อีกทางรอดของ น.ส.พ. ยุโรป

อีกทางรอดของ น.ส.พ. ยุโรป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ขณะที่หนังสือพิมพ์ในสหรัฐอเมริกาปลิดปลิวเป็นไปไม้ร่วงท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจถดถอย บางรายถอยจากรายวันเป็นรายสัปดาห์ และหลายรายปิดฉบับหนังสือเล่ม เพื่ออยู่รอดต่อไปในรูปแบบหนังสือพิมพ์ออนไลน์เท่านั้น หันมองทางฝั่งยุโรป ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นแทบจะไม่แตกต่างกัน บางประเทศดูจะแย่กว่าในสหรัฐฯ ด้วยซ้ำ

แต่ท่ามกลางการต่อสู้ดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดของธุรกิจ ก็ยังมีตัวอย่างของผู้ผลิตหนังสือพิมพ์ฝั่งยุโรป ที่ไม่เพียงสามารถประคองตัวฝ่าคลื่นลมเศรษฐกิจ แต่ยังสามารถทำกำไร เช่นกรณีของบริษัท แอ๊กเซล สปริงเกอร์ฯ เจ้าของหนังสือพิมพ์ บิลด์ (Bild) ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ที่ทำยอดขายสูงที่สุดในยุโรป และมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในกรุงเบอร์ลิน ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เมื่อเร็วๆ นี้ บริษัทเพิ่งจะแถลงผลประกอบการทำกำไรสูงสุดในรอบ 62 ปีหรืออีกนัยหนึ่งคือนับตั้งแต่เปิดบริษัทมา

นายมาธิอาส เดิฟเนอร์ ประธานบริหารของแอ๊กเซล สปริงเกอร์ กล่าวว่า เขาไม่เชื่อว่าหนังสือพิมพ์จะถึงจุดจบ ในทางกลับกัน ภาวะวิกฤติที่เกิดขึ้นอาจจะส่งผลในเชิงบวกต่อธุรกิจหนังสือพิมพ์ด้วยซ้ำ เพราะนั่นหมายถึงจำนวนผู้เล่นในสนามแข่งขันจะเหลือน้อยลง และหลังวิกฤติผ่านพ้นไปแล้ว ผู้เล่นที่แข็งแกร่งจะอยู่รอดและน่าจะมั่นคงมากขึ้นกว่าเก่า ขณะที่คู่แข่งหลายฉบับพูดถึงวิถีทางที่จะอยู่รอดและการรุกไล่ของสื่อดิจิตอล แต่ที่สำนักงานของแอ๊กเซล สปริงเกอร์ กลับพูดถึงโอกาสที่จะขยายธุรกิจ และการเล็งซื้อกิจการทั้งในเยอรมนี ยุโรปตะวันออก และอาจจะรวมถึงในสหรัฐอเมริกา

จุดเด่นอย่างหนึ่งของหนังสือพิมพ์ในยุโรปคือ ส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจน้อยกว่าหนังสือพิมพ์ในสหรัฐฯ เพราะรายได้หลักยังมาจากผู้อ่านมากกว่าจากผู้ลงโฆษณาซึ่งมีความผันผวนตามปัจจัยทางเศรษฐกิจมากกว่า ยอดพิมพ์ทางฝั่งยุโรปจึงลดลงในอัตราเร่งน้อยกว่าในสหรัฐฯ ผู้บริหารของแอ๊กเซล สปริงเกอร์ เปิดเผยว่า ส่วนหนึ่งของความสำเร็จมาจากการที่บริษัทแข่งขันกับตัวเองอยู่เสมอ เช่นการตั้งหนังสือพิมพ์ใหม่ หรือซื้อหัวใหม่มาเลย เพื่อสร้างบรรยากาศการแข่งขัน แทนที่จะเอาแต่นั่งรักษาหนังสือพิมพ์หัวเดิมที่มีอยู่ หนังสือพิมพ์หลายฉบับในเครือของบริษัทมีเนื้อหาเหมือนกันแต่นำเสนอให้ผู้อ่านคนละกลุ่ม

ยกตัวอย่างที่ห้องข่าวในกรุงเบอร์ลิน นักข่าวของบริษัทจะผลิตข่าวเพื่อป้อนให้กับสื่อในเครือถึง 6 ฉบับ คือ หนังสือพิมพ์รายวัน ดี เวลท์ หนังสือพิมพ์ ดี เวลท์ ฉบับวันอาทิตย์ และฉบับแทบลอยด์ที่เจาะกลุ่มผู้อ่านอายุน้อยลงมา นอกจากนี้ยังป้อนหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น แบร์ลิเนอร์ มอร์เก็นโพสต์ และหนังสือพิมพ์ออนไลน์อีก 2 เว็บไซต์ (ซึ่งเป็นแหล่งสร้างรายได้ถึง 14 % ของรายได้รวม) ทั้งนี้แม้ว่า เม็ดเงินโฆษณาจะน้อยลงในเยอรมนี แต่แอ๊กเซล สปริงเกอร์ก็ชดเชยรายได้ที่หายไปด้วยการปรับขึ้นอัตราโฆษณาในหนังสือพิมพ์ฉบับที่ทำยอดขายสูงมาก เช่น หนังสือพิมพ์บิลด์ ที่มียอดจำหน่ายกว่า 3 ล้านฉบับ

อีกตัวอย่างที่ดีคือ กรณีหนังสือพิมพ์แทบลอยด์ เวอร์เด็นส์ กัง (Verdens Gang) ของนอร์เวย์ ที่มีเว็บไซต์ วีจี เน็ตต์ (VG Nett) ซึ่งได้รับความนิยมสูงมากและมีส่วนต่างกำไรถึง 30% เป็นตัวเสริมรายได้ จุดเด่นคือ เว็บนี้ให้อ่านข่าวฟรี แต่เก็บเงินจากกิจกรรมอื่นๆ ที่คนสนใจ เช่นค่าชมถ่ายทอดการแข่งขันฟุตบอลสดผ่านอินเตอร์เน็ตเก็บเงินรายปี ค่าใช้บริการเครือข่ายชุมชนออนไลน์ และแม้แต่ค่าสมัครเป็นสมาชิกสโมสรลดน้ำหนักที่จ่ายเงินรายปีเช่นกัน

แม้กลยุทธ์เหล่านี้จะไม่ใช่ยาวิเศษที่ใช้ได้ผลกับทุกกรณี แต่ก็เป็นตัวอย่างของแนวทางอยู่รอดของหนังสือพิมพ์บางฉบับ ที่ใช้ได้ผลอยู่ในยุโรป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook