ไผ่พืชเศรษฐกิจคึกคัก นักธุรกิจ-เกษตรกรแห่ร่วมงาน หนุนต่อยอดเพิ่มมูลค่ามหาศาล

ไผ่พืชเศรษฐกิจคึกคัก นักธุรกิจ-เกษตรกรแห่ร่วมงาน หนุนต่อยอดเพิ่มมูลค่ามหาศาล

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
นักธุรกิจ-เกษตรกรกว่า350ชีวิตแห่ร่วมงานไผ่สร้างเศรษฐกิจ ชมพันธุ์หายากกว่า30ชนิด นักวิชาการป่าไม้หนุนต่อยอดเพิ่มมูลค่ามหาศาลทัดเทียมจีน-ญี่ปุ่น สร้างโอกาสคนไทย เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 27 มิถุนายน ที่ห้องประชุมหนังสือพิมพ์ข่าวสด นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน ในเครือมติชน จัดสัมมนาในหัวข้อ ไผ่...พืชสร้างไพร ไม้สร้างเศรษฐกิจชาติ พบความหลากหลายและมหัศจรรย์ของไผ่ ไม้คู่ชีวิตของคนไทย มีนายเรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ รองประธานกรรมการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) และนางนารีณัฐ รุณภัย รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เป็นประธานร่วมเปิดงาน แสดงปาฐกถาพิเศษ ไผ่สร้างเศรษฐกิจชาติได้อย่างไร ซึ่งได้รับความสนใจจากนักธุรกิจและเกษตรกรเข้าร่วมงานสัมมนากว่า 350 คน และยังมีการจัดนิทรรศการแสดงผลิตภัณฑ์จากไผ่และพันธุ์ไผ่หายากกว่า 30 ชนิด อาทิ ไผ่ยักษ์ ไผ่บงหวาน ไผ่ตง ฯลฯ โดยมีนายขรรค์ชัย บุนปาน ประธานกรรมการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ร่วมเดินชมภายในงานนิทรรศการ

นางนารีณัฐกล่าวว่า ไผ่เป็นชีวิตของคนไทย ในหน้าฝนไผ่จะเป็นอาหารหลักของประเทศ เกษตรกรจะใช้หน่อไม้นำมาแปรรูปเป็นอาหาร เพราะหารับประทานและทำอาหารได้ง่าย ไผ่เป็นพืชที่ปลูกและเติบโตได้รวดเร็วประมาณ 2-3 ปี สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตนำไปขายได้ ทั้งต้นและหน่อไม้ ปลูกได้ทั่วประเทศ ซึ่งแหล่งผลิตตามธรรมชาติอยู่ที่ จ.กาญจนบุรี ส่วนแหล่งที่เกษตรกรนิยมปลูกมากที่สุดในประเทศไทยอยู่ที่ จ.ปราจีนบุรี และที่นิยมปลูกกันมากที่สุด คือ ไผ่ตง ไผ่ลวก และไผ่สีสุก ฯลฯ

ดร.รุ่งนภา พัฒนวิบูลย์ นักวิชาการป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า สายพันธุ์ไผ่ในเมืองไทยมีความหลากหลายอย่างมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น การนำมาต่อยอดเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับไผ่พบว่ายังน้อยเมื่อเทียบกับประเทศญี่ปุ่นและจีนที่มีการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ และก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล หากมีการพัฒนาต่อไปจะช่วยสร้างโอกาสให้กับเกษตรกรไทยได้เป็นอย่างมาก

รศ.ธัญพิสิษฐ์ พวงจิก ภาควิชาเทคโนโลยีการเกษตร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต กล่าวว่า ถ้าประเทศไทยมีการพัฒนาต่อยอดนำไปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ใน 11 อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น ด้านการก่อสร้าง อุตสาหกรรมการผลิตไม้แผ่นและไม้ไผ่อัด อุตสาหกรรมหน่อไม้ อุตสาหกรรมถ่านและผงคาร์บอน จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากขึ้นถึงกว่าแสนล้านบาท

นายนาวี ปรางจโรจน์ เจ้าของสวนไผ่ไต้หวัน เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาปลูกป่า ปี 2548 กล่าวว่า อาชีพการปลูกไผ่สามารถสร้างรายได้ได้จริง นอกจากจะให้ผลตอบแทนได้เป็นอย่างดีจากการจำหน่ายหน่อและต้นพันธุ์ที่ทำรายได้ให้ตนมากกว่า 1 ล้านบาทต่อปี แต่สิ่งที่มากกว่าเงินที่ได้รับ คือ ได้ป่าไม้ร่มรื่น และได้ความอุดมสมบูรณ์คืนให้กับพื้นดิน และอยากแนะนำให้เกษตรกรที่ทำเกษตรในลักษณะผสมผสานควรมีการจัดแบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งไว้ปลูกไผ่หลากหลาย โดยเลือกสายพันธุ์ไผ่ที่ให้ประโยชน์ได้ทั้งหน่อดกและสามารถบริโภคได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook