ฟังเสียงผู้ก่อตั้ง “พรรคกลาง” ท่ามกลางกระแสการเมืองที่ไม่แน่นอน

ฟังเสียงผู้ก่อตั้ง “พรรคกลาง” ท่ามกลางกระแสการเมืองที่ไม่แน่นอน

ฟังเสียงผู้ก่อตั้ง “พรรคกลาง” ท่ามกลางกระแสการเมืองที่ไม่แน่นอน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ตั้งแต่คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. เปิดให้กลุ่มการเมืองจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2561 ทำให้บรรยากาศการเมืองกลับมาคึกคักไม่เงียบเหงา ตลอด 1 เดือนที่ผ่านมา เราจึงได้เห็นคนรุ่นใหม่ คนรุ่นเก่า คนรุ่นเก๋า จับมือกันไปจดตั้งพรรคไม่เว้นแต่ละวัน ที่คุ้นหูกันตอนนี้คงหนีไม่พ้น "พรรคอนาคตใหม่"

ที่ต้องเอ่ยถึงพรรคอนาคตใหม่ เพราะทั้ง นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้ก่อตั้ง “พรรคอนาคตใหม่” และ ดร.ชุมพล ครุฑแก้ว กับ นายสุขทวี สุวรรณชัยรบ ผู้ก่อตั้ง “พรรคกลาง” ต่างหลงใหลกิจกรรมเหมือน ๆ กัน นั่นคือ การวิ่งระยะไกล ปั่นจักรยาน ไปจนถึงกิจกรรมผาดโผนต่าง ๆ ซึ่งผู้ก่อตั้งทั้ง 2 พรรค ยังมีโปรเจ็กท์เดินเท้าไปยังขั้วโลกใต้ด้วยกัน แต่อาจจะต้องหยุดไว้ก่อน เพราะสถานการณ์บ้านเมืองเรียกร้องให้พวกเขาต้องมาตั้งพรรคการเมืองกันคนละพรรค เพื่อเดินหน้าอุดมการณ์ทางการเมืองของแต่ละคนที่แตกต่างกัน แต่ยังเป็นเพื่อนกันได้

logo3

Sanook! News มีโอกาสร่วมพูดคุยกับ 2 ผู้ก่อตั้งพรรคกลาง ที่จะทำให้เรากระจ่างถึงที่มาและนโยบายของพรรค ว่าจะสร้างมิติใหม่ทางการเมืองได้มากน้อยขนาดไหน

สมาชิกคนแรก ได้แก่ ดร.ชุมพล ครุฑแก้ว หรือ ดร.จุ๋ง วัย 48 ปี ที่ปรึกษาอิสระในอนุกรรมการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ปปช. และ ที่ปรึกษาอิสระอนุกรรมการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือ สสวท. นอกจากนี้ ดร.จุ๋ง ยังเคยเป็นอดีตนักวิจัยและผู้บริหารสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (NECTEC หรือ สวทช.) อีกด้วย

และสมาชิกอีกคน คือ นายสุขทวี สุวรรณชัยรบ หรือ ดาว วัย 39 ปี ผู้เชี่ยวชาญด้านบริหารความรู้และผลักดันนโยบายของสหประชาชาติ สุขทวีสั่งสมประสบการณ์ในแวดวงวิชาการและกิจกรรมเพื่อสังคมระดับนานาชาติมานานเกินสิบปี อาทิ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ หรือ UNDP ในประเทศกัมพูชา และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว / กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือ UNICEF ให้ประเทศเบลิซ และที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา / กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ หรือ UNFPA ประจำประเทศไทย และเคยเป็นนักวิจัยของ NHK สำนักงานกรุงเทพฯ ด้วย

เห็นประวัติการทำงานของทั้ง 2 คนแบบนี้แล้ว มาเริ่มกันเลยดีกว่าว่า พรรคกลางเป็นอย่างไร? ทำไมต้องมาตั้งพรรคเอง โดยไม่เข้าร่วมกับนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และอะไรคือแรงบันดาลใจให้มาเล่นการเมือง จนถึงจุดที่ต้องมาตั้งพรรคการเมือง?

ดร.ชุมพล หรือ ดร.จุ๋ง เล่าว่า เขาลาออกจากงานที่ สวทช. มาได้ 2 ปีแล้ว เพราะเกรงใจหน่วยงาน หลังจากที่ตัวเองตั้งใจจะไปวิ่งข้ามเทือกเขาหิมาลัยในประเทศเนปาล ต่อด้วยโครงการ TrueSouth เพื่อเดินทางไปขั้วโลกใต้ ที่มีคุณเอก ธนาธร เป็นหัวหน้าโครงการ ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ดร.จุ๋งจึงทุ่มเทชีวิตให้กับการวิ่ง และเตรียมตัวไปขั้วโลกใต้ แม้การไม่ต้องทำงานจะทำให้เจ้าตัวรู้สึกสบายใจ และสนุกกับการใช้ชีวิต แต่ลึก ๆ แล้ว ดร.จุ๋งอยากกลับมาช่วยประเทศชาติอีกครั้ง

logo4 ดร.ชุมพล ครุฑแก้ว หรือ ดร.จุ๋ง

“ผมเกิดความรู้สึกบางอย่างว่า เราอยากจะกลับไปช่วยอะไรภาครัฐหรือประเทศชาติรึเปล่า เอ๊ะ หรือจะไปช่วยคุณธนาธร แต่ผมเป็นคนที่กลัวการเมือง ไม่ค่อยอยากจะยุ่งเกี่ยว ซึ่งภาพพจน์ที่คุณธนาธรแสดงตัวผ่านสื่อในช่วงแรกค่อนข้าง aggressive กว่าที่เป็นตัวผม สไตล์การทำงาน-เคมีอาจจะไม่ค่อยตรงกันบางส่วน แต่เราก็เป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน พร้อมไปผจญภัยด้วยกัน ผมก็เลยไม่ได้จริงจังว่าจะไปช่วยต่อ”  ดร.จุ๋งกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างเขากับผู้ก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่

ส่วนเหตุผลสำคัญที่ทำให้เขาตัดสินใจก่อตั้งพรรคกลาง ร่วมกับคุณสุขทวี เพราะตัวเขาเองอยากทำการเมืองอย่างมีความสุข และแม้จะเป็นคนกลัวความสูง เขายังกล้าไปวิ่งบนเทือกเขาหิมาลัยได้ หรือถึงจะกลัวความหนาวก็ยังตั้งใจจะไปขั้วโลกใต้ ดังนั้น เขาก็ต้องก้าวข้ามความกลัวการเมืองของตัวเองไปให้ได้ โดยใช้ความสุขเข้าสู้

เล่นการเมืองอย่างไรให้มีความสุข?

“ผมก็ไปนั่งคิดว่าอะไรที่จะทำให้เรามีความสุข ประเด็นแรกคือ เราจะไม่เปลี่ยนตัวเอง ก็คือ ตัวเราเป็นยังไง เราก็ต้องมีพรรคที่เป็นต้นแบบให้กับประชาชนทั่วไปได้ในแบบนั้น นั่นคือ มีความโปร่งใส เงินทุกบาททุกสตางค์ที่ไหลเข้าไหลออกในพรรค ต้องสามารถโชว์ออนไลน์ได้หมด ภาพพจน์ของพรรคก็คือ ภาพพจน์ของตัวเรา เราไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนว่าเราจะต้องโต้วาทีเก่ง พูดจาฉะฉาน ผมอยากให้สไตล์ยังคงเป็นอย่างนี้ และหวังว่าผมจะเป็นตัวอย่างให้กับคนที่กลัวการเมือง ให้เขาเห็นว่าเขาก็ทำอะไรบางอย่างได้นะ คนอย่างพวกเรายังเป็นแกนนำตั้งพรรคได้เลย” 

“ประเด็นที่สอง อย่างที่บอกว่าผมไม่ได้เป็นคน aggressive และเคารพความเห็นของคนอื่น ในเมื่อเราเองไม่อยากให้ใครมาเปลี่ยนความคิดเรา เพราะฉะนั้น เราจะไม่สนใจเรื่องขั้วการเมือง ต้องก้าวข้าม ถ้าเราทำระบบของรัฐที่ดี สถาบันหรือขั้วการเมืองต่าง ๆ ต้องปรับตัวเอง เพื่อให้ตัวเขาอยู่รอดในระบบที่เราทำให้มันดีขึ้น โปร่งใสขึ้น"

"ข้อที่สาม ถ้าเราสามารถสื่อได้ว่าเราไม่ได้มาเพื่อหวังอำนาจ คือ อำนาจรัฐเราหวังนะ เราหวังว่าเราต้องการเปลี่ยน แต่เราไม่ได้คาดหวังตำแหน่งทางการเมือง เช่น ต้องมาเป็นรัฐมนตรีเพื่อมารับอะไรบางอย่างที่ลงทุนไปแล้ว แต่เรายังอยากจะชูธงกับทุกคนว่า เราจะเลือกคนที่มีความสามารถจริง ๆ ซึ่งในประเทศไทยมีเยอะแยะไปหมด อยากจะชวนเขามาทำงาน และส่งเสริมเขาด้วยซ้ำไป ไม่จำเป็นต้องเป็นเรา แต่ถ้าเราเก่งจริง เราก็ทำได้ เราก็เป็นรัฐมนตรีได้ ขึ้นอยู่กับความเป็นจริง” ดร.จุ๋งเล่าถึงมุมมองของเขาต่อการเล่นการเมืองอย่างมีความสุข

 

ส่วนแรงบันดาลใจของอดีตนักกิจกรรมและนักวิชาการอย่างสุขทวีนั้น อะไรทำให้เขามาเล่นการเมือง?

ผมนำความอยุติธรรมในสังคม และภาพลักษณ์ของการเมืองในประเทศไทยที่ไม่ควรเป็นแบบนี้ มาเป็นแรงบันดาลใจขับเคลื่อนงานการเมือง” สุขทวีเกริ่นนำ

ซึ่งการตั้งพรรคครั้งนี้ไม่ได้เป็นความคิดชั่ววูบ เพราะสุขทวีชักชวนเพื่อนตั้งแต่ตอนทำงานให้ UN สมัยอยู่ที่นิวยอร์ก เมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว

ตั้งแต่ช่วงที่เกิดรัฐประหาร ที่ผมและกลุ่มนักศึกษาไทยที่โน่นนั่งคุยกันและคิดว่า ประเทศไทยต้องมีพรรคการเมืองใหม่ โดยผมมองเป้าไว้ว่าทางออกของความขัดแย้งของ 2 ขั้วก็คือ กลุ่มคนที่สามารถดึงคนที่ไม่อยากมีปัญหา และดึงคนที่เห็นด้วยกับทั้งสองฝ่ายขึ้นมาข้างบน เพื่อให้รากประชาธิปไตยยั่งยืน เพราะเท่าที่วิเคราะห์ในเชิงการแก้ปัญหาของคุณเอก (ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ) ก็คือ ถ้ายิ่งไปต้าน กลุ่มที่มีอำนาจก็ยิ่งรวมตัวสูง ต่อให้เขาชนะได้ มันก็จะกลับไปกลับมา เหมือนประเทศที่มีสองขั้ว เช่น อเมริกา ที่เมื่อเปลี่ยนรัฐบาล นโยบายในการทำงานไม่ต่อเนื่อง ประเทศที่ก้าวหน้าและมีความต่อเนื่องทางด้านนโยบาย คือ ประเทศในยุโรปทางเหนือ ซึ่งมีพรรคที่เรียกว่า Moderate Party ก็คือ พรรคกลาง ซึ่งก็คือที่มาและชื่อของพรรคเรา

logo2นายสุขทวี สุวรรณชัยรบ หรือ ดาว

สุขทวีกล่าวต่อว่า “กลางในที่นี้ ไม่ได้หมายถึง กลางทางขั้วการเมือง แต่ "กลาง" ในเชิงปรัชญาการพัฒนาสังคม ไม่ซ้ายหรือขวา พรรคเราจะเป็นซ้ายในสถานการณ์ที่ต้องซ้าย เช่น ต้องมีสวัสดิการ ต้องมี welfare ในกรณีที่ประเทศชาติมีสงครามหรือภัยพิบัติ และเราจะดำเนินนโยบายแบบขวา ในกรณีที่ต้องเป็นขวา เช่น การแข่งขันเสรีเพื่อให้ผู้บริโภคได้รับประโยชน์ ส่วนในเชิงแก้ปัญหาการเมืองก็คือ คนกลาง ๆ ยังไม่เชื่อมั่นในประชาธิปไตยนัก แล้วถ้าเกิดเป็นแนวทางที่ไปต่อสู้ ต่อต้าน หรือเรียกร้องก็ยิ่งมีปัญหา เราจึงควรตั้งพรรคขึ้นมาให้มันสมจริง โดยคนทำงานมืออาชีพ เพื่อให้คนเชื่อมั่นในประชาธิปไตย”

แต่แค่อุดมการณ์มันกินไม่ได้ การอยู่กับความเป็นจริงให้ได้ต่างหาก คือสิ่งที่ต้องยอมรับ ดังนั้น สิ่งที่พรรคกลางน่าจะทำให้เป็นไปได้คือ การมีคะแนนเสียงจากปาร์ตี้ลิสต์ราว 5 – 8% เพื่อให้สามารถมีตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จะได้มีโอกาสขับเคลื่อนการทำงานร่วมกับรัฐบาล

“ผมอยากเป็นรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงที่เหมาะสมกับความสามารถของตัวเอง เพื่อจะได้ทำงานในเชิงต้นแบบการใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม ใช้นโยบายที่เราเรียนรู้มาทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงข้อมูลเชิงสถิติต่าง ๆ มาปรับใช้ให้เกิดขึ้นจริง อย่างที่สอง การได้เข้าไปอยู่ในคณะรัฐมนตรีจะทำให้ผมสามารถผลักดันนโยบายหลาย ๆ เรื่องได้ รวมถึงการได้ที่นั่ง ส.ส. 5-8 คน ไปทำงานในคณะกรรมาธิการด้านต่าง ๆ เองก็ตาม” นี่คือความเห็นส่วนหนึ่งของคุณสุขทวีกับการทำงานการเมือง

แม้จนถึงตอนนี้ คสช. ภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะยังไม่ได้กำหนดวันเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ โดยให้เหตุผลว่ากำลังดำเนินการทุกอย่างไปตามโรดแมป แต่ก็ถือเป็นเรื่องน่าสนใจสำหรับการก้าวไปสู่ประชาธิปไตย เมื่อมีกลุ่มการเมืองใหม่ ๆ เข้ามาจดตั้งพรรคการเมืองเป็นจำนวนมาก อย่างพรรคกลางนี้ ที่ยึดคติว่า "พรรคกลาง" ก้าวหน้า ร่วมกัน หรือ "Moderate Party" The Progressive Moderates

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook