ฟังมุมมอง 2 ด้าน “โทษประหารยังจำเป็นอยู่ไหม”

ฟังมุมมอง 2 ด้าน “โทษประหารยังจำเป็นอยู่ไหม”

ฟังมุมมอง 2 ด้าน “โทษประหารยังจำเป็นอยู่ไหม”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กระแสการถกเถียงเรื่องโทษประหารชีวิตในประเทศไทยหวนกลับมาอีกครั้ง เมื่อกรมราชทัณฑ์ประกาศการประหารชีวิตนักโทษเป็นครั้งแรกในรอบ 9 ปี เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2561 หลังจากที่ไม่มีการประหารชีวิตนักโทษมาตั้งแต่ พ.ศ. 2552 ซึ่งหากประเทศไทยไม่มีการประหารชีวิตเป็นเวลา 10 ปี ติดต่อกัน องค์การสหประชาชาติจะถือว่าไทยเป็นประเทศที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติทันที

>> นักโทษประหารขอ "เหนียวไก่" เป็นมื้อสุดท้าย - สีหน้าเรียบเฉยก่อนลาโลก
>> เปิดนาทีเพชฌฆาตฉีดยาประหารชีวิต "มิก หลงจิ" ใช้ 3 คน กด 3 ตัวยา
>> ผู้คุมเรือนจำบางขวาง ขอบคุณ "นักโทษประหาร" เอ่ยปากอโหสิก่อนถูกฉีดยา
>> ญาติร่ำไห้ฝังศพนักโทษประหารที่บ้านเกิด จ.ตรัง แม่เชื่อลูกบริสุทธิ์

แต่ทว่าพัฒนาการด้านสิทธิมนุษยชนของไทยครั้งนี้กลับไปไม่ถึงฝั่งฝัน แถมยังก่อให้เกิดดราม่าร้อนระอุในโลกออนไลน์ เพราะองค์กรสิทธิมนุษยชนอย่างแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล ประเทศไทย ได้จัดกิจกรรมยืนไว้อาลัยให้แก่นักโทษที่ถูกประหารชีวิต พร้อมออกแถลงการณ์ว่าการประหารชีวิตครั้งนี้เป็น “การกระทำที่น่าละอายอย่างยิ่ง” ส่งผลให้ชาวเน็ตหลายคนเกิดความไม่พอใจ และมองว่าแอมเนสตี้กำลังปกป้องคนผิด ขณะเดียวกัน ทั้งทางแอมเนสตี้และชาวเน็ตอีกกลุ่มกลับเห็นว่าโทษประหารไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอาชญากรรม สุดท้ายโลกออนไลน์ก็แบ่งออกเป็นสองฝ่าย ได้แก่ กลุ่มที่เห็นด้วยกับการมีโทษประหารชีวิต และกลุ่มที่ต้องการให้ยกเลิกโทษประหารชีวิต เช่นเดียวกับที่หลายประเทศในโลกประสบความสำเร็จในการยกเลิกโทษนี้

>> "แอมเนสตี้" ระบุ "โหดร้าย-ไร้มนุษยธรรม" กรณีไทยกลับมาใช้โทษประหารชีวิต

ที่จริงแล้ว โทษประหารชีวิตยังมีความจำเป็นอยู่หรือไม่ ลองมาฟังความเห็นจากทั้งสองฝ่าย แล้วชั่งน้ำหนักกันดู

หลักการของโทษประหารชีวิต


จากการศึกษาเรื่อง “ข้อดีข้อเสียของโทษประหารชีวิตกับสังคมไทย” ของวิชัย เดชชุติพงศ์ ระบุว่า “การลงโทษประหารชีวิตถือเป็นมาตรการลงโทษที่เก่าแก่และรุนแรงที่สุด เป็นการกำจัดผู้กระทำความผิดออกจากสังคมอย่างเด็ดขาดด้วยวิธีการฆ่า มีวัตถุประสงค์คือเพื่อแก้แค้นผู้กระทำความผิดให้สาสมกับความผิดที่ได้กระทำ รวมทั้งตัดโอกาสเพื่อไม่ให้มีการกระทำผิดซ้ำ และเพื่อไม่ให้ผู้อื่นเอาเยี่ยงอย่าง เนื่องจากเกิดความกลัวที่จะถูกลงโทษ” ซึ่งต่อมา จากแนวคิดที่ว่าผู้กระทำผิดสามารถพัฒนาตนเองให้เป็นคนดีได้ จึงเกิดแนวทางการคืนคนดีให้สังคม โดยควบคุมตัวผู้กระทำผิด จำกัดอิสรภาพ ขณะเดียวกันก็พยายามพัฒนาคนเหล่านี้เพื่อกลับคืนสู่สังคมภายนอก ประกอบกับแนวคิดเรื่องสิทธิมนุษยชน ที่ให้คุณค่าความเป็นมนุษย์กับทุกชีวิต รวมทั้งการถวายฎีกาและการลดโทษในโอกาสพิเศษต่างๆ ก็เอื้อให้นักโทษที่ผ่านเกณฑ์ เช่น รับโทษมาเป็นเวลาระยะหนึ่ง และเป็นนักโทษชั้นดี สามารถพ้นโทษได้ก่อนกำหนด และออกจากคุกไปหาครอบครัว และสร้างประโยชน์ให้แก่สังคมต่อไป ทำให้ที่ผ่านมายังไม่มีการประหารชีวิตนานถึง 9 ปี ก่อนที่โทษนี้จะกลับมาอีกครั้งเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา

ความเห็นของฝ่ายสนับสนุนโทษประหารชีวิต


หลังจากที่ความคิดเห็นในโลกออนไลน์ปะทุขึ้น สำนักข่าวออนไลน์หลายแห่งได้ทำโพลล์สำรวจว่าควรมีโทษประหารชีวิตต่อไปอีกหรือไม่ ซึ่งมติก็ออกมาเป็นเอกฉันท์แบบสุดๆ คือ “โทษประหารชีวิตควรมีอยู่ในประเทศไทยต่อไป” โดยชาวเน็ตส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่า ปัจจุบันนี้ ตัวเลขอาชญากรรมเพิ่มมากขึ้น แต่กระบวนการยุติธรรมกลับยังไม่มีประสิทธิภาพมากพอ เพราะยังมีการจับกุมผู้บริสุทธิ์ และผู้ที่มีอำนาจมักจะไม่ได้รับโทษ แต่หากมีการพัฒนากระบวนการยุติธรรมให้มีความโปร่งใสมากขึ้น นักโทษได้รับโทษตามจริง ไม่มีการลดหย่อนในโอกาสต่างๆ ก็อาจจะยกเลิกโทษประหารชีวิตได้ ในขณะที่บางส่วนมองว่า โทษประหารชีวิตสามารถคงไว้ได้ หากมีกระบวนการยุติธรรมที่โปร่งใสมากพอ เพื่อจะได้ไม่มีการประหารชีวิตผู้บริสุทธิ์

โทษประหารชีวิตมีไว้ป้องปรามไม่ให้คนกระทำความผิด
ฝ่ายสนับสนุนโทษประหารชีวิตมองว่าโทษนี้เป็น “ยาแรง” ที่จะทำให้คนทั่วไปรู้สึกกลัวการถูกลงโทษ และเป็นการปิดช่องโหว่ที่นักโทษจะกระทำผิดซ้ำหลังจากออกจากคุก เนื่องจากทุกวันนี้คุกในประเทศไทยไม่ใช่แหล่งฟื้นฟูพฤติกรรม แต่กลับเป็นแหล่งบ่มเพาะอาชญากร ด้วยสภาพความเป็นอยู่ที่แออัด ยากลำบาก และลดทอนความเป็นมนุษย์ ดังนั้น การประหารชีวิตจึงช่วย “ตัดตอน” อาชญากร ไม่ให้ออกมาก่อเหตุอีกครั้ง เพราะเสียชีวิตไปแล้ว

โทษประหารชีวิตช่วยลดจำนวนอาชญากร
ฝ่ายที่สนับสนุนโทษประหารเชื่อว่า การประหารชีวิตช่วยลดจำนวนอาชญากรที่เป็นอันตรายต่อสังคม โดยงานวิจัย ชื่อ "Statistical Evidence on Capital Punishment and the Deterrence of Homicide” ปี 2006 โดยมหาวิทยาลัยเอมอรี สหรัฐอเมริกา ระบุว่าการประหารชีวิตแต่ละครั้ง สามารถลดจำนวนฆาตกรได้ระหว่าง 3 – 18 คน ส่วนบทความเรื่อง “The Deterrent Effect of Capital Punishment: Evidence from a 'Judicial Experiment'” ระบุว่าอัตราการฆาตกรรมเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงที่มีการพักการใช้โทษประหาร

ชีวิตแลกชีวิต = ยุติธรรม
จากทัศนคติที่ว่าชีวิตของมนุษย์เป็นสิ่งที่มีค่ามากที่สุด เมื่อมนุษย์คนหนึ่งพรากชีวิตของอีกคน จึงควรชดใช้ด้วยชีวิตเช่นกัน จึงจะเป็นการยุติธรรม นอกจากนี้ ฝ่ายสนับสนุนโทษประหารยังมองว่า โทษประหารทำให้ครอบครัวของเหยื่อรู้สึกว่าได้รับความเป็นธรรม เป็นการสิ้นสุดคดี และช่วยให้พวกเขาสามารถดำเนินชีวิตได้ต่อไป

จำคุกตลอดชีวิต = สิ้นเปลือง
ฝ่ายสนับสนุนโทษประหารชีวิตมองว่า การลดโทษสูงสุดให้เหลือเพียงการจำคุกตลอดชีวิตนั้นสิ้นเปลืองงบประมาณในการเลี้ยงดูนักโทษ จนกว่านักโทษผู้นั้นจะเสียชีวิต และทำให้คุกล้น เนื่องจากมีจำนวนนักโทษมากเกินไป ดังนั้น การประหารชีวิตจึงมีส่วนช่วยให้จำนวนนักโทษในคุกลดน้อยลงด้วย

ความเห็นของฝ่ายที่ต้องการยกเลิกโทษประหาร


ส่วนฝ่ายที่ต้องการให้ยกเลิกโทษประหารชีวิต มองว่าการประหารชีวิตถือว่าขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน เนื่องจากแนวคิดนี้ให้ความสำคัญกับสิทธิการมีชีวิตอยู่ และมนุษย์ทุกคนไม่ได้เกิดมาเป็นคนเลวทันที แต่สามารถทำผิดพลาดได้ นอกจากนี้ การประหารชีวิตยังขัดต่อหลักอาชญาวิทยาสมัยใหม่ ที่เชื่อว่าอาชญากรสามารถกลับตัวเป็นคนดีได้ มีชีวิตใหม่ได้ เมื่อได้รับการบำบัดฟื้นฟูอย่างเหมาะสม รวมทั้งขัดต่อหลักทัณฑวิทยา ที่มีวัตถุประสงค์ในการลงโทษเพื่อแก้ไขและดัดนิสัยให้กลับตัวเป็นคนดี ไม่ใช่การแก้แค้นให้ตายตกไปตามกัน ซึ่งการกำหนดให้โทษสูงสุดเป็นการจำคุกตลอดชีวิต ก็ถือเป็นการลงโทษโดยการจำกัดสิทธิเสรีภาพอยู่แล้ว และยังเป็นการกันอาชญากรออกจากสังคมด้วย

เลิกโทษประหาร ป้องกันการ “ประหารแพะ”
เนื่องจากกระบวนการยุติธรรมในประเทศไทยยังไม่มีประสิทธิภาพมากพอ โดยเฉพาะในกรณีการจับกุมผิดตัว หรือ “แพะ” ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง และยังมีอยู่ในคุกเป็นจำนวนมาก ทำให้มีแนวโน้มที่จะประหารชีวิตผิดคน และไม่สามารถเยียวยาได้ เนื่องจากนักโทษผู้นั้นเสียชีวิตไปแล้ว ดังนั้น การยกเลิกโทษประหารและใช้การจำคุกตลอดชีวิตแทน น่าจะช่วยลดปัญหาการประหารชีวิตผู้บริสุทธิ์ได้

โทษประหารไม่ได้ทำให้คนเกรงกลัว
โทษประหารไม่ได้ทำให้คนเกิดความกลัวโทษ แต่กลัวที่จะถูกจับไปรับโทษ และอาจส่งผลให้มีการฆ่าปิดปากเหยื่อได้ อีกทั้งการก่อคดีมักจะเกิดจากอารมณ์ชั่ววูบ หรือหากมีการวางแผน ก็จะเดินหน้าต่อเพราะคิดว่าจะรอด โดยความเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้านอาชญาวิทยากว่า 80% มองว่าโทษประหารไม่ได้ผลมากกว่าโทษจำคุกตลอดชีวิตอย่างมีนัยสำคัญ และตามสถิติประเทศที่มีโทษประหารเทียบกับประเทศที่ไม่มีโทษประหาร ประเทศที่ไม่มีโทษประหารก็ไม่ได้มีอาชญากรรมมากกว่า นอกจากนี้ คุณชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ยังกล่าวไว้ในบทความเรื่อง “โทษประหารชีวิตไม่ทำให้อาชญากรรมลดลง” ว่า

“งานวิจัยเกี่ยวกับนักโทษประหารชีวิตโดยสุมนทิพย์ จิตสว่าง ระบุว่า สถานภาพของนักโทษประหารชีวิตในประเทศไทยเป็นบุคคลที่มีฐานะทางสังคมไม่สูงนัก ส่วนใหญ่จบการศึกษาระดับประถม มีรายได้ไม่เกิน 10,000 บาท การตกเป็นนักโทษประหารชีวิตเนื่องจากสภาพแวดล้อมที่กดดันหล่อหลอมให้ก่ออาชญากรรม เช่น การคบเพื่อน การเรียนรู้ทางสังคม มีการควบคุมตัวเองต่ำ รวมทั้งการไม่เกรงกลัวโทษประหารชีวิตในขณะกระทำความผิด กล่าวคือ โทษประหารชีวิตไม่สามารถยับยั้งให้พวกเขาก่ออาชญากรรม แต่พวกเขาจะกลัวโทษที่จะได้รับหลังจากกระทำความผิดแล้ว

โทษประหารไม่ได้หยุดความรุนแรง แต่ผลิตซ้ำความรุนแรง
โทษประหารชีวิตไม่ได้ช่วยยับยั้งอาชญากรรมรุนแรง และไม่ได้ช่วยให้สังคมปลอดภัยขึ้น เนื่องจากแนวคิด “ชีวิตต้องแลกด้วยชีวิต” ส่งผลให้เกิดการผลิตซ้ำความรุนแรง โดยรัฐเองก็เป็นผู้สนับสนุนวงจรการใช้ความรุนแรงดังกล่าว ซึ่งคุณสุรพงษ์ กองจันทึก นักกฎหมายและนักสิทธิมนุษยชน ระบุว่า ในสมัยโบราณ ประเทศไทยใช้วิธีการลงโทษผู้กระทำผิดที่รุนแรง และได้บทเรียนแล้วว่าความรุนแรงไม่ได้นำไปสู่การแก้ไขปัญหาสังคมอย่างจริงจัง แต่ยังสร้างปัญหาอื่นๆ ตามมา

“เราเห็นว่าคนที่กระทำผิด คนเลว สมควรตาย เพราะมันสร้างปัญหาให้บ้านเมือง และตายให้เห็นได้เลยตามกฎหมาย แล้วถ้าเกิดเรามีอาวุธอยู่ในมือ มีกำลังและมีความชอบธรรมที่จะทำให้เขาตาย ก็เกิดการฆ่าฟัน เกิดความรุนแรง เราอาจจะมีความคิดที่ต่างกัน แต่มันต้องมีการตัดสินที่เป็นที่ยอมรับ ไม่ใช่ว่ามาตัดสินกันเอง แล้วไปทำร้ายร่างกายกันเอง ถ้ามีการประหารเกิดขึ้น ผมเชื่อว่าต้องมีความรุนแรงเกิดขึ้นด้วย” คุณสุรพงษ์กล่าว

โทษประหารเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ
โทษประหารเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ เนื่องจากต้นเหตุที่แท้จริงคือปัญหาเชิงโครงสร้างทางสังคม ที่บีบให้คนกระทำผิด เช่น ความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา รายได้ ทัศนคติทางเพศ ความรุนแรงในครอบครัว รวมทั้งระบบคุกที่ลดทอนความเป็นมนุษย์ ทัศนคติของคนภายนอกที่มองนักโทษ และไม่มีระบบติดตามตรวจสอบความประพฤติของนักโทษที่พ้นโทษแล้ว ซึ่งทำให้เกิดการกระทำผิดซ้ำ

นอกจากนี้ ความเห็นในโลกออนไลน์ของผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ Atipong Path ยังระบุว่า การนำตัวนักโทษมาประหารชีวิตเพื่อความอุ่นใจหรือสะใจ จะทำให้คนสนใจแก้ไขปัญหาเชิงระบบน้อยลง เพราะความสนใจไขว้เขวไปจากรากของปัญหา เพราะปัญหาอาชญากรรมมีความซับซ้อนมากกว่านิสัยคน แต่การที่คนคนหนึ่งจะก่ออาชญากรรมเป็นผลมาจากความบกพร่องบางอย่างในสังคม

ขณะเดียวกัน การประหารชีวิตยังเป็นการปิดโอกาสให้นักโทษปรับปรุงตัวก่อนออกสู่สังคมภายนอก และตัดตอนกระบวนการแก้ปัญหาที่แท้จริง เพราะไม่สามารถทำให้ไม่สามารถใช้กรณีศึกษาจากตัวนักโทษ เพื่อนำมาแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาทั้งหมด โดยคุณสุรพงษ์ให้ความเห็นว่า “เมื่อมีผู้กระทำผิด เราเอาเขามาลงโทษ แต่ก็ต้องมีการตรวจสอบต่อด้วยว่า มันเกิดจากอะไร มันไม่ได้เกิดจากคนคนเดียว การฆ่าคนคนหนึ่ง ปัญหามันยังอยู่ เราน่าจะเอาเขามาศึกษาว่าทำไมมันเป็นแบบนี้ ปัญหาเรื่องการเลี้ยงดูเป็นอย่างไร เพื่อนฝูงเป็นอย่างไร การกล่อมเกลาทางสังคมเป็นอย่างไร เพื่อจะไม่ให้เกิดเรื่องแบบนี้อีก จากกรณีนี้ ไม่ต้องไปประหารเขา แต่เราไปดูปัจจัยอื่นที่เป็นที่มาที่ไป แล้วเราก็ไปแก้ปัญหาตรงนั้น ถ้าเราแก้ตรงนั้นได้ ปัญหาอื่นๆ จะไม่เกิดอีก”

ปิดโอกาสการก้าวข้ามความเกลียดชัง
ด้านผู้ดูแลเพจแนวกฎหมายและสังคมอย่าง โลกสีเทา มองว่า “การยกเลิกการบังคับโทษประหารคือก้าวที่สำคัญในการผลักดันให้คนในสังคมเรียนรู้ที่จะละเลิกจากความเคียดแค้นชิงชัง” ซึ่งเป็นเหตุผลเดียวกับที่ใช้การจำคุกในความผิดรุนแรง แทนที่จะลงโทษแบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน อย่างในสมัยก่อน และในมุมมองของครอบครัวเหยื่อ ก็ไม่ได้มีงานวิจัยที่ระบุว่า ครอบครัวของผู้เสียหายรู้สึกว่าได้รับความเป็นธรรม เมื่อคนร้ายถูกประหารชีวิต

“แม้กระทั่งครอบครัวของคนที่เป็นเหยื่อเองก็ไม่มีวิจัยที่ระบุว่ารู้สึกว่าได้รับความเป็นธรรม เมื่อผู้ร้ายโดนประหาร มักมีแต่ที่บอกว่ารู้สึกได้รับความเป็นธรรมเมื่อถูกจับเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมและมีการไต่สวนอย่างเป็นธรรม (คือไม่ถูกอำนาจมืดแทรกแซง และไม่มีการเล่นแร่แปรธาตุทางกฎหมาย ใช้ข้อเทคนิคทางกฎหมายมาทำให้รอด ไม่มี miscarriage of justice) ความรู้สึกยุติธรรมจะเกิดขึ้นเมื่อคุณการันตีได้ว่าผู้ก่อเหตุจะได้รับการลงโทษแน่นอน (certainty of punishment) ไม่ใช่การเพิ่มความรุนแรงของโทษ (severity of punishment)

ด้านผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ Paween Hinmuangkao ก็ให้ความเห็นว่า การดำเนินคดีโทษประหารมีความละเอียดอ่อน และต้องระมัดระวังอย่างมากเพื่อป้องกันการประหารผู้บริสุทธิ์ ทำให้ระยะเวลาในการดำเนินคดียาวนานกว่าปกติ ประกอบกับกระบวนการดำเนินคดียังมุ่งเน้นที่ตัวกฎหมายมากกว่าการบรรเทาความเจ็บปวดของฝ่ายผู้เสียหาย ทำให้ผู้เสียหายและครอบครัวต้องจมอยู่กับเหตุการณ์อันเลวร้ายเป็นเวลานาน กว่าจะได้รับการเยียวยาและใช้ชีวิตได้ตามปกติ ส่งผลให้เกิดปัญหาทางสุขภาพจิต และอาจส่งผลต่อความสัมพันธ์ในครอบครัว โดยการศึกษาในอเมริกาพบว่า ครอบครัวของเหยื่อกว่า 70% ประสบปัญหาครอบครัวถึงขั้นหย่าร้างหรือการใช้สารเสพติดหลังจากการดำเนินคดีโทษประหารถึงที่สิ้นสุด

ทางออกที่ไม่ใช่แค่การฆ่าแล้วจบ


เมื่อพิจารณาความเห็นของทั้งสองฝ่าย พบว่าการสนับสนุนและไม่สนับสนุนโทษประหารชีวิต มีที่มาจากความไม่เชื่อมั่นในระบบยุติธรรมของไทย โดยเฉพาะฝ่ายที่สนับสนุนโทษประหารชีวิตจะมีความไม่พอใจที่เห็นคนกระทำความผิดรุนแรง แต่ไม่ถูกลงโทษ หรือมีการลดหย่อนโทษจนได้ออกมาใช้ชีวิตปกติ ซึ่งถือเป็นเรื่องของ “ความแน่นอนในการรับโทษ” ไม่ใช่ “ความรุนแรงของโทษ” ดังนั้น การใช้โทษที่รุนแรงอย่างการประหารชีวิต จึงน่าจะไม่ใช่ทางออกที่ดีในการเรียกความเชื่อมั่นในระบบยุติธรรมกลับมา แต่เป็นเพียงการเปิดโอกาสให้ผู้คนได้ระบายความเครียดจากระบบที่ไม่มีประสิทธิภาพเท่านั้น ซึ่งตรงกับผลวิจัยทั่วโลกที่สรุปคล้ายกันว่า "เสียงสนับสนุนโทษประหารส่วนมากเป็นเพียงการแสดงอารมณ์และมีนัยสำคัญเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น"

ทางออกที่แท้จริงอาจจะไม่ใช่ “ประหารหรือไม่ประหาร” แต่เป็นการแก้ปัญหาที่ต้นตออย่างกระบวนการยุติธรรม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน นับตั้งแต่การทำงานอย่างจริงจังของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อยับยั้งวงจรอาชญากรรมตั้งแต่ยังเป็นเพียงคดีเล็กๆ ก่อนที่จะขยายเป็นอาชญากรรมที่รุนแรงขึ้น รวมทั้งเข้มงวดในการสืบสวนหาหลักฐาน เพื่อป้องกันการจับกุมผู้บริสุทธิ์

“แน่นอนว่าสิ่งที่บุคคลเหล่านั้นกระทำถือว่าเป็นความผิด สิ่งที่รัฐจะต้องกระทำอย่างเร่งด่วนคือ การนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษตามกระบวนการยุติธรรม ซึ่งกระบวนการยุติธรรมจะต้องโปร่งใส รวดเร็ว แม่นยำและเท่าเทียมกัน จะต้องไม่มีการปล่อยคนผิดลอยนวล ยิ่งกระบวนการยุติธรรมเป็นธรรมและรวดเร็วเท่าไร ยิ่งถือได้ว่าเป็นการเยียวยาเหยื่อหรือผู้เสียหายได้มากเท่านั้น” คุณชำนาญกล่าว

ส่วนกรมราชทัณฑ์เองก็ควรปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ในคุก ให้เป็นพื้นที่สำหรับฟื้นฟูพฤติกรรมและสภาพจิตใจของนักโทษให้กลับเป็นคนดี และพร้อมออกไปสู่สังคมภายนอกในฐานะพลเมืองดี ไม่ใช่แหล่งบ่มเพาะมิจฉาชีพ รวมทั้งมีการติดตามพฤติกรรมหลังจากออกจากคุก และพยายามส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของผู้ที่พ้นโทษ เพื่อให้สังคมปรับเปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อนักโทษ เป็นการให้โอกาสใหม่ๆ แก่ผู้ที่กลับตัวกลับใจ เพื่อให้คนเหล่านี้ไม่กลับไปกระทำผิดซ้ำ ซึ่งคุณชำนาญให้ความเห็นว่า

“เราควรมีทัศนคติใหม่ต่อผู้ที่กระทำความผิด ไม่ควรคิดว่าพวกเขาเป็นผู้ร้ายที่สมควรได้รับการลงโทษอย่างสาสม แต่ควรคิดว่าพวกเขาก็เป็นส่วนหนึ่งของผลผลิตทางสังคมเหมือนเช่นเรา และการลงโทษนั้นต้องไม่เป็นไปเพื่อการแก้แค้นทดแทน แต่ต้องเป็นไปเพื่อการแก้ไขเยียวยา เพราะการที่พวกเขากระทำความผิดย่อมหมายถึงบางสิ่งบางอย่างในสังคมของเราทำหน้าที่ผิดเพี้ยนไป สิ่งที่เราควรที่จะคิดกระทำไม่ใช่การกำจัดพวกเขาให้ออกไปจากสังคม แต่เราควรที่จะคิดหาต้นตอของปัญหา ฟันเฟืองที่ทำงานผิดพลาดเพื่อหาวิธีการแก้ไข

นอกจากการบำบัดเยียวยาพฤติกรรมของนักโทษแล้ว สิ่งที่จำเป็นอีกอย่างคือการชดเชยให้กับฝ่ายผู้เสียหาย ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่การคร่าชีวิตของนักโทษ แต่เป็นกระบวนการเยียวยาความเสียหายที่สมเหตุสมผล โดยเฉพาะกับครอบครัวที่สูญเสียหัวหน้าครอบครัว โดยคุณสุรพงษ์กล่าวว่า

“นอกจากจะเยียวยานักโทษแล้ว กระบวนการเยียวยาผู้เสียหายเราก็มีน้อย คนที่ฆ่าต้องถูกประหาร แต่ไม่ใช่แค่ว่าประหารชีวิตอีกฝ่ายแล้วจบ ญาติผู้ตายได้รับการเยียวยาแล้ว ไม่ต้องทำอะไรแล้ว ไม่ใช่นะครับ เพราะคนที่ตายอาจจะเป็นกำลังหลักของครอบครัว ครอบครัวเขาเดือดร้อน มันส่งผลทางสังคมตามมาอีกมากมาย แต่ไทยไม่เคยเยียวยาตามกระบวนการแบบนั้นเลย คิดว่าไปฆ่าคนที่ฆ่าคนอื่น เท่านั้น จบแล้ว ความเป็นธรรมเกิดขึ้นในสังคมไทยแล้ว ไม่ใช่ เราต้องไปเยียวยาคนที่สูญเสียจริงๆ ไปดูว่าเกิดอะไรกับครอบครัวเขาอย่างไร ต้องเข้าไปทำด้วย และต้องทำกับทุกเคสด้วย

แม้ดราม่าครั้งนี้จะดุเดือดยิ่งกว่าดราม่าอื่นๆ แต่เราก็หวังว่าการถกเถียงกันครั้งนี้จะสามารถกระตุกให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมและความมั่นคงของมนุษย์ หันมาสนใจปัญหานี้ และเล็งเห็นถึงประโยชน์ของการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างที่เกิดขึ้น เพื่อหยุดวงจรอาชญากรรมตั้งแต่ต้นทาง เชื่อว่าถึงตอนนั้น “โทษประหารชีวิตยังจำเป็นอยู่หรือไม่” คงไม่จำเป็นต้องถามอีกต่อไป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook