นครฯยังอ่วมต.แม่เจ้าอยู่หัวจมน้ำ1ม.-อ.พุนพิน สุราษฎร์ท่วมสูง

นครฯยังอ่วมต.แม่เจ้าอยู่หัวจมน้ำ1ม.-อ.พุนพิน สุราษฎร์ท่วมสูง

นครฯยังอ่วมต.แม่เจ้าอยู่หัวจมน้ำ1ม.-อ.พุนพิน สุราษฎร์ท่วมสูง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สถานการณ์น้ำท่วม ต.แม่เจ้าอยู่หัว อ.เชียรใหญ่ ยังอ่วม จมกว่า 1 เมตร ขณะที่ บ้านสองฝั่งแม่น้ำตาปี ช่วง อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี ยังท่วมสูง ด้าน ริมทะเลสาบสงขลายังหนัก บางหมู่บ้านถูกตัดขาด

นายชนวีร์ ซุ่นอินทร์ นายก อบต.แม่เจ้าอยู่หัว อ.เชียรใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช กล่าวกับ สำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น.ว่า ขณะนี้แม้ในบางพื้นที่ระดับน้ำจะลดลงบ้างแล้ว แต่ยังมีบางพื้นที่ที่ยังประสบปัญหาน้ำท่วมขัง อยู่ประมาณกว่า 1 เมตร  โดยทางผู้นำชุมชนได้มีการปรึกษาหารือถึงแแนวทางในการป้องกันปัญหาน้ำท่วมในระยะยาว ซึ่งจะมีการพูดคุยกันหลังน้ำลดในหลายประเด็น อย่างเช่น เรื่องของการยกบ้าน ที่ตามปกติจะมียกบ้านให้สูง มีใต้ถุนอยู่แล้ว แต่ยังไม่พ้นกระแสน้ำ ดังนั้นอาจจะมีการหารือถึงการสร้างบ้านให้สูงขึ้นไปอีก รวมไปถึงเรื่องของการแจ้งเตือน ระบบการอพยพต่างๆ เพื่อให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น 

นอกจากนี้ ยังเป็นเรื่องของการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ผู้ประสบภัย ซึ่งจากการสำรวจเบื้องต้นพบชาวบ้านได้รับผลกระทบ กว่า 2,000 คน กระจายอยู่ในพื้นที่หมู่ 1, 2, 5, 6  นั้นสามารถกู้ยืมเงินปลอดดอกเบี้ย หรือดอกเบี้ยต่ำได้เพื่อเป็นการช่วยเหลืออีกทางหนึ่ง

ด้าน นายชลินทร์  ประพฤติตรง เกษตรจังหวัดนครศรีธรรมราช เปิดเผยสำนักข่าวไอ.เอ็น.เอ็น.ว่า จากเหตุอุทกภัย ได้สั่งการให้เกษตรอำเภอทุกอำเภอดำเนินการสำรวจข้อมูล จำนวนครัวเรือน และพื้นที่ประสบภัย ตามแบบ คชภ.1 เป็นการประมาณการความเสียหาย เบื้องต้นพบว่ามีครัวเรือนเกษตรกรที่ประสบภัยประมาณ 130,000 ครัวเรือน พื้นที่นาข้าวที่ประสบภัย 159,363 ไร่ คาดว่าจะเสียหาย 100,967 ไร่ พื้นที่พืชไร่ที่ประสบภัย 15,889 ไร่ คาดว่าจะเสียหาย 12,151 ไร่ และพืชสวนและอื่น ๆ ที่ประสบภัย 1,101,359 ไร่ คาดว่าจะเสียหาย 309,687 ไร่ ส่วนความเสียหายที่แท้จริงอยู่ระหว่างการสำรวจ และตรวจรับรองจากเจ้าหน้าที่ ซึ่งจะต้องเร่งดำเนินการโดยด่วน ส่วนการรับรายงานสำหรับเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ปี 2559/60 ตามมติ ครม. ลงวันที่ 11 ตุลาคม 2559 เพื่อช่วยเหลือเยียวยาครัวเรือนละ 3,000 บาทนั้น จังหวัดได้แต่งตั้งคณะกรรมการระดับอำเภอ และนายอำเภอได้แต่งตั้งคณะกรรมการระดับหมู่บ้าน/ชุมชน เรียบร้อยแล้ว และ ประกาศให้เกษตรกรผู้ประสบภัยแจ้งความจำนงขอรับการช่วยเหลือแล้ว ซึ่งคาดว่าเงินจะถึงมือเกษตรได้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2560


บ้านสองฝั่งแม่น้ำตาปีช่วงอ.พุนพินยังท่วมสูง

สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี เช้านี้ มวลน้ำจากตอนบนยังคงไหลสู่ตอนล่าง เพื่อระบายออกสู่ทะเลอย่างต่อเนื่อง  ส่งผลให้พื้นที่รับน้ำสุดท้าย ที่อำเภอพุนพิน มีน้ำท่วมสูง จากภาวะน้ำในแม่น้ำตาปีล้นตลิ่งและขยายวงกว้างออกไปอีก ทำให้บ้านเรือนประชาชนมีน้ำท่วมเพิ่มขึ้น 

ส่วนพื้นที่ ที่มีน้ำท่วมขัง ก่อนหน้านี้ ระดับน้ำ เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน โดยหลายจุดระดับน้ำสูง ประมาณ 2-3 เมตร พื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำตาปี เขต อ.พุนพิน จึงยังต้องเฝ้าระวังระดับน้ำอย่างใกล้ชิดต่อไปอีก

นอกจากนั้น ในวันนี้จะมีภาวะน้ำทะเลหนุนสูง  อาจส่งผลให้การระบายน้ำลงสู่ทะเล เป็นไปได้ช้าลง

ด้าน องค์การบริหารส่วนตำบลท่าสะท้อน อ.พุนพิน ลงพื้นที่สำรวจที่ ม.1 ตำบลท่าสะท้อน พบว่าระดับน้ำยังเพิ่มขึ้นอีก แต่ก็ไม่รวดเร็วมากนัก หากไม่ได้เรือผลักดันน้ำช่วย ระดับน้ำจะสูงกว่านี้ แต่วันนี้ถ้าน้ำทะเลหนุนสูงมากชาวบ้าน คงลำบากเพิ่มขึ้น 

แต่อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านส่วนใหญ่รู้จักและเข้าใจภาวะน้ำท่วมดี มีการเตรียมความพร้อมในการรับสถานการณ์ และสามารถรับสถานการณ์ไปได้อีกระยะหนึ่ง 

นอกจากนั้น เด็กๆ ที่บ้านเรือนถูกน้ำท่วม จำนวนมาก ไม่มีโอกาสได้ออกไปเที่ยวตามสถานที่จัดงานวันเด็ก เนื่องจากบ้านถูกน้ำท่วมและการสัญจร เข้าออกพื้นที่ยังยากลำบาก

ด้าน นายอวยชัย อินทร์นาค ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ประชุมร่วมกับส่วนราชการ และผู้เกี่ยวข้อง เพื่อวิเคราะห์ประเมินสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม สรุปสถานการณ์ ระหว่างวันที่ 4 - 13 มกราคม 2560 จำนวน 17 อำเภอ 98 ตำบล 714 หมู่บ้าน 25 ชุมชน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 79,365 ครัวเรือน 232,061 คน บ้านพักอาศัยเสียหายทั้งหลังจำนวน 33 หลัง เสียหายบางส่วน 46 หลัง มีผู้เสียชีวิต 7 ราย พื้นที่การเกษตรเสียหาย 13,679 ไร่ บ่อกุ้ง/บ่อปลา 53 บ่อ ถนน 40 สาย สะพาน/คอสะพาน 31 แห่ง/ฝาย 13 แห่ง/วัด 3 แห่ง/โรงเรียน 1 แห่ง สถานที่ราชการ 7 แห่ง/ท่อ ระบายน้ำ 4 แห่ง มูลค่าความเสียหายเบื้องต้นประมาณ 270 ล้านบาท จุดอพยพจังหวัดสุราษฎร์ธานี มี 4 อำเภอ 10 จุด รวม 190 ครัวเรือน 614 คน อำเภอพระแสง 3 จุด อำเภอบ้านนาสาร 4 จุด อำเภอพุนพิน 1 จุด และอำเภอเวียงสระ 2 จุด พื้นที่เฝ้าระวังน้ำท่วมขังแม่น้ำตาปีล้นตลิ่ง 6 อำเภอ อำเภอพระแสง อำเภอเวียงสระ อำเภอเคียนซา อำเภอบ้านนาสาร อำเภอบ้านนาเดิม และอำเภอพุนพิน


ริมทะเลสาบสงขลายังหนักบางหมู่บ้านถูกตัดขาด

สถานการณ์น้ำท่วมตลอดแนวชายฝั่งทะเลสาบสงขลาใน 5 อำเภอของ จ.สงขลา ซึ่งยืดเยื้อมาเกือบครึ่งเดือน เป็นผลมา เนื่องจากเป็นพื้นที่รับน้ำจาก จ.นครศรีธรรมราช และพัทลุงก่อนไหลลงสู่อ่าวไทย ล่าสุดสถานการณ์สถานการณ์ยังไม่คลี่คลายแม้ว่าระดับจะเริ่มลดลง 

แต่สภาพพื้นที่ยังมีน้ำท่วมขังและหลายจุดยังหนักมาก โดยเฉพาะที่อยู่ชั้นในติดทะเลสาบสงขลา เช่นที่ บ้านหัวเสม็ด หมู่ 2 ต.เชิงแส อ.กระแสสินธุ์ มีชาวบ้าน 17 ครัวเรือน ซึ่งอยู่ลึกเข้าไปจากถนนใหญ่เกือบ 2 กิโลเมตร ถูกตัดขาดต้องเข้าออกทางเรือเท่านั้น และการช่วยเหลือยังเข้าไม่ถึงและทั้งหมู่บ้านมีเรือเพียงลำเดียวชาวบ้านยังคงเดือดร้อนอย่างหนัก เช่นเดียวกับโรงเรียนอีกหลายแห่งเช่นโรงเรียนบ้านรัดปูนใน ต.เชิงแส สภาพโรงเรียนก็ยังถูกน้ำท่วมขังอาคารเรียนในสัปดาห์หน้าก็อาจจะยังไม่สามารถเปิดเรียนได้เพราะต้องรอให้น้ำลดและฟื้นฟูโรงเรียน



ชลประทานลุย140เครื่องดันน้ำ24ช.ม.ลุ่มปากพนัง

นายปริญญา สัคคะนายก ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 15 (ผส.ชป.15) กรมชลประทาน รับผิดชอบพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี กระบี่ พังงา ภูเก็ต เปิดเผยกับ สำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น.ว่า สถานการณ์อุทกภัยจังหวัดนครศรีธรรมราช ขณะนี้บริเวณต้นน้ำ กลางน้ำ นั้น เริ่มกลับสู่ภาวะปกติแล้ว ยังมีเหลือพื้นที่ปลายน้ำ บริเวณลุ่มแม่น้ำปากพนัง อย่าง อำเภอเชียรใหญ่ อำเภอหัวไทร อำเภอปากพนัง ที่ยังมีน้ำอยู่มาก ขณะนี้แม้จะลดลงไปกว่าครึ่งแล้ว แต่วันนี้ (14 ม.ค.) ยังเหลือน้ำอีก กว่า 500 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งสามารถระบายน้ำได้ประมาณวันละ 100-130 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งทางกรมอุตุนิยมวิทยาได้มีการแจ้งเตือนในเรื่องของพายุฝนทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้นนั้นทางชลประทานที่ 15 ได้รองรับสถานการณ์ด้วยการเร่งการระบายน้ำออกจากพื้นที่อย่างเต็มกำลังความสามารถ ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมประสานกับทางกองทัพเรือที่ส่งเครื่องผลักดันน้ำมาสนับสนุนตอนเพิ่ม เป็น 70 เครื่องแล้ว รวมกับของกรมชลประทานที่มี 70 เครื่อง (บริเวณ ประตูระบายน้ำชะอวด - แพรกเมือง 30 เครื่อง และประตูระบายน้ำฉุกเฉิน 20 เครื่อง ประตูระบายน้ำหน้าโกฐิ 20 เครื่อง) รวมเป็น 140 เครื่อง พร้อมกันนั้นทางชลประทานได้เพิ่มเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ 3 เครื่อง (ขนาด 3 ลูกบาศก์เมตร/วินาที) 

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยอย่างเรื่องน้ำทะเลหนุน จึงคาดการณ์ว่าหากไม่มีฝนมาเพิ่มจะสามารถระบายน้ำให้หมดจากพื้นที่ใน 7-10 วัน




แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook