เมื่อ “การกลับบ้าน” ทำให้ “COVID-19” ระบาดอีกครั้งในหลายประเทศ

เมื่อ “การกลับบ้าน” ทำให้ “COVID-19” ระบาดอีกครั้งในหลายประเทศ

เมื่อ “การกลับบ้าน” ทำให้ “COVID-19” ระบาดอีกครั้งในหลายประเทศ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

จำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจากเชื้อไวรัสโคโรนาในประเทศสิงคโปร์ เกาหลีใต้ ฮ่องกง และไต้หวัน มีอัตราที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับหลายประเทศทั่วโลก เหตุผลหนึ่งเป็นเพราะผู้นำของประเทศเหล่านี้คาดการณ์ว่าเชื้อไวรัสโคโรนาที่มีต้นกำเนิดจากประเทศจีนจะต้องแพร่ระบาดเข้ามาในประเทศของตัวเองและเตรียมตัวรับมืออย่างดี ขณะเดียวกัน พวกเขาก็มีบทเรียนจากการระบาดของโรคซารส์ (SARS) ที่ส่งผลให้ประชาชนในประเทศเสียชีวิตและเศรษฐกิจตกต่ำ ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลจึงประกาศใช้มาตรการปิดประเทศในทันที พร้อมส่งบุคลากรทางการแพทย์ไปตรวจคัดกรองผู้มีความเสี่ยงติดเชื้อ จัดเตรียมโรงพยาบาล และส่งต่อข้อมูลที่ถูกต้องชัดเจนให้กับประชาชน ผลลัพธ์ที่ได้คือพวกเขาสามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศได้ แต่ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา จำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศเหล่านี้กลับมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

รายงานผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาในฮ่องกงเริ่มพุ่งสูงขึ้น ตั้งแต่วันที่ 18 มี.ค. และเพิ่มขึ้นเป็น 84 รายในวันที่ 28 มี.ค. ส่วนจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศสิงคโปร์กระโดดขึ้นเป็น 47 รายในวันที่ 16 มี.ค. 3 วันต่อจากนั้น สิงคโปร์ก็มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นวันละกว่า 70 ราย ขณะที่ไต้หวันมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเพียงวันละ 5 รายในช่วงปลายเดือนมกราคม แต่กลับพุ่งขึ้นมากกว่า 20 รายต่อวันในช่วงกลางเดือนมีนาคม และประเทศเกาหลีใต้ มีผู้ติดเชื้อใหม่ถึง 86 รายในวันที่ 3 เม.ย.ที่ผ่านมา

แม้จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่มีจำนวนน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับสหรัฐอเมริกาที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 983 รายในวันที่ 16 มี.ค. และเพิ่มขึ้นเป็น 29,874 รายในวันที่ 2 เม.ย. หรือประเทศอิตาลี ที่ในวันที่ 21 มี.ค. มีผู้ติดเชื้อใหม่มากที่สุดกว่า 6,557 ราย สิ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับประเทศที่ดูเหมือนจะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสได้แล้ว ก็คือจำนวนผู้ติดเชื้อที่เคยลดลงในประเทศกลับเพิ่มสูงขึ้น จนคล้ายกับว่าโรค COVID-19 ได้กลับเข้ามาในประเทศเหล่านี้อีกครั้ง หลังจากที่พวกเขาได้ลดระดับมาตรการป้องกันโรคลง

ปัญหาที่แท้จริงคือเชื้อไวรัสสามารถแพร่กระจายได้โดยไม่มีพรมแดนขวางกั้น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ฮ่องกง และไต้หวันกำลังเผชิญหน้ากับสถานการณ์ “การนำเข้ามาใหม่” ของเชื้อไวรัส ซึ่งเกิดจากผู้มีเชื้อเดินทางเข้าประเทศ

ในช่วงที่เริ่มมีการระบาดในประเทศจีน คนที่เดินทางออกจากประเทศก็นำเอาเชื้อไวรัสออกมาด้วยและแพร่กระจายในประเทศอื่น ทำให้เกิดการติดเชื้อระหว่างคนในประเทศในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ แม้จะสร้างความวิตกกังวลให้คนทั่วไป แต่ภาพรวมของการระบาดก็ยังถือว่ามีจำนวนน้อย จนกระทั่งเกิดการระบาดใหญ่และโรคก็ย้อนกลับเข้าประเทศอีกครั้ง

“ก่อนหน้านี้มีจำนวนผู้ติดเชื้อน้อยแล้วก็แทบจะหายไปเลย แต่ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ถึงต้นเดือนมีนาคมเราก็เริ่มมีจำนวนผู้ติดเชื้อจากยุโรปเพิ่มมากขึ้น ฮ่องกงมีผู้ติดเชื้อจากยุโรป สหรัฐฯ และประเทศอื่นมากมาย ส่วนไต้หวันก็มีผู้ติดเชื้อจากสหรัฐฯ เยอะ” เบน ชาวลิ่ง นักระบาดวิทยาประจำมหาวิทยาลัยฮ่องกง อธิบาย

กลุ่มคนที่ติดเชื้อมาจากประเทศเสี่ยงทำให้เกิดการติดเชื้อระหว่างคนในประเทศ และทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อสูงขึ้นอีกครั้ง เช่น ในไต้หวัน “รัฐบาลยืดเวลาเปิดเทอมไปอีก 10 วันเพื่อเตรียมพร้อมให้เด็กนักเรียนสามารถไปเรียนพร้อมสวมหน้ากากอนามัยได้ คนก็เลยแห่ไปเที่ยวยุโรป แล้วก็ติดโรคกลับมา” เจสัน หวัง ผู้อำนวยการศูนย์ผลลัพธ์นโยบายและการป้อง มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ชี้

“เราสั่งห้ามเที่ยวบินจากประเทศจีนก่อนที่องค์การอนามัยโลกจะแนะนำเราเสียอีก แต่พอเราสั่งห้ามแล้วเราก็ไม่ได้ทำอะไรเพิ่มมากเท่าไร เชื้อเลยแพร่ระบาดในประเทศ จากนั้นคนก็เริ่มกลับจากยุโรปแล้วเราก็แทบไม่ได้คิดถึงเรื่องนั้นเลย”

ในช่วงเวลาที่มีการเฝ้าระวังที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง ประเทศสิงคโปร์ ฮ่องกง และไต้หวัน สามารถติดตามผู้ติดเชื้อได้เกือบทั้งหมด และสามารถทำการตรวจหาคนใกล้ชิดของผู้ติดเชื้อ พร้อมสั่งให้ทำการแยกตัวจากคนอื่น ๆ โดยไต้หวันใช้วิธีเชื่อมข้อมูลการเดินทางเข้าประเทศกับระบบสุขภาพของประเทศ ขณะที่สิงคโปร์ ก็มีมาตรการเพิ่มโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืนกฎการกักตัวเอง และเผยแพร่ข้อมูลรายละเอียดต่าง ๆ ของผู้ติดเชื้อ

“ปัญหาก็คือประเทศไม่ได้ตรวจคัดกรองโรคทุกคน โดยเฉพาะเมื่อคนที่มีอาการเพียงเล็กน้อยรู้ว่าถ้าเขาไปตรวจ เขาจะต้องแยกตัวจากคนอื่น ทั้งจากเพื่อนฝูงและครอบครัว ซึ่งมันทำให้ท้อใจนะ” ชาวลิ่ง กล่าว

การกลับมาของเชื้อไวรัสทำให้เกิดการใช้มาตรการการยับยั้งการแพร่เชื้อที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ฮ่องกง และไต้หวัน ต่างบังคับใช้มาตรการการรักษาระยะห่างทางสังคมและการควบคุมการเข้าออกประเทศที่เข้มงวดมากกว่าเดิม คนที่ได้รับอนุญาตให้เข้าประเทศจะต้องทำการกักตัวเป็นเวลา 14 วัน ฮ่องกงและสิงคโปร์นำสมาร์ทโฟนมาใช้เพื่อจับตาดูกลุ่มคนที่ต้องเฝ้าระวัง พร้อมกันนี้ สิงคโปร์ยังประกาศปิดโรงเรียนและสำนักงานส่วนใหญ่ในประเทศอีกด้วย

แม้จะมีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้น แต่สิงคโปร์ ฮ่องกง และไต้หวันก็ยังรักษาอัตราการเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อรายใหม่ให้อยู่ในระดับต่ำ เพื่อสามารถตรวจคัดกรองและเฝ้าติดตามผู้ติดเชื้อได้ทุกราย “นี่อาจเป็นกลยุทธ์ที่ต้องใช้เวลานานสำหรับสหรัฐฯ และยุโรป แต่ก็อาจมีอยู่ 2 วิธี หนึ่งคือการตรวจหาเชื้อ แยกพวกเขาออกจากคนอื่น หยุดยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อในกลุ่มชุมชน แต่การพบเชื้อทั้งหมดก็เป็นเรื่องที่ยาก โดยเฉพาะคนที่มีอาการเพียงเล็กน้อย และอีกวิธีก็คือต้องทำการรักษาระยะห่างทางสังคมแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ” ชาวลิ่ง แนะนำก่อนทิ้งท้ายว่า

“สำหรับการระบาดระลอกที่ 2 สิ่งที่เราอยากให้เกิดขึ้นก็คือถ้าตัวเลขจะเพิ่มสูงขึ้น ก็ต้องค่อย ๆ เพิ่ม ไวรัสโคโรนาจะไม่หายไปไหน เรากำจัดมันไม่ได้และเราต้องเผชิญหน้ากับความจริงที่ว่ามันจะอยู่กับเราแบบนี้ไปเรื่อย ๆ แต่หวังว่าจะไม่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น จนกระทั่งเราสามารถหาวิธีการรักษาหรือคิดค้นวัคซีนได้”

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook