจิตของประชาชน

ในสหรัฐฯ อากาศที่ปลอดโปร่งดึงดูดให้ผู้คนออกมาใช้เวลานอกบ้านในสถานที่ต่างๆ เช่น ชายหาด สวนสาธารณะ เส้นทางสำรวจธรรมชาติ โดยในบรู๊คลิน คนส่วนใหญ่จะสวมหน้ากาก ในขณะที่คนอื่นๆ พกหน้ากากไว้ บางคนดึงหน้ากากมาไว้ที่คาง บางคนสวมหน้ากากเพื่อให้กลมกลืนกับคนอื่นๆ และป้องกันไม่ให้ถูกมองด้วยสายตาตำหนิ ทว่าสำหรับบางคน สายตาเหล่านั้นก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคแต่อย่างใด

ติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับ COVID-19 ได้ที่นี่

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook