ผู้เชี่ยวชาญแนะ ช้อปปิ้งอย่างไรให้ห่างไกล “COVID-19”

ผู้เชี่ยวชาญแนะ ช้อปปิ้งอย่างไรให้ห่างไกล “COVID-19”

ผู้เชี่ยวชาญแนะ ช้อปปิ้งอย่างไรให้ห่างไกล “COVID-19”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

การระบาดใหญ่ของโรค COVID-19 ทั่วโลก ก่อให้เกิดความวิตกกังวลในหมู่ประชาชนไม่น้อย และยังเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของหลายคน ให้มีความระมัดระวังตัวเองมากขึ้น แต่สำหรับกิจวัตรที่ต้องทำเป็นประจำอย่างการซื้อของอุปโภคบริโภค ที่ต้องสัมผัสกับสิ่งของต่างๆ รวมทั้งการเข้าไปในสถานที่ปิดร่วมกับผู้อื่น อย่างร้านขายของชำหรือซุปเปอร์มาร์เก็ต เราจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไรให้ห่างไกลจากโรค COVID-19 ผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขามีคำตอบ

ควรสั่งซื้อสินค้าออนไลน์หรือไปซื้อที่ร้าน

ในสถานการณ์โรคระบาด การติดต่อกับผู้คนให้น้อยที่สุดเป็นแนวทางที่ดี ดังนั้น ผู้เชี่ยวชาญจึงแนะนำว่า หากเป็นไปได้ ควรสั่งซื้อสินค้าออนไลน์จะดีที่สุด และบริการส่งสินค้าก็ช่วยลดการติดต่อระหว่างบุคคลได้อย่างไม่น่าเชื่อ เพียงแค่จ่ายเงินออนไลน์ แล้วให้คนส่งของวางของไว้หน้าบ้านเท่านั้น นอกจากนี้ หากคุณเป็นผู้ป่วย แนวทางนี้จะช่วงป้องกันทั้งตัวคุณเองและคนอื่นๆ ไม่ให้ติดเชื้อ

วิธีที่ดีที่สุดในการรักษาระยะห่างทางสังคมขณะซื้อของในร้าน

ดร.ลอเรน ซาวเออร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านการแพทย์ฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ กล่าวว่า ในการซื้อของในร้านขายของชำหรือซุปเปอร์มาร์เก็ต สิ่งที่ต้องคำนึงถึงเป็นอันดับแรกคือ การติดเชื้อจากผู้อื่น ไม่ใช่การติดเชื้อจากอาหารหรือพื้นผิวต่างๆ ในร้าน เพราะฉะนั้น จึงควรหลีกเลี่ยงทางเดินที่แออัด หรือรอให้คนอื่นๆ ออกไปก่อน และรักษาระยะห่างจากคนอื่นๆ โดยกะระยะห่างจากผู้อื่นให้ได้เท่ากับรถเข็น 2 คัน นอกจากนี้ ยังแนะนำให้เลือกซื้อของในร้านหรือซุปเปอร์มาร์เก็ตที่สนับสนุนแนวทางรักษาระยะห่างทางสังคม

สำหรับผู้ที่มีครอบครัว หากเป็นไปได้ ควรออกมาซื้อของคนเดียว โดยให้ลูกๆ หรือสมาชิกในครอบครัวคนอื่นๆ อยู่ที่บ้าน ไม่ต้องออกมาด้วยกัน เพื่อลดจำนวนคนที่อาจจะติดเชื้อ และยังลดจำนวนคนที่จะเข้าไปในร้านขายของแต่ละครั้งด้วย ส่วนผู้ที่มีอาการป่วยก็ไม่ควรออกจากบ้าน แต่ให้ฝากคนอื่นซื้อของให้แทน

สัมผัสสินค้าในร้านอย่างไรให้ปลอดภัย

ดร.คริสโตเฟอร์ กิลล์ รองศาสตราจารย์ด้านสุขภาพสากล คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบอสตัน ระบุว่า มีความเป็นไปได้ที่ผู้ติดเชื้อจะจาม และละอองจากการจามที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสอาจจะตกลงบนพื้นผิวที่คุณสัมผัส ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกา หรือ C.D.C. จึงแนะนำให้ทำความสะอาดรถเข็นหรือตะกร้าช้อปปิ้ง โดยเฉพาะบริเวณที่จับและพื้นผิวอื่นๆ หรืออาจจะใส่อาหารสดไว้ในถุง เพื่อป้องกันการสัมผัสกับพื้นผิวรถเข็นโดยตรง

จอห์น สวาร์ทซเบิร์ก ศาสตราจารย์กิตติคุณคลินิกด้านโรคติดเชื้อและวิทยาวัคซีน คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย กล่าวว่า เมื่อคุณสัมผัสสิ่งต่างๆ ในร้าน ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าคุณติดเชื้อ ดังนั้น ไม่ควรเอามือไปจับดวงตา จมูก และปาก ส่วนซาวเออร์ก็แนะนำให้พกเจลล้างมือ ที่มีแอลกอฮอล์ 60% และใช้ทุกครั้งที่สัมผัสพื้นผิวที่มีการสัมผัสบ่อยๆ เช่น ที่จับรถเข็น รวมทั้งล้างมือด้วยเจลล้างมือทั้งก่อนและหลังเข้าซุปเปอร์มาร์เก็ต นอกจากนี้ เธอยังแนะนำให้จดรายการช้อปปิ้งลงในกระดาษแทนการใช้สมาร์ทโฟน เนื่องจากกระดาษสามารถทิ้งได้ ในขณะที่สมาร์ทโฟนมีความเสี่ยงที่จะมีอณุภาคของเชื้อไวรัสติดอยู่

“ยิ่งจับสิ่งของสาธารณะน้อยเท่าไรก็ยิ่งดี” ซาวเออร์กล่าว

ควรสวมหน้ากากอนามัยและถุงมือไปซื้อของหรือไม่

หากมีอาการป่วย ควรสวมหน้ากากเพื่อป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น แต่สำหรับผู้ที่ไม่ได้ป่วย ยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่า การสวมหน้ากากอนามัยจะสามารถป้องกันไม่ให้ติดเชื้อได้ แต่แนวทางของ C.D.C. ระบุว่าแล้วแต่ความสมัครใจ นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่ผู้ป่วยไม่แสดงอาการ การสวมหน้ากากจึงเป็นสิ่งที่ควรปฏิบัติ ขณะเดียวกันก็ต้องเว้นระยะห่างสังคมควบคู่ไปด้วย

ส่วนการสวมถุงมือนั้น ผู้เชี่ยวชาญมองว่าไม่จำเป็น เนื่องจากคนเรายังคงสัมผัสใบหน้าของตนเองแม้จะสวมถุงมือ จึงแนะนำว่า พยายามอย่าสัมผัสใบหน้าของตัวเอง ใช้เจลล้างมือ และล้างมือบ่อยๆ

จ่ายเงินอย่างไรให้ปลอดภัย

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ในสถานการณ์เช่นนี้ ควรลดการสัมผัสกับบุคคลอื่นให้มากที่สุด และการจ่ายเงินผ่านระบบออนไลน์ถือเป็นแนวทางที่เหมาะสม ส่วนในกรณีที่ไม่สามารถจ่ายเงินออนไลน์ผ่านโทรศัพท์มือถือได้ ดร.โจนาธาน ฟีลดิง ศาสตราจารย์ด้านนโยบายสุขภาพและการจัดการ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแองเจลิส กล่าวว่า การใช้บัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตก็เป็นทางเลือกที่ดีรองลงมา แต่ต้องเช็ดทำความสะอาดทั้งก่อนและหลังใช้บัตร นอกจากนี้ ในกรณีที่ใช้เงินสด ให้ล้างมือทั้งก่อนและหลังจ่ายเงิน และควรเว้นระยะห่างกับแคชเชียร์

ควรเช็ดทำความสะอาดสินค้าเมื่อกลับถึงบ้านหรือไม่

แม้ว่าขณะนี้จะไม่มีหลักฐานยืนยันว่าเชื้อ COVID-19 สามารถแพร่กระจายผ่านอาหารและบรรจุภัณฑ์อาหาร แต่จาเร็ด เบเทน รองคณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์และศาสตราจารย์ด้านสุขภาพสากล การแพทย์ และระบาดวิทยา มหาวิทยาลัยวอชิงตัน แนะนำว่า หากต้องการลดความเสี่ยง ก็สามารถทำความสะอาดสิ่งของที่ซื้อมาได้ ซึ่งความเสี่ยงดังกล่าวจะอยู่ในระดับที่น้อยมากหรือไม่มีอะไรเลย

ด้านสวาร์ทซเบิร์กก็แนะนำขั้นตอนการทำความสะอาด ได้แก่ วางถุงใส่ของลงบนพื้น และล้างมือ จากนั้นเอาของออกจากถุงและเช็ดด้วยผ้าชุบน้ำยาฆ่าเชื้อหรือฉีดสเปรย์ฆ่าเชื้อ และทิ้งไว้ให้แห้งสนิท ส่วนของที่ไม่ต้องแช่ตู้เย็น ไม่ต้องเช็ดทำความสะอาด แค่วางทิ้งไว้ 72 ชม. ไวรัสก็จะหายไปเอง ส่วน C.D.C. แนะนำให้ล้างมือก่อนและหลังจับสินค้า รวมทั้งทำความสะอาดเคาท์เตอร์ที่วางของ ที่จับประตูตู้ และสวิตช์ไฟ

นอกจากนี้ การทำความสะอาดสินค้าประเภทอาหาร ต้องระวังไม่ให้สารเคมีที่ใช้ทำความสะอาดปนเปื้อนอาหาร ล้างผักผลไม้ตามปกติ รวมทั้งล้างมือก่อนที่จะเตรียมอาหารและหลังจากทำอาหารเสร็จ

ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการออกไปซื้อของคือช่วงใด

ในต่างประเทศ มีหลายร้านที่จัดช่วงเวลาสำหรับให้ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงเข้ามาซื้อ เช่น ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีภาวะแพ้ภูมิคุ้มกันตัวเอง เพราะฉะนั้น บุคคลในกลุ่มอื่นๆ ที่ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง ควรเคารพสิทธิของคนกลุ่มเสี่ยงเหล่านี้ เพื่อป้องกันผู้ที่มีความเปราะบาง และไม่มีทางเลือกมากนักนอกจากจะเดินทางมาซื้อของที่ร้านเอง และหลีกเลี่ยงช่วงเวลาที่คนมาซื้อของจำนวนมาก เช่น ช่วงเช้าตรู่หรือช่วงดึกที่มีคนน้อยๆ เป็นต้น

ควรซื้อของบ่อยแค่ไหน

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ซื้อให้ถี่น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยไม่ต้องถึงกับกักตุนสินค้าเกินความจำเป็น เพราะการกักตุนนอกจากจะไม่จำเป็นแล้ว ยังตัดโอกาสของผู้ที่จำเป็นต้องซื้อสินค้านั้นๆ ด้วย ดังนั้น ผู้เชี่ยวชาญจึงแนะนำว่าให้พยายามอยู่บ้านให้มากที่สุด อาจจะซื้อของเข้าบ้านทุกๆ 2 – 3 สัปดาห์ ซึ่งไม่เพียงแต่จะลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ แต่ยังลดจำนวนคนที่จะเข้าไปแออัดอยู่ในร้านด้วย อย่างไรก็ตาม ต้องมั่นใจว่าคุณมีอาหารเพียงพอต่อความต้องการของร่างกายของคุณและคนในบ้าน การกินอาหารที่ดีเป็นส่วนประกอบที่สำคัญในการมีสุขภาพดี แม้แต่การกินอาหารกระป๋องก็ก่อให้เกิดความเครียดได้

ติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับ COVID-19 ได้ที่นี่

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook