แผนพัฒนาฉบับ11 เน้นประชาชนมีส่วนร่วม หวังขยายมูลค่าเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์เพิ่มอีก15%

แผนพัฒนาฉบับ11 เน้นประชาชนมีส่วนร่วม หวังขยายมูลค่าเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์เพิ่มอีก15%

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
สภาพัฒน์ฯ เผยแผนฯฉบับ11 เน้นปชช.มีส่วนร่วม ตั้งเป้าขยายมูลค่าเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์เพิ่ม10-15% คาดมี7แนวโน้มไทยต้องเผชิญ ศุภวุฒิชี้อีก7ปีจีดีพีโตต่ำกว่า3%แย่ หนี้สาธารณะท่วม สศช.คาด7แนวโน้มที่ต้องเผชิญ

เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม นายอำพน กิตติอำพน เลขาฯ สำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวอภิปรายเรื่องแนวคิดทิศทางการพัฒนาประเทศในช่วงแผนพัฒนาฉบับที่ 11 ในการประชุมประจำปี 2552 ของสศช. ที่ห้องแกรนด์ไดมอนด์บอลรูม ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพค อารีนา เมืองทองธานี ว่า การจัดทำแผนฯฉบับที่ 11 จะมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน ต้องมีการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ ให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์มากขึ้น ตั้งเป้าจะขยายมูลค่าในส่วนนี้ให้เพิ่มขึ้น 10-15%

นายอำพนกล่าวว่า การจัดทำแผนฯ11 สศช.ประเมินแนวโน้มที่ต้องเผชิญในอีก 20 ปีข้างหน้า 7 ประการ คือ 1.การรวมตัวทางเศรษฐกิจในภาคภูมิภาคที่มีแนวโน้มขยายตัวรวดเร็ว 2.เศรษฐกิจโลกจะเปลี่ยนศูนย์อำนาจมาอยู่ที่แถบเอเชียมากขึ้น โดยจีนและญี่ปุ่นจะมีบทบาทมากขึ้น 3.การเปลี่ยนแปลงการเมืองของโลก จะมีความผันผวนและมีความเสี่ยงมากขึ้น 4.ประชากรสูงอายุของโลกจะเพิ่มอย่างรวดเร็ว 5.ต้องเตรียมความพร้อมความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีกับการดำรงชีวิตของมนุษย์ 6.แนวโน้มด้านพลังงานจะมีผลต่อเศรษฐกิจและสังคมโลก และ 7.ปัญหาภัยคุกคามจากภาวะโลกร้อน

ศุภวุฒิชี้อีก7ปีจีดีพีโตต่ำ3%แย่

ส่วนการสัมมนากลุ่มย่อยในหัวข้อ ความท้าทายหลังวิกฤตเศรษฐกิจโลก : โอกาสของประเทศไทย และ เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ : ทางเลือกของเศรษฐกิจไทย นายศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการ และประธานสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หลังวิกฤตเศรษฐกิจโลกเมื่อกลางปี 2551 รัฐบาลหลายประเทศต้องประกาศใช้นโยบายการคลัง เพื่อช่วยบรรเทาหนี้บริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่หลายราย ที่เข้าสู่ภาวะล้มละลาย เป็นสาเหตุให้รัฐบาลต้องเเบกรับหนี้สาธารณะเพิ่มเป็น 50% ของหนี้สาธารณะเดิม หรือเฉลี่ย 20-30% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ใน 2-3 ปีนับจากนี้ ซึ่งประเทศไทยอาจมีหนี้สาธารณะเพิ่มเป็น 60% ของจีดีพี จากปัจจุบันอยู่ที่ 40% ของจีดีพี

หนี้สาธารณะที่เพิ่มสูงขึ้น จะส่งผลให้จีดีพีปรับตัวเพิ่มตาม คาดว่า 7-8 ปีข้างหน้า จีดีพีประเทศไทยจะอยู่ที่ 5.5% ส่งผลให้การจัดเก็บภาษีของรัฐบาลเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันจะทำให้อัตราหนี้สินต่อทุน (D/E) ลดต่ำลง แต่หากจีดีพีโตต่ำกว่า 3% จะทำให้หนี้สาธารณะที่รัฐบาลก่อไว้ ไม่สามารถควบคุมได้ นายศุภวุฒิกล่าว

เอกชนจี้นักการเมืองอย่ามองสั้น

นายสุทัศน์ เศรษฐบุญสร้าง ผู้เเทนการค้าไทย กล่าวว่า คาดว่าประมาณ 10 ปีข้างหน้า จีนจะเป็นผู้นำเศรษฐกิจโลกอันดับ 2 การเตรียมจัดทำแผนฯ ฉบับที่ 11 ต้องมีความสัมพันธ์กับความต้องการสินค้าของจีนที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะสินค้าบริโภค ซึ่งเป็นประเทศส่งออกสินค้าเกษตรกรรมอยู่แล้ว ขณะเดียวกันไทยต้องขยายการลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะในภูมิภาคเดียวกัน เพื่อสร้างฐานการผลิตให้เเข็งเเรง อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันจีดีพีประเทศในแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่ที่ระดับ 2.5% ขณะที่จีดีพีไทยอยู่ที่ 0.25% ของจีดีพีโลก ถือว่าต่ำมากในแง่ของอำนาจในการต่อรองด้านการลงทุน

นายดุสิต นนทะนาคร ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า แผนฯหลายฉบับที่ผ่านมา แม้ภาพรวมจะดี แต่ขั้นตอนการปฏิบัติมีปัญหา เพราะคนที่ทำแผนกับคนปฏิบัติเป็นคนละกลุ่มกัน สิ่งที่ออกมาเลยไม่ต่อเนื่อง หากจะให้ประสบความสำเร็จ ทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องจะต้องให้ความร่วมมือกันเป็นอย่างดี แต่กลุ่มคนที่น่าเป็นห่วงมากคงหนีไม่พ้นคือนักการเมืองที่ควรต้องปรับวิธีการทำงานของตนเองใหม่ อย่ามองอะไรสั้นๆ เหมือนปัจจุบัน ต้องมีวิสัยทัศน์และจรรยาบรรณในการทำงาน เพื่อทำให้ประเทศไทยพัฒนาอย่างแท้จริง ส่วนการบรรจุเรื่องเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ลงในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 เป็นสิ่งจำเป็น แต่รัฐบาลต้องสนับสนุนอย่างจริงจังและต่อเนื่อง

แนะตั้งหน่วยดูแลศก.สร้างสรรค์

นายคณิสสร นาวานุเคราะห์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวว่า เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์เป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้สำหรับประเทศไทย แต่ไม่ควรให้ความสำคัญมากจนลืมเศรษฐกิจที่เป็นพื้นฐานของประเทศ ทั้งเกษตรกรรม อุตสาหกรรม การท่องเที่ยวและบริการ การจะนำเศรษฐกิจสร้างสรรค์มาใช้ ควรเริ่มใช้ในการส่งเสริมพัฒนาเศรษฐกิจพื้นฐานของประเทศจะดีกว่า

นายคณิสสรกล่าวว่า การจะพัฒนาเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ให้ประสบความสำเร็จ รัฐบาลต้องสนับสนุนอย่างเต็มที่ มีการตั้งหน่วยงานขึ้นมาดูแลรับผิดชอบโดยเฉพาะ แผนดำเนินงานต้องชัดเจน ในอดีตที่ผ่านมาไทยมักจะทำตามประเทศอื่นตลอด จนท้ายที่สุดแล้วไม่รู้ว่าเราอยู่ต้องไหนกันแน่ หัวใจสำคัญที่จะทำให้เราประสบความสำเร็จในเรื่องนี้ คงต้องใช้วิธีการทำงานแบบก้าวกระโดด โดยอาศัยความร่วมมือจากทุกส่วนเข้ามาช่วยกัน ในทางปฏิบัติเราควรจะกำหนดโครงการนำร่องขึ้นมาทดลองใช้ รวมถึงการกำหนดตัวชี้วัดที่ชัดเจนว่าทำไปแล้วจะเป็นอย่างไร เช่น เรื่องการเป็นครัวโลกที่ทำกันไปแล้วแต่จนถึงขณะนี้ยังตอบไม่ได้เลยว่าเราเป็นแล้วหรือยัง ไม่เช่นนั้นการปฏิบัติงานของเราสุดท้ายจะเหลือแค่คำว่าแผนเท่านั้น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook