เจาะประเด็นดราม่าข้ามชาติ “โขนเป็นของไทยหรือเขมร”

เจาะประเด็นดราม่าข้ามชาติ “โขนเป็นของไทยหรือเขมร”

เจาะประเด็นดราม่าข้ามชาติ “โขนเป็นของไทยหรือเขมร”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สมัยนี้ “ดราม่า” กลายเป็นเหตุการณ์ระดับสากลที่สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกมุมโลก และล่าสุด สังคมอุดมดราม่าอย่างประเทศไทย ก็เริ่มจะไปไกลในระดับประเทศแล้ว จากกรณีที่รัฐบาลไทยเตรียมยื่นเรื่องต่อองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO) เพื่อขอขึ้นทะเบียนศิลปะการแสดงชั้นสูงอย่าง “โขน” ให้เป็นมรดกโลกด้านวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับชาวกัมพูชา เนื่องจากฝ่ายกัมพูชามองว่าตนเองก็เป็นเจ้าของโขนเช่นเดียวกัน และพากันเข้าไปคอมเมนต์วิพากษ์วิจารณ์ในเพจของยูเนสโกอย่างเผ็ดร้อน ด้านคนไทยก็ไม่น้อยหน้า เข้าไปคอมเมนต์ตอบโต้ ทั้งด้วยอารมณ์และข้อมูล จนกลายเป็นดราม่าครั้งใหม่ในโลกออนไลน์ในที่สุด

>> ดราม่าข้ามชาติ! ชาวเน็ตกัมพูชาบุกเพจไทย ฉุนขึ้นทะเบียนโขน ชี้เป็นของตัวเอง

>> ศิลปินแห่งชาติ ชี้ความต่าง “โขน” ไทย-กัมพูชา ยันขึ้นบัญชีมรดกโลกได้ทั้ง 2 ประเทศ

แม้ว่านางสาว Duong Bich Hanh หัวหน้าหน่วยวัฒนธรรม สำนักงานภูมิภาคองค์การยูเนสโก กรุงเทพมหานคร จะระบุว่า อาจจะยังไม่มีการขึ้นทะเบียนโขนของไทยในเร็วๆ นี้ เนื่องจากประเทศไทยยังไม่ได้ให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาการปกป้องมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ขณะที่กัมพูชามีความได้เปรียบมากกว่า จากการที่ได้จดทะเบียนศิลปะการแสดง “ละโคนพระกรุณา” หรือ Royal Ballet of Cambodia ซึ่งเป็นการแสดงรามเกียรติ์ที่สวมหน้ากากคล้ายกับโขนของไทย ตั้งแต่ พ.ศ. 2551 แต่ชาวไทยและชาวกัมพูชาก็ยังคงถกเถียงกันอยู่ว่าใครเป็นเจ้าของโขนกันแน่ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เราควรจะมองให้ลึกกว่า “โขนเป็นของใคร” คือเหตุใดเราจึงต้องทะเลาะกัน และสุดท้าย ทางออกของดราม่าครั้งนี้มีทางใดบ้าง

โขนไทย vs โขนเขมร

“โขนเป็นการแสดง วัตถุประสงค์ของการแสดงก็คือการสร้างความบันเทิง ที่ทางฝ่ายไทยบอกว่าโขนเป็นราชูปโภค ก็หมายความว่าโขนเป็นการแสดงที่ต้องมีเพื่อประกอบกับสถาบันกษัตริย์ แสดงถึงการอิงแอบระหว่างการแสดงกับสถาบันกษัตริย์ อันนี้มันเป็นวัตถุประสงค์ที่รองลงไป แต่ไม่ว่ากัมพูชาหรือไทย วัตถุประสงค์แรกสุดของโขนก็คือการแสดงเพื่อความบันเทิงให้แก่ผู้ชมอ.สมฤทธิ์ ลือชัย นักวิชาการอิสระด้านอุษาคเนย์ศึกษา กล่าวถึงวัตถุประสงค์ที่เหมือนกันระหว่างโขนของไทยและกัมพูชา ที่มีทั้งเพื่อความบันเทิง และมีไว้สำหรับสถาบันกษัตริย์ ซึ่งส่วนมากจะใช้นักแสดงฝ่ายใน คือผู้หญิง เช่นเดียวกับไทย จนกระทั่งไทยเปลี่ยนมาใช้ผู้ชายแสดงในสมัยรัชกาลที่ 5

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีจุดประสงค์ที่เหมือนกัน แต่สิ่งที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด คือองค์ประกอบอย่างท่ารำและการแต่งกาย ซึ่งคุณกรกิจ ดิษฐาน ผู้ช่วยบรรณาธิการข่าวต่างประเทศ หนังสือพิมพ์ M2F และคอลัมนิสต์ หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ได้ให้ความเห็นไว้ว่า กัมพูชาได้รับการถ่ายทอดวิชาโขนมาจากไทย ทว่ายังคงลักษณะดั้งเดิมที่มีความอ่อนช้อย มีความเป็นพื้นเมืองมากกว่า รวมทั้งความละเอียดในด้านการแต่งกายก็แตกต่างกัน

ตัวอย่างการแต่งกายของโขนแบบกัมพูชาiStockphotoตัวอย่างการแต่งกายของโขนแบบกัมพูชา

“โขนกัมพูชามีความละเอียดน้อยกว่า เรื่องชุด เรื่องการตัดเย็บ หัวโขนนี่ชัดเจนเลยว่ารูปทรงของกัมพูชาจะออกไปทางพื้นเมือง ในขณะที่ของไทยจะมีความสมส่วนและละเอียดกว่า มีความวิจิตรพิสดารมากกว่า ในส่วนของท่ารำ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยตั้งข้อสังเกตไว้ว่าท่ารำของกัมพูชาจะรักษาให้อ่อนช้อยได้มากกว่าของไทย เพราะตอนหลังของไทยจะมีการปรับท่ารำให้แข็งแกร่งขึ้น ดูเป็นผู้ชายมากขึ้น ขณะที่ของกัมพูชาจะอ่อนช้อย ซึ่งเป็นการรักษาความอ่อนช้อยจากของไทยไว้ เพราะตอนนั้นไทยไม่มีแล้ว” คุณกรกิจกล่าว นอกจากนี้ สิ่งที่ทำให้เขาสามารถอนุมานได้ว่าโขนเป็นของประเทศไทย ก็คือบทพากย์ของโขนกัมพูชา ที่มีสำนวนตรงกับบทพากย์ของไทยสมัยรัชกาลที่ 1 แต่มีอายุน้อยกว่า

“รศ.ศานติ ภักดีคำ ตั้งข้อสังเกตไว้ว่าสำนวนของบทพากย์ของกัมพูชา ตรงกับสำนวนของบทพากย์โขนไทยสมัยสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 เป็นสำนวนเดียวกัน แต่อายุน้อยกว่าของไทย ก็มีความเป็นไปได้ว่าบทพากย์โขนรับมาจากของไทย แต่ท่ารำ การแต่งกาย มีหลักฐานชัดเจนว่าราชสำนักของไทยส่งไปให้
หลายคนก็เขียนว่าทาง New York Public Library ได้ไปสัมภาษณ์ครูละครเก่าของกัมพูชาที่รอดจากเขมรแดง ก็ให้สัมภาษณ์ว่าในราชสำนักพูดภาษาไทย มีครูสอนรำเป็นคนไทย และได้รับอิทธิพลจากไทยในเรื่องนาฏศิลป์” คุณกรกิจอธิบาย

โขนเป็นวัฒนธรรมร่วมหรือไม่

ในขณะที่นักประวัติศาสตร์รุ่นเก๋าอย่างคุณสุจิตต์ วงษ์เทศ ได้กล่าวถึงที่มาของโขนไว้ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรมว่าเป็น “การละเล่นเรื่องรามายณะในพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนาพราหมณ์ แรกมีเก่าสุด (เท่าที่พบหลักฐานขณะนี้) ในราชสำนักขอมกัมพูชา ที่โตนเลสาบ (ทะเลสาบ) เมืองเสียมเรียบ” และส่งต่อแบบแผนการละเล่นนี้ให้แก่ราชสำนักขอมอโยธยา-ละโว้ ในยุคก่อนกรุงศรีอยุธยา อีกทั้งการละเล่นชนิดนี้ยังพัฒนามาจากวัฒนธรรมของราชสำนักจารีตโบราณในภูมิภาคอุษาคเนย์ ดังนั้นจึงถือว่า “โขนเป็นวัฒนธรรมร่วมของสุวรรณภูมิในภูมิภาคอุษาคเนย์ มีรากเหง้าความเป็นมาร่วมกัน จะแยกโดดๆ มิได้ ว่าเป็นสมบัติของใครของมัน หรือของที่นี่ ที่โน่น ที่นั่น” แต่คุณกรกิจกลับมองว่าโขนของไทยเป็นส่วนหนึ่งของการได้รับอิทธิพลจากอินเดีย (Indianization) และส่งออกวัฒนธรรมให้แก่กัมพูชาภายใต้กระบวนการทำให้เป็นไทย (Thaification)

“เราบอกว่าโขนเป็นวัฒนธรรมร่วม ทั้งๆ ที่ไทยได้ส่งออกวัฒนธรรมโขนไปให้ราชสำนักเขมร ก็เท่ากับเราดิสเครดิตความดีความชอบของครูบาอาจารย์แล้วก็ราชสำนักไทยในการเผยแพร่วัฒนธรรม การส่งโขนจากไทยไปเขมรเรียกว่า Thaification ของนาฏศิลป์ และเมื่อโขนไทยไปถึงเขมรแล้ว มันเรียกว่าวิวัฒนาการ มีรูปแบบ เครื่องแต่งกาย หรือหัวโขนแตกต่างจากไทยพอสมควรเลย และเขมรก็ได้รักษาท่ารำแบบเดิมไว้ ซึ่งไทยได้วิวัฒนาการท่ารำไปอีกแบบไปแล้ว เพราะฉะนั้นมันเรียกร่วมไม่ได้แล้ว เพราะต่างคนต่างไปแล้ว นี่คือทัศนะของผม” คุณกรกิจแสดงความเห็น

“บาดแผล” ภายใต้ดราม่า

หากมองให้ลึกลงไป วิวาทะครั้งนี้น่าจะมีรากของปัญหาที่มากกว่าการเป็นเจ้าของวัฒนธรรม ซึ่งคุณกรกิจมองว่าส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากลัทธิล่าอาณานิคมของตะวันตก ที่สร้างวาทกรรมครอบงำความคิดของชาวกัมพูชาเอาไว้ โดยคุณกรกิจอธิบายว่า ก่อนยุคอาณานิคมนั้น การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกันภายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นเรื่องปกติ แต่ความสัมพันธ์เหล่านี้กลับขาดสะบั้นลงเมื่อเข้าสู่ยุคอาณานิคม

“ในยุคอาณานิคม ชาติตะวันตกพยายามตัดความสัมพันธ์ระหว่างประชาชาติในอาเซียน เพื่อที่จะให้รู้สึกว่าแต่ละชาติไม่มีรากเหง้าร่วมกัน หลังจากที่กัมพูชาตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสแล้ว นักวิชาการฝรั่งเศสพยายามที่จะตัดความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชาออกไป โดยบอกว่าโขนเนี่ย กัมพูชาเป็นคนคิดเอง มาจากท่ารำที่จารึกภาพไว้ที่นครวัด ทั้งที่ที่นครวัดไม่ได้มีท่ารำอะไรเลย มีแต่การแต่งกายที่แตกต่างจากโขนมาก ฝรั่งเศสสร้างวาทกรรมขึ้นมาใหม่ว่ากัมพูชาเป็นชาติที่ยิ่งใหญ่ แล้วสืบทอดวัฒนธรรมไม่ขาดตอน ไม่เคยรับวัฒนธรรมจากไทย แล้ววาทกรรมนี้ทำให้คนกัมพูชาคิดว่าตัวเองเป็นเจ้าของทุกสิ่งทุกอย่างในอาเซียน ก็เลยกลายเป็นว่า คนกัมพูชามองไม่เห็นว่าตัวเองเป็นญาติทางวัฒนธรรมกับไทย มันเป็นบาดแผลที่เป็นระเบิดเวลาที่เจ้าอาณานิคมได้วางไว้ ทำให้ประเทศเพื่อนบ้านทะเลาะกัน”

นอกจากผลพวงจากยุคอาณานิคม อ.สมฤทธิ์มองว่า แนวคิดชาตินิยมในยุคสร้างชาติทั้งของไทยและกัมพูชา รวมทั้งผลประโยชน์ทางการเมืองของรัฐ ก็เป็นอีกปัจจัยที่ก่อให้เกิด “บาดแผล” ระหว่างชาติที่ยากจะเยียวยา แม้ในสมัยก่อน ชาตินิยมจะเป็นสิ่งที่จำเป็นในการรวมพลังของคนในชาติ แต่เมื่อเวลาผ่านไป แนวคิดชาตินิยมที่เน้นย้ำความภาคภูมิใจในชาติของตน กลับสร้าง “อคติ” ที่ถ่ายทอดและผลิตซ้ำผ่านสื่อและแบบเรียน ทำให้อคติดังกล่าวฝังรากลึก และดราม่าเรื่องโขนเป็นส่วนหนึ่งของอคติ เช่นเดียวกับกรณีเขาพระวิหารที่เคยเกิดขึ้นในอดีต

“อคตินี้ถูกผลิต ถูกสร้างโดยรัฐ ซึ่งเขาต้องการผลประโยชน์ทางด้านการเมืองของทั้งสองฝ่าย เพราะฉะนั้น เมื่อสร้างมาแล้วมันก็อยู่ในแบบเรียน ถูกถ่ายทอดให้อีกฝ่ายหนึ่งเป็นคนไม่ดี ทีนี้พอหยิบอะไรขึ้นมาหน่อยก็เกิดปัญหา ทางประวัติศาสตร์เรียกว่าเป็นประวัติศาสตร์บาดแผล หมายความว่า ไทยก็จะมองว่าในอดีต เขมรไว้ใจไม่ได้ ไม่ซื่อสัตย์ เขมรก็บอกว่าไทยเป็นฝ่ายรุกราน ไปเผาบ้านเมืองเขา ไปยึดของเขามา ไปกวาดต้อนคนของเขามา เรื่องอคตินี้เป็นเรื่องใหญ่มากๆ มากกว่าโขนเสียอีก และมันยังคงทำงานอยู่ เพียงแต่ว่ามันจะฟื้นขึ้นมาเมื่อไร และหากเราไม่เข้าใจซึ่งกันและกัน มันก็จะนำไปสู่ความขัดแย้งไม่รู้จบ” อ.สมฤทธิ์กล่าว

สยบดราม่าด้วยการก้าวข้ามอคติ

แม้ว่าการขึ้นทะเบียนโขนให้เป็นมรดกโลกจะช่วยให้โขนได้รับการอนุรักษ์ และกลายเป็นที่รู้จักในระดับโลก แต่เมื่อเกิดปัญหาเรื่องเจ้าของโขนขึ้น แนวทางระยะสั้นในการสยบดราม่านี้ก็อาจทำได้ใน 2 ทาง คือ การยื่นเรื่องขอขึ้นทะเบียนโขนร่วมกัน ระหว่างไทยและกัมพูชา หรือให้แต่ละประเทศต่างคนต่างยื่นเรื่องขอขึ้นทะเบียน ซึ่ง อ.สมฤทธิ์มองว่าหลายประเทศในกลุ่มอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นไทย ลาว เมียนมา กัมพูชา ต่างก็มีโขนเป็นของตัวเอง จึงน่าจะขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกของอาเซียนร่วมกันได้ หากปราศจากอคติซึ่งกันและกัน อย่างไรก็ตาม ด้านคุณกรกิจกลับสนับสนุนแนวทางที่ให้แต่ละประเทศขอขึ้นทะเบียนแยกกัน เนื่องจากโขนไทยและโขนกัมพูชามีลักษณะเฉพาะตัวที่แตกต่างกันออกไปแล้ว

“ผมไม่สนับสนุนให้ยื่นร่วม เพราะมันมีวิวัฒนาการแตกต่างกันไปแล้ว อรรถรสในการรำมันก็ต่างกันนะ การขึ้นทะเบียนพร้อมกัน นอกจากจะทำให้ทั้งสองประเทศทะเลาะกันแล้ว ยังเป็นการทำลายรากเหง้าทางวัฒนธรรมของทั้งสองประเทศด้วย เพราะมันจะทำให้ทั้งสองอันกลายเป็นหนึ่งเดียวกัน รสชาติ บรรยากาศ ท่ารำ มันจะต้องเหมือนกัน มันถึงจะจดทะเบียนร่วมกันได้ แม้ว่าโขนจากกัมพูชาจะได้รับจากไทยจริง ผมก็สนับสนุนให้เขาจดแยกนะ เพราะว่ามันเป็นประวัติศาสตร์นาฏศิลป์ของเขาไปแล้ว การจดร่วมก็เท่ากับว่าเราไปดูหมิ่นพัฒนาการของกัมพูชาด้วย แล้วเราก็ดูหมิ่นครูบาอาจารย์ของเราที่คิดค้นเรื่องนี้ขึ้นมา” คุณกรกิจกล่าว

สำหรับแนวทางการแก้ปัญหาความสัมพันธ์ในระยะยาว คุณกรกิจเห็นว่า ทั้งชาวไทยและชาวกัมพูชาควรศึกษาข้อมูลทางวิชาการให้มากขึ้น และหันมาถกเถียงกันอย่างมีเหตุมีผล แทนที่จะโพสต์ก่อกวนกันในโลกออนไลน์ จนกระทั่งลุกลามกลายเป็นการเหยียดเชื้อชาติ ด้าน อ.สมฤทธิ์ก็มองว่าไทยและกัมพูชาควรใช้โอกาสนี้หันมาทบทวนความสัมพันธ์กันใหม่ เพื่อก้าวข้ามอคติและลดความขัดแย้ง

“การก้าวข้ามมันพูดง่าย แต่ส่วนมากจะบอกว่ามันทำยาก แต่ผมคิดว่าจะง่ายหรือยาก ต้องทำ เพราะอคติไม่ได้สร้างผลดีให้กับตัวเราเองและคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไทยหรือกัมพูชา อคติมันเกิดจากเพราะรักมาก โกรธมาก เกลียดมาก กลัวมาก และที่สำคัญคืออคติเพราะไม่รู้ แล้วมันก็ไม่ดี อย่างไรก็ตาม ถ้าเรามองวิกฤตเป็นโอกาส เราก็จะเห็นว่าเราก็ยังอยู่ในความสัมพันธ์ที่มีอคติต่อกัน ไม่ไว้ใจกัน ยังมองอีกฝ่ายเป็นศัตรู เราก็น่าจะถือโอกาสนี้ทบทวน เรียนรู้ว่าทำไมมันเกิดขึ้น แล้วเราก็หาทางแก้ เพื่อจะลบล้างอคติที่มีต่อกันทั้งสองฝ่าย อคติส่วนใหญ่เกิดจากสิ่งที่เรียกว่าความไม่รู้ หรืออวิชชา เพราะฉะนั้นเราควรจะใช้ความรู้เข้าไปจัดการ คือใช้วิชชาแก้ไขอวิชชา ถ้าเราเข้าใจอย่างนี้ เราก็จะมองคนอื่นดีขึ้น รวมทั้งมองตัวเองด้วย

ในขณะที่โลกทุกวันนี้จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากนานาชาติ สิ่งสำคัญที่มากกว่าการเป็นเจ้าของมรดกโลก น่าจะเป็นความสัมพันธ์กับประเทศอื่นๆ ซึ่ง อ.สมฤทธิ์เห็นว่า การได้ขึ้นทะเบียนโขนเป็นมรดกโลกนั้นเป็นเพียงเปลือกนอก ที่แลกไม่ได้กับความสัมพันธ์กับมนุษย์ ดังนั้น คงถึงเวลาแล้วที่เราต้องวางความเป็นชาตินิยมลง

“ชาตินิยมควรถูกใช้อย่างถูกกาลเทศะ เมื่อหมดยุคของมัน ก็ไม่ควรจะใช้อีกต่อไป เหมือนสเตียรอยด์น่ะ ในบางภาวะที่ร่างกายต้องการการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน คุณใช้สเตียรอยด์ได้ แต่คุณจะใช้สเตียรอยด์ไปตลอดชีวิตไม่ได้ เพราะคุณจะกลายเป็นคนขี้โรค เพราะฉะนั้น ชาตินิยมมันก็มีข้อดีของมัน แต่มันจะใช้เฉพาะบางสถานการณ์ แต่ในสถานการณ์ปกติ เราควรจะใช้มนุษยนิยม นานาชาตินิยม สากลนิยม ซึ่งจะทำให้เราอยู่ด้วยกันอย่างเป็นสุข” อ. สมฤทธิ์สรุป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook