ประชุมดีเอสไอรมต.-รองผบ.ตร.หนีสื่อมุดใต้ดิน

ประชุมดีเอสไอรมต.-รองผบ.ตร.หนีสื่อมุดใต้ดิน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (22 ก.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล มีการประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) ครั้งที่ 6 โดยมีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง เป็นประธาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ นายพีรพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รมว.ยุติธรรม พล.ต.อ.ธานี สมบูรณ์ทรัพย์ รองผบ.ตร. เข้าร่วมประชุม โดยใช้เวลาหารือประมาณ 2 ชั่วโมง แต่ปรากฎว่าไม่มีรัฐมนตรีหรือแม้แต่รองผบ.ตร.ไม่ได้ให้สัมภาษณ์แต่อย่างใด โดยเลี่ยงลงไปขึ้นรถที่บริเวณชั้นใต้ดินของอาคารที่จอดรถออกไปจากทำเนียบรัฐบาลทันที

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุม กคพ.มีมติเห็นชอบให้รับคดีความผิดทางอาญาไว้เป็นคดีพิเศษที่จะต้องดำเนินการสืบสวนสอบสวนตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 จำนวน 4 เรื่อง ประกอบด้วย 1.ให้รับกรณีที่กลุ่มบุคคลร่วมกันกระทำความผิดเกี่ยวกับการสร้างราคาหลักทรัพย์ที่มีการซื้อขายรับประกันในศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ให้ราคาผิดไปจากภาวะปกติของราคาตลาด (ปั่นหุ้น) ตามที่คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ได้ส่งรายชื่อบุคคลต้องสงสัยว่ามีพฤติการณ์ในการสร้างราคาหลักทรัพย์ โดยให้กรมสอบสวนคดีพิเศษตรวสอบตามอำนาจพรบ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2538 มาตรา 243 มาตรา 308 เนื่องจากกลุ่มบุคคลดังกล่าวสร้างราคาหลักทรัพย์ให้บุคคลอื่นเข้าใจว่ามีราคาสูงและมีการยักยอกทรัพย์ของนิติบุคคลและหลบเลี่ยงภาษีอากร ที่มีวงเงินความเสียหายสูงถึง 5,000 ล้านบาท เพราะเห็นว่าคดีกระทบต่อเศรษฐกิจการคลังของประเทศจึงมีมติให้รับเป็นคดีพิเศษ

เรื่องที่ 2.ให้รับกรณีกลุ่มบุคคลร่วมกันฉ้อโกงประชาชน โดยหลอกลวงให้โอนเงินผ่านเครื่องเบิกถอนเงินสดอัตโนมัติ (เอทีเอ็ม) ตามที่มีข่าวปรากฎต่อสื่อมวลชน ที่ระบุถึงกลุ่มมิจฉาชีพฉ้อโกงประชาชนด้วยการโทรศัพท์ติดต่ออ้างเป็นเจ้าหน้าที่อ้างกรมสรรพากรหลอกลวงให้ประชาชนโอนเงิน โดยอ้างว่าเป็นการชำระภาษี ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา และเห็นว่ากระทบต่อความาสงบเรียบร้อยของประชาชนจึงมีใติให้เป็นคดีพิเศษ 3. ที่ประชุมมีมติให้รับคดีฆาตกรรมนายประวิทย์ สัตวุธ ที่ อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ ตามที่ญาติได้ยื่นเรื่องต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษไว้ก่อนหน้านี้ เพราะในช่วงเวลาการเสียชีวิตนั้นตรงกับเวลาที่มีการประกาศสงครามและปราบปรามผู้กระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติดจึงเกรงว่าผู้เสียชีวิตจะถูกฆาตกรรมอำพราง และเชื่อมโยงกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งทาง กคพ.เห็นว่าคดีดังกล่าวมีผลต่อความเชื่อมั่นในการดำเนินคดีอาญาโดยเจ้าพนักงานตำรวจ อีกทั้งเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนจึงให้รับเรื่องนี้รับไว้เป็นคดีพิเศษ และ 4. ให้รับคดีที่กรมสรรพากรยื่นขอให้ดำเนินคดีอาญา กับกิจการร่วมค้าบริษัทพรีเมียร์ เอ็นเตอร์ไพรซ์ จำกัด (มหาชน) บริษัทแพท เอ็นจิเนียส์อิงค์ และบริษัทล็อค วูด แอนดรูส์ นิว แนมอิงค์ (กิจการร่วมค้า พีอี-เพท/แลน) ที่หลีกเลี่ยงภาษีอากร ตามประมวลรัษฎากร ระหว่างพ.ศ.2544-2545 มีมูลค่าความเสียหายกว่า 200 ล้านบาท แต่เนื่องจากคดีดังกล่าวเป็นคดีที่มีการกระทำความผิดที่เป็นคดีพิเศษ แต่เกิดการกระทำผิดก่อนพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 บังคับใช้ และค้างดำเนินการคณะกรรมการพิเศษจึงมีมติให้พนักงานสอบสวนคดีพิเศษมีอำนาจสอบสวนเรื่องดังกล่าว.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook