สู้ไวรัสโคโรนา ด้วยบทเรียนจากโรคระบาดใหญ่ในประวัติศาสตร์

สู้ไวรัสโคโรนา ด้วยบทเรียนจากโรคระบาดใหญ่ในประวัติศาสตร์

สู้ไวรัสโคโรนา ด้วยบทเรียนจากโรคระบาดใหญ่ในประวัติศาสตร์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ขณะที่เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 กำลังแพร่ระบาดไปทั่วโลก ก็เกิดความเชื่อและข้อมูลผิด ๆ เกี่ยวกับเชื้อไวรัสดังกล่าวที่ส่งต่อผ่านทางโซเชียลมีเดียและสื่อต่าง ๆ บางความเชื่อที่ส่งต่อกันมาคือเรื่องทางการแพทย์ เช่น ถึงแม้การใส่หน้ากากอนามัยจะไม่ช่วยป้องกันผู้สวมใส่จากเชื้อไวรัส เพราะมันมีขนาดเล็กมากและสามารถเล็ดลอดเข้าไปในหน้ากากได้ แต่คนทั่วไปก็ยังรีบหาซื้อหน้ากากมาใช้อยู่ดี แต่ก็มีหลาย ๆ ความเชื่อที่เป็นเรื่องทางสังคม ตัวอย่างที่ชัดเจน คือความเชื่อที่ว่าไวรัสโคโรนาแพร่ระบาดเพราะหญิงสาวชาวจีนคนหนึ่งทานซุปค้างคาวที่เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ทั้งที่ความจริงแล้ว วิดีโอดังกล่าวถ่ายทำในเกาะหนึ่งของประเทศปาเลา ซึ่งเป็นรายการท่องเที่ยวของหวัง เหมินหยุน บล็อกเกอร์สาวชาวจีน

ถึงแม้ว่าบุคลากรทางการแพทย์จะทำงานอย่างหนักเพื่อหักล้างความเชื่อที่เกิดขึ้น โรคระบาดที่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ก็เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่สามารถนำมาใช้เพื่อลบล้างความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับโรคระบาด และช่วยบรรเทาความหวาดกลัวของผู้คนได้เช่นกัน

ไวรัสโคโรนาและโรคติดเชื้อจากสัตว์สู่คน

เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 เป็นเชื้ออีกชนิดหนึ่งที่ก่อให้เกิดโรคติดเชื้อจากสัตว์สู่คน (Zoonoses) ซึ่งปรากฏให้เห็นมาหลายครั้งในประวัติศาสตร์โลก การเลี้ยงม้าไว้ใช้งานนำมาซึ่งเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคหวัดในคน ขณะที่การเลี้ยงไก่ก่อให้เกิดโรคอีสุกอีใส โรคงูสวัด และโรคไข้หวัดนกที่มีหลายสายพันธุ์ หมูเป็นแหล่งไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคไข้หวัดใหญ่และโรคหัด รวมไปถึงโรคฝีดาษและวัณโรคที่มีสาเหตุจากวัวควาย เมื่อเชื้อไวรัสสามารถแพร่ระบาดจากสัตว์มาสู่คนได้สำเร็จ และไวรัสตัวนั้นก็แพร่ระบาดไปยังคนที่ 2 ได้แล้ว 2 คนแรกที่ได้รับเชื้อไวรัสจะกลายเป็นพาหะแพร่เชื้อไวรัสสู่คนด้วยกันเอง

3 ใน 4 ของโรคติดเชื้อคือผลลัพธ์ของเชื้อไวรัสที่แพร่จากสัตว์สู่คน และไวรัสโคโรนาก็เป็นหนึ่งในนั้นด้วยเช่นกัน คำว่า “ไวรัสโคโรนา” คือกลุ่มไวรัสที่มีลักษณะเป็นรูปมงกุฏ และก่อให้เกิดโรคหวัดธรรมดาในคนถึง 10 เปอร์เซ็นต์

เชื้อไวรัสโคโรนาแพร่กระจายจากสัตว์สู่คนในศตวรรษที่ 21 มาแล้วถึง 3 ครั้งและในแต่ละครั้งก็ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดอย่างร้ายแรงไปทั่วโลก ซึ่งได้แก่ โรคไข้หวัดมรณะ หรือ SARS (Severe Acute Respiratory Syndrome) ในช่วงปลายปี 2002 โรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง หรือ MERS (Middle East Respiratory Syndrome) ในปี 2012 และโรคติดเชื้อ ไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19 (Coronavirus Disease 2019) ในช่วงปลายปี 2019

บทเรียนจากกาฬโรค

เชื้อโรคชนิดหนึ่งที่อยู่คู่กับการแพร่ระบาดของโรคต่าง ๆ ในประวัติศาสต์ของมวลมนุษยชาติไม่ใช่เชื้อไวรัส แต่เป็นเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า เยอร์ซีเนีย เพสติส (Yersinia pestis) ซึ่งก่อให้เกิดโรคระบาดใหญ่ในกลางศตวรรษที่ 14 หรือที่เรียกว่า “กาฬโรค” ในบันทึกประวัติศาสตร์ของโรคดังกล่าวระบุว่าต้นกำเนิดของกาฬโรคมีความเกี่ยวข้องกับประเทศจีน แต่การศึกษาในช่วงต่อมาชี้ว่า ต้นกำเนิดที่แท้จริงของโรคคือบริเวณเอเชียกลาง ซึ่งต่อมาได้แพร่ระบาดไปยังจีนและยุโรป การชี้เฉพาะต้นกำเนิดของโรคไม่ใช่แนวทางการปฏิบัติทางวิชาการ แต่มีความหมายโดยนัยสื่อถึงการเกลียดกลัวคนต่างชาติซึ่งในบางครั้งมักเกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดของโรค

ขณะที่ต้นกำเนิดของกาฬโรคมักเกี่ยวข้องกับหนูและหมัด แต่ตัวพาหะที่ทำให้โรคแพร่ระจาย คือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่นตัวมาร์มอตหรือเจอร์บิลยักษ์ โดยสัตว์พวกนี้มักถูกหมัดกัด แล้วจึงกลายเป็นพาหะนำแบคทีเรียมาสู่คน

การระบาดใหญ่ของกาฬโรคอีกสายพันธุ์เกิดขึ้นทางตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองยูนนาน ประเทศจีน ในปี 1894 ซึ่งแพร่กระจายไปยังเมืองกวางโจว ฮ่องกง และไปถึงมุมไบในปี 1900 จากนั้นก็แพร่ระบาดไปยังทุกท่าเรือในทุกทวีป เพราะหนูที่ติดเชื้ออยู่บนเรือขนส่งสินค้าเป็นพาหะนำเชื้อโรคไปสู่พื้นที่ค้าขาย ตลอด 30 ปีของการแพร่ระบาด ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตในประเทศอินเดียประเทศเดียวกว่า 12 ล้านราย

กาฬโรคทำให้การเกลียดกลัวชาวต่างชาติกลายเป็นเรื่องปกติ การ์ตูนและหนังสือพิมพ์ในแคลิฟอร์เนียกล่าวหาว่าชาวจีนเชื้อสายอเมริกันเป็นพวกกินหนู และอาศัยอยู่ในพื้นที่สกปรก เจสสิกา ฮูเกอร์ เขียนลงใน Washington Post ว่า “ความคิดที่ว่าพวกคนจีนเชื้อสายอเมริกันคือปัญหาของการสาธารณสุขทำให้ผู้มีอำนาจในซานฟรานซิสโกสั่งกักตัวคนในไชนาทาวน์ มีการตรวจค้นและไล่ที่ซึ่งไม่เป็นไปตามบทบัญญัติในระหว่างการแพร่ระบาดของโรค ปี 1900 ” เช่นเดียวกับฝ่ายสาธารณสุขของเมืองโฮโนลูลูที่สั่งกักตัวคนในไชนาทาวน์ และเผาขยะที่ส่งผลให้เกิดเพลิงไหม้บ้านเรือนกว่า 4,000 หลัง

บทเรียนจากโรคไข้หวัดใหญ่สเปน

บทเรียนสำคัญจากการเกิดไข้หวัดใหญ่สเปนคือความโปร่งใสในการให้ข้อมูลและประสิทธิภาพของการกักตัวเอง การระบาดใหญ่ของโรคดังกล่าว มีต้นกำเนิดจากนกซึ่งส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อกว่า 1 ใน 5 ของประชากรทั่วโลก และเสียชีวิตกว่า 50 ล้านคน ในช่วงสงครามโลกครั้ง 1 ทหารต้องเดินทางอยู่ตลอดเวลา ซึ่งนั่นเองที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสไปทั่วโลก

ปัญหาเรื่องการให้ข้อมูลทำให้เกิดการตั้งชื่อโรคดังกล่าว กล่าวคือ มันถูกเรียกว่า “ไข้หวัดใหญ่สเปน” เพราะสเปนเป็นประเทศแรกที่เผยแพร่การระบาดของโรค เพราะสเปนไม่ได้เข้าร่วมสงคราม จึงไม่มีการตรวจสอบหรือปิดบังข้อมูลในช่วงสงคราม ขณะที่ประเทศอื่นปิดบังข่าวการแพร่ระบาด ด้วยเหตุนี้ ทำให้หนังสือพิมพ์ของสเปนตีพิมพ์ข่าวเรื่องโรคไข้หวัดใหญ่ จึงทำให้คนทั่วไปคิดว่าสเปนเป็นต้นกำเนิดของโรค

โรคไข้หวัดใหญ่สเปนยังมอบบทเรียนที่มีคุณค่าในเรื่องของการกักตัวด้วยเช่นกัน คำว่า Quarantine หรือกักตัว มาจากภาษาอิตาเลียน “quaranta giorni” ซึ่งแปลว่า 40 วัน ซึ่งถูกนำมาใช้ครั้งแรกในช่วงกลางศตวรรษที่ 14 ในช่วงการแพร่ระบาดของกาฬโรค ซึ่งเป็นการป้องกันไม่ให้เชื้อโรคแพร่ระบาดจากบนเรือมาสู่คนบนแผ่นดิน โฮวาร์ด เมอร์เคิลได้ตีพิมพ์งานวิจัยการประเมินประสิทธิภาพของการแยกคนป่วยออกจากคนไม่ป่วย โดยใช้ข้อมูลจากการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สเปน เขาพบว่าการหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโรคต้องรีบลงมือทำ ซึ่งรวมไปถึงการปิดโรงเรียนและสั่งห้ามการรวมตัวของคนหมู่มาก ขณะที่การกักตัวเองเพียงอย่างเดียวเป็นวิธีการที่เข้มงวดมากเกินไปและไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ

บทเรียนจากโรคไข้ทรพิษ

โรคไข้ทรพิษก็ได้มอบบทเรียนที่มีคุณค่าให้กับคนรุ่นหลัง โดยโรคไข้ทรพิษอาจเป็นสาเหตุของกาฬโรคที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมดในเอเธนส์ ในช่วง 430 ปีก่อนคริสตกาล และเหตุการณ์ประวัติศาสตร์นี้ก็ถูกบันทึกโดยทิวซีดิดัส นักประวัติศาสตร์ชาวกรีก อย่างไรก็ตาม หากโรคดังกล่าวยังคงแพร่ระบาดในศตวรรษที่ 20 มันจะคร่าชีวิตของคนกว่า 300 ล้านคนเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม ในช่วงปี 1966 – 1977 องค์การอนามัยโลกได้ริเริ่มโครงการผลิตวัคซีน ซึ่งประสบความสำเร็จในการกำจัดโรคไข้ทรพิษ เกิดเป็นความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมมากที่สุดของการสาธารณสุขโลกในศตวรรษที่ 20 อย่างไรก็ตาม การร่วมมือกันของประเทศต่าง ๆ ในโลกเพื่อป้องกันเชื้อไวรัสไคโรนาจำเป็นต้องใช้ความพยายามเป็นอย่างมาก แต่ประวัติศาสตร์ของโลกก็ชี้ให้เห็นแล้วว่าการร่วมมือกันของทุกภาคส่วนจะทำให้เราสามารถหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโรคจากเชื้อไวรัสได้

ประวัติศาสตร์ที่ซ้ำรอย

หากจะมีบทเรียนอะไรจากการระบาดของโรค SARS, MERS หรือ COVID-19 ก็คงเป็นการรับมือในเชิงรุก และการให้ความสำคัญอย่างมากที่จะป้องกันการแพร่ระบาด ปีเตอร์ ดาสแซค นักนิเวศวิทยาโรคกล่าวเอาไว้ในบทความของ The New York Times ว่า นักวิทยาศาสตร์ยุคใหม่มองว่าการระบาดใหญ่เปรียบเสมือนปัญหาที่ตอบสนองต่อภัยพิบัติ และรอให้ปัญหาเหล่านั้นเกิดขึ้นก่อน จากนั้นจึงค่อยคิดค้นวัคซีน ซึ่งนั่นเป็นสิงที่ดาสแซคมองว่าเป็นการรับมือที่ไม่ได้ผล และหลาย ๆ อย่างสามารถเตรียมให้พร้อมก่อนเกิดการระบาดของโรคได้

สิ่งที่คนทั่วไปสามารถทำได้ในช่วงการระบาดของโรค คือการล้างมือให้สะอาดและไม่เอามือไปสัมผัสใบหน้าของตัวเอง นี่เป็นข้อแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญทั่วโลก รวมถึงฟลอเรนซ์ ไนติงเกล ที่ได้พิสูจน์แล้วว่าการล้างมือสามารถป้องกันเชื้อโรคได้ รวมไปถึงการกักตัวเองหากรู้สึกว่าไม่สบาย เพราะการปฏิบัติตัวเช่นนี้ จะช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อและยังช่วยเหลือระบบสาธารณสุขด้วย

สุดท้ายแล้ว ในระหว่างการเกิดกาฬโรค ก็เกิดเฟคนิวส์ว่ามีสาเหตุมาจากสภาพอากาศที่ย่ำแย่และเป็นพิษ รวมไปถึงชุมชนคนยิวซึ่งทำให้คนยิวถูกทำร้ายจนบาดเจ็บและเสียชีวิต นั่นอาจจะเป็นอีกบทเรียนที่เราทุกคนสามารถเรียนรู้และนำมาใช้กับสถานการณ์การแพร่ระบาดในปัจจุบันได้ เราทุกคนสามารถต่อสู้กับโรคนี้ได้ ด้วยการหยุดยั้งความเชื่อผิด ๆ ที่ส่งต่อกันมาอย่างแพร่หลาย อย่างที่คนจากหลาย ๆ เหตุการณ์ในอดีตเคยทำมาแล้วนั่นเอง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook