นโยบายเศรษฐกิจ...แค่เริ่มต้น ก็ทำท่าจะไม่เห็นทางไปสู่เป้าหมาย

นโยบายเศรษฐกิจ...แค่เริ่มต้น ก็ทำท่าจะไม่เห็นทางไปสู่เป้าหมาย

นโยบายเศรษฐกิจ...แค่เริ่มต้น ก็ทำท่าจะไม่เห็นทางไปสู่เป้าหมาย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หลังการปรับคณะรัฐมนตรี โดยเฉพาะทีมเศรษฐกิจ ก็เป็นที่ฮือฮา ปนทึ่ง ยิ่งเมื่อหลังการแต่งตั้งไม่นาน ก็มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาเป็นชุด ทั้งระยะสั้น ระยะปานกลาง ทำเอาบรรดากองเชียร์โห่ร้องกันอึ้งมี่ บอกนี้แหละ...มันสุดยอด ทำงานรวดเร็ว เดินมาถูกทางแล้ว เศรษฐกิจไทยมีความหวังแล้ว

แม้จะมีนักวิชาการออกมาเตือนและไม่เห็นด้วยในบางประการ เห็นว่าการกระตุ้นระยะสั้นจำเป็นจริงแต่ไม่ควรกระตุ้นการเติบโตด้วยการสร้างหนี้ ไม่ควรนำประชานิยมมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจอีก...แต่ก็ถูกอธิบายเสียใหม่ โดยเฉพาะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ค่อนข้างมั่นใจว่า มาตรการที่กำลังเดินหน้าเป็นการสร้างเศรษฐกิจจากรากฐานเป็นการปูพื้นฐานไปสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน แนวทางการดำเนินนโยบายเป็น ประชารัฐ ไม่ใช่ ประชานิยม...?

หลักใหญ่ใจความ ในการอธิบายความต่างของ ประชารัฐ กับ ประชานิยม คือ ผู้ดำเนินนโยบาย ประชารัฐ เพราะ คนออกนโยบายไม่ใช่นักการเมือง ไม่ต้องการคะแนนเสียงเพื่อหวังผลต่อการเลือกตั้งครั้งหน้า ส่วนประชานิยม เพราะ คนทำต้องการความนิยมในคะแนนเสียงในอนาคต..ประมาณนั้น

ก็แล้วแต่ว่าใครจะนิยามอย่างไร...แต่...โครงการที่ดำเนินการเป็นโครงการเดิมที่เคยทำมาแล้ว เช่นกองทุนหมู่บ้าน มาตรการหนุนเอสเอ็มอี โครงการโอทอป การรวมกลุ่มธุรกิจเป็นคลัสเตอร์ จนมีสื่อบางสื่อ เรียกว่า เป็นการทำนโยบาย "เหล้าเก่าในขวดใหม่" นั้นเอง

สิ่งที่น่าสนใจของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ครั้งนี้คือ การใส่เม็ดเงินลงไปมากมาย จะคุ้มค่าและสร้างฐานระยะยาว ต่อยอดไปยังอนาคตได้หรือไม่...?

อย่างที่เคยย้ำมาโดยตลอดว่า กองทุนหมู่บ้าน มาตรการต่างๆเหล่านี้เคยทำมาก่อนมากกว่า 13-14 ปี ทำไม่ถึงต้องกลับมาทำซ้ำ หาก กองทุนสามารถวางรากฐานให้กับรากหญ้าได้จริง เพราะกองทุนจะเป็นกองทุนเงินหมุนเวียน ระยะเวลา 10 ปี หากประสบความสำเร็จเงินจะหมุนเวียนกลับมา ความจำเป็นใส่เงินเพิ่มคงไม่จำเป็น แต่ การเติมเงินใส่กองทุนหมู่บ้าน ไม่ใช่มีการเติมครั้งนี้ครั้งเดียว ในช่วงรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ก็มีนโยบายเติมเงินให้กองทุนหมู่บ้านมาก่อนหน้าแล้วเช่นกัน

ย้อนกลับไปเมื่อวันนี้ 24 ต.ค.55 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขณะนั้นเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดงาน "ทศวรรษใหม่กองทุนหมู่บ้านฯ : เปิดปฏิบัติการเพิ่มทุน ระยะที่ 3" โดยครั้งนั้นมีการเติมเงินเข้าไปถึง 21,614 กองทุน หรือ 21,614 ล้านบาท

การใส่เงินถมเข้าไปในกองทุนหมู่บ้านเป็นบทพิสูจน์ได้หรือไม่ว่า แนวคิด ตามที่วาดหวังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย อะไรคือสาเหตุ ? ที่ผ่านมามีการสรุปบทเรียนเพื่อหาทางปรับปรุงแก้ไขหรือไม่อย่างไร...?

ใช่หรือไม่ เงินที่ถมลงไป ก็เพื่อต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการหว่านเงิน หวังผลให้คนรายได้น้อยได้มีโอกาสนำไปจับจ่ายใช้สอย เท่านั้น ...? วันนี้มีข่าวเกี่ยวกับความคิดอ่านของชาวบ้านต่อ กองทุนหมู่บ้านและ เงินพัฒนาตำบล 5 ล้านบาท ที่น่าสนใจ..ในเว็บไซต์มติชนออนไลน์เรื่อง ..ชาวบ้านอุบลฯแห่เปิดบัญชีรอ "เงินตำบลละ5ล้าน" หวังเอาไปใช้จ่ายรายวัน โวย ผญบ.คิดแทน

"เมื่อวันที่ 29 ก.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บ้านทุ่งขุนน้อย หมู่ที่ 5 ต.แจระแม อ.เมือง จ.อุบลราชธานี ผู้ใหญ่บ้านได้ประกาศเสียงตามสายให้ชาวบ้านซึ่งเป็นเจ้าบ้าน เปิดบัญชีกับธนาคารออมสิน เพื่อเตรียมยืมเงินกองทุนหมู่บ้าน ที่รัฐบาลจัดสรรให้หมู่บ้านละ 1 ล้านบาท เพื่อมากระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างงาน สร้างรายได้

ขณะที่ชาวบ้านต่างแห่กันไปเปิดบัญชีกับธนาคารออมสินรายละ 800 บาท ซึ่งรวมค่าธรรมเนียมบัตรเอทีเอ็มด้วย เนื่องจากต้องการยืมเงินมาใช้แต่มีปัญหาเกิดขึ้นเนื่องจากกรณีบ้านทุ่งขุนน้อย ต.แจระแม มีทั้งหมด 250 ครัวเรือน ต้องเอาเงิน 1 ล้าน ตั้งหารด้วยจำนวนครัวเรือน ก็จะได้เงินครัวเรือนละประมาณ 4,000 บาทเท่านั้น ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่ก็พูดแต่เพียงว่าต้องการเอาเงินมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวันมากกว่า เพราะจะเอาไปลงทุนทำอะไรก็ไม่ได้"

สิ่งนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งอาจไม่ทั้งหมดว่า ความเข้าใจหลักการของกองทุนหมู่บ้านคืออะไร..? สิ่งที่เกิดผิดเป้าความต้องการที่อยากเห็นชาวบ้านคิดโครงการสร้างอาชีพ แล้วจึงมาขอกู้เงินเพื่อเป็นทุนในการสร้างอาชีพระยะยาว

ที่ผ่านมาชาวบ้านมองกองทุนหมู่บ้านเป็นแหล่งเงินที่ไปกู้มาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เมื่อถึงเวลาใช้คืนแต่ไม่มีรายได้จากการสร้างอาชีพก็ไปขอกู้นอกระบบมาใช้หนี้กองทุน...ทำให้หนี้ของชาวบ้านยิ่งพอกพูน จนตัวเลขหนี้ครัวเรือนปูดโป่งจำนวนมากในปัจจุบันใช่หรือไม่..?

ยังมีข่าวที่แพร่ออกมาว่า ในส่วนของเงินพัฒนาตำบล 5 ล้านบาท ก็เริ่มมีข่าวว่ามีกลิ่นไม่ดี มีการชักหัวคิวทำให้เงินเข้าถึงตำบลไม่เต็มจำนวน คุณภาพหรือความจำเป็นของโครงการที่จะใช้งบประมาณยังไม่โปร่งใส..มีรายละเอียดอีกมาก และส่อให้เห็นว่าเม็ดเงินเหล่านั้นอาจสูญเปล่าไปโดยไม่ได้สร้างประโยชน์ในทางสังคมและส่วนรวมใดๆ

วันนี้ภาพมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่วาดไว้สวยหรูยังคงเป็นเพียงภาพฝันที่ดูแล้วปลายทางยังไม่เห็นทางว่าจะไปถึงเป้าหมายได้อย่างไร... หรือเป้าแท้จริงของมาตรการคือ หว่านเงินเพื่อกระตุ้นตัวเลขเศรษฐกิจให้ดูดีขึ้นมาเท่านั้นเอง....

โดย : เปลวไฟน้อย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook