เปิดใจ “มึนอ พิณนภา” ภรรยา “บิลลี่ พอละจี” ในวันที่สามีถูกอุ้มหายนาน 4 ปี

เปิดใจ “มึนอ พิณนภา” ภรรยา “บิลลี่ พอละจี” ในวันที่สามีถูกอุ้มหายนาน 4 ปี

เปิดใจ “มึนอ พิณนภา” ภรรยา “บิลลี่ พอละจี” ในวันที่สามีถูกอุ้มหายนาน 4 ปี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“อำนาจที่ยิ่งใหญ่มาพร้อมกับความรับผิดชอบที่ใหญ่ยิ่ง” คำคมจากภาพยนตร์ Spider-Man ที่ใครได้ฟังก็ต้องนึกถึงฮีโร่สุดเท่ที่ใช้พลังวิเศษในการช่วยเหลือผู้อื่น แต่สำหรับชีวิตจริง การเป็นฮีโร่อาจไม่ได้สวยงามอย่างในภาพยนตร์ เพราะกว่าจะช่วยคนอื่นได้ เขาอาจจะต้องเอาทั้งชีวิตของตัวเองเข้าแลก และภารกิจของเขาอาจส่งผลกระทบต่อชีวิตของคนรอบข้างด้วย

17 เมษายน พ.ศ. 2557 “พอละจี รักจงเจริญ” หรือ “บิลลี่” สมาชิก อบต.ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี และแกนนำกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย หลังจากที่พยายามเรียกร้องความยุติธรรมให้กับชาวกะเหรี่ยงซึ่งอาศัยอยู่ในหมู่บ้านโป่งลึก-บางกลอย ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ที่ถูกเจ้าหน้าที่เผาบ้านเรือนและยุ้งฉางจนต้องย้ายที่อยู่และที่ทำกิน โดยก่อนที่เขาจะจากไป มีผู้พบเห็นเขาอยู่กับอดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ซึ่งอ้างว่าได้ควบคุมตัวบิลลี่จริง แต่ก็ปล่อยตัวไปแล้ว ทว่าบิลลี่ไม่ได้กลับบ้านไปหาครอบครัว และไม่มีใครพบเห็นบิลลี่อีกเลย

4 ปีผ่านไป ความหวังที่ครอบครัวจะได้พบกับบิลลี่อีกครั้งยังริบหรี่ เช่นเดียวกับกระบวนการยุติธรรมที่เดินหน้าไปอย่างเชื่องช้า ขณะเดียวกัน ระยะเวลา 4 ปี ในครอบครัวที่ปราศจากหัวหน้า ก็ผลักดันให้ “มึนอ – พิณนภา พฤกษาพรรณ” ภรรยาของบิลลี่ วัย 31 ปี ลุกขึ้นมาทำหน้าที่หัวหน้าครอบครัว ดูแลลูกทั้ง 5 คน พร้อมกับเดินหน้าทวงความยุติธรรมให้กับสามี

พิณนภา พฤกษาพรรณ (มึนอ) ภรรยาของบิลลี่พิณนภา พฤกษาพรรณ (มึนอ) ภรรยาของบิลลี่

ความรักของมึนอและบิลลี่ เกิดขึ้นอย่างความรักวัยรุ่นทั่วไป โดยมึนอเล่าให้ฟังว่า เธอได้ยินชื่อบิลลี่ครั้งแรก ขณะที่โทรศัพท์ไปหาพี่ชายที่เป็นญาติกัน โดยที่เธอไม่รู้ว่าพี่ชายนั้นย้ายกลับไปอยู่ที่หมู่บ้านโป่งลึก-บางกลอยนานแล้ว และคนที่รับโทรศัพท์เธอทุกครั้ง ก็คือบิลลี่ เพื่อนของพี่ชาย

“วันหนึ่ง มีงานคริสต์มาสที่ ต.ห้วยทรายใหญ่ ถ้าจำไม่ผิดน่าจะเป็นวันที่ 16 ธันวาคม 2545 พี่ชายก็มาชวนหนูไปเที่ยวงานคริสต์มาส พอไปถึงพี่บิลลี่ก็เข้ามาถามว่าหนูใช่น้องสาวของเพื่อนเขาหรือเปล่า หนูบอกว่าใช่ แล้วก็ไม่ได้พูดอะไรต่อ พอหนูจะถามเขาว่าทำไม เขาก็เดินไปไกลแล้ว” มึนอเล่าถึงเหตุการณ์วันที่เธอและบิลลี่พบกันครั้งแรก ก่อนชายหนุ่มจะกลับมาหาเธออีกครั้ง พร้อมถามคำถามเจาะลึกเกี่ยวกับอายุและครอบครัวของเธอ และถามเธอว่า “ถ้ามีคนอายุมากกว่าสัก 3 ปี มาชอบมึนอ มึนอจะคิดอย่างไร”

“หลังจากนั้นก็โทรคุยกับพี่เขา นัดกันทุกวันที่ 15 ของทุกเดือน หนูจะโทรหาเขา ส่วนพี่บิลลี่ก็จะโทรหาหนูทุกวันที่ 30 แล้วหนูก็เล่าให้พ่อกับแม่ฟัง แม่ก็บอกว่าถ้าพี่เขามาหาวันหลังให้พาไปหาแม่” มึนอ เล่าถึงช่วงเวลาคบหาดูใจ ก่อนจะตกลงปลงใจมาอยู่ด้วยกันที่หมู่บ้านป่าเด็งในที่สุด

ชีวิตครอบครัวของมึนอกับบิลลี่ดำเนินไปอย่างเรียบง่ายแต่มีความสุข บิลลี่จะออกไปทำงานนอกบ้าน และมึนอรับหน้าที่แม่บ้าน ปลูกผักขายและดูแลลูกๆ ทั้ง 5 คน และสิ่งสำคัญที่บิลลี่มักจะสอนลูกๆ อยู่เสมอก็คือความประหยัดอดออมและการใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติ

“ตอนนั้นหนูปลูกผักขาย ก็ชอบไปซื้อล็อตเตอรี พี่บิลลี่ก็ว่าว่าไม่ควรเล่น เดี๋ยวจะติดแล้วจะเสียเงินฟรีๆ เราก็เถียงว่า เราใช้เงินเราซื้อเอง ไม่ได้ใช้เงินพี่บิลลี่เลย พอไม่ถูกเราก็ไปเก็บผักมาขาย แล้วเงินที่หายไปก็จะกลับมาเหมือนเดิม เขาก็บอกว่าใช่ แต่ถ้าหนูไม่ซื้อล็อตเตอรี เงินที่ไปซื้อล็อตเตอรีใบละร้อย เอามันมาหยอดกระปุกออมสินของหนูนะ เงินที่เรามีก็จะเยอะกว่าเดิม เราก็เถียงไม่ได้ หลังจากที่เขาหายตัวไป เราก็ไม่ซื้อล็อตเตอรีอีกเลย”

“ส่วนพี่บิลลี่เวลาเจอเพื่อนก็จะพาเพื่อนกินเหล้า เขาก็บอกว่ามันเป็นชีวิตของลูกผู้ชาย แต่พอเขาเห็นหนูกับลูกมีกระปุกออมสินคนละใบ ทั้งหมด 6 ใบ พี่บิลลี่ก็บอกว่า ‘เออ เข้าท่าดีนะ สงสัยต้องไปซื้อกระปุกออมสินมาใช้บ้างแล้ว เงิน 100 บาท เอาไปซื้อเหล้าขวดเดียว ที่เหลือเอามาหยอดกระปุก เดี๋ยวกลับจากโป่งลึก-บางกลอย ต้องไปซื้อกระปุกออมสินมาใช้บ้าง’ แต่ยังไม่ทันซื้อ เขาก็หายตัวไปก่อน” มึนอ เล่า

ป้ายหาเสียงเพื่อลงสมัครเป็นสมาชิก อบต. ห้วยแม่เพรียงของบิลลี่ป้ายหาเสียงเพื่อลงสมัครเป็นสมาชิก อบต. ห้วยแม่เพรียงของบิลลี่

เมื่อถามถึงความประทับใจที่มึนอมีต่อบิลลี่ เธอเล่าว่า บิลลี่เป็นคนซื่อตรง พูดตรง และชอบช่วยเหลือผู้อื่น ไม่ว่าเรื่องเล็กหรือใหญ่ นั่นทำให้เมื่อหมู่บ้านโป่งลึก-บางกลอยถูกเผาทิ้ง ซึ่งหนึ่งในนั้นคือบ้านของปู่คออี้ ผู้เฒ่าชาวกะเหรี่ยงวัยกว่าร้อยปี บิลลี่จึงไม่รีรอที่จะเข้าไปช่วยเหลือ โดยตัดสินใจสมัครเป็นสมาชิก อบต.ห้วยแม่เพรียง เพื่อจะได้รับความช่วยเหลือจากนอกพื้นที่ได้อย่างเต็มที่

“ก่อนหน้านั้น หนูก็ขึ้นไปหาปู่ที่หมู่บ้านโป่งลึก-บางกลอยกับพี่บิลลี่ปีละครั้ง หนูรู้สึกว่าปู่ก็เป็นผู้พิทักษ์ป่าคนหนึ่ง เพราะปู่จะไม่ให้ลูกหลานยิงสัตว์ที่มาอยู่รอบบ้าน ทำให้รอบบ้านปู่จะมีเสียงนก เสียงชะนี เสียงค่าง และปู่ก็จะทำไร่หมุนเวียน ซึ่งถ้าปล่อยทิ้งไว้ 4 – 5 ปี ต้นไม้ก็โตแล้ว พอเจ้าหน้าที่ไปเจอก็หาว่าปู่ไปบุกรุกป่า พอบ้านปู่ถูกเผา ปู่ก็ถูกเจ้าหน้าที่พาขึ้นเครื่องบินลงมาอยู่ข้างล่าง ชาวบ้านที่ถูกเผาบ้านก็เดือดร้อนกัน ไม่มีที่ทำกิน ไม่มีข้าวกิน ลงมาอยู่ข้างล่างก็ต้องมาอาศัยอยู่กับญาติๆ พี่บิลลี่ก็ไปรู้จักกับเครือข่ายกะเหรี่ยงทางภาคเหนือ เขาก็เอาข้าวมาช่วยปลูก”

หลังจากได้รับความช่วยเหลือเรื่องพันธุ์ข้าวจากเครือข่ายชาวกะเหรี่ยง ภารกิจต่อมาของบิลลี่ คือการพาปู่คออี้ไปฟ้องศาลปกครอง ซึ่งอาจสร้างความไม่พอใจให้กับผู้เสียผลประโยชน์ และบิลลี่ก็รู้ตัวดี จึงมักจะพูดกับภรรยาและเพื่อนสนิทว่า หากวันใดวันหนึ่งเขาหายตัวไประหว่างที่เดินทางจากโป่งลึก-บางกลอย มาป่าเด็ง ไม่ต้องคิดมาก ไม่ต้องตามหา ให้รู้ไว้ว่าเขาถูกฆ่าตาย

“พอเขาพูดแบบนี้ หนูก็บอกว่าถ้าอย่างนั้นก็เลิกช่วยปู่ไม่ได้เหรอ คือเลือกที่เราจะมีชีวิตอยู่ไม่ดีกว่าเหรอ เขาก็บอกว่า ถ้าเราทำความดี ถึงจะแลกด้วยชีวิต เขาก็จะทำ เราได้ฟังก็รู้สึกว่าคงโต้ตอบอะไรไม่ได้อีกแล้ว ตั้งแต่วันนั้นก็ไม่ห้ามอะไรเลย ได้แต่ภาวนาให้เขาปลอดภัย” มึนอ เล่าถึงอุดมการณ์ของบิลลี่ในครั้งนั้น ก่อนที่สิ่งที่เธอกลัวจะเกิดขึ้นจริง เมื่อเธอได้ทราบข่าวจากพี่ชายของบิลลี่ ว่าบิลลี่หายตัวไปตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2557 โดยมีผู้พบเห็นว่าเขาถูกควบคุมตัวโดยหัวหน้าอุทยานแห่งชาติในขณะนั้น เนื่องจากมีน้ำผึ้งป่าไว้ในครอบครอง แต่เมื่อติดตามทวงถามจากตำรวจ ก็ได้ทราบว่าทางเจ้าหน้าที่ได้ปล่อยตัวบิลลี่ไปแล้ว และไม่ได้ทำร้ายเขาแต่อย่างใด ทำให้เธอต้องหันหน้าไปพึ่งกระบวนการยุติธรรม เพื่อตามหาตัวสามี โดยเริ่มตั้งแต่การยื่นเรื่องให้ผู้ว่าราชการจังหวัดย้ายหัวหน้าอุทยานแห่งชาติออกนอกพื้นที่เพื่อความโปร่งใสในการสืบคดี แต่กลับได้รับคำตอบว่าเหตุผลไม่เพียงพอที่จะย้ายบุคคลผู้นี้ออกนอกพื้นที่

“หลังจากนั้น ทนายจากสมาคมนักกฎหมายก็พาไปฟ้องศาลชั้นต้นที่เพชรบุรี ศาลชั้นต้นก็ยกคำร้อง ศาลอุทธรณ์ก็ยกคำร้อง เนื่องจากไม่มีน้ำหนักเพียงพอ ศาลฎีกาก็ยกฟ้อง เพราะหลักฐานไม่เพียงพอ จากนั้นก็ไปที่ดีเอสไอ ซึ่งก็นานมากกว่าเขาจะบอกว่าไม่รับคดีของหนูเป็นคดีพิเศษ เพราะว่าหนูไม่ใช่ผู้เสียหายตัวจริง เพราะเป็นภรรยาที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย คือไม่ได้จดทะเบียนสมรส ผู้เสียหายตัวจริงคือแม่ของพี่บิลลี่ แม่พี่บิลลี่เท่านั้นที่จะมาเดินเรื่องได้ จากนั้นก็ส่งเรื่องไปที่ ป.ป.ท. อีกที่ ตอนนี้ก็ยังไม่คืบหน้า”

ความรู้สึกส่วนตัวคิดว่า ความยุติธรรมมันไม่มีกับคนจนหรอก มีแต่คนรวย พอเป็นคนจนแล้วทำอะไรไม่ได้เลย แต่ถ้าเป็นคนรวย อย่างคดีฆ่าเสือดำ ยังไม่เป็นอะไรเลย” มึนอ กล่าว

มึนอและลูกๆ ทั้ง 5 คนมึนอและลูกๆ ทั้ง 5 คน

เมื่อสามีหายตัวไป จากที่เป็นเพียงแม่บ้านดูแลลูกๆ เป็นหลัก มึนอต้องรับหน้าที่เป็นหัวหน้าครอบครัวแทน ทำให้ชีวิตเปลี่ยนไปแบบหน้ามือเป็นหลังมือ เพราะนอกจากต้องทำงานทั้งนอกบ้านและในบ้าน เตรียมการทุกอย่างให้พร้อม เพื่อให้ลูกๆ ในวัยเรียนสามารถดูแลช่วยเหลือตัวเองได้อย่างสะดวกสบาย มึนอยังต้องดูแลพ่อแม่ที่แก่ชรา รวมทั้งเดินเรื่องเรียกร้องความยุติธรรมในคดีของสามี และชาวบ้านโป่งลึก-บางกลอยด้วย

“เราเคยบอกว่า ถ้าพี่บิลลี่ไปทำงานแบบนี้แล้วเกิดอะไรขึ้น ครอบครัวจะอยู่รอดอย่างไร เพราะตอนที่พี่บิลลี่อยู่ เราคิดว่าเราเป็นคนที่ทำอะไรไม่ได้เลย แม้กระทั่งขี่มอเตอร์ไซค์ พอขึ้นสูงๆ แล้วไม่กล้าลง พี่บิลลี่ก็บังคับให้ลง เหมือนพี่บิลลี่สอนความกล้าบางส่วนให้ พอวันหลังก็ไม่กลัวแล้ว พี่บิลลี่ก็จะบอกว่า ‘เออ เรามั่นใจว่าแฟนเราทำได้ อยู่ได้แน่นอน’ แต่เราก็บอกเขาว่ามันไม่เสมอไปทุกเรื่องหรอก เขาก็จะย้ำว่าเขามั่นใจว่าเราอยู่ได้ เราทำได้ ‘ถ้าเราเป็นอะไรไป เราเชื่อว่าแฟนเราดูแลลูกทั้ง 5 คนได้’ เขาก็จะย้ำแบบนี้

และไม่ใช่แค่ชีวิตของมึนอและลูกๆ เท่านั้นที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วราวกับพลิกฝ่ามือ ชีวิตของชาวบ้านบางกลอยก็เช่นกัน โดยมึนอเล่าว่า หลังจากที่บิลลี่หายสาบสูญไปใหม่ๆ ชาวบ้านก็กลัวกันมาก จนไม่กล้าขึ้นไปทำไร่ที่บ้านเดิมอีก ประกอบกับปัจจุบันนี้ การเดินทางขึ้นไปบ้านโป่งลึก-บางกลอย ต้องขออนุญาตจากทางอุทยานก่อน ทำให้ชาวบ้านต้องหันมาทำอาชีพรับจ้าง บางคนทำงานไม่ได้เพราะไม่มีบัตรประชาชน

“ชาวบ้านบางคนบอกว่าถ้าบิลลี่ยังอยู่ ป่านนี้ปู่คออี้คงได้กลับบ้านเกิดเขาแล้ว” มึนอ กล่าว

ทุกวันนี้ คดีของบิลลี่ยังคงไม่คืบหน้า แม้ทางดีเอสไอจะบอกกับมึนอว่าภายใน 2 เดือน จะส่งเรื่องเข้าที่ประชุมว่าจะรับคดีของบิลลี่เป็นคดีพิเศษหรือไม่ และยังคงโทรมาถามสารทุกข์ของครอบครัวของเธออยู่เสมอ แต่ก็ไม่เคยมีข่าวคราวที่เกี่ยวข้องกับคดีแต่อย่างใด ขณะเดียวกัน มึนอเองก็เติบโตขึ้นเรื่อยๆ โดยเธอเล่าว่า ในขณะที่เธอเดินหน้าติดตามคดีของสามี เธอเลือกที่จะมีความสุข และเชื่อว่าหากทำทุกอย่างด้วยใจที่อยากจะทำจริงๆ ร่างกายก็พร้อมที่จะทำ และงานที่ออกมาก็จะราบรื่น ไม่มีอะไรที่เจ็บปวดกลับมา ซึ่งเธอคิดว่า หากบิลลี่ยังอยู่ เขาก็คงคิดเช่นนี้

“เรื่องมันก็ผ่านไป 4 ปี แล้ว ถ้าเขายังมีชีวิตอยู่คงจะติดต่อมานานแล้วล่ะ นี่คงไม่มีชีวิตแล้ว แต่อย่างน้อย ถ้าเสียชีวิตแล้วก็อยากเจอร่องรอย กระดูก จะได้ไปเก็บมาทำบุญ จะได้ไปอย่างสุขสบาย แต่ถ้าหายไปอย่างไร้ร่องรอยแบบนี้ มันเจ็บที่ใจยิ่งกว่าการเห็นคนตายไปต่อหน้านะ ถ้าวันหนึ่งเราได้เห็นหลักฐาน ร่องรอย ความเจ็บที่ใจเราก็อาจจะน้อยลงก็ได้ เราไม่ได้เกลียดคนที่ทำนะ แต่มันเจ็บใจอย่างไรไม่รู้ บอกไม่ถูก” มึนอ เล่าความรู้สึกด้วยเสียงสั่นเครือ และเปิดเผยถึงจุดประสงค์ในการติดตามคดี ที่มากกว่าการตามหาสามี นั่นคืออยากให้เจ้าหน้าที่เข้าใจชุมชน และปล่อยให้ชุมชนได้ใช้ชีวิตตามวิถีทางดั้งเดิม ที่สำคัญคือ เธออยากเห็นความยุติธรรมที่เกิดขึ้นจริงกับคนจน

“ที่ยังตามเรื่องอยู่ก็เพราะว่าอยากให้ความยุติธรรมเกิดขึ้นกับคนจนบ้าง สิ่งที่เกิดขึ้นกับบิลลี่ก็ไม่อยากให้เกิดขึ้นอีก ในเมื่อมีกฎหมาย ก็อยากให้ใช้กฎหมายอย่างจริงจัง คนทำผิดก็ส่งไปดำเนินคดี ไม่ใช่ทำให้หายไปอย่างไร้ร่องรอย เราอยากให้ความยุติธรรมมีจริง” มึนอ ทิ้งท้าย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง
>> หัวหน้าอุทยานปัดเอี่ยว "บิลลี่" แกนนำกะเหรี่ยงหายตัว
>> ทนายแฉภาพลับโยง "บิลลี่" ผู้นำกะเหรี่ยงหายตัว
>> ภรรยาบิลลี่ยื่นหนังสือยูเนสโก้ เบรกตั้ง "ป่าแก่งกระจาน" เป็นมรดกโลก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook