มองสัญญาณหลังแก้ รธน.ชั่วคราวเพิ่มเติม

มองสัญญาณหลังแก้ รธน.ชั่วคราวเพิ่มเติม

มองสัญญาณหลังแก้ รธน.ชั่วคราวเพิ่มเติม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 เป็นประเด็นที่น่าสนใจติดตามต่อทิศทางการเมือง ทิศทางการปฏิรูปประเทศจากการบริหารประเทศต่อไปของ รัฐบาลคสช.

โดยสาระสำคัญของการแก้ไข รธน.ชั่วคราว มีสาระสำคัญที่เห็นว่าน่าสนใจที่สุดครั้งนี้ก็คือ ประเด็น เกี่ยวกับสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. โดยสาระของการแก้ไขคือ

"เมื่อสปช. มีมติเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ ต้องมีการนำร่างรัฐธรรมนูญไปทำประชามติ โดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ดำเนินการ ทั้งนี้ เมื่อ สปช.ลงมติไม่ว่าจะลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ ให้ยุบ สปช.พร้อมให้ตั้ง "สภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ" จำนวน 200 คน เพื่อเสนอแนะการปฏิรูป"

นอกจากนี้ยังมีการแก้ไขคุณสมบัติ ลักษณะต้องห้ามของ สนช. สปช. รวมถึงคณะรัฐมนตรี (ครม.) จากที่ต้องไม่เคยถูกถอดถอนสิทธิเลือกตั้ง แก้ไขเป็นไม่อยู่ในระหว่างการเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้ง ยกเว้นกรณีถูกตัดสิทธิ์จากคดีทุจริต

ในประเด็นการแก้ไขคุณสมบัติต้องห้ามนี้ ถือว่าเป็นการปลดล็อค ของอดีตนักการเมืองที่ถูกเพิกถอนสิทธิที่เรียกกันว่า บ้านเลขที่ 111 และ 109 เข้ามานั่งในตำแหน่งต่างๆได้ทั้ง สนช. ครม. และ สภาขับเคลื่อนฯในอนาคต

ส่วนใครที่จะมีโอกาสได้รับการแต่งตั้งเข้ามานั่งในตำแหน่งสำคัญนี้ ต้องติดตามกันต่อ แต่ที่ผ่านมามีกระแสข่าวกันพอสมควร ว่าอาจจะมีการปรับ คณะรัฐมนตรี ทำให้กระแสเรื่องนี้มีน้ำหนักมากขึ้น และ คนที่เดิมไม่สามารถออกมานั่งในตำแหน่งอย่างเป็นทางการ แต่มีส่วนช่วยหรือเป็นที่ปรึกษา โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจเข้ามานั่งในตำแหน่งสำคัญได้

และน่าสนใจว่า ในเรื่องของ สภาขับเคลื่อนฯจะถูกส่งต่อไปยังร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่กำลังแก้ไขของกรรมธิการร่างฯอย่างไรหรือไม่...หลังประกาศใช้ รธน.ใหม่ สภาขับเคลื่อนยังจะมีบทบาทหรือไม่อย่างไร..?ต้องติดตามกันต่อไป

การแก้ไข รธน.ชั่วคราวครั้งนี้ทำให้ ข้อจำกัดในเรื่อง การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งมีกรอบระยะเวลาต่างๆถูกปลดออกไปด้วย ความกังวลในเรื่องระยะเวลาที่การแก้ร่างของกรรมาธิการร่าง รธน.ได้ถูกปลดข้อจำกัดออกไปเช่นกัน จากเดิมที่ต้องพิจารณาจัดทำร่าง รธน.ไม่เกิน 22 ส.ค.นี้

และสิ่งที่น่าสนใจยิ่งขึ้นก็คือ ในการประชุมของ สปช.เพื่อลงมติว่าจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญตามกรอบเวลาไม่เกินวันที่ 7 ก.ย. 58 จะขยับออกไปหรือไม่ และ ในการลงมติจะออกมาในรูปแบบใด.รัฐธรรมนูญใหม่จะผ่านหรือไม่ผ่าน...?

โดย...เปลวไฟน้อย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook