ตระกูลชินวัตร-111-พปช.อึดอัดใจ เฉลิม ยื่นซักฟอกใช้ข้อมูลเก่า

ตระกูลชินวัตร-111-พปช.อึดอัดใจ เฉลิม ยื่นซักฟอกใช้ข้อมูลเก่า

ตระกูลชินวัตร-111-พปช.อึดอัดใจ เฉลิม ยื่นซักฟอกใช้ข้อมูลเก่า
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ตระกูลชินวัตร-111-พปช.อึดอัดใจ เฉลิม ยื่นซักฟอกกับข้อเสนอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นข้อมูลเก่า เจ้าตัวยันเสียงปรบมือคือ มติพรรค รอได้หากไม่ให้ยื่นไม่โกรธเคือง ยันมีหลักฐาน อภิสิทธิ์ ยันกู้เงินญี่ปุ่นไม่ขัดกม. อ้างยังไม่ได้ลงนามสัญญา

"อภิวันท์"เบรก"เฉลิม"ยื่นซักฟอก

พรรคเพื่อไทยเตรียมประชุมเพื่อหาข้อสรุปการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล หลังการประชุมพรรคเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีปัญหาเสียงแตกเป็น 2 ฝ่าย โดยฝ่ายหนึ่งเห็นด้วยกับ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ส.ส.สัดส่วน ในฐานะประธาน ส.ส.พรรคเพื่อไทย ที่เสนอให้ยื่นญัตติในวันที่ 11 มีนาคมนี้ ขณะอีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่าเร็วเกินไปที่จะยื่นญัตติ ประกอบกับอดีตแกนนำพรรคไทยรักไทย และอดีตแกนนำพรรคพลังประชาชน รวมทั้งบุคคลในตระกูล "ชินวัตร" ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของ ร.ต.อ.เฉลิม ที่จะให้ยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี เพียงคนเดียว และเห็นว่า ข้อมูลที่ ร.ต.อ.เฉลิมจะใช้อภิปรายนั้นเป็นข้อมูลเก่า

ทั้งนี้ พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะ ส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ว่าส่วนตัวแล้วไม่เห็นด้วยที่จะยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางรัฐบาลในช่วงกลางเดือนมีนาคม ตามที่ ร.ต.อ.เฉลิมระบุ โดยมองว่าเร็วเกินไป ฝ่ายค้านควรมีเวลาในการเก็บข้อมูลที่นานกว่านี้ และประเด็นการทุจริตก็ต้องมีหลักฐานชัดเจน ส่วนการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ จะต้องเสนอชื่อบุคคลที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีด้วยนั้น ยังมองว่า นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย มีความเหมาะสม

"ยอมรับว่า ส.ส.พรรคได้เสนอรายชื่อบุคคลมาหลายบุคคล ซึ่งต้องไปลงมติในการประชุมกันอีกครั้ง สำหรับผมรู้สึกยินดีที่สมาชิกในพรรคเสนอชื่อ ทั้งที่ใจจริงแล้วผมไม่อยากเป็นนายกฯ แต่หากมติพรรคออกมาเป็นอย่างไรก็พร้อมปฏิบัติตาม" พ.อ.อภิวันท์กล่าว

คน"ชินวัตร-111"เมินข้อมูลเก่า

รายงานข่าวจากแกนนำพรรคเพื่อไทยแจ้งว่า อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย และพรรคพลังประชาชน รวมทั้งคนในตระกูลชินวัตร หลายคนต่างมีความอึดอัดใจกับข้อเสนอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจของ ร.ต.อ.เฉลิม เพราะข้อเสนอดังกล่าวยังไม่ได้เป็นมติพรรค โดยการประชุมพรรคเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ร.ต.อ.เฉลิมได้บอกกับที่ประชุมว่าต้องการที่จะเปิดอภิปรายนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เนื่องจากได้หลักฐานเรื่องการโอนเงิน 250 ล้านบาท ของอดีตหัวหน้าพรรคการเมืองหนึ่งให้กับพรรคประชาธิปัตย์ โดยผ่านบริษัทโฆษณาแห่งหนึ่ง ที่มี ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ถือหุ้นอยู่ ซึ่งแกนนำของพรรคและ ส.ส.ของพรรคเห็นว่าเป็นข้อมูลเก่าที่นายสุนัย จุลพงศธร ส.ส.สัดส่วน ได้เคยอภิปรายในที่ประชุมสภาแล้ว ดังนั้น จึงยังไม่ควรเปิดอภิปรายตามที่ ร.ต.อ.เฉลิมกำหนด ยิ่งไปกว่านั้นยังเห็นว่าควรที่จะอภิปรายรัฐมนตรีคนอื่นๆ ที่ไม่มีความชอบธรรมในการบริหารราชการ เช่น นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี และนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

แหล่งข่าวกล่าวว่า แกนนำพรรคเพื่อไทยจะเข้าหารือกับ ร.ต.อ.เฉลิมอีกครั้ง ก่อนจะแถลงข่าวอย่างเป็นทางการว่าสิ่งที่ ร.ต.อ.เฉลิมให้สัมภาษณ์ไม่ใช่มติของพรรค แต่เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของ ร.ต.อ.เฉลิมคนเดียว รวมไปถึงจะกำชับไม่ให้ ส.ส.ร่วมลงชื่อในหนังสือที่จะยื่นถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และญัตติที่จะขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจด้วย

ยันเสียงปรบมือคือ"มติพรรค"

ขณะที่ ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวว่า การประชุมเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้นำเสนอหลักการกว้างๆ เพื่อยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ประมาณวันที่ 11-12 มีนาคม แต่ไม่ได้ชี้แจงถึงรายละเอียด เนื่องจากเกรงข้อมูลจะรั่วไหล แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าไม่ไว้วางใจเพื่อนสมาชิก ซึ่งตอนท้ายได้ถามในที่ประชุมว่าใครเห็นด้วยกับตนให้ปรบมือดังๆ ซึ่งเสียงปรบมือก็ดังกระฮึ่มห้อง จึงคิดว่าน่าจะเป็นมติพรรคได้ แต่อย่างไรก็ตาม พรรคเพื่อไทยเป็นพรรคใหญ่ หากจะนำเรื่องนี้มาหารือกันอีกครั้งก็สามารถทำได้ ไม่ใช่เรื่องเสียหาย เพราะยังมีเวลาเหลืออีก 1 เดือน

"บางคนบอกว่าจะวิจารณ์เรื่องนโยบาย แต่ผมยืนสภามานาน ล้มรัฐบาลโดยใช้นโยบายยากต่อการสำเร็จ อย่างที่ผมเคยอภิปรายเรื่อง ส.ป.ก.4-01 เป็นเรื่องข้อกฎหมายและหลักฐาน คราวนี้ผมมั่นใจว่าดีกว่า ส.ป.ก.4-01 การอภิปรายยากมาก จะต้องนำเสนอให้ดี ถึงจะเกิดความเข้าใจ เพราะการกระทำครั้งนี้ซับซ้อนซ่อนเงื่อน มุมมองของเพื่อนสมาชิก ผมต้องฟัง ถ้าสุดท้าย พรรคยังไม่ให้ยื่น ผมก็ไม่โกรธเคือง รอได้ แต่หลักฐานที่ผมมี จะทำให้รัฐบาลบริหารบ้านเมืองต่อไปไม่ได้" ร.ต.อ.เฉลิมกล่าว และว่า ไม่สามารถเปิดเผยหลักฐานที่มีอยู่ได้ เนื่องจากกลัวถูกกล่าวหาว่าข่มขู่รัฐบาล เล่นการเมืองยุคเก่า แต่หากเพื่อนสมาชิกต้องการจะดูข้อมูล ก็พร้อมจะอธิบายให้ฟัง ไม่มีปัญหา และขอยืนยันว่าจะไม่ขอรับตำแหน่งหัวหน้าพรรค และผู้นำฝ่ายค้านอย่างแน่นอน แต่หากจะให้ทำหน้าที่ไปก่อนก็ได้ โดยสาเหตุที่ไม่รับตำแหน่งมีหลายปัจจัย แต่ไม่ได้เกรงว่าจะมีการยุบพรรค

ยันกู้เงินญี่ปุ่นไม่ขัดม.190

ด้านนายอภิสิทธิ์กล่าวถึงกรณีที่ฝ่ายค้านเตรียมยื่นถอดถอน โดยอ้างว่าทำผิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ที่ไม่ได้นำเรื่องการกู้เงินญี่ปุ่น 6.3 หมื่นล้านเยน โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง เข้าพิจารณาในสภาก่อน ว่า ไม่ได้ไปดำเนินการอะไรที่ขัดรัฐธรรมนูญ ขณะนี้ยังไม่มีการลงนามในสัญญา กระบวนการเจรจาก็ไม่ใช่เรื่องของตน เพียงไปพบนายกฯญี่ปุ่น ซึ่งนายกฯญี่ปุ่นก็แจ้งให้ทราบว่า จากที่ไทยมีโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานมากมาย โดยมีเรื่องรถไฟฟ้าหลายสาย ทางรัฐบาลญี่ปุ่นก็พร้อมที่จะอนุมัติเงินกู้ให้สำหรับรถไฟฟ้าสายสีแดงเท่านั้นเอง

"ผมก็เห็นรถไฟฟ้าสายสีม่วง ที่ไปลงนามกู้เงินกันก่อนหน้านี้ในรัฐบาลที่แล้ว ก็ไม่เห็นมีกระบวนการของสภา แต่ถ้าเกิดมันมีความจำเป็นต้องนำเข้าสภาก็เข้าได้ เพราะสามารถทำเรื่องกรอบการเจรจาตามรัฐธรรมนูญได้ ก็เป็นการแสดงความจำนงและแสดงความพร้อมของรัฐบาลญี่ปุ่น แต่ไม่ได้มีการไปเจรจาหรือลงนามในหนังสือสัญญาใดๆ ก็จะให้ฝ่ายกฎหมายดูต่อไป จริงๆ แล้วการดำเนินการเรื่องนี้เป็นเรื่องของการรถไฟฯที่จะต้องเข้าไปดู" นายอภิสิทธิ์กล่าว

คุณหญิงกัลยาปัดเทขายหุ้น

คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวถึงกรณีฝ่ายค้านเตรียมตรวจสอบนักการเมืองผู้หญิงฝ่ายรัฐบาล ที่เทขายหุ้นล็อตใหญ่ในช่วงการจัดตั้งรัฐบาลว่า "ไม่ใช่ดิฉันอยู่แล้ว เรื่องนี้แค่หยิบมาให้เป็นประเด็นทางการเมืองเท่านั้น ไม่ต้องเตรียมข้อมูลไปตอบโต้ เพราะไม่ใช่เรื่องจริง"

ด้านนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีฝ่ายค้านเตรียมยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดย ร.ต.อ.เฉลิม ประกาศเปิดโปงเงินบริจาคของพรรคประชาธิปัตย์ที่เข้าข่ายลักษณะการฟอกเงินว่า "พูดไปเดี๋ยวคุณเฉลิมจะโกรธเอา ผมไม่ค่อยเชื่อคุณเฉลิมอยู่แล้ว เอาไว้รอให้เขายื่นมาก่อนแล้วค่อยตอบ"

ผู้สื่อข่าวถามว่า มองว่าเนื้อหาการอภิปรายไม่ไว้วางใจไม่น่าจะมีอะไรมากใช่หรือไม่ นายสุเทพกล่าวว่า "อย่าไปปรามาสเขาอย่างนั้น เดี๋ยวเขาจะเสียใจ แต่สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ไม่มีอะไร สบายใจได้ ในยุคที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นหัวหน้าพรรค และผมเป็นเลขาธิการพรรค ไม่ได้ทำอะไรที่ผิดเลย ไม่กลัวเลย ขณะนี้ยังไม่ได้เตรียมการรับมืออะไร เพราะยังไม่รู้ว่าฝ่ายค้านจะยื่นจริงหรือไม่ แต่ถือเป็นสิทธิของฝ่ายค้าน การต่อสู้ในสภา ผมไม่กลัว แต่การต่อสู้นอกสภาน่ากลัวกว่า"

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook