“หลุยส์ เซปุลเบดา” นักเขียนชิลี เสียชีวิตจาก “COVID-19” ในวัย 70 ปี

“หลุยส์ เซปุลเบดา” นักเขียนชิลี เสียชีวิตจาก “COVID-19” ในวัย 70 ปี

“หลุยส์ เซปุลเบดา” นักเขียนชิลี เสียชีวิตจาก “COVID-19” ในวัย 70 ปี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“หลุยส์ เซปุลเบดา” นักเขียนและนักกิจกรรมทางการเมืองชาวชิลี เสียชีวิตในวัย 70 ปี เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2020 หลังจากล้มป่วยด้วยโรค COVID-19

เซปุลเบดาเริ่มแสดงอาการของโรค COVID-19 ตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ หลังจากที่เดินทางกลับจากงานเทศกาลวรรณกรรมในโปรตุเกสมายังบ้านพักในประเทศสเปน จนกระทั่งเมื่อวันที่ 1 มีนาคม แพทย์ได้ยืนยันว่าเซปุลเบดาติดเชื้อไวรัสโคโรนา และเป็นผู้ป่วย COVID-19 รายแรกของแคว้นอัสตูเรียส ซึ่งเขาพำนักอยู่นานถึง 20 ปี โดยเขาได้พักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลในโอเวียโด เป็นเวลา 6 สัปดาห์ ก่อนที่จะจากไปอย่างไม่มีวันกลับ

“บุคลากรทางการแพทย์พยายามทุกวิถีทางเพื่อรักษาชีวิตของเขาไว้ แต่เขาไม่สามารถเอาชนะโรคร้ายนี้ได้ ต้องขอแสดงความเสียใจกับภรรยาและครอบครัวของเขาด้วย” เอเดรียน บาร์บอน ผู้นำของแคว้นอัสตูเรียสกล่าวผ่านทวิตเตอร์

เซปุลเบดาเกิดเมื่อปี 1949 ที่เมืองโอวัลลี ทางตอนเหนือของกรุงซานติเอโก เมืองหลวงของประเทศชิลี เขาเป็นนักกิจกรรมทางการเมืองตั้งแต่ยังหนุ่ม โดยเข้าร่วมพรรคยุวชนคอมมิวนิสต์แห่งชิลี (Communist Youth of Chile) ตามด้วยพรรคสังคมนิยม และถือเป็นเป็นหนึ่งในนักเขียน นักกิจกรรม และปัญญาชนฝ่ายซ้าย ที่ตกเป็นเป้าโจมตีของรัฐบาลฝ่ายขวาในช่วงทศวรรษ 1970s ซึ่งนำโดยนายพลออกุสโต ปิโนเชต์ ผู้ซึ่งครองอำนาจเผด็จการอย่างยาวนานถึง 17 ปี โดยในระหว่างที่เขาอยู่ในอำนาจ ประชาชนอย่างน้อย 38,000 ถูกซ้อมทรมาน และ 3,200 ถูกฆาตกรรมและหายสาบสูญ

ภายใต้ระบอบเผด็จการของปิโนเชต์ ผลงานการวิพากษ์วิจารณ์การเมืองของเซปุลเบดาทำให้เขาถูกจับกุมตัวและถูกจำคุกในข้อหากบฏเป็นเวลา 2 ปีครึ่ง เมื่อปี 1973 และได้รับการช่วยเหลือจากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล จากนั้นเขาต้องอยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ เป็นเวลาเกือบ 1 ปี ก่อนที่จะถูกจับกุมอีกครั้ง และต้องโทษจำคุกนานถึง 28 ปี อย่างไรก็ตาม เขาได้รับการช่วยเหลือจากแอมเนสตี้อีกครั้ง ทำให้โทษของเขาเปลี่ยนเป็นการเนรเทศนาน 8 ปี ทว่าในที่สุดเขาก็ไม่ได้กลับไปยังบ้านเกิดเมืองนอนของเขาอีกเลย และถูกถอนสัญชาติ จนกระทั่งถึงปี 2017

หลังจากที่ออกจากประเทศชิลี เซปุลเบดาเดินทางไปลาตินอเมริกา โดยเขาได้จัดตั้งคณะละครเวทีในเอกวาดอร์ เปรู และโคลอมเบีย รวมทั้งต่อสู้กับพรรคซานดินิสตา ซึ่งยึดอำนาจและปกครองประเทศนิการากัวด้วยระบอบเผด็จการ

ปี 1978 เซปุลเบดาใช้ชีวิตอยู่ภายใต้โครงการการศึกษาเกี่ยวกับชนเผ่าชูอาร์ (Shuar) ในป่าแอมะซอน โดยเหตุการณ์ต่างๆ ในช่วงนั้นถูกนำมาเล่าในนวนิยายเรื่องแรกของเขา คือ “The Old Man Who Read Love Stories” ซึ่งตีพิมพ์เมื่อปี 1992 โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับการเรียกร้องให้ทบทวนความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ นวนิยายเรื่องนี้ได้รับการแปลเป็นภาษาต่างประเทศถึง 35 ภาษา รวมถึงภาษาไทย ในชื่อ “ชายชราผู้อ่านนิยายรัก” และนวนิยายเรื่องนี้ยังถูกสร้างเป็นภาพยนตร์ในปี 2001 นำแสดงโดยริชาร์ด เดรย์ฟัสส์

เซปุลเบดาเป็นนักเขียนที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในยุโรป ซึ่งเป็นที่ที่เขาพำนักอยู่ตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 80s โดยยึดอาชีพนักหนังสือพิมพ์ และล่องเรือออกทะเลไปกับองค์กร Greenpeace จนกระทั่งในปี 1996 เขาย้ายมาพำนักอยู่ที่แคว้นอัสตูเรียส กับคาร์เมน ยาเนซ ภรรยาของเขา ซึ่งเป็นกวีและเคยถูกทรมานโดยรัฐบาลปิโนเชต์

ผลงานวรรณกรรมของเซปุลเบดามีหลายรูปแบบ ตั้งแต่นวนิยาย บทละคร ไปจนถึงนิทานเด็ก ซึ่งล้วนมีจุดเด่นอยู่ที่อารมณ์ขันอันเรียบง่ายและการฉายภาพชีวิตในอเมริกาใต้ และได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆ ใน 50 ประเทศ โดยผลงานที่นักอ่านพูดถึงในแง่ของการสร้างแรงบันดาลใจก็ได้แก่ “The Story of A Seagull and The Cat Who Taught Her To Fly” ซึ่งได้รับการแปลเป็นภาษาไทยในชื่อ “นางนวลกับมวลแมวผู้สอนให้นกบิน”

ผลงานของเซปุลเบดาที่ได้รับการแปลเป็นภาษาไทย ได้แก่ ชายชราผู้อ่านนิยายรัก, บันทึกรักนักฆ่าผู้อ่อนไหว, นางนวลกับมวลแมวผู้สอนให้นกบิน, เพื่อน มิกซ์ มักซ์ กับเม็กซ์, โลกสุดขอบฟ้า และหอยทากผู้ค้นพบประโยชน์แห่งความเชื่องช้าของตน

ติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับ COVID-19 ได้ที่นี่

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook