เงินเฟ้อมิ.ย.สถิติต่ำสุดรอบ12ปี ติดลบ4% นักวิชาการสวนพาณิชย์เข้ายุคเงินฝืดแล้ว เพียงแต่ไม่รุนแรง

เงินเฟ้อมิ.ย.สถิติต่ำสุดรอบ12ปี ติดลบ4% นักวิชาการสวนพาณิชย์เข้ายุคเงินฝืดแล้ว เพียงแต่ไม่รุนแรง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
เงินเฟ้อ มิ.ย.ทำสถิติต่ำสุดในรอบ 12 ปี ติดลบ 4% นับจากวิกฤต ศก.ปี 2540 นักวิชาการชี้เข้ายุคเงินฝืดแล้ว เพียงแต่ไม่รุนแรงเท่านั้น ส่วนพาณิชย์ชี้ไม่น่ากังวล ทางเทคนิคเรียกเป็น ภาวะเงินเฟ้อที่ลดลงเรื่อยๆ ประชาชนได้ประโยชน์มีเงินจับจ่ายใช้สอยถูกลง ไม่ถือเป็นภาวะเงินฝืด

นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ แถลงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปหรือเงินเฟ้อเดือนมิถุนายน 2552 เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ว่าเท่ากับ 104.7 สูงขึ้น 0.4% จากเดือนพฤษภาคม 2552 แต่ลดลง 4% เทียบเดือนมิถุนายน 2551 ซึ่งเป็นเงินเฟ้อที่ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 และทำสถิติต่ำสุด นับจากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 หรือในรอบ 12 ปี ทำให้เงินเฟ้อเฉลี่ย 6 เดือนแรกของปีนี้ลดลง 1.6%

ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานเท่ากับ 102.5 สูงขึ้น 0.2% จากเดือนพฤษภาคม 2552 แต่ลดลง 1% เทียบเดือนมิถุนายน 2551 เฉลี่ย 6 เดือนแรกสูงขึ้น 0.7%

แม้เงินเฟ้อจะลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 แต่ยังไม่ถือว่าเป็นภาวะเงินฝืด (Deflation) เพราะเงินเฟ้อที่ลดลง เป็นผลจากราคาน้ำมันในปีนี้ต่ำกว่าปีก่อนมาก และรัฐบาลยังได้ขยายระยะเวลามาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชน 5 เดือน 6 มาตรการ ขณะที่ราคาสินค้าส่วนใหญ่ยังมีราคาสูงขึ้น ทางเทคนิคจึงเรียกว่าเป็นภาวะเงินเฟ้อที่ลดลงเรื่อยๆ (Disinflation) ซึ่งไม่น่ากังวล ถือว่าผู้บริโภคได้ประโยชน์เพราะมีเงินจับจ่ายใช้สอยถูกลงนายศิริพลกล่าว

ปลัดกระทรวงพาณิชย์กล่าวว่า ภาวะเงินเฟ้อที่ลดลงเรื่อยๆ นี้จะต่อเนื่องไปถึงเดือนกรกฎาคม 2552 จากนั้นเงินเฟ้อจะขยับเพิ่มขึ้นในเดือนสิงหาคม 2552 เนื่องจากแนวโน้มราคาน้ำมันที่ขยับสูงขึ้น และค่าเงินบาทอ่อนค่าลง ฉะนั้น ในขณะนี้กระทรวงพาณิชย์จึงคงคาดการณ์เงินเฟ้อทั้งปี 2552 ไว้ที่ 0-0.5% บนสมมติฐานราคาน้ำมันเฉลี่ยทั้งปีไม่เกิน 70 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยน 35-36 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล

อย่างไรก็ตาม มีแนวโน้มว่าภายใน 3 เดือนข้างหน้าอาจต้องปรับเงินเฟ้อใหม่อีกครั้ง หากราคาน้ำมันสูงขึ้น เงินบาทอ่อนค่าลงในอัตราสูง และการทบทวนการใช้มาตรการลดค่าครองชีพประชาชนของรัฐบาลที่จะครบกำหนดในเดือนกรกฎาคม

สำหรับอัตราเงินเฟ้อในเดือนมิถุนายน 2552 ที่ติดลบ 4% มีสาเหตุมาจากดัชนีราคาหมวดพาหนะ ค่าขนส่งและการสื่อสาร ลดลง 17.5% จากราคาน้ำมันที่มีราคาต่ำกว่าปีก่อน หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษาและการศาสนา ซึ่งประกอบด้วย ค่าเล่าเรียน ค่าธรรมเนียมการศึกษา หนังสือและอุปกรณ์การศึกษา ลดลง 10% หมวดเคหสถาน ได้แก่ ค่ากระแสไฟฟ้าและค่าน้ำประปาลดลง 5% หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ได้แก่ เครื่องแบบนักเรียนอนุบาลและมัธยมชาย, หญิง ลดลง 3.4%

ขณะที่ดัชนีราคาหมวดกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม ได้แก่ เนื้อสุกร ปลาและสัตว์น้ำ ไข่และผลิตภัณฑ์นม ผักและผลไม้ เครื่องประกอบอาหาร อาหารสำเร็จรูปและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้น 3.8% สำหรับดัชนีหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม แต่มีดัชนีสูงขึ้นได้ แก่ หมวดยาสูบและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์สูงขึ้น 13.3% และหมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล ได้แก่ ค่ายาและเวชภัณฑ์และค่าของใช้ส่วนบุคคล อาทิ ผงซักฟอก น้ำยาล้างจาน น้ำยาซักผ้า ก้อนดับกลิ่น สูงขึ้น 1.5%

สำหรับดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างและดัชนีราคาผู้ผลิตยังทำสถิติต่ำสุดเช่นกัน โดยดัชนีลดลง 23% และ 10.5% ตามลำดับ ซึ่งกลุ่มก่อสร้างลดลงตามภาวะเศรษฐกิจและหดตัวของอุตสาหกรรมการก่อสร้างและลงทุนขนาดใหญ่ ส่วนราคาการผลิตลดลงจากภาวะผลผลิตออกสู่ตลาดในจำนวนมากและราคาต่ำลง

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า เงินเฟ้อที่ติดลบต่อเนื่อง 6 เดือน ในทางเทคนิคถือว่าเป็นภาวะเงินฝืด แต่ยังไม่ถึงขั้นรุนแรง เพราะดัชนีราคาพื้นฐานซึ่งเกี่ยวข้องกับสินค้ายังมีการปรับเพิ่มขึ้น สะท้อนว่ากำลังซื้อของผู้บริโภคยังมีอยู่ อย่างไรก็ตาม หากเงินเฟ้อยังติดลบต่อเนื่องไปอีก ผนวกกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ติดลบ รวมถึงปัจจัยราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้ต้นทุนค่าครองชีพและราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้น ก็อาจมีผลต่อภาวะเงินฝืดในเศรษฐกิจถดถอยได้ โดยจะเห็นได้จากเดือนมิถุนายน 2552 เป็นเดือนแรกที่ดัชนีราคาพื้นฐานมีการติดลบ 1% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน สะท้อนถึงภาวะเศรษฐกิจที่ติดลบต่อเนื่อง ได้แก่ ในไตรมาส 4 ปี 2551 ติดลบ 4% ไตรมาส 1 ปี 2552 ติดลบ 7% และคาดว่า ในไตรมาส 2 ปี 2552 จะติดลบอีก 5% ถือว่าอยู่ในภาวะที่น่าเป็นห่วง และการที่เศรษฐกิจหดตัวต่อเนื่องจะเป็นการกัดกร่อนการขยายตัวของเงินเฟ้อ และสร้างปัญหาต่อภาวะเงินฝืด อย่างไรก็ตาม ทางศูนย์คาดว่าอัตราเงินเฟ้อตลอดทั้งปีนี้จะติดลบระหว่าง 1-2%

นายพุทธิพงศ์ ปุณณกันต์ กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) ว่า ระหว่างการประชุมนายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้รายงานแนวทางการดำเนินงานภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง โดยคาดว่า วงเงินที่จะต้องกู้มาชดเชยเงินคงคลัง จำนวน 2 แสนล้านบาท จากพ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 4 แสนล้านบาท อาจจะใช้เงินต่ำกว่าที่กำหนดไว้ หรืออาจจะอยู่ที่ระดับ 1-1.2 แสนล้านบาท เท่านั้น เนื่องจากขณะนี้สถานการณ์การคลังปรับตัวดีขึ้น ดังนั้น เมื่อนำเงินดังกล่าวรวมกับเงินคงคลังที่เหลืออยู่กว่าแสนล้านบาท จะทำให้เงินคงคลังทั้งหมดอยู่ที่ 2.2 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขใกล้เคียงกับเงินคงคลังของปีที่ผ่านมา

ผลจากการที่สถานการณ์การคลังเริ่มปรับตัวดีขึ้น รมว.คลังแจ้งที่ประชุมว่า ภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง อาจจะสามารถปรับเปลี่ยนทั้งเรื่องโครงการและเม็ดเงินที่จะนำมาใช้ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจริง นายพุทธิพงศ์กล่าว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook