มาตรการอสังหาริมทรัพย์ : กระตุ้นแรงซื้อ

มาตรการอสังหาริมทรัพย์ : กระตุ้นแรงซื้อ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
เศรษฐกิจติดดิน

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด

ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวและมีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงขึ้นในระยะ 3-6 เดือนข้างหน้า และคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์มากขึ้น

เมื่อวันที่ 20 ม.ค. 52 ครม. มีมติเห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ให้ลดหย่อนภาษีสำหรับผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ในปี52 เพื่อให้เกิดการระบายสต๊อกคงค้างในระบบ และมีการก่อสร้างใหม่ ช่วยให้ผู้ประกอบการมีกระแสเงินสดหมุนเวียนดีขึ้นและลดภาระต้นทุนของผู้ประกอบการ รวมถึงช่วยลดความเสี่ยงของธนาคาร และก่อให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนต่อระบบเศรษฐกิจในประเทศได้ในวงกว้าง ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จและที่กำลังก่อสร้างในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลเหลือขายอยู่ประมาณ 100,000 หน่วย

ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวนอกจากผู้ซื้อจะได้รับสิทธิประโยชน์ในด้านมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนจากเดิม 2% เหลือ 0.01% ของราคาประเมินของทางราชการ และค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์จากเดิม 1% เหลือ 0.01% ขยายออกไปอีก 1 ปี จากเดิมจะสิ้นสุดในวันที่ 28 มี.ค. 52 เป็นสิ้นสุดวันที่ 28 มี.ค. 53 แล้ว ผู้ซื้อบ้านใหม่ที่โอนกรรมสิทธิ์อสังหาริมทรัพย์ภายในปีนี้ยังได้รับการยกเว้นภาษีสำหรับเงินได้พึงประเมินเป็นจำนวนเท่ากับมูลค่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 300,000 บาท เพิ่มเติมจากที่ให้หักค่าลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ยืมซื้อบ้านเป็นจำนวนไม่เกิน 100,000 บาท/ปี เหมือนเป็นการคืนเงินให้กับประชาชน แม้ว่าจะเห็นผลในปี53 ก็ตาม แต่น่าจะมีผลเร่งการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคที่มีความต้องการที่อยู่อาศัยจริงในปีนี้

นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีแนวคิดที่จะให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐที่ดูแลเรื่องสินเชื่อที่อยู่อาศัย จัดตั้งบริษัทค้ำประกันสินเชื่อ (Mortgage Insurance Company) ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัย โดยผู้กู้จะขอกู้จากสถาบันการเงินได้ในวงเงินเต็ม 100% โดยที่บริษัทค้ำประกันสินเชื่อจะช่วยค้ำประกันให้บางส่วน เช่น ในส่วนของเงินดาวน์ และยังเป็นการลดความเสี่ยงของสถาบันการเงินในการปล่อยสินเชื่อด้วย อย่างไรก็ตามการจัดตั้งระบบบริษัทค้ำประกันสินเชื่อยังคงต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการ

ขณะเดียวกัน รัฐบาลยังได้มีมาตรการขยายระยะเวลาการผ่อนชำระสินเชื่อที่อยู่อาศัยในราคาถูกสำหรับผู้ที่มีรายได้น้อย ผ่านทางสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ และปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงในอัตราพิเศษ ตามแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.75% ต่อปี จากเดิม 2.75% เป็น 2.00% ต่อปี ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์บางแห่งเริ่มปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ลงมา โดยดอกเบี้ยเงินกู้ลง 0.25% ทำให้ล่าสุดเมื่อวันที่ 20 ม.ค.ที่ผ่านมาอัตราดอกเบี้ย MLR ของธนาคารพาณิชย์รายใหญ่อยู่ที่ 6.50% ต่อปี จากเดิมที่อยู่ที่ 6.75% ต่อปี ช่วยเพิ่มความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัย

อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่าเศรษฐกิจในภูมิภาคและทั่วโลกกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างหนัก ส่งผลกระทบต่อภาคส่งออก การท่องเที่ยวของไทย และเริ่มมีผลต่อการจ้างงานในธุรกิจ โรงงานบางแห่งได้ปิดกิจการลง ทำให้ผู้บริโภคบางกลุ่มเริ่มมีความกังวลต่อความมั่นคงในหน้าที่การงาน และระดับรายได้ของตนในอนาคต

ในภาวะเช่นนี้ผู้บริโภคควรมีการวางแผนทางการเงินที่ดี พิจารณาถึงความสามารถในการผ่อนชำระของตนเป็นหลัก ขณะที่ตลาดอสังหา ริมทรัพย์มีการแข่งขันสูง ทำให้ผู้บริโภคมีข้อเปรียบเทียบและมีเวลาในการเลือกซื้อที่อยู่อาศัยได้ในราคาที่ถูกลงให้สอดคล้องกับความต้องการของตนเองโดยไม่จำเป็นต้องเร่งตัดสินใจ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook