เลือกตั้ง 2562: วิธีคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ จุดเสี่ยงที่ 7 กกต.ต้องระวัง!

เลือกตั้ง 2562: วิธีคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ จุดเสี่ยงที่ 7 กกต.ต้องระวัง!

เลือกตั้ง 2562: วิธีคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ จุดเสี่ยงที่ 7 กกต.ต้องระวัง!
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ยังคงยืนยันอีกครั้งเมื่อวาน (9 เม.ย.) จากรองเลขาธิการ กกต.ว่า สูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ยังยึดตามสูตรที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เสนอ คือให้พรรคเล็กที่มีคะแนนไม่ถึงจำนวน ส.ส.พึงมี คือ 71,065 คะแนน ได้ ส.ส.พรรคละ 1 คน ซึ่งทำให้มีพรรคการเมืองเพิ่มขึ้นมา 11 พรรคจากที่ได้ ส.ส.พรรคละ 1 คน ซึ่งรวมแล้วจะมีพรรคการเมืองประมาณ 27 พรรคการเมืองที่มี ส.ส. เข้าสภา โดยไม่สนกระแสคัดค้านว่าอาจเป็นการคำนวณที่ไม่ตรงตามรัฐธรรมนูญกำหนด

ขณะที่บางฝ่ายทางการเมืองมองว่าวิธีการคำนวณและผลลัพธ์ให้มี 25 พรรคดังกล่าว นอกจากจะเปลี่ยนสมการการเมืองของสองขั้วการเมือง ด้วยจำนวน ส.ส.ของบางพรรคให้ไหลไปยังพรรคที่ได้ ส.ส. 1 คน และมีแนวโน้มจะเข้าไปยังอีกฝั่งหนึ่ง ซึ่งมีแนวโน้มว่าพรรคเล็กเหล่านี้จะก่อปัญหา "งูเห่า" ในอนาคต

ขณะที่นักวิเคราะห์บางฝ่ายระบุว่า ในรัฐธรรมนูญมาตรา 91 (4) และใน พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 128 ไม่ได้เขียนบัญญัติไว้ให้วิธีการนับคะแนนเป็นไปตามการคำนวณแบบที่อดีต กมธ.ร่างฯ นำเสนอต่อ กกต. นอกจากนี้ การที่ กกต.ตัดสินใจเลือกวิธีการคำนวณแบบนี้ ไม่สามารถอ้างได้ว่าเป็นเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ระบุว่าทุกคะแนนมีความหมายจึงต้องคำนวณตามแบบที่ กกต. เลือก

แต่เขียนบัญญัติวิธีการคำนวณคะแนน ส.ส.บัญชีรายชื่อไว้ตามที่นักวิชาการและพรรคการเมืองต่างๆ ได้นำเสนอต่อสาธารณชน และการจะอ้างเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและตีความตามเจตนารมณ์ได้ ต้องไม่มีรัฐธรรมนูญมาตราใดหรือกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญมาตราใด มาเขียนบัญญัติอธิบายวิธีการไว้อีก

ดังนั้น หากมีกฎหมายเขียนบัญญัติวิธีการคำนวณไว้ ก็ต้องปฏิบัติตามที่กฎหมายบัญญัติวิธีการไว้อย่างเคร่งครัด ขณะเดียวกันเมื่อวันก่อน “สมชัย ศรีสุทธิยากร” อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็ลงทุนเปิดคอร์สสอนสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร (พ.ร.ป.ส.ส.) มาตรา 128 ตั้งแต่ (1) ถึง (7) ว่า การคำนวณจะต้องยึดกฎหมายสองฉบับ คือ รัฐธรรมนูญ มาตรา 91 และกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 128

โดยสูตรของ "สมชัย" สรุปว่าพรรคที่ได้ ส.ส. มีทั้งหมดเพียง 16 พรรค โดยบอกว่าจะนำสูตรคำนวณนี้จัดทำเป็นลายลักษณ์อักษรส่งให้ กกต. อย่างเป็นทางการภายในสัปดาห์นี้ พร้อมเตือนให้ กกต. ดูข้อความในกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 128 (5 ) ที่กำหนดไว้ว่าจะไม่ทำให้พรรคการเมืองมี ส.ส. เกินกว่าจำนวนที่พึงมี และพิจารณาด้วยว่าหมายความอย่างไร

>> ลองฟังอดีต กกต.! สูตรสมชัย 14 พรรคการเมืองได้ ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์

ซึ่งในขณะนี้ยังมีเวลาอีกหนึ่งเดือนกว่าจะถึงวันที่ 9 พ.ค. ที่ กกต.จะต้องประกาศผลเลือกตั้งอย่างเป็นทางการร้อยละ 95 จึงอยากให้ กกต.จัดเวทีรับฟังความเห็นจากหลายฝ่าย ทั้งนักกฎหมาย นักคณิตศาสตร์ หรือจะเชิญตนก็ยินดี และสุดท้ายเมื่อได้รับข้อมูลครบถ้วนค่อยตัดสินใจว่าสูตรที่ถูกต้องควรเป็นอย่างไร และว่า กกต. ต้องตัดสินใจเองว่าจะเลือกใช้สูตรใดในการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อและรับผิดชอบต่อการตัดสินใจของตัวเองด้วย เพราะหากคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อผิด ก็ถือว่าบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ แต่เป็นการบกพร่องโดยเจตนาหรือไม่เจตนาต้องพิจารณาตามข้อเท็จจริง หากบกพร่องโดยตั้งใจ ทั้งๆ ที่สังคมพยายามสะท้อนถึง กกต. แล้วก็ต้องรับผลที่ตามมาด้วย

ขณะที่ปฏิกิริยาจาก “ศรีสุวรรณ จรรยา” เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยและคณะ คือการไปยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้เอาผิด กกต.ในการปฏิบัติหน้าที่จัดการการเลือกตั้งวันที่ 24 มี.ค. หลายประเด็นยาวเหยียดทั้ง บัตรเลือกตั้งนิวซีแลนด์ บัตรเขย่ง บัตรเกินจำนวน รวมถึงเรื่องสูตรวิธีการนับคะแนนข้างต้น ยังไม่นับรวมความเคลื่อนไหวของหลายฝ่ายจากหลายแวดวงสังคม ทั้งนักกฎหมาย นักคณิตศาสตร์ นักการเมือง และผู้รู้ที่ถกเถียงประเด็นคณิตศาสตร์การเลือกตั้งมานับตั้งแต่ กกต. สรุปว่าจะเลือกสูตร กรธ. ก่อนหน้านี้

ทั้งหมดทั้งมวลเป็นปฏิกิริยาจากหลายฝ่ายที่เกิดขึ้นกับองค์กรอิสระอย่าง กกต. ที่ถือเป็นอีกครั้งหนึ่งของข้อคลางแคลงมากมายอันสุ่มเสี่ยงในการยอมรับซึ่งผลสรุป ที่แม้ว่าผลที่ปรากฏจะไม่กระทบโดยตรงกับผลเลือกตั้ง แต่ในทางอ้อมก็กระทบกับภาพรวมความน่าเชื่อถือโดยเฉพาะข้อหวาดระแวงก่อนหน้านี้ที่มีการมองถึงที่มาที่ไปของ กกต. กับฝ่ายอำนาจ คสช. ที่ในการเลือกตั้งหนนี้ถูกระบุว่าเป็นหลายสถานะทั้งผู้ร่างกติกา กรรมการ และผู้เล่นในเกมชิงเมืองซะเอง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook