มูลค่าของ "การปฏิวัติ (รัฐประหาร)"

มูลค่าของ "การปฏิวัติ (รัฐประหาร)"

มูลค่าของ "การปฏิวัติ (รัฐประหาร)"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กระเพื่อมไหวไม่แพ้ฟากฝั่งการเมือง สำหรับเศรษฐกิจไทย-ตลาดหุ้น กับสัญญาณ “ปฏิวัติ-รัฐประหาร” จาก ผบ.ทบ. เพราะทุกครั้งที่มีสัญญาณ หรือแม้แต่การขยับของกองทัพ จนไปสู่ปฏิบัติการ ในทางหนึ่ง มักส่งผลทางตรงต่อปัจจัยทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในเชิงความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่ย่อมต้องเตรียมทางหนีทีไล่ เพลย์เซฟ ที่บางรายถึงขั้นอาจพับแผนย้ายฐานการผลิตหรือเปลี่ยนที่เปลี่ยนทางการลงทุน โดยเฉพาะสัญญาณที่จับกลิ่นได้ไว คือ ตลาดหุ้น ที่จะส่งผลทางลบทันที

ควรทราบว่า ประเทศไทยมีการทำปฏิวัติ (รัฐประหาร) เกิดขึ้นเป็นสิบๆ ครั้ง และล่าสุดกับฝีมือ “คสช.” โดยหากย้อนกลับไปในอดีตที่ผ่านมา กับการเกิดรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2549 ตลาดหุ้นไทยผันผวนอย่างมาก โดยดัชนีปรับตัวลดลงไปติดต่อกัน 2 วันทำการ ก่อนที่จะเริ่มฟื้นตัวในวันที่ 3 โดยรวมดัชนีลดลงไปมากสุด 20.85 จุด หรือ 3.05% กล่าวคือ

– 19 ก.ย. 2549 เกิดรัฐประหาร ตลาดหุ้นไทยปิดที่ 702.56 จุด ในขณะนั้นดัชนีมีค่า current P/E 12.6 เท่า
– 21 ก.ย. 2549 วันทำการถัดมา (20 ก.ย. ประกาศเป็นวันหยุด) ตลาดหุ้นเปิดที่ 702.05 จุด ซึ่งเป็นจุดสูงสุดของวัน ก่อนลงไปทำจุดต่ำสุดที่ 673 จุด หรือ -4.2% และเมื่อปิดตลาดดัชนีอยู่ที่ 692.57 จุด ลดลง 9.99 จุด หรือ -1.42%
– 22 ก.ย. 2549 ตลาดหุ้นเปิดที่ 692.91 จุด ปิดตลาดที่ 681.71 จุด ลดลง 10.86 จุด หรือ -1.56%
– 25 ก.ย. 2549 ตลาดหุ้นเปิดที่ 679.37 จุด ปิดตลาดที่ 686.74 จุด เพิ่มขึ้น 5.03 จุด หรือ 0.73%

สรุปได้ว่ารัฐประหารคราวนั้น ตลาดหุ้นไทยใช้เวลา 16 วันทำการ จึงกลับมายืนได้ที่ระดับเดิม โดยเมื่อวันที่ 12 ต.ค. 2549 ตลาดปิดที่ 709.67 จุด

นี่เป็นตัวอย่างในเชิงสถิติของการยึดอำนาจการปกครอง ที่ทุกครั้งมักสร้างแรงตื่นตระหนกให้กับตลาดหุ้นไทย ไม่เพียงแต่ผลกระทบกับตลาดหุ้นเท่านั้น ยังมีฝากฝั่งของธุรกิจอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบของการปฏิวัติ (รัฐประหาร) ยึดอำนาจไล่เรียงกันไปตั้งแต่ “กลุ่มบันเทิง” โดยเฉพาะธุรกิจทีวี และโรงภาพยนตร์ ยกตัวอย่างเช่น คำสั่งของ คสช.หลังจากยึดอำนาจ ก็ออกประกาศห้ามมิให้บุคคลใดทั่วราชอาณาจักรออกนอกเคหะสถานภายในเวลา 22.00 - 05.00 น. ตั้งแต่ 22 พ.ค. 2557 เป็นต้นไป เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งก็ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อรายได้จากธุรกิจโรงภาพยนตร์ในการฉายภาพยนตร์รอบค่ำ

อีกกลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลกระทบ นั่นคือ “กลุ่มค้าปลีก” นั่นเพราะในช่วงที่ประกาศเคอร์ฟิว คาดว่าจะกระทบต่อธุรกิจบางประเภทที่ค้าขายตอนกลางคืน หรือธุรกิจค้าปลีกที่จำหน่ายตลอด 24 ชั่วโมง

เช่นเดียวกับ “กลุ่มท่องเที่ยว” ที่จะได้รับผลกระทบ เพราะประเทศนั้นๆ จะออกหนังสือเตือนพลเมืองในการเดินทางมายังประเทศไทย ดังที่เกิดขึ้นแล้วเมื่อครั้งการชุมนุมทางการเมืองเดือน ต.ค. 2556 ที่ต่างชาติราว 50 ประเทศ ได้ออกมาเตือนพลเมืองของประเทศนั้นๆ ให้ใช้ความระมัดระวังในการเดินทางเข้าประเทศไทย

และหลังจากนั้นก็มีการประกาศใช้กฎอัยการศึก เมื่อ 20 พ.ค. 2557 ประเทศที่เคยอยู่ในจำนวน 50 ประเทศข้างต้นได้มีการเตือนเพิ่มเติม คือ คูเวต และอิหร่าน ได้ห้ามมิให้เดินทางเข้าประเทศไทย ส่วนคาซัคสถาน รัสเซีย โอมาน มาเลเซีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กาตาร์ แนะนำให้เลื่อนการเดินทางเข้าไทยออกไปก่อน และสถานทูต 11 ชาติ คือ สหรัฐ อังกฤษ ออสเตรีย สวีเดน เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ สาธารณรัฐเช็ก ญี่ปุ่น ฮ่องกง ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ได้ประกาศแจ้งเตือนให้ใช้ความระมัดระวังในการเดินทางเข้าไทยให้มากขึ้น

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมี “กลุ่มการบิน” ที่ได้รับผลกระทบจากนักท่องเที่ยวหดตัว รวมถึง “กลุ่มโรงพยาบาล” ที่เน้นคนไข้ชาวต่างชาติ

นี่เป็นตัวอย่างผลกระทบในเชิงเศรษฐกิจแค่บางส่วน ที่รับผลจากการ “ปฏิวัติ-รัฐประหาร”

ดังนั้น ถ้าหากฝ่ายการเมืองไม่ทำให้เกิดจลาจล แน่นอนว่าการปฏิวัติก็จะไม่เกิด ดั่งคำกล่าวของชายชาติทหาร “พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์” ผู้บัญชาการทหารบก ที่ลั่นวาจาไว้อย่างชัดเจน!!!

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook