ยาหม่อง : ตลาดยาที่ไม่เล็กอย่างที่คิด

ยาหม่อง : ตลาดยาที่ไม่เล็กอย่างที่คิด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
หนึ่งในผลิตภัณฑ์ยาประเภทครีมที่เป็นที่รู้จักของคนไทยมาเป็นเวลายาวนานและมีการใช้อย่างแพร่หลายเรื่อยมาตั้งแต่อดีตก็คือ ขี้ผึ้งบาล์ม หรือที่เรียกว่า ยาหม่อง นั่นเอง ทั้งนี้ ยาหม่องเป็นยาครีมที่มีส่วนผสมของวาสลีน พาราฟิน พิมเสน เมนทอล การบูร น้ำมันยูคาลิปตัส รวมไปถึงสมุนไพรต่างๆ ตามสูตรที่ผู้ผลิตแต่ละรายจะกำหนด นอกจากยาหม่องในรูปแบบบาล์มแล้ว ปัจจุบันผู้ผลิตได้พัฒนาในรูปแบบน้ำที่เรียกกันว่า ยาหม่องน้ำ โดยเพิ่มเติมส่วนผสมที่สำคัญ ได้แก่ น้ำมันแก้ว หรือน้ำมันระกำเข้าไป

ยาหม่องมีสรรพคุณหลายประการ ได้แก่ ช่วยแก้ปวดเมื่อย เคล็ดขัดยอก รักษาอาการบวมอันเกิดจากแมลงหรือสัตว์มีพิษกัดต่อย รวมไปถึงสามารถใช้สูดดมเพื่อแก้อาการวิงเวียนศีรษะและเป็นลมได้ด้วย ยาหม่องจึงเป็นยาสามัญประจำบ้านที่ทุกครัวเรือนต้องมีไว้ใช้และมีอัตราการซื้อที่ค่อนข้างสม่ำเสมอ ส่งผลให้ยาหม่องมีมูลค่าตลาดในประเทศในปี 2550 มีมูลค่า 1,000 ล้านบาท และยังคงมีแนวโน้มที่จะเติบโตเพิ่มขึ้นต่อไปอีกในอนาคต อันเป็นการดึงดูดให้ผู้ผลิตรายใหม่ๆ เข้ามาแข่งขันในตลาดมากขึ้น และมีการใช้กลยุทธ์ทางการตลาดในรูปแบบต่างๆ มากขึ้นกว่าในอดีตที่ผ่านมา ดังนั้น ตลาดยาหม่องที่หลายคนอาจมองว่าเป็นเพียงยาตลับเล็กๆ ที่มีมูลค่าไม่มากนัก แต่ในความเป็นจริงเป็นตลาดยาที่มีมูลค่ารวมแล้วไม่เล็กอย่างที่คิด และมีกลยุทธ์ทางการตลาดในรูปแบบต่างๆ ที่น่าสนใจ

ผู้ผลิตรายใหญ่ครองตลาด

ปัจจุบันมีผู้ผลิตยาหม่องที่จำหน่ายในประเทศไทยหลายราย ตั้งแต่ผู้ผลิตรายใหญ่ เช่น บริษัท ถ้วยทองโอสถ ผู้ผลิตยาหม่องตราถ้วยทอง บริษัท Haw Par Corporation จากสิงคโปร์ ผู้ผลิตยาหม่องตราเสือ และบริษัท ตราลิงถือลูกท้อ ผู้ผลิตยาหม่องตราลิงถือลูกท้อ เป็นต้น รวมไปถึงผู้ผลิตรายกลางและรายเล็ก ทั้งที่อยู่ในรูปของบริษัท ห้างร้าน และกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรต่างๆ เหตุผลสำคัญที่ทำให้จำนวนผู้ผลิตในตลาดมีหลายรายก็คือ กรรมวิธีการผลิตที่ไม่ยุ่งยากนัก วัตถุดิบสามารถซื้อหาได้ง่าย ตลอดจนสามารถประยุกต์ใช้สมุนไพรต่างๆ มาพัฒนาเป็นสูตรใหม่ๆ ได้อย่างมากมาย อีกทั้งผลกำไรยังมีอัตราส่วนค่อนข้างสูงเมื่อเปรียบเทียบกับกำไรจากการผลิตยาชนิดอื่นๆ

ข้อมูลจากบริษัทวิจัย Neilsen''s Research พบว่า ในปี 2550 ส่วนแบ่งการตลาดยาหม่องในประเทศไทย ผู้ครองส่วนแบ่งตลาดสูงสุดคือ ตราถ้วยทอง โดยมีสัดส่วน 52% รองลงมา ได้แก่ ตราลิงถือลูกท้อ และตราเสือ 10% และ 9% ตามลำดับ

จากข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ผู้ครองส่วนแบ่งการตลาดส่วนใหญ่เป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่มีตราสินค้าที่เป็นที่รู้จักของประชาชนมาเป็นระยะเวลานาน ส่งผลให้รูปแบบตลาดอยู่ในลักษณะใกล้เคียงกับตลาดผู้แข่งขันน้อยราย กล่าวคือ เป็นตลาดที่สินค้าหรือบริการของผู้ผลิตแต่ละรายมีลักษณะเหมือนกันหรือคล้ายกัน และสามารถทดแทนกันได้เป็นอย่างดี และเป็นตลาดที่สินค้าหรือบริการของผู้ผลิตรายใหญ่มีสัดส่วนสูงเมื่อเทียบกับสินค้าหรือบริการทั้งหมดในตลาด ดังนั้นการกำหนดกลยุทธ์ทางการตลาดในรูปแบบต่างๆ ของผู้ผลิตรายใหญ่จะส่งผลต่อผู้ผลิตรายอื่นๆ ได้อย่างชัดเจน ซึ่งในกรณีของตลาดยาหม่องนั้น ยาหม่องของผู้ผลิตแต่ละรายจะมีสรรพคุณที่ใกล้เคียงกันและสามารถใช้รักษาอาการได้มีประสิทธิภาพคล้ายคลึงกัน อาจมีความแตกต่างกันในเรื่องของสูตรหรือการใส่สมุนไพรบางชนิดเพิ่มเติมไปเพื่อรักษาและบรรเทาอาการพิเศษบางประการ

แต่การที่ผู้ผลิตรายใหญ่สามารถครองส่วนแบ่งตลาดเกือบทั้งหมดแม้ว่าสินค้าจะสามารถทดแทนกันได้เป็นอย่างดีนั้น เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่มักจะเลือกซื้อยาหม่องอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากความนิยมและความคุ้นเคยของตนเองและบุคคลในครอบครัวเป็นหลัก ทำให้ผู้บริโภคมีความจงรักภักดีต่อตราสินค้าที่ค่อนข้างสูง รวมทั้งยังเป็นการช่วยลดต้นทุนด้านข้อมูลข่าวสารของผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้าในทางเศรษฐศาสตร์นั่นเอง

นอกจากนั้น เป็นที่น่าสังเกตว่า การใช้กลยุทธ์ทางการตลาดของผู้ผลิตรายใหญ่มักจะมีผลกระทบต่อผู้ผลิตทุกรายในตลาด รวมไปถึงผู้บริโภคไม่มากก็น้อย ตัวอย่างเช่น การเร่งโฆษณาประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อโทรทัศน์ของยาหม่องตราเสือในช่วงเริ่มเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ส่งผลให้ผู้ผลิตรายใหญ่อื่นๆ ในท้องตลาด เช่น ตราถ้วยทอง และตราลิงถือลูกท้อ ต่างต้องเร่งโฆษณาประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อโทรทัศน์และสื่ออื่นๆ เช่นเดียวกัน

เน้นโฆษณาและเสริมผลิตภัณฑ์ใหม่

แม้ว่าในอนาคตผู้ผลิตรายใหญ่มีแนวโน้มที่จะครองส่วนแบ่งตลาดเกือบทั้งหมดเช่นในหลายปีที่ผ่านมาจากปัจจัยทั้งด้านโครงสร้างตลาดและพฤติกรรมของผู้บริโภคดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นก็ตาม แต่เนื่องจากกลุ่มผู้บริโภคกลุ่มใหม่ในปัจจุบัน ซึ่งได้แก่ หญิงสาวที่มีช่วงอายุตั้งแต่วัยรุ่นจนถึงวันทำงานมักนิยมทดลองเลือกใช้ยาหม่องของแต่ละตราสินค้าเปรียบเทียบกัน แล้วเลือกซื้อสินค้าที่ตนเองชื่นชอบและมีแนวโน้มที่จะซื้อไปใช้เพิ่มขึ้นต่อไปในอนาคต

ดังนั้นการโฆษณาประชาสัมพันธ์ รวมทั้งการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคกลุ่มดังกล่าวจึงเป็นสิ่งสำคัญเป็นอย่างมาก บรรดาผู้ผลิตจึงเน้นการใช้กลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อรักษาส่วนแบ่งการตลาดของตนเอง รวมทั้งเพื่อเพิ่มลูกค้าในกลุ่มตลาดใหม่และตลาดเฉพาะให้มากขึ้น เช่น ตราถ้วยทอง นำเสนอ คิดดี้บาล์ม ยาหม่องสำหรับเด็กอายุตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 8 ปี ส่วนตราลิงถือลูกท้อยังคงใช้กลยุทธ์การตลาดผ่านการโฆษณาทางสื่อโทรทัศน์เป็นหลัก โดยเน้นสนับสนุนรายการที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายหลักของสินค้า ขณะที่ ตราเพพเพอร์มินท์ นำเสนอ

เพพเพอร์มินท์ เจล กลิ่นชาเขียว รวมถึงเพิ่มช่องทางการจำหน่ายให้แอมเวย์เป็นผู้จัดจำหน่ายสินค้า เป็นต้น

จากการใช้กลยุทธ์ทางการตลาดของผู้ผลิตต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านผลิตภัณฑ์ ด้านช่องทางการจัดจำหน่าย และด้านการส่งเสริมการตลาดที่มีอิทธิพลต่อผู้บริโภคมากที่สุดนั้น จะช่วยกระตุ้นให้ผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะซื้อยาหม่องไปใช้งานเพิ่มขึ้น รวมไปถึงการซื้อยาหม่องในรูปแบบใหม่หรือกลิ่นใหม่ไปทดลองใช้มากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้มูลค่าตลาดยาหม่องแบบบาล์มในประเทศไทยมีการเติบโตเพิ่มขึ้น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook