สธ.โต้ รพ.รัฐมีงบฯพอให้บริการคนตกงาน แรงงานเผยไม่ถึง1เดือนปิดกิจการ50แห่ง

สธ.โต้ รพ.รัฐมีงบฯพอให้บริการคนตกงาน แรงงานเผยไม่ถึง1เดือนปิดกิจการ50แห่ง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
รมว.สธ.ยืนยันรพ.รัฐมีงบฯเพียงพอให้บริการคนตกงานแห่ใช้บัตรทอง ชี้สปส.ยังดูแลผู้ประกันตนต่ออีก 6 เดือนนับตั้งแต่เลิกจ้างจึงไร้ปัญหา รพ.เอกชนปัดข่าว เงินหด ปลดคน ปิดไอซียู แรงงาน แจงไม่ถึงเดือนปิดกิจการแล้ว 50 แห่งส่อเลิกจ้างเฉียด 7 หมื่น นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ว่าปัญหาวิกฤตทางเศรษฐกิจไม่มีผลกระทบต่อโรงพยาบาลรัฐที่ให้บริการระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ตามที่หลายฝ่ายกังวล โดย นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เคยรายงานให้ทราบถึงผลกระทบของผู้ประกันตนที่ว่างงาน และจะย้ายสิทธิจากระบบประสันสังคม ไปสู่ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ประมาณ 1 ล้านคน ซึ่ง สปสช. ได้เสนอของบประมาณกลาง จำนวน 1,900 ล้านบาท สำหรับดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ แต่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ให้ สปสช.ทบทวนงบประมาณส่วนนี้ใหม่ เนื่องจากสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ยังดูแลผู้ประกันตนต่อไปอีก 6 เดือน นับจากมีการเลิกจ้างหรือลาออก ดังนั้น ในช่วงนี้จึงยังไม่กระทบกับ สปสช. มากนัก

ในระหว่างนี้ สปสช.จะต้องจัดทำตัวเลขเสนอของบกลางใหม่ และเสนอกลับเข้า ครม.อีกครั้งประมาณเดือนกันยายน หรือตุลาคมนี้ โดย สปสช.จะต้องคำนวณจากผู้ประกันตนที่ย้ายสิทธิไปสู่บัตรทองจริง เพื่อให้ได้ตัวเลขที่ชัดเจน ไม่ใช่ประมาณการ ซึ่ง นพ.วินัย ก็รับทราบ และให้ความมั่นใจว่า ในระหว่างที่ยังไม่ได้งบกลาง จะไม่ส่งผลกระทบต่อการบริหารกองทุนระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพราะ สปสช.ยังมีงบประมาณเพียงพอรองรับปัญหาเบื้องต้นได้ ส่วนงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวปี 2553 เบื้องต้น สปสช.ได้เสนอขอจำนวน 2,694.43 บาทต่อประชากร เพิ่มจากเดิม 492.43 บาทนายวิทยากล่าว

นายวิทยายังกล่าวถึงสาเหตุที่ทำให้มีผู้ป่วยมาใช้สิทธิระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเพิ่มมากขึ้นว่า มาจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ 1.ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เป็นการรักษาโรคแบบไม่คิดค่าตอบแทน รักษาฟรี ทำให้ผู้ป่วยตัดสินใจที่จะเข้ารับบริการได้ง่ายกว่าที่จะไปรักษาที่สถานพยาบาลอื่นที่ต้องเสียเงินเอง 2.ปัจจุบันมีผู้ป่วยสูงวัย ซึ่งป่วยเป็นโรคเรื้อรังเพิ่มมากขึ้น เช่น โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขข้อ เป็นต้น ซึ่งโรคเหล่านี้มีค่าใช้จ่ายสูง

การแก้ปัญหาในเบื้องต้น มีนโยบายให้อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ที่จะได้เบี้ยเลี้ยงเพิ่มเดือนละ 600 บาท ในเดือนเมษายนนี้ ทำหน้าที่เป็นหน่วยแรกในการรณรงค์ป้องกันสุขภาพของประชาชนตั้งแต่แรกเกิด เริ่มจากการดูแลสุขภาพของสตรีตั้งครรภ์ จนกระทั่งคลอด อสม.จะมีหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงเด็กทารกจนกระทั่งเด็กโตไปด้วย ซึ่งหากทำสำเร็จมั่นใจว่าต่อไปประชาชนจะมีสุขภาพดีขึ้น โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการร่างแผนการดำเนินงานของ อสม.คาดว่าจะแล้วเสร็จทันวัน อสม.แห่งชาติ วันที่ 20 มีนาคมนี้ นายวิทยากล่าว

ด้าน นพ.เอื้อชาติ กาญจนพิทักษ์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน กล่าวถึงกรณี รศ.นพ.ปิยะ เนตรวิเชียร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โรงพยาบาลบางกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล ระบุว่า โรงพยาบาลเอกชนระดับเกรดเอได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ เนื่องจากลูกค้าชาวต่างชาติหายไปร้อยละกว่า 50 ทำให้โรงพยาบาลเอกชนบางแห่งต้องยุบบางแผนก ว่าไม่เคยทราบข่าวว่ามีห้องฉุกเฉิน หรือไอซียู ของโรงพยาบาลใดต้องปิด และไม่ทราบข่าวว่ามีโรงพยาบาลเอกชนใดต้องให้พนักงานออกจากงาน

ในช่วงที่มีการปิดสนามบินสุวรรณภูมิ นาน 1 สัปดาห์ อาจมีโรงพยาบาลได้รับผลกระทบบ้าง แต่หลังจากเปิดใช้สนามบินแล้วยังไม่มีการรายงานผลให้ทราบ ส่วนปัญหาการปรับเพิ่ม หรือลดค่าทำงานล่วงเวลา (โอที) ถือเป็นเรื่องการบริหารงานของโรงพยาบาลนั้นๆ ซึ่งเป็นเรื่องปกติ และที่สำคัญ ยังไม่เคยที่โรงพยาบาลใดรายงานให้สมาคมทราบว่า ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจสูญเสียรายได้เท่าใด นพ.เอื้อชาติกล่าว และว่า หากใครสนใจอยากทราบว่า โรงพยาบาลเอกชนได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจจริงหรือไม่ ให้ไปฟังจากปากผู้บริหารโรงพยาบาลเอกชนที่ให้บริการชาวต่างชาติ อาทิ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ โรงพยาบาลสมิติเวช เป็นต้น ซึ่งจะมีการแถลงข่าวในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ เวลา 10.00 น. ที่อาคารเฉลิมพระเกียรติ ซอยศูนย์วิจัย

นางอัมพร นิติสิริ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ กสร.จับตาทุกกลุ่มอุตสาหกรรมบริการแล้ว ซึ่งขอย้ำว่าลูกจ้างของโรงพยาบาลเอกชน ก็มีสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับเงินค่าชดเชย ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างค้างจ่าย ค่าตอบแทนอื่นๆ ตามกฎหมายแรงงานทุกประการ ทั้งนี้ ขอให้มีการแจ้งข้อมูลเพื่อการช่วยเหลือต่อไป

นางอัมพรกล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2551-26 มกราคม 2552 มีโรงงานปิดกิจการไปแล้ว 748 แห่ง ลูกจ้างถูกเลิกจ้าง 58,412 คน ขณะที่ช่วงวันที่ 1-26 มกราคม 2552 พบว่า มีสถานประกอบการปิดกิจการแล้ว 50 แห่ง ลูกจ้างถูกเลิกจ้าง 2,863 คน ในจำนวนนี้ มีสถานประกอบการที่ลูกจ้างประท้วงจนเกิดข้อพิพาท 380 แห่ง ส่วนใหญ่ร้องเรียนเรื่องค่าจ้าง ค่าชดเชย ขณะเดียวกันสำหรับแนวโน้มสถานประกอบการจะทำการเลิกจ้างอีกกว่า 102 แห่ง ลูกจ้างจะถูกเลิกจ้างอีก 68,122 คน

ด้านนายสมชาย ชุ่มรัตน์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังจากประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการเพิ่มศักยภาพผู้ว่างงาน เพื่อเพิ่มดุลทางเศรษฐกิจและสังคมในชุมชน ซึ่งมีนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนเกี่ยวกับการใช้งบประมาณกลางปี 6,900 ล้านบาท โดยที่ประชุมให้ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องสรุปสถานการณ์การว่างงาน ตัวเลขของคนว่างงาน กลุ่มของคนว่างงาน และโครงการที่จะใช้งบประมาณ ก่อนหารืออีกครั้งในวันที่ 4 กุมภาพันธ์นี้ โดยมีนายกนก วงษ์ตระหง่าน ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook