ธุรกิจ “เนื้อปลอม” เฟื่องฟูในจีน ชิงตลาดหลายพันล้านดอลลาร์

ธุรกิจ “เนื้อปลอม” เฟื่องฟูในจีน ชิงตลาดหลายพันล้านดอลลาร์

ธุรกิจ “เนื้อปลอม” เฟื่องฟูในจีน ชิงตลาดหลายพันล้านดอลลาร์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เวลานี้มีบริษัทบางแห่งที่มุ่งเน้นผลิตโปรตีนจากพืช กำลังเริ่มบุกตลาดฮ่องกงและจีนแผ่นดินใหญ่ โดยมุ่งหวังที่จะเข้าสู่ตลาดอาหารที่มีมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์

บริษัท Impossible Foods, JUST และ Beyond Meat คือส่วนหนึ่งของบริษัทดังกล่าว ที่บอกว่า ผลิตภัณฑ์ของพวกเขานั้นยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าเนื้อสัตว์จริง

โปรตีนจากพืชเป็นเนื้อสัตว์ปลอมที่ทำจากผักและธัญพืช รวมถึงไข่ปลอม เบอร์เกอร์ถั่วและผลิตภัณฑ์จากปลาที่ผลิตขึ้นจากเซลล์

บริษัทวิจัยตลาด Market and Markets กล่าวว่า มูลค่าของตลาดสินค้าทดแทนเนื้อสัตว์ทั่วโลกอยู่ที่ประมาณ 4.6 พันล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว และคาดว่าจะสูงถึง 6.4 พันล้านดอลลาร์ในปี พ.ศ. 2566 โดยตลาดเอเชียเป็นส่วนที่เติบโตเร็วที่สุด

บริษัท โปรตีนพืชได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากมหาเศรษฐีชั้นนำของโลกรวมถึงมหาเศรษฐีชาวฮ่องกง ลี กา-ชิง, มหาเศรษฐีชาวอเมริกัน บิล เกตส์ และนักแสดงชื่อดัง ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ

ปีเตอร์ เธียล เป็นหนึ่งในผู้ให้เงินกับ JUST ซึ่งตั้งอยู่ในนครซานฟรานซิสโก บริษัทนี้มีมูลค่า $1,000 ล้าน และกำลังวางแผนที่จะเริ่มขายผลิตภัณฑ์ไข่ปลอมผลิตจากถั่วเขียวในหกเมืองของจีน เริ่มต้นในเดือนหน้า

บริษัท Just กล่าวว่า การใช้ถั่วเขียวซึ่งเป็นอาหารจีนทั่วไปในการผลิตอาหารทดแทนเนื้อสัตว์ ช่วยให้ลูกค้าชาวจีนรู้สึกสะดวกสบายกับอาหารเนื้อสัตว์ปลอมนี้ เพราะเชื่อมั่นว่าปลอดภัย

บริษัท Beyond Meat ผลิตเบอร์เกอร์และไส้กรอกจากโปรตีนถั่ว โดยมียอดขายในฮ่องกงเพิ่มขึ้น 300% เมื่อปีที่แล้ว

ขณะที่บริษัท Impossible Foods ผลิตเบอร์เกอร์ถั่วเหลืองขายในฮ่องกง โดยได้รับเงินสนับสนุนจาก ลี กา-ชิง และกลุ่มบริษัทร่วมทุนของ Google

ส่วนบริษัท Avant Meats ในฮ่องกง ใช้เทคนิคการเลี้ยงเซลล์ในห้องทดลองเพื่อทดแทนผลิตภัณฑ์ปลาและอาหารทะเล กระบวนการนี้ใช้สเต็มเซลล์จากสัตว์เพื่อเพาะเลี้ยงเนื้อในห้องปฏิบัติการ ซึ่งชิ้นส่วนจากปลานั้นถือเป็นอาหารยอดนิยมของคนเอเชีย

ขณะที่บริษัท Right Treat กำลังหาทางแทนที่เนื้อหมูด้วยผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เรียกว่า “Omnipork” ซึ่งเป็นการผสมเห็ด ถั่ว และข้าว เพื่อให้ใช้ทำไส้ของเกี๊ยวและลูกชิ้น โดย Omnipork มียอดขายเพิ่มขึ้นสามเท่าในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา

นิค คูนนีย์ นักลงทุนชาวอเมริกันที่ให้ความสำคัญกับอาหารเนื้อสัตว์ปลอม กล่าวว่า ลูกค้าชาวจีนมักลองอาหารใหม่ๆ ง่ายกว่าลูกค้าในประเทศอื่น

ที่ผ่านมา ประเทศจีนมีปัญหาเรื่องความปลอดภัยของอาหาร เช่น ไข่ปนเปื้อน เนื้อสัตว์แช่แข็งนานเกินไป และพืชผักที่ปนเปื้อนโลหะต่างๆ

บรรดาผู้สนับสนุนโปรตีนจากพืช กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์ทดแทนเนื้อสัตว์นี้มีประโยชน์ต่อร่างกาย และในกระบวนการผลิตยังใช้น้ำน้อยกว่า ใช้ที่ดินน้อยกว่า และผลิตก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่าการผลิตเนื้อสัตว์ในปริมาณที่เท่ากัน

อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคต้องยินดีจ่ายเงินเพิ่มอีกนิดเพื่อซื้อผลิตภัณฑ์ทดแทนเนื้อสัตว์เหล่านี้ ซึ่งยังคงมีราคาแพงกว่าเนื้อสัตว์จริงอยู่ไม่น้อย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook