กำจัดตัวแทนแกะดำ กรณีศึกษาลวงฆ่าเอาประกัน

กำจัดตัวแทนแกะดำ กรณีศึกษาลวงฆ่าเอาประกัน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
บทเรียนจากกรณีศึกษาอดีตตัวแทนประกันชีวิตของ บริษัทไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด ซึ่งเป็นตัวแทนประกันมาตั้งแต่ปี 2542 ตกเป็นผู้ต้องหาคดีลวงฆ่าลูกค้าที่เป็นผู้เอาประกันชีวิต ที่จังหวัดพิจิตร ซึ่งขณะนี้ตามกระบวนการทางคดีเจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่ระหว่างพิสูจน์หลักฐานและสรุปสำนวนว่าตัวแทนเป็นผู้ก่อเหตุฆาตกรรมจริงหรือไม่ รวมถึงผู้รับผลประโยชน์มีส่วนร่วมในการฆาตกรรมด้วยหรือไม่

****ตัวแทนฉ้อฉลปลอมเอกสาร

หากเป็นไปตามนั้นจริง ก็จะนับเป็นกรณีแรกที่เกิดขึ้นในประเทศไทย และเกิดกับธุรกิจประกันชีวิต

เนื่องจากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ย้อนหลังไปเมื่อปี 2547 ในจำนวนเรื่องร้องเรียนจากผู้เอาประกันปีละหลายร้อยเรื่องและมีผลให้ตัวแทนถูกเพิกถอนใบอนุญาตไปแล้วหลายสิบราย (ดูข้อมูลจากตารางประกอบ)

ต้นเหตุส่วนใหญ่มาจากตัวแทนทุจริตกรณีการปลอมลายมือชื่อหรือปลอมแปลง

เอกสารผู้เอาประกัน อาทิ ปลอมใบคำขอแทน ดำเนินการแก้ไขสัญญาและกู้ตามกรมธรรม์ ทำให้ผู้เอาประกันเสียผลประโยชน์ หรือ 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ หลายกรณีที่เกิดจากตัวแทนเก็บเบี้ยแล้วไม่นำส่งเข้าบริษัท แต่กรณีฆาตกรรมเพื่อเอาเงินประกัน มักเกิดขึ้นระหว่างผู้เอาประกันกับผู้รับผลประโยชน์ เช่น สามีภรรยา หรือคนในครอบครัวด้วยกันเอง ซึ่งไม่เคยเกิดกรณีการฆ่าโดยตัวแทนประกันชีวิตมาก่อน

แม้ว่าจะเป็นกรณีแรกที่เพิ่งเกิดขึ้นในไทย แต่ก็ต้องตั้งคำถามกับผู้กำกับดูแล หรือบริษัทประกันชีวิตหรือประกันภัย ซึ่งถือเป็นด่านแรกในการคัดคุณภาพของตัวแทน

ประกัน ท่ามกลางกลยุทธ์ปีนี้ที่หลายค่าย รุก ช่องทาง ตัวแทน เพื่อพัฒนาตัวแทนน้ำดี หรือหมายถึง ตัวแทนที่มีคุณภาพ และกำจัดตัวแทน แกะดำ หรือ ตัวแทนทุจริต ฉ้อฉล ในวงการประกัน

เห็นได้จาก บมจ.ไทยพาณิชย์นิวยอร์คไลฟ์ประกันชีวิต ผลักดันช่องทางตัวแทนเป็นหัวหอกในการเติบโตไม่ต่ำกว่า 30% ในปีนี้ โดยรุกรีครูตตัวแทนใหม่อีก 4,500 คน บริษัทไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัดตั้งเป้าขยายตลาดผ่านตัวแทนเป็นหลัก บริษัทเมืองไทยประกันชีวิต จำกัด ตั้งเป้าเพิ่มตัวแทนใหม่อีก 20,000 ราย และพัฒนาศักยภาพของตัวแทน หรือค่ายยักษ์ใหญ่อย่างเอไอเอที่ตั้งเป้าเพิ่มตัวแทนใหม่ในปีนี้อีก 35,000 คนเป็นอย่างน้อย ฯลฯ

****เร่งกำจัดตัวแทนแกะดำ

นายกสมาคมประกันชีวิตไทย สาระ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการ บริษัทเมืองไทยประกันชีวิต จำกัด ให้ความเห็นว่า ตัวแทนประกันชีวิตที่มีใบอนุญาตทั้งระบบ 400,000 คน มีถึง 99 % เป็นคนดีผ่านการฝึกอบรมจริยธรรมและสอบจรรยาบรรณ รวมถึงองค์ความรู้ประกันชีวิต ขณะที่ตัวแทนมิจฉาชีพที่แฝงตัวเข้ามาล่อลวง สร้างความปั่นป่วนและเอาผลประโยชน์จากผู้เอาประกันมีเพียงส่วนน้อย โดยเฉพาะปีนี้สมาคมและสมาชิกมีมติเร่งจำกัดกลุ่มมิจฉาชีพหรือแกะดำออกจากวงการประกันชีวิต

ในขณะที่ พ.ร.บ.ธุรกิจประกันชีวิต พ.ศ. 2551 ได้ระบุว่าบริษัทต้องรับผิดชอบตัวแทน หากตัวแทนกระทำความเสียหายต่อผู้เอาประกัน รวมถึงการเพิ่มบทลงโทษกรณีตัวแทนทุจริต ก่อคดีอาญา ก่อเหตุความเสียหายรุนแรงมีหลักฐานระบุชัดเจน รับโทษจำคุก 3 เดือน ปรับ 30,000 บาท และเปรียบเทียบปรับเดือนละ 10,000 บาท

****แนะเรียกดูใบอนุญาตตัวแทน

พร้อมกับมีข้อแนะนำสำหรับผู้ที่จะซื้อประกันชีวิต ต้องเรียกขอดูใบอนุญาตตัวแทนจากตัวแทนที่นำเสนอขาย พร้อมทั้งตรวจสอบวันที่ผลบังคับใช้ว่าหมดอายุหรือไม่และเป็นตัวแทนสังกัดจากบริษัทใด หากตัวแทนรายนั้นไม่มีใบอนุญาต ห้ามตกลงซื้อประกันด้วยเด็ดขาด รวมถึงระบบจ่ายสินไหมและระบบการมอบอำนาจ ซึ่งผู้เอาประกัน จะต้องตรวจสอบอ่านรายละเอียดจากเอกสารทั้งหมด

นอกจากนั้น เมื่อเร็วๆนี้ นายกสมาคมประกันชีวิต เพิ่งออกมาเตือนถึงผู้ที่ซื้อประกันชีวิตให้ระวังกลุ่มมิจฉาชีพที่หลอกลวงในลักษณะของแชร์ลูกโซ่ คือ ชักจูงให้ผู้เอาประกันยกเลิกกรมธรรม์ที่ถือไว้ แล้วนำเงินมาซื้อกรมธรรม์ใหม่ที่มีความคุ้มครองใกล้เคียงกัน เช่น กรมธรรม์ที่เสนอราคา 25,000 ล้านบาท โดยยังได้ผลตอบแทนค่าคอมมิสชันหรือค่าหัวคิวให้ทันที 22.5-30% ของมูลค่าที่ลงทุนซื้อกรมธรรม์ใหม่ หรือประมาณ 15,000 บาท และยังให้ผู้ถือกรมธรรม์ชักชวนเพื่อนหรือญาติเข้ามาร่วมลงทุนด้วย

****บ.ประกันฯคุมเข้มคัดตัวแทน

อีกหนึ่งความเห็นจาก นายบุญชัย หรูตระกูล นายกสมาคมตัวแทนประกันชีวิต มองว่า เหตุกรณีตัวแทนทุจริตรายนี้ เป็นเพียงประเด็นใหม่มีแกะดำโผล่ขึ้นมาทำให้มีคนตั้งคำถาม แต่ถือเป็น กรณีทุจริตพิเศษ หรือ เหตุสุดวิสัย ซึ่งเป็นความผิดพลาดเฉพาะรายตัวบุคคล ไม่ใช่ความผิดพลาดของบริษัทประกันหรือองค์กร ในแง่ที่มีระบบการตรวจสอบตัวแทนไม่รัดกุม เพราะไม่เช่นนั้นทางบริษัทคงไม่ให้ตัวแทนรายนี้พ้นสภาพและยังให้ตำรวจสอบสวนในทางลับ รวมถึงดำเนินคดีอาญา

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่เกิดกรณีนี้แล้ว แต่ละบริษัทคงต้องเพิ่มความเอาใจใส่ ดูแลและตรวจสอบให้มากขึ้นจากระบบที่รัดกุมอยู่แล้ว และอาจต้องมีการตรวจสุขภาพจิตตัวแทนหากพบพฤติกรรมที่ผิดวิสัยด้วย

ทางด้านผู้บริหารระดับสูงของ บริษัทไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด วีรวุฒิ อัสสกุล รองกรรมกรรมการผู้จัดการ กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทมีตัวแทนประกันชีวิต 15,000 คน กระจายอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งปกติแล้วจะมีขั้นตอนในการคัดเลือกบุคลากรมาเป็นตัวแทนประกันชีวิต โดยตรวจสอบข้อมูลพื้นฐาน เช่น อายุ อาชีพ และต้องมีการสอบใบอนุญาตกับทางคปภ. ซึ่งผู้ที่เข้าสอบต้องไม่มีประวัติเสียหายและไม่มีความผิดทางอาญา

ผมอยู่ที่บริษัทมาตั้งแต่ปี 2528 กรณีแบบนี้เป็นครั้งแรกที่เกิด นายวีรวุฒิกล่าว

พร้อมกับให้ข้อมูลว่า ตามสัญญาในกรมธรรม์ ระบุผู้รับผลประโยชน์ไว้ชัดเจนต้องเป็นบุคคล 5 ประเภท ได้แก่ พ่อ แม่ สามี ภรรยาและบุตร เพราะถือเป็นบุคคลที่มีโอกาสทำร้ายผู้เอาประกันเพื่อหวังเงินประกันน้อยมาก คิดเป็น 1 ในล้านล้านราย

หลังจากนี้ บริษัทจะเพิ่มมาตรฐานการป้องกันด้วยระบบการฝึกอบรมตัวแทน ปลูกฝังจรรยาบรรณ ตรวจสอบพฤติกรรมและประสิทธิภาพของตัวแทนในด้านที่จับต้องไม่ได้ในเชิงลึกในอนาคต อาทิ ลูกค้ามีความพึงพอใจมากน้อยแค่ไหนในการรับบริการ รวมทั้งกลยุทธ์ในปีนี้ที่จะสื่อถึงตัวลูกค้าจำนวนกว่า 2 ล้านรายมากขึ้น นอกเหนือจากผ่านช่องทางตัวแทนแล้ว จะผ่านทาง คอลล์เซ็นเตอร์และศูนย์บริการลูกค้า เช่น เมื่อได้รับการนำส่งเบี้ยประกันแล้ว สำนักงานใหญ่จะส่งใบเสร็จรับเงินตัวจริงถึงมือลูกค้าโดยไม่ต้องให้ตัวแทนนำส่ง

****คปภ.ยกกฎหมายเอาผิด

ขณะเดียวกัน คปภ. ได้ออกหนังสือชี้แจงถึงกรณีการกำกับดูแลตัวแทนหรือนายหน้าประกันภัย โดยอ้างถึงกฎหมายว่าด้วยการประกันภัยได้มีมาตรการในการกำกับดูแลการดำเนินงานของบุคคลไว้อย่างเข้มงวด เริ่มตั้งแต่การสอบขอรับใบอนุญาตการเป็นตัวแทนหรือนายหน้า การขอต่ออายุใบอนุญาตจะต้องผ่านการอบรมและทดสอบความรู้ตามหลักสูตรที่กำหนด

นอกจากนั้น ในส่วนของบริษัทประกันภัย มีหน้าที่ในการกำกับดูแลตัวแทนให้ประพฤติและปฏิบัติอยู่ในจรรยาบรรณของตัวแทนอีกชั้นหนึ่งด้วย ซึ่งหากปรากฏว่าตัวแทนกระทำความผิดหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้เอาประกันภัย ผู้รับประโยชน์ หรือประชาชน จะต้องถูกลงโทษตามกฎหมาย เช่น ถูกเพิกถอนใบอนุญาต ถูกเปรียบเทียบปรับ และอาจถูกลงโทษจำคุก

บทเรียนจากกรณีศึกษาตัวแทนลวงฆ่าผู้เอาประกัน แม้มีโอกาสน้อยที่จะเกิดขึ้นแต่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ก็คงต้องฝากความหวังไว้กับบริษัทประกันและผู้ดูแลช่วยกันอุดช่องโหว่ ไม่ทำให้ลูกค้าที่ซื้อประกันโดยมองว่าเป็นการซื้อความคุ้มครองให้กับตัวเอง ต้องเผชิญกับความไม่ปลอดภัยแทน

ทางด้าน นายวีรวุฒิ อัสสกุล รองกรรมกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด ได้ออกมายืนยันว่า โอกาสเกิดเหตุกรณีแบบตัวแทนรายนี้มีได้ แต่ก็ไม่ได้เกิดขึ้นได้บ่อย ตั้งแต่อยู่บริษัทนี้ตั้งแต่ปี 2528 นี่เป็นครั้งแรก และตัวแทนของอยู่กับตลาดรากหญ้า ความใกล้ชิดกับผู้เอาประกันค่อนข้างมากแม้เบี้ยประกันมูลค่าไม่สูงมาก

แต่ที่ผ่านมาตามสัญญาในกรมธรรม์ของบริษัทไทย จึงได้ระบุผู้รับผลประโยชน์ไว้ชัดเจนต้องเป็นบุคคล 5 ประเภท ได้แก่ พ่อ แม่ สามี ภรรยาและบุตร เพราะถือเป็นบุคคลที่มีโอกาสทำร้ายผู้เอาประกันเพื่อหวังเงินประกันน้อยมากคิดเป็น 1 ในล้านล้านราย อีกทั้งตัวแทนไม่มีสิทธิเป็นผู้รับผลประโยชน์ตามสัญญากรมธรรม์ ขณะที่ในระบบประกันชีวิต สามารถมอบผลประโยชน์ระหว่างลูกหนี้กับเจ้าหนี้ได้

ในช่วงเศรษฐกิจที่มีปัญหาเกิดขึ้น บริษัทถือเป็นโอกาสทองที่บริษัทจะทุ่มเททรัพยากรเพื่อพัฒนาตัวแทนคุณภาพยิ่งขึ้น หลังจากนี้ บริษัทจะเพิ่มมาตรฐานการป้องกันด้วยระบบการฝึกอบรมตัวแทน ปลูกฝังจรรยาบรรณ ตรวจสอบพฤติกรรมและประสิทธิภาพของตัวแทนในด้านที่จับต้องไม่ได้ในเชิงลึกในอนาคต อาทิ ลูกค้ามีความพึ่งพอใจมากน้อยแค่ไหนในการให้บริการการรับประกัน ซึ่งจะมีการขยายผลต่อสื่อสารไปถึงตัวแทนทั่วประเทศในกระบวนการตรวจสอบตัวแทนกว่า 15,000 คน อีกครั้ง

รวมทั้งตามแผนกลยุทธ์ปีนี้ บริษัทต้องมีการสื่อถึงตัวลูกค้าจำนวนกว่า 2 ล้านรายมากขึ้นที่นอกเหนือจากตัวแทนไม่ว่าจะเป็น คอลล์เซ็นเตอร์และศูนย์บริการลูกค้า อีกทั้งหลังจากนี้หลังจากบริษัทได้รับการนำส่งเบี้ยประกันแล้ว ในส่วนของใบเสร็จรับเงินตัวจริง ทาง สำนักงานใหญ่จะส่งไปถึงมือลูกค้าเอง ไม่ต้องให้ตัวแทนนำส่งแล้ว ซึ่งส่วนตัวแทนจะทำหน้าที่เป็นผู้นำส่งมอบกรมธรรม์ตัวจริงและชี้แจ้งอธิบายรายละเอียดตามสัญญากรมธรรม์ให้กับลูกค้า เพื่อยังคงสร้างความใกล้ชิดรักษาสัมพันธภาพที่ดีกับลูกค้าต่อไป

แต่หากลูกค้าผู้เอาประกัน ถูกตัวแทนเอาเปรียบต้องเข้ามาร้องเรียนผ่านหน่วยงานราชการท้องที่ก่อน เพราะยอมรับว่า แม้บริษัทระบบการตรวจสอบที่รัดกุมละเอียด แต่จำนวนรายที่เข้ามาขออนุมัติกับทางบริษัทต่อวันมีปริมาณมากในแง่การตรวจสอบการทุจริตตัวแทนปลอมแปลงเอกสารเข้ามาบางครั้งก็รอดสายตาไปบ้าง และต้องใช้เวลาในการสืบสวนหาหลักฐานเอาผิดผู้กระทำผิด

หากเป็นความผิดปกติที่ตัวแทนร่วมมือกับทายาท ก่อเหตุแบบนี้ บริษัทไม่มีทางรู้ได้เลย และยังไม่กล้าโทษช่วงภาวะเศรษฐกิจไม่ดี จะเป็นแรงกดดันให้ตัวแทนมีพฤติกรรมรุนแรงแบบนี้ เพราะไม่ใช่เคสที่เกิดขึ้นง่ายๆ ตัวแทนคนนี้เรียบร้อยใจเย็นไม่เคยมีปัญหากับใครมาก่อน

รายละเอียดใน Press

อนึ่ง กรณีที่ นายนันทวุฒิ คล้ายเนียม อดีตตัวแทน บริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด สาขาตะพานหิน จังหวัดพิจิตร ถูกจับกุมดำเนินคดีในข้อหาฆาตกรรมอำพรางเพื่อหวังเงินประกัน ซึ่งเป็นผู้ต้องหาลวงลูกค้าฆ่าเอาเงินประกัน โดยลูกค้ารายที่ปรากฏเป็นข่าว คือ นายชาญยุทธ บุตรเกตุ ถือกรมธรรม์จำนวน 3 ฉบับ เริ่มทำประกันในปี 2548 โดยที่กรมธรรม์ 2 ฉบับแรกรวมทุนประกัน 1,200,000 บาท บริษัทได้ยกเลิกกรมธรรม์ไปแล้วจากสาเหตุการทุจริตปลอมแปลงเอกสาร แต่ยังเหลือกรมธรรม์ที่มีผลบังคับอีก 1 ฉบับ มีทุนประกัน 250,000 บาท

ขณะนี้บริษัทยังไม่ได้จ่ายสินไหมให้กับทายาทผู้รับผลประโยชน์ซึ่งเป็นภรรยา เนื่องจากรอผลการพิสูจน์หลักฐานและผลสรุปสำนวนจากทางตำรวจที่ชี้ชัดว่า ตัวแทนรายนี้มีส่วนร่วมในการฆาตกรรมจริงหรือไม่ รวมถึงผู้รับผลประโยชน์มีส่วนร่วมในการฆาตกรรมด้วยหรือไม่ ถ้าผู้รับผลประโยชน์มีส่วนร่วม ตามเงื่อนไขกรมธรรม์ระบุชัดว่า บริษัทมีสิทธิ์ที่จะปฏิเสธการจ่ายสินไหมผู้เอาประกันได้ แต่หากไม่เกี่ยวข้องบริษัทก็ต้องรับผิดชอบตามที่ระบุในกรมธรรม์

นอกจากนี้ยังมีผู้เอาประกันที่เสียชีวิตก่อนหน้านี้อีก 3 ราย โดยบริษัทได้มีการจ่ายสินไหมไปแล้ว 2 ราย ด้วยสาเหตุการจมน้ำเสียชีวิต มีหลักฐานยืนยันสาเหตุการเสียชีวิตจากทางราชการที่ชัดเจน และผู้รับผลประโยชน์เดินทางมารับที่สาขา บริษัทได้จ่ายส่วนหนึ่งเป็นเงินสดและอีกส่วนเป็นเช็คเงินสด รวมมูลค่า 900,000 บาทและ 100,000 บาท ซึ่งหากทางตำรวจทบทวนคดีสามารถพิสูจน์พบผู้รับผลประโยชน์มีส่วนร่วมกระทำความผิดก็ต้องทบทวนการจ่ายสินไหมอีกครั้ง ขณะที่อีก 1 รายนั้นเป็นกรมธรรม์ที่ขาดอายุ

อย่างไรก็ตาม อดีตตัวแทนรายนี้ ได้เข้าทำงานประกันชีวิตกับบริษัทเมื่อเดือน ก.ค.2542 และได้พ้นสภาพจากการเป็นตัวแทนบริษัท เมื่อเดือน ส.ค. 2551 เนื่องจากได้ปลอมลายมือชื่อผู้เอาประกัน 1 รายซึ่งบริษัทได้ตรวจพบจึงได้ยกเลิกการทำประกันดังกล่าว และแจ้งความดำเนินคดีในข้อหาปลอมแปลงเอกสารและได้ปลดตัวแทนรายนี้ ออกจากการเป็นตัวแทนของบริษัท โดยบริษัทได้ทำการตรวจสอบผู้เอาประกันที่อยู่ในความรับผิดชอบของนายตัวแทนรายนี้ทั้งหมด 179 ราย ว่ามีการปลอมรายชื่อทำประกันอีกหรือไม่ ซึ่งไม่ปรากฏว่ามีการกระดังกล่าว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook