“นอนไม่หลับ ขี้ลืม หงุดหงิดง่าย” อาการปกติของคนในช่วง COVID-19

“นอนไม่หลับ ขี้ลืม หงุดหงิดง่าย” อาการปกติของคนในช่วง COVID-19

“นอนไม่หลับ ขี้ลืม หงุดหงิดง่าย” อาการปกติของคนในช่วง COVID-19
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของคนส่วนใหญ่ในสังคม ในช่วงปลายเดือนมีนาคมหรือก่อนยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาจะมีมากกว่า 1 ล้านคนทั่วโลก Washington Post ได้ทำการสำรวจ พบว่าผู้หญิงอเมริกันกว่า 77 เปอร์เซ็นต์และผู้ชายอเมริกัน 6 1 เปอร์เซ็นต์รู้สึกเครียด โดยกว่า 69 เปอร์เซ็นต์ของชาวอเมริกันต่างกังวลว่าตัวเองหรือสมาชิกในครอบครัวจะติดเชื้อ และคนส่วนใหญ่คิดว่าผลกระทบทางเศรษฐกิจในครั้งนี้จะร้ายแรงกว่าภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในปี 2008

ผลสำรวจของสมาคมจิตเวชอเมริกัน พบว่า ชาวอเมริกันมากกว่า 1 ใน 3 คิดว่าวิกฤติไวรัสโคโรนามีผลกระทบต่อสุขภาพจิตของพวกเขา และมีผู้ติดต่อขอความช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตเพิ่มขึ้นอย่างมาก

“เป็นเรื่องยากมากที่จะมีสมาธิในทุกวันนี้ โดยเฉพาะกับเรื่องสำคัญ ฉันเลยต้องแยกงานออกเป็นส่วน ๆ” บอนนี ลอว์ฮอร์น ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารและการตลาดขององค์กรไม่แสวงหาผลกำไรจากแมรี่แลนด์ เล่า

ผู้ใหญ่ส่วนมากจะสามารถรับรู้ได้ถึงความกังวลและความรู้สึกทางกาย เช่น อัตราการเต้นของหัวใจที่เพิ่มขึ้น เหงื่อออก อาหารไม่ย่อย กล้ามเนื้อตึง และเจ็บคอ ซึ่งเป็นอาการที่ชัดเจนของภาวะวิตกกังวล อมิเลีย อัลดาโอ นักจิตวิทยาคลินิกและผู้ก่อตั้ง Together CBT ในนิวยอร์ก ชี้ว่า คนทั่วไปไม่ตระหนักว่าความยากลำบากที่เกี่ยวข้องกับการใช้สมาธิ ความทรงจำ การนอนหลับ และความสัมพันธ์ เชื่อมโยงกับภาวะวิตกกังวลได้ทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ภาวะวิตกกังวลส่งผลให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมาด้วยเช่นกัน ดังนี้

นอนไม่หลับ

หลายคนรู้ว่าภาวะวิตกกังวลส่งผลให้มีอาการนอนไม่หลับและปัญหาการนอนหลับอื่น ๆ จิลล์ สตอดดาร์ด นักจิตวิทยาคลีนิกของศูนย์การจัดการความเครียดและวิตกกังวล ในซานดิเอโก อธิบายว่า คนทั่วไปเผชิญกับระดับปัญหาการนอนหลับที่แตกต่างกันเมื่อพวกเขารู้สึกวิตกกังวล เช่น นอนหลับยาก ตื่นในตอนกลางคืนและกลับไปนอนได้ยาก เป็นต้น

“เวลาที่ฉันตื่นขึ้นช่วงตี 2 หรือ ตี 3 ในหัวของฉันจะเริ่มคิดวนไปวนมาเกี่ยวกับเรื่องโควิด-19 แล้วก็ไปเรื่องงาน แล้วก็กลับมาที่โควิด-19 อีก มันน่าหงุดหงิดมากเลย” ลอว์ฮอร์นกล่าว

การตั้งเป้าหมายว่าจะทำให้ตัวเองนอนหลับได้ดีขึ้นจะช่วยทำให้ปัญหาการนอนหลับและภาวะวิตกกังวลผ่อนคลายลง แบรนดอน ปีเตอร์ นักประสาทวิทยาจากซีแอตเทิลแนะนำว่า การเข้านอนอย่างเป็นเวลา ไม่ดื่มคาเฟอีนหรือแอลกอฮอล์มากเกินไป ออกกำลัง และได้รับแสงแดดช่วงตอนกลางวันเล็กน้อยหากทำได้ จะสามารถช่วยให้นอนหลับได้ดีมากขึ้น

งานวิจัยยังชี้อีกว่าการทำให้ห้องนอนเย็น มืด และเงียบ เช่นเดียวกับการไม่มองจอมากจนเกินไปและทำสมาธิก่อนนอนก็สามารถช่วยให้นอนหลับได้ดีเช่นกัน ในขณะที่ทุกคนต้องเผชิญหน้ากับการระบาดใหญ่ของเชื้อไวรัสโคโรนา สิ่งสำคัญที่สุดคือการพยายามไม่รับข่าวสารที่จะทำให้รู้สึกวิตกกังวลมากจนเกินไป หรืออย่างน้อยที่สุดก็พยายามอย่าเล่นโทรศัพท์ก่อนนอนประมาณ 1 ชั่วโมง

ไม่มีสมาธิ

มนุษย์พัฒนาการพุ่งความสนใจไปยังสิ่งที่เป็นอันตรายต่อตัวเอง นั่นเป็นวิธีการที่บรรพบุรุษสามารถมีชีวิตรอดอยู่ได้ในสิ่งแวดล้อมที่เป็นอันตราย ในขณะที่ไวรัสโคโรนาเป็นอันตรายต่อสุขภาพและการใช้ชีวิตของเรา เราก็อ่านข่าว ดูโทรทัศน์ที่เกี่ยวข้องกับโรคดังกล่าวนี้ พร้อมกับคิดหาวิธีที่จะป้องกันตัวเองจากมัน

ปัญหาก็คือเรายังต้องทำงานหน้าคอม หรือเด็ก ๆ ยังต้องเรียนหนังสือจากที่บ้าน ซึ่งโจนาธาน อับบราโมวิทซ์ อาจารย์ภาควิชาจิตวิทยาคลินิก จากมหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนา อธิบายว่า เมื่อความสนใจของเราพุ่งไปที่ไวรัสโคโรนา เราก็จะมีช่วงเวลาที่ยากลำบากมากในการมีสมาธิกับสิ่งอื่นที่กำลังทำอยู่

“ทำรายการสิ่งที่ต้องทำในวันถัดไป เรียงตามสิ่งสำคัญที่สุดไปน้อยสุดทุกคืน จากนั้นเขียนเวลาที่ชัดเจน แต่ต้องให้เวลาตัวเองได้พักสัก 45 นาที อย่าฝืนตัวเองมากจนเกินไป และยอมรับว่าเป็นสิ่งที่ปกติมากที่ต้องประนีประนอมกับการทำงานในช่วงเวลาที่เคร่งเครียดเช่นนี้” อัลดาโอ ชี้

ขี้ลืม

หลายคนมักมีปัญหาการจดจำและจัดการข้อมูลต่าง ๆ และงานวิจัยในปี 2016 พบว่าภาวะวิตกกังวลก็ส่งผลกระทบต่อความทรงจำด้วยเช่นกัน อเล็กซานดร้า พาร์พูรา นักพฤฒาวิทยา ชี้ว่า สิ่งที่ทำให้เรารู้สึกผ่อนคลายจะช่วยเรื่องการจดจำ โดยเฉพาะกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาทอัตโนมัติ เช่น โยคะ การนั่งสมาธิ ออกกำลังการย และใช้เวลากับธรรมชาติ

“การทำกิจกรรมที่ต้องใช้ความตั้งใจจดจ่อก็เป็นสิ่งที่ช่วยได้เป็นอย่างมาก เช่น ครอสเวิร์ด ซูโดกุ วิดีโอเกม หรือการเล่นเปียโน” พาร์พูราแนะนำ

หงุดหงิดง่าย

อารมณ์หงุดหงิดเป็นส่วนหนึ่งของภาวะวิตกกังวล ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์กับคู่รัก ลูก และเพื่อนร่วมงาน ดังนั้น การป้องกันไม่ให้ภาวะวิตกกังวลของตัวเองมีผลกระทบต่อคนอื่นก็คือ การตระหนักรู้ว่าเรากำลังรู้สึกวิตกกังวลก่อนที่ความรู้สึกนั้นจะกลายเป็นความหงุดหงิด เมื่อสามารถ “จับ” ความรู้สึกของตัวเองได้แล้ว ก็อาจเลือกที่จะปลีกวิเวกเพื่อสงบสติอารมณ์ หรืออธิบายความรู้สึกนั้นให้กับคนรอบข้างได้รับรู้

การสงบสติอารมณ์อาจทำได้ด้วยการหายใจเข้าลึก ๆ หรืออาจใช้การออกกำลังกาย เช่น การวิ่งขึ้นลงบันได ซึ่งจะช่วยเผาผลาญพลังงานส่วนเกิน ช่วยจัดการภาวะวิตกกังวลและความหงุดหงิดออกไปได้ แต่หากเลือกใช้วิธีอธิบายความรู้สึกให้คนรอบข้างฟัง อย่ากลัวที่จะแสดงความอ่อนแอออกมา เพราะมนุษย์มักมีปฏิกิริยาต่อความอ่อนแอดีกว่าความหงุดหงิด

“คนที่รับฟังความรู้สึกวิตกกังวลของอีกฝ่ายต้องฟังอย่างตั้งใจ รับรู้ถึงความรู้สึกและสิ่งที่พวกเขาเป็นกังวล และถามเขาว่าเราสามารถช่วยอะไรได้บ้าง หลายครั้งที่คนเรา โดยเฉพาะผู้ชาย อยากจะแก้ไขสถานการณ์นั้น ๆ แต่นี่ไม่ใช่สิ่งที่คนที่วิตกกังวลต้องการ” อับบราโมวิทซ์ กล่าว

นอกจาก 4 ปัญหาข้างต้นแล้ว ภาวะวิตกกังวลก็ส่งผลต่อภาวะตื่นตระหนก ทั้งยังส่งผลต่อการใช้แอลกอฮอล์และยาเสพติด รวมถึงการใช้ความรุนแรง และภาวะซึมเศร้าอีกด้วย ดังนั้น หากรู้สึกว่าสุขภาพจิตของตัวเองมีปัญหาหรือส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต สิ่งสำคัญที่สุดคือการขอความช่วยเหลือนั่นเอง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook