มาร์คบี้คลัง-ธปท.เคลียร์หนี้เอฟไอดีเอฟ ชงครม.ไฟเขียว2.7แสนล.กระตุ้นเศรษฐกิจก๊อกสอง

มาร์คบี้คลัง-ธปท.เคลียร์หนี้เอฟไอดีเอฟ ชงครม.ไฟเขียว2.7แสนล.กระตุ้นเศรษฐกิจก๊อกสอง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
เมื่อวันที่ 2 ก.พ. ที่โรงแรมพลาซ่า แอทธินี บล.กสิกรไทย ร่วมกับสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย และสมาคมส่งเสริมนักลงทุนไทย จัดเสวนาหัวข้อ เจาะลึก 8 คำถาม อุตสาหกรรมเด่นกับนายกรัฐมนตรี โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ร่วมกับนายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง ร่วมตอบคำถาม

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า รัฐบาลเตรียมแผนกระตุ้นเศรษฐกิจสำรอง (Plan B) เพื่อใช้กระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม โดยจะกู้เงินจากต่างประเทศเป็นหลัก ซึ่งกระทรวงการคลังจะเสนอให้ครม.พิจารณาในวันที่ 3 ก.พ. นี้ ที่ผ่านมาไทยขาดโอกาสในการพัฒนาหลายๆ ด้านเนื่องจากมีภาระทางการเงินจากการรับภาระจ่ายดอกเบี้ยพันธบัตรที่ออก เพื่อชดเชยความเสียหายของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (เอฟไอดีเอฟ) ซึ่งเป็นวงเงินถึง 8 หมื่นล้านบาท/ปี จึงมอบหมายให้กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไปหารือกันแก้ไขปัญหาภาระทางการเงินนี้

ด้านนายกรณ์ กล่าวว่า การกู้เงินจากต่างประเทศเพื่อเป็นเงินสำรองในการกระตุ้นเศรษฐกิจ จะกู้จากธนาคารโลก ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย และองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (ไจก้า) 7 หมื่นล้านบาท ขณะนี้ยังไม่ได้เตรียมแผนชัดว่าจะใช้ในโครงการใดบ้าง แต่คาดเม.ย.จะมีแผนแน่ชัด เนื่องจากจะเริ่มทราบผลจากการใช้เงินกลางปีกว่าแสนล้านบาทกระตุ้นเศรษฐกิจแล้ว นอกจากนี้กระทรวงการคลังจะเสนอของบประมาณ 2 แสนล้านบาท เพื่อใช้ในการปรับปรุงและพัฒนารัฐวิสาหกิจ (รสก.) ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจให้ที่ประชุม ครม. พิจารณา

ส่วนการหารือกับธปท.เพื่อลดภาระดอกเบี้ยของกองทุนฟื้นฟูฯ ที่เป็นภาระต่องบประมาณนั้น คงจะได้หยิบยกขึ้นมาเพื่อเป็นแนวทางบริหารจัดการทางการเงิน โดยเปิดช่องให้สามารถนำเงินดังกล่าวมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจได้ เนื่องจากเป็นวงเงินที่สูงมาก ทั้งนี้ ธปท.เริ่มมีผลกำไรจากการบริหารเงินทุนสำรอง ซึ่งตามกฎหมายจะต้องนำมาชำระหนี้เงินต้นของเอฟไอดีเอฟที่ค้างอยู่สูงถึง 1 ล้านล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมายังไม่มีการชำระหนี้ส่วนนี้

นายกรณ์ กล่าวถึงการที่เงินคงคลังเหลือน้อย ว่า ไม่ได้มีผลกระทบต่อการเบิกจ่ายของรัฐบาล และไม่มีปัญหาเรื่องการจ่ายเงินเดือนข้าราชการ เพราะรัฐจะมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเข้ามาต่อเนื่อง รวมถึงรายได้ภาษีเงินได้นิติบุคคลที่จะเข้ามาช่วงเดือนพ.ค.นี้ จึงไม่มีทางที่เงินคงคลังจะติดลบ และโดยปกติของการจัดทำงบประมาณแบบขาดดุลที่รายจ่ายสูงกว่ารายได้อยู่แล้ว จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เงินคงคลังจะลดลง แต่ถือเป็นการบริหารเงินสดอย่างมีประสิทธิภาพและมีต้นทุนต่ำ เพราะหากรัฐมีเงินคงคลังอยู่ในระดับที่เหมาะสม ไม่มากเกินไป ต้นทุนการบริหารจัดการก็ไม่สูงมากเกินไป แต่หากรัฐเก็บเงินทุกบาทไว้มากเกินไป จะกลายเป็นภาระต้นทุนดอกเบี้ยที่ถือเป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น

นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วม 3 สถาบันภาคเอกชน (กกร.) กล่าวภายหลังการประชุม ว่า กกร.เห็นตรงกันว่าในภาวะเศรษฐกิจไม่ปกติ ประกอบกับเงินคงคลังเหลือเพียง 5.2 หมื่นล้านบาท รัฐบาลน่าจะตัดสินใจทำอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ 1.มีการแก้กฎหมายกู้เงินจากต่างประเทศเพื่อนำมากระตุ้นเศรษฐกิจ หรือ 2.แก้กฎหมายเพื่อนำเงินทุนสำรองของประเทศที่มีอยู่ประมาณ 3.5 ล้านล้านบาท ออกมาใช้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook