ชง4องค์กรดันไทยสู่ฮับการบิน รุกดึงต่างชาติฝึกบิน-ซ่อมเครื่อง

ชง4องค์กรดันไทยสู่ฮับการบิน รุกดึงต่างชาติฝึกบิน-ซ่อมเครื่อง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
คณะอนุกรรมาธิการพัฒนากิจการการบิน บูรณาการ 4 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและดึงผู้คร่ำหวอดในธุรกิจการบิน ร่วมสร้างรูปธรรมการแก้ไขปัญหาของไทยในการเป็นฮับการบินพลเรือนและศูนย์การขนส่งในเอเชีย วาง 3 พันธกิจ นำร่องด้วยการเพิ่มศักยภาพการฝึกบิน ดึงนักบินต่างชาติ รุกจีนและอินเดีย เลือกฝึกบินในไทย หวังดันเพิ่มรายได้เข้าประเทศไม่ต่ำกว่าพันล้านบาท

นายประเสริฐ ประคุณศึกษาพันธ์ ประธานคณะอนุกรรมาธิการพัฒนากิจการการบินเพื่อความเป็นหนึ่งของอาเซียน ในคณะกรรมาธิการ การคมนาคม วุฒิสภา เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจว่าคณะอนุกรรมาธิการ มีนโยบายที่จะสร้างรูปธรรมในการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคของไทยในการเป็นศูนย์กลางการบินพลเรือนและศูนย์การขนส่งในเอเชีย และเพิ่มขีดความสามารถของอุตสาหกรรมการบินพลเรือนในเอเชีย

ทั้งนี้ได้ดึงผู้คร่ำหวอดในธุรกิจการบินมาร่วมเป็นอนุกรรมาธิการ อาทิ ร.อ.สะอาด ศบศาสตรศร อดีตผู้บริหารการบินไทย นายสุภาพ ปูรานิธี กรรมการบริษัทบางกอกเอวิเอชั่น เซ็นเตอร์ จำกัด(บีเอซี) น.อ. ปิยะ ตรีกาลนนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบีเอซี และร่วมมือกับ 4 หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงพาณิชย์,การต่างประเทศ,คมนาคมและศึกษาธิการ เพื่อร่วมกันกำหนดแนวทางการพัฒนากิจการการบินของไทย ให้เกิดความเป็นหนึ่งของอาเซียน

ทั้งนี้ทางคณะอนุกรรมาธิการ จะผลักดันให้รัฐดำเนินการพัฒนาอุตสาหกรรมการบินให้เป็นรูปธรรมใน 3 ประเด็น คือ1. การเพิ่มศักยภาพในการผลิตบุคลากร 2.การส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน ภายในพื้นที่สนามบินดอนเมือง ซึ่งธุรกิจซ่อมบำรุงอากาศยานมีอัตราการขยายตัวต่อเนื่องโดยมีมูลค่าราว 5 แสนล้านบาทในเอเชีย หากไทยสามารถแบ่งตลาดได้ 5% หรือมูลค่าประมาณ 25,000 ล้านบาท จะทำให้ไทยมีศักยภาพในการแข่งขันกับต่างประเทศได้

และ3.การส่งเสริมกิจการขนส่งทางอากาศ ที่จะพัฒนาระบบโลจิสติกส์ทางอากาศให้มีประสิทธิภาพเคลื่อนย้ายสินค้าได้รวดเร็ว เพิ่มศักยภาพการแข่งขันของไทย ขณะเดียวกันยังช่วยลดต้นทุนในการประกอบการของธุรกิจ

จาก 3 ประเด็นหลักซึ่งถือเป็นภารกิจของคณะอนุกรรมการ จะมีการหยิบยกเรื่องการเพิ่มศักยภาพให้แก่สถาบันการบินในการผลิตบุคลากร มาดำเนินการเป็นเรื่องแรก โดยส่งเสริมให้นักบินต่างชาติเข้ามาฝึกบินในไทย โดยเฉพาะนักบินในภูมิภาคนี้ที่ยังมีความต้องการนักบินถึง17,000 คน และคาดว่าในอีก 8-10 ปีข้างหน้าจะเพิ่มขึ้นอีกราว70,000 คน อีกทั้งในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ภายใน 3 ปี เฉพาะจีนประเทศเดียวต้องการนักบินถึง 5,000 คนขณะที่การบินในอินเดียมีอัตราเติบโตสูงมาก แต่ยังมีผู้ฝึกสอนและอุปกรณ์ไม่เพียงพอกับนักบินฝึกหัด

นายประเสริฐ กล่าวอีกว่าไทยควรใช้โอกาสนี้ให้เป็นประโยชน์ แทนที่จะปล่อยให้มีการส่งนักบินไปฝึกที่สิงคโปร์หรือออสเตรเลีย เนื่องจากไทยมีจุดแข็งหลายเรื่อง ตั้งแต่ครูการบินที่มีจำนวนมาก ภูมิศาสตร์ที่เอื้อต่อการฝึกบิน เพราะไม่มีภูเขาสูง ไม่มีหิมะ หรือลมแรง ทำให้ฝึกบินได้ตลอดทั้งปี นอกจากนี้ค่าครองชีพยังต่ำมาก หรือประมาณ3-4 เท่า เมื่อเทียบกับประเทศออสเตรเลีย ดังนั้นสิ่งที่คณะอนุกรรมาธิการจะดำเนินการคือ ต้องแก้ปัญหาในเรื่องการอำนวยความสะดวกในด้านต่างๆ ได้แก่ การออกวีซ่าให้แก่นักเรียนชาวต่างชาติที่จะเข้ามาฝึกบิน โดยพิจารณาระยะเวลาในการออกใบอนุญาตศิษย์การบิน

เนื่องจากพบปัญหาว่านักเรียนต่างชาติที่จะเข้ามาฝึกบิน จะได้รับวีซ่าจากสถานกงสุลในต่างประเทศ ประเภทท่องเที่ยว ซึ่งมีระยะเวลาเพียง 90 วันเมื่อครบกำหนดสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง จะไม่ดำเนินการต่ออายุให้ ด้วยเหตุผลว่าไม่ได้รับการรับรองจากกระทรวงศึกษาธิการ แต่ระยะเวลาเรียนต้องใช้เวลา 1 ปี ซึ่งปัญหาดังกล่าวเป็นเพราะโรงเรียนสอนการบินของเอกชน จะได้การรับรองจากกรมการขนส่งทางอากาศ แต่สำนักงานกงสุลไม่ได้รับข้อมูล และการขยายวีซ่าให้ 1 ปี ต้องมีหลักฐานจากสถาบันสอนการบิน ของหน่วยงานรัฐ มีกระทรวงศึกษาธิการรับรอง

ดังนั้นจึงต้องมีการบูรณาการทำงานร่วมกันของทุกฝ่ายเพื่อร่วมกำหนดนโยบายและปรับปรุงระเบียบเพื่อให้ชัดเจนในการสนับสนุนโอกาสของโรงเรียนการบินพลเรือนต่อไป ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีโรงเรียนผลิตนักบิน 3 แห่ง คือ สถาบันการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย,สถาบันการบินนครพนม และบีเอซี ซึ่งทั้ง 3 แห่งสามารถผลิตนักบินได้เต็มที่จำนวน 30 คน หากสามารถรับผลิตนักบินให้ชาวต่างชาติได้ ก็จะมีรายรับเข้าประเทศเฉพาะจากการฝึกบิน ปีละไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท(รายรับต่อหัวประมาณ3-4 ล้านบาทต่อปี)ยังไม่รวมเรื่องของธุรกิจอื่นโดยเฉพาะการท่องเที่ยว

นอกจากนี้ยังจะมีการเร่งด้านการตลาด เพื่อพัฒนาให้ไทยมีศักยภาพเพียงพอที่จะดึงผู้สนใจด้านการบินจากต่างประเทศได้ ซึ่งล่าสุดได้นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เข้ามาช่วยด้านการตลาด โดยการไปเยือนจีนพร้อมกับนายกรัฐมนตรีเมื่อไม่นานมานี้ ก็มีการหารือกับทางจีนเรื่องการส่งนักบินจากจีนมาฝึกบินในไทย เป็นต้น

ขณะที่นายสุภาพ ปูรานิธี เลขานุการคณะอนุกรรมาธิการพัฒนากิจการการบินเพื่อความเป็นหนึ่งของอาเซียน เปิดเผยว่า การผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์ซ่อมอากาศยาน ในพื้นที่ของสนามบินดอนเมือง จะทำให้เกิดอุตสาหกรรมต่อเนื่องในการผลิตวัสดุสิ้นเปลืองและชิ้นส่วนอะไหล่อากาศยานประเภทต่างๆของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีภายในประเทศ เพื่อเป็นฐานสนับสนุนการซ่อมบำรุงอากาศยานในลักษณะของเครือข่าย Supply Chain เนื่องจากมีตลาดภายในประเทศรองรับและเกิดการจ้างงานในระบบเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตามปัจจุบันไทยมีอากาศยานทั้งภาครัฐและเอกชนรวมกันมากกว่า 1,000 เครื่อง การซ่อมบำรุงส่วนหนึ่งมีการไปส่งซ่อมในต่างประเทศ ทำให้เงินรั่วไหลออกนอกประเทศปีละมากกว่า 1 หมื่นล้านบาท หากไทยพัฒนาศักยภาพในการรองรับการเป็นศูนย์ซ่อมอากาศยานเทียบเท่าระดับสากลได้ นอกจากลดเงินตราที่รั่วไหลออกนอกแล้ว ยังจะทำให้ต่างประเทศนำเครื่องมาซ่อมในไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งการจะผลักดันในเรื่องนี้ ทางคณะอนุกรรมาธิการกำลังพิจารณาแก้ไขพิกัดภาษีด้านเอวิเอชั่นและควรพัฒนาการซ่อมบำรุงให้อยู่ในพื้นที่ฟรีโซน เพราะที่ผ่านมาการเปลี่ยนอะไหล่เครื่องบินกว่าจะสั่งอะไหล่ ผ่านกระบวนการด้านภาษีใช้เวลากว่า 15 วัน ขณะที่สิงคโปร์ใช้เวลา 24 ชั่วโมง ซึ่งหากเราทำให้เกิดความรวดเร็วได้ก็จะดึงดูดให้ไทยเป็นศูนย์ซ่อมได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook