เลือกตั้ง 2562: 11 พรรคเล็กหนุนพลังประชารัฐ! ขอร่วมรัฐบาลลุงตู่

เลือกตั้ง 2562: 11 พรรคเล็กหนุนพลังประชารัฐ! ขอร่วมรัฐบาลลุงตู่

เลือกตั้ง 2562: 11 พรรคเล็กหนุนพลังประชารัฐ! ขอร่วมรัฐบาลลุงตู่
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

พรรคการเมืองขนาดเล็ก 11 พรรค แถลงเมื่อเวลา 14.00 น. วันนี้ (13 พ.ค.) ว่าสนับสนุนการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคพลังประชารัฐ 

>> เผยดีลลับ! พลังประชารัฐเร่งทาบทาม "คะแนนพิเศษ" จากคู่แข่ง หวั่นเสียงไม่ถึงเป้า

ประชาธิปไตยใหม่เปิดใจ ลุงตู่ทำงานดี

นายเกริกฤทธิ์ แจ้งพรหมา รองหัวหน้าพรรคประชาธิปไตยใหม่ อ้างว่า สาเหตุที่พรรคตัดสินใจในแนวทางนี้เป็นเพราะผู้ที่ลงคะแนนให้พรรคเห็นชอบ และมองว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทำงานดี

ลั่นเพื่อไทย-อนาคตใหม่ "ไม่ต้องเสียใจ"

นายมงคลกิตต์ สุขสินธารานนท์ หัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ บอกว่า การเข้าร่วมกับพรรคพลังประชารัฐเป็นความจำเป็น ตลอด 2 เดือนที่ผ่านมาต่างฝ่ายต่างยื้อแย่งกันตั้งรัฐบาล และการตัดสินใจเช่นนี้เป็นการเปิดสวิตช์ประเทศไทย ไม่ใช่การเปิดสวิตช์ประเทศไทย ทั้งยังเรียกร้องไปยังพรรคภูมิใจไทยและพรรคประชาธิปัตย์ เลือกวิธีการนี้ด้วย

หัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ กล่าวต่อไปว่า ทั้งยังเรียกพรรคเพื่อไทยและพรรคอนาคตใหม่ว่าเป็นฝ่ายค้านอย่างเต็มปากเต็มคำ แต่ปลอบใจว่าไม่ต้องเสียใจ เพราะตนมีหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลพรรคพลังประชารัฐเช่นกัน

พร้อมถอนตัวหากพบทุจริต

นายระวี มาศฉมาดล หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ แถลงว่า สมาชิกพรรคประมาณ 90% เห็นด้วยกับการสนับสนุนพรรคพลังประชารัฐในการจัดตั้งรัฐบาล การตัดสินใจเช่นนี้เป็นการถือผลประโยชน์ของชาติเป็นหลัก เพราะที่ผ่านมา พรรคพลังประชารัฐมีความเป็นไปได้มากกว่าที่จะจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ

อย่างไรก็ตาม หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ บอกว่า พร้อมที่จะถอนตัวจากการสนับสนุนพรรคพลังประชารัฐเสมอ ถ้าหากพบว่ามีการทุจริต

เชื่อพาประเทศพ้นขัดแย้ง

นายปรีดา บุญเพลิง หัวหน้าพรรคครูไทยเพื่อประชาชน กล่าวว่า ความตั้งใจที่จะเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ เพราะต้องการขจัดความขัดแย้ง และพร้อมที่จะนำประเทศไทยหลุดพ้นสภาวะแบบนี้ ขณะเดียวกันแม้ว่าการตัดสินใจนี้จะไม่ถูกใจผู้ที่ลงคะแนนให้พรรคบางคน แต่ตนและพรรคพร้อมพิสูจน์ด้วยการทำงานร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ

เปิดกว้างนโยบายพรรคเล็ก

นายพิเชษฐ สถิรชวาล หัวหน้าพรรคประชาธรรมไทย กล่าวว่า การตั้งรัฐบาลได้ช้าเท่าไหร่ จะยิ่งส่งผลเสียต่อประเทศมากเท่านั้น เพราะทำให้ความเชื่อมั่นที่มีต่อประเทศลดน้อยลงทุกขณะ การตัดสินใจครั้งนี้ถือเป็นการสร้างประวัติศาสตร์ เพื่อให้ประเทศมีรัฐบาลได้เร็วที่สุด

หัวหน้าพรรคประชาธรรมไทย กล่าวของคุณพรรคพลังประชารัฐว่า เปิดกว้างที่จะนำนโยบายของทุกพรรคมาทำให้เป็นจริงได้ 

ไม่สนวาทกรรมเผด็จการ

นายสมเกียรติ ศรลัมพ์ หัวหน้าพรรคประชาภิวัฒน์ มองว่า พรรคตั้งข้อสังเกตไม่ต้องการอยู่ในวาทกรรมแบ่งฝ่ายระหว่างเผด็จการและประชาธิปไตยอีกแล้ว และพรรคจะให้ความสำคัญปัญหาปากท้องของประชาชนมาก่อน

หวังสานต่อนโยบายพรรค

‎พล.ต.ทรงกลด ทิพย์รัตน์ หัวหน้าพรรคพลังชาติไทย ให้เหตุผลที่สนับสนุนพรรคพลังชาติไทยเป็นรัฐบาลว่า วิธีการนี้จะทำให้บ้านเมืองเดินต่อไปได้ และจะทำให้ประชาชนกินอิ่มนอนหลับ

อีกเหตุผลที่พรรคพลังชาติไทยต้องการเป็นรัฐบาล เพราะถ้าหากเป็นฝ่ายค้านจะทำให้นโยบายที่พรรคหาเสียงไว้ไม่เกิดขึ้นจริง จึงต้องการเข้าเป็นรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ หนึ่งในนโยบายของพรรค คือ การขุดคลองไทย เชื่อมระหว่างทะเลอันดามันและอ่าวไทย

พล.ต.อ.ยงยุทธ เทพจำนงค์ หัวหน้าพรรคประชานิยม เผยว่า การร่วมมือกับพรรคพลังประชารัฐ จะช่วยให้นโยบายต่างๆ ของพรรคเป็นไปได้เช่นกัน แม้จะไม่ใช่ทุกนโยบาย ถึงอย่างนั้นตนก็หวังว่าจะทำให้มีโอกาสได้ปฏิรูปหลายๆ ด้าน อย่างเช่น การปฏิรูปตำรวจ

นโยบายสอดคล้องพลังประชารัฐ

นายคฑาเทพ เตชะเดชเรืองกุล หัวหน้าพรรคพลังไทยรักไทย กล่าวว่า นโยบายหลายอย่างของพรรคมีความสอดคล้องกับพรรคพลังประชารัฐ จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้สนับสนุนพรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง

พร้อมเผชิญเสียงวิจารณ์

นายพีระวิทย์ เรื่องลือดลภาค หัวหน้าพรรคไทรักธรรม ชี้แจงว่า สาเหตุที่พรรคเล็กจำนวนมาก รวมถึงพรรคไทรักธรรม ได้รับการจัดสรรสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อนั้นเป็นไปตามกฎหมาย คือ เมื่อพรรคการเมืองพรรคหนึ่งได้รับ ส.ส. มากกว่า โควตา หรือ ส.ส.พึงมี (หมายถึงพรรคเพื่อไทย) จะต้องนำโควตาที่เกินมาจัดสรรให้พรรคเล็ก

แม้เหตุนี้ทำให้พรรคไทรักธรรมได้รับเสียงวิจารณ์ แต่นายพีระวิทย์มองว่า ทุกฝ่ายเมื่อมาทำงานการเมืองแล้ว ก็ต้องพร้อมรับเสียวิจารณ์ได้เสมอ

ชี้ลุงตู่เป็นคนดี

นายสัมพันธ์ เลิศนุวัฒน์ หัวหน้าพรรคพลเมืองไทย กล่าวว่าการตัดสินใจนี้เป็นเพราะเห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นคนดี 

หลังจากแถลงเสร็จสิ้น ตัวแทนจากพรรคพลังประชารัฐ มารับมอบบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) จาก 11 พรรคการเมืองขนาดเล็กเหล่านี้ ในงานแถลงข่าวครั้งนี้ด้วย

นายสัมพันธ์ กล่าวขณะมอบเอ็มโอยูให้กับหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ว่า ยินดีที่ได้เข้าร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ แต่ถ้าหากเกิดการทุจริตเกิดขึ้น พรรคพลเมืองไทยก็พร้อมที่จะทบทวน

พลังประชารัฐลั่นท้วงติงกันได้

นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กล่าวหลังจากรับมอบโอยูว่า การที่ 11 พรรคเล็กแสดงเจตจำนงมาร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ เป็นก้าวแรกในการนำประเทศเดินไปข้างหน้า การทำงานทุกอย่างสามารถปรึกษากันและท้วงติงกันได้

หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เผยว่า เป็นพรรคใหม่แต่ก็เป็นพรรคที่มีผู้ร่วมอุดมการณ์ที่หลากหลาย จึงเป็นจุดเด่นสอดคล้องกับการที่ 11 พรรคเล็กจะมาร่วมงานกัน

นายอุตตม กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 250 คน ไม่ได้เป็นข้อได้เปรียบของการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคพลังประชารัฐ เพราะ ส.ว. มีสิทธิ์ตัดสินใจเป็นของตัวเอง

อุบตอบดึงภูมิใจไทย-ประชาธิปัตย์

ส่วนความเป็นไปได้ที่พรรคภูมิใจไทยและพรรคประชาธิปัตย์จะเข้าร่วมกับพรรคพลังประชารัฐนั้น นายอุตตม กล่าวว่า อยู่ระหว่างการประสานงาน ส่วนข่าวว่ามีการจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรีให้พรรคนั้นพรรคนี้ ยังเร็วเกินไป และยังไม่ถึงเวลาที่จะพูดถึง

>> "อนุทิน" ยืนยันยังไม่คุยขั้วไหนตั้งรัฐบาล ลั่นไม่ร่วม ส.ว. โหวตนายกฯ เสียงข้างน้อย

การแถลงข่าวในวันนี้ (13 พ.ค.) มีตัวแทนจากพรรคการเมืองขนาดเล็ก 11 พรรคการเมืองมาร่วม ได้แก่

  • ไทรักธรรม
  • พลังธรรมใหม่
  • พลังไทยรักไทย
  • ประชาธรรมไทย
  • พลเมืองไทย
  • ประชานิยม
  • พลังชาติไทย
  • ครูไทยเพื่อประชาชน
  • ไทยศรีวิไลย์
  • ประชาภิวัฒน์
  • ประชาธิปไตยใหม่

สำรวจเสียงขั้วพลังประชารัฐ

การเคลื่อนไหวนี้แน่นอนว่าทำให้เสียงของแนวร่วมพรรคพลังประชารัฐ ที่ประกาศอย่างชัดเจน มีทั้งหมด 135 เสียง จากทั้งหมด 500 เสียง ดังนี้

พรรค จำนวน ส.ส. (คน)
พลังประชารัฐ 115
รวมพลังประชาชาติไทย 5
พลังท้องถิ่นไท 3
ประชาชนปฏิรูป 1
ไทรักธรรม 1
พลังธรรมใหม่ 1
พลังไทยรักไทย 1
ประชาธรรมไทย 1
พลเมืองไทย 1
ประชานิยม 1
ครูไทยเพื่อประชาชน 1
ไทยศรีวิไลย์ 1
ประชาภิวัฒน์ 1
ประชาธิปไตยใหม่ 1
รวม 135

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook