แม่ทัพภาค1ขอผู้ว่าฯกทม.ทำ3อย่าง สุขุมพันธุ์กวาด 9.3 แสนเฉลี่ยมากกว่าแซม5พันเกือบทุกเขต

แม่ทัพภาค1ขอผู้ว่าฯกทม.ทำ3อย่าง สุขุมพันธุ์กวาด 9.3 แสนเฉลี่ยมากกว่าแซม5พันเกือบทุกเขต

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
แม่ทัพพภาพ 1 ขอให้ผู้ว่าฯกรุงเทพฯทำ 3 อย่าง กทม.เมืองน่าอยู่-แก้จราจร-กทม.เมืองสวรรค์สุขุมพันธุ์ คว้าผู้ว่าฯ กทม. ฉลุย เสียงทิ้งห่างคู่แข่ง ยุรนันท์-ปลื้ม แก้วสรร ย้ำไม่สนร่วมทีมผู้ว่าฯ ใหม่ เพื่อไทย ร้องทุจริตเขต จนท.เปิดหีบเลือกตั้งที่หน่วย 70 เขตพญาไท พร้อมส่งซีดีเป็นหลัก กทม.สั่งระงับการนับคะแนนทันที ผอ.เขตอ้างผิดพลาด ยันไม่มีเจตนา กองทัพไม่ขออะไรอยากให้ผู้ว่าฯกทม.ทำจราจรให้คล่องตัว

ที่กองทัพภาคที่ 1 พล.ท.คณิต สาพิทักษ์ แม่ทัพภาคที่ 1 กล่าวถึง ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯคนใหม่อยากให้ทำอะไรบ้าง พล.ท.คณิต กล่าวว่า 1.ทำกรุงเทพฯให้น่าอยู่ 2.ทำการจราจรให้คล่องตัวมากขึ้น 3.ทำให้กรุงเทพฯเป็นเมืองสวรรค์ ส่วนกองทัพคงไม่อยากได้อะไร เพียงแต่อยากให้เกิดความร่วมมือกันมากยิ่งขึ้นในการปฏิบัติงานด้านความมั่นคงภายในและการบรรเทาสาธารณภัยต่างๆ

กกต.ชี้จนท.เขตพญาไทเข้าใจผิด เปิดหีบก่อน นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ กกต. กล่าวถึงกรณีปัญหาการนับคะแนนเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ที่เขตพญาไท ว่า เบื้องต้นทราบว่าเป็นความเข้าใจผิดและกระทำผิดขั้นตอนในการนับคะแนน เพราะการนับคะแนนผู้ว่าฯ และ ส.ส. ต่างกัน โดยผู้ปฏิบัติงานเข้าใจผิดเปิดหีบเพื่อเช็คจำนวนบัตรก่อนที่จะส่งไปนับรวมที่เขตพญาไท ไม่ได้มีเจตนาทุจริตแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ต้องนำเข้าสู่ที่ประชุม กกต. เพื่อให้วินิจฉัยอีกครั้งว่าจะดำเนินการอย่างไร เพราะที่ผ่านมาก็เคยเกิดเหตุการณ์ทำนองนี้ในการเลือกตั้งท้องถิ่น ซึ่งหากไม่กระทบกับคะแนน กกต. ก็จะไม่สั่งนับคะแนนหรือเลือกตั้งใหม่ ทั้งนี้ก็ต้องให้ กกต. กทม. สรุปรายงานเข้าสู่ที่ประชุม เพราะหากเป็นการทุจริต กกต. ก็อาจมีดุลพินิจเป็นอย่างอื่นก็ได้ "ปัญหาที่เกิดขึ้นเมื่อวานนี้ทั้งเรื่องหีบบัตรที่พญาไท หรือความสับสนในการเลือกตั้ง ส.ส. และ ผู้ว่าฯกทม. เกิดจาก กฎหมายที่ระบุขั้นตอนวิธีการที่ต่างกัน เช่นการนับคะแนน ซึ่งการเลือกตั้งท้องถิ่นจะนับรวมที่สำนักงานเขต แต่ เลือกตั้ง ส.ส. นับที่หน่วย โดยในอนาคต น่าจะปรับแก้ให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน ประชาชนและผู้ปฏิบัติงานจะได้ไม่สับสน เลขาธิการ กกต. กล่าว สุขุมพันธุ์กวาด9.3แสนเสียง โนโหวต พุ่งเฉียดหมื่น

เมื่อเวลา 02.32 น. วันที่ 12 มกราคม ผู้สื่อข่าวรายงานผลการนับคะแนนเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.)อย่างไม่เป็นทางการ ว่า การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เมื่อวันที่ 11 มกราคม ที่ผ่านมามีจำนวนผู้ใช้สิทธิทั้งสิ้น 2,120,721 คน จากจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด 4,150,103 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 51.10 ซึ่งน้อยกว่าเป้าที่ตั้งไว้ที่ร้อยละ 60 และน้อยกว่าการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2551ที่ผ่านมา ที่มีผู้มาใช้สิทธิร้อยละ 54.18

อย่างไรก็ตามจากการนับบัตรเลือกตั้งครั้งนี้พบว่า มีบัตรดี 2,058,219 บัตร คิดเป็นร้อยละ 97.05 บัตรเสีย16,107 บัตร คิดเป็นร้อยละ 0.76 ไม่ประสงค์ลงคะแนน หรือ โนโหวต (No Vote) 46,395อบัตร คิดเป็นร้อยละ 2.19 ซึ่งมากกว่าครั้งที่ผ่านมา ที่มีผู้ไม่ประสงค์ลงคะแนนเพียง 37,345 บัตร คิดเป็นร้อยละ 1.69 หรือเพิ่มขึ้นจากเดิมจำนวน 9,050 คน

ส่วนเขตที่มีผู้มาใช้สิทธิมากที่สุด คือ เขตทวีวัฒนา จำนวนผู้มาใช้สิทธิ 31,221 คน จากจำนวนผู้มีสิทธิ 53,364 คน คิดเป็นร้อยละ 58.51 และเขตที่มีผู้มาใช้สิทธิน้อยที่สุด คือ เขตดุสิต มีผู้ออกมาใช้สิทธิ 38,869 คน จากผู้มีสิทธิ 84,610 คิดเป็นร้อยละ 45.94

ทั้งนี้ เมื่อการนับคะแนนเลือกตั้งทั้ง 50 เขต รวม 6,337 หน่วยเลือกตั้ง และการประมวลผลการเลือกตั้งสิ้นสุดลงนายพงศ์ศักติฐ์ เสมสันต์ ปลัดกรุงเทพมหานคร(กทม.) ในฐานะผู้อำนวยการการการเลือกตั้งประจำท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร(ผอ.กกต.ทถ.กทม.) ได้ประกาศผลคะแนนรวมของผู้สมัครฯ ทั้ง 14 คน เรียงลำดับคะแนนจากมากไปน้อย ดังนี้

ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร หมายเลข 2 พรรคประชาธิปัตย์ ได้ 934,602 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 45.41

นายยุรนันท์ ภมรมนตรี หมายเลข 10 พรรคเพื่อไทย ได้ 611,669 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 29.72

ม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล หมายเลข 8 สังกัดอิสระได้ 334,846 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 16.27

นายแก้วสรร อติโพธิ หมายเลข 12 กลุ่มกรุงเทพใหม่ ได้ 144,779 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 7.03

นางลีนา จังจรรจา หมายเลข 3 อิสระ ได้ 9,043 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 0.44

นายสุเมธ ตันธนาศิริกุล หมายเลข หมายเลข 1 ทีมกรุงเทพฯพัฒนา ได้ 6,017 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 0.29

นายเอธัส มนต์เสรีนุสรรณ์ หมายเลข 14 พรรคสุวรรณภูมิ ได้ 4,117 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 0.20

นายวิทยา จังกอบพัฒนา หมาเลข 9 อิสระ ได้ 3,582 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 0.18

นายกงจักร ใจดี หมายเลข 5 อิสระ ได้ 2,400 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 0.12

นายธรรณม์ชัย รุ่งจิรโรจน์ หมาเลข 11 อิสระ ได้ 2,222 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 0.11

นางธรณี ฤทธีธรรมรงค์ หมายเลข 4 อิสระ ได้ 1,875 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 0.09

ร.อ.เมตตา เต็มชำนาญ หมายเลข 6 กลุ่มเมตาธรรม ได้ 1,431 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 0.07

นายอิสระ อมรเวช หมายเลข 7 อิสระ ได้ 922 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 0.04

และ นายอุดม วิบูลเทพาชาติ อิสระ ได้ 656 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 0.03

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับผลการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการ พบว่า ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้สมัคร ผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 2 พรรคประชาธิปัตย์ มีคะแนนนำเป็นอับดับ 1 ทิ้งห่างนำอันดับ 2 คือ นายยุรนันท์ ภมรมนตรี ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 10 พรรคเพื่อไทย เฉลี่ย 5,000 คะแนน เกือบทุกเขต นอกจากนี้ในบางเขต ได้แก่ สาทร สวนหลวง บางกะปิ บางกอกน้อย บางแค บางคอแหลม พระโขนง และจตุจักร ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ยังมีคะแนนทิ้งห่างนายยุรนันท์กว่า10,000 คะแนน ขณะที่ ม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล หมายเลข 8 ที่มีคะแนนอยู่ในลำดับที่ 3 พบว่าในบางเขต ได้แก่ บางเขน บางแค จตุจักร และสายไหม มีคะแนนสูงสุดอยู่ที่ประมาณ10,000 คะแนน ทิ้งห่างนายแก้วสรร อติโพธิ หมายเลข 12 ที่มีคะแนนสูงสุดในเขตเดียวกันนี้แบบครึ่งต่อครึ่งด้วย

สุขุมพันธุ์ คว้าผู้ว่าฯกทม.

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้สมัครหมายเลข 2 พรรคประชาธิปัตย์ ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) อย่างไม่เป็นทางการ ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 11 มกราคม โดย ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์เดินทางมายังที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ เวลา 19.00 น. หลังจากทราบว่ามีคะแนนนำเหนือผู้สมัครายอื่น โดยเข้าสักการะศาลแม่พระธรณีบีบมวยผม จากนั้นเวลา 19.30 น. ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์แถลงข่าวขอบคุณพี่น้องประชาชนชาว กทม.ที่ไว้วางใจตนเองและพรรคประชาธิปัตย์ รวมถึงขอบคุณนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่ให้ความไว้วางใจส่งลงสมัคร รวมทั้งขอบคุณนายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ที่ได้ช่วยปรับปรุงนโยบายหาเสียงให้ทันสมัย ตลอดจนทีมงานทุกคนที่ร่วมมือกัน และขอบคุณผู้สมัครผู้ว่าฯทุกคน ที่ทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้มีคุณภาพและเป็นแบบอย่างที่ดีในการเลือกตั้ง ที่มีการเสนอนโยบายและการดีเบตอย่างมีสาระ

ลั่นฟื้นศก.กทม.อันดับแรก

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์กล่าวว่า พร้อมทำงานและพลิกฟื้นเศรษฐกิจกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะปัญหาปากท้องของประชาชนซึ่งเป็นหัวใจสำคัญอันดับแรกที่ต้องรีบเดินหน้า รวมถึงเรื่องอื่นๆ เช่น ระบบขนส่งมวลชน การจราจร ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน การศึกษา สาธารณสุข พื้นที่สีเขียวและมลภาวะ และยืนยันจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยจะบริหารงานอย่างมีธรรมาภิบาล โปร่งใสตรวจสอบได้ ซื่อสัตย์สุจริต เป็นผู้ว่าฯของคนทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกวัย ทุกสี

นายอภิสิทธิ์แถลงข่าวที่พรรคประชาธิปัตย์ว่า มั่นใจว่า ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์จะทำหน้าที่ทั้งในการสานต่องานที่นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน อดีตผู้ว่าฯกทม.ที่เคยทำไว้ตลอด 4 ปี และเร่งการทำงานร่วมกับรัฐบาลและจะช่วยทำให้นโยบายรัฐบาลสามารถปฏิบัติท้องถิ่นใน กทม. ซึ่งจะส่งผลดีกับทั้งชาว กทม.และชาวต่างจังหวัดที่มาอาศัยอยู่ใน กทม. และต้องขอบคุณอีกครั้งและจะทำงานต่อไป

แซม เสียดายแพ้เลือกตั้ง

ที่อาคารบีบีดี บิลดิ้ง ถนนพระราม 4 ที่ทำการพรรคเพื่อไทย หลังปิดหีบเลือกตั้ง นายยุรนันท์ ภมรมนตรี ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม. หมายเลข 10 พรรคเพื่อไทย พร้อมด้วยนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย เปิดแถลงข่าวสถานการณ์การเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. โดยนายยุรนันท์ยอมรับความพ่ายแพ้หลังจากผลเอ็กซิทโพลออกมาว่า ไม่รู้สึกเสียใจ แต่เสียดายมากกว่า อยากให้คนที่ได้เป็นผู้ว่าฯมีกำลังใจทำงานต่อไป ส่วนตัวจะทำงานการเมืองต่อไป

แก้วสรร ยันไม่ดอง สุขุมพันธุ์

ที่หน่วยเลือกตั้งที่ 20 โรงเรียนมณีวัฒนา แขวงหลักสอง เขตบางแค นายแก้วสรร อติโพธิ ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม. ซึ่งออกมาใช้สิทธิพร้อมด้วยนายเอกรัตน์ อติโพธิ (ลูกชาย) นายขวัญสรวง อติโพธิ (แฝดผู้น้อง) ให้สัมภาษณ์ว่า ยอดเงินบริจาคในการใช้หาเสียงที่ยังเหลือ 5 แสนบาท จะนำไปจัดตั้ง มูลนิธิกรุงเทพฯใหม่ เพื่อช่วยเหลือคนยากไร้ คนเร่ร่อน และหาก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ได้รับเลือกตั้ง ก็ยืนยันว่าจะไม่เป็นทีมงานแม้จะได้รับการทาบทามก็ตาม

มาร์ค ควงลูกสาวใช้สิทธิ

ที่เขตเลือกตั้งที่ 4 น้าโรงเรียนสตรีวิทยา แขวงคลองตันเหนือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และภริยา พร้อมทั้งพาลูกสาว คือ น.ส.ปราง เวชชาชีวะ มาใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งแรก โดย น.ส.ปรางให้สัมภาษณ์สั้นๆ ว่า ได้ขอคำแนะจากพ่อบ้างเรื่องการเลือกตั้ง

ระหว่างนั้นนายอุทิศ เหมวัฒนกิจ เสี่ยตาชั่ง มายืนดักรอนายอภิสิทธิ์อยู่ ทำให้ พ.ต.อ.สุทิน ทรัพย์พ่วง ผกก.สน.ทองหล่อ เกรงว่านายอุทิศจะมายื่นหนังสือร้องเรียน จึงให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเชิญตัวนายอุทิศไปที่ สน.ทองหล่อ ทำให้นายอุทิศส่งเสียงโวยวายว่าตำรวจกระทำการรุนแรง

พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ประจำ ตร.ปฏิบัติหน้าที่รอง ผบ.ตร. ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อยการเลือกตั้ง เปิดเผยว่า ได้ตั้งข้อหาดูหมิ่นเจ้าพนักงานที่ สน.ทองหล่อ กรณีที่นายอุทิศมาก่อความวุ่นวายในหน่วยเลือกตั้งโรงเรียนสวัสดีวิทยา ก่อนที่นายอภิสิทธิ์จะเดินทางมาใช้สิทธิ

จำลอง-อ้อ ใช้สิทธิเฉียดกัน

เวลาประมาณ 10.00 น. ที่หน่วยเลือกตั้งที่ 12 ภายในโรงเรียนเศรษฐเสถียร ย่านเขตดุสิต พล.ต.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยไปใช้สิทธิเลือกตั้ง โดยในเวลาไล่เลี่ยกัน ที่หน่วยเลือกตั้งที่ 14 ที่ตั้งภายในโรงเรียนเศรษฐเสถียร เช่นเดียวกัน คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ อดีตภริยา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ไปใช้สิทธิเช่นเดียวกัน แต่ไม่ได้พบกัน

ฮือล้อมจนท.พญาไทเปิดหีบ

นายยศศักดิ์ คงมาก ผู้อำนวยการสำนักงานปกครองและทะเบียน กล่าวว่า ได้รับรายงานว่าหลังปิดหีบเลือกตั้งเวลา 15.00 น. ว่า มีปัญหาที่หน่วยเลือกตั้งที่ 70 หน้าสำนักงานกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เขตพญาไท มีประชาชนหลายสิบคนเข้าปิดล้อมหน่วยเลือกตั้งดังกล่าว เนื่องจากคณะกรรมการในหน่วยเลือกตั้งเปิดหีบบัตรออกมาดู ทำให้ประชาชนเข้าใจว่าเป็นการทุจริต โดยผู้อำนวยการเขตพญาไทชี้แจงกับประชาชนว่า เจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้งเปิดหีบบัตรเพื่อเอาบัตรมานับจำนวนให้ตรงต้นขั้ว ก่อนที่จะส่งหีบบัตรไปยังสถานที่นับคะแนน ซึ่งยอมรับว่าผิดพลาด ผิดขั้นตอน เพราะต้องขนหีบบัตรไปเทรวมที่สถานที่นับคะแนน แล้วเริ่มนับพร้อมกับหน่วยเลือกตั้งอื่น แต่เจ้าหน้าที่ไม่มีเจตนาทุจริต

คนกทม.ใช้สิทธิน้อยลง

นายพงศ์ศักติฐ์ เสมสันต์ ปลัด กทม. ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานการเลือกตั้ง กทม. แถลงเวลา 19.00 น. ว่า การเลือกตั้งครั้งนี้มีผู้มาใช้สิทธิ 2,120,803 คน จากผู้มีสิทธิทั้งหมด 4,150,103 คน คิดเป็นร้อยละ 51.10 ลดลงจากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2551 ที่มีผู้มาใช้สิทธิ 2,214,320 คน หรือร้อยละ 54.18 ของผู้มีสิทธิ 4,087,329 คน โดยจะหารือกับคณะกรรมการการเลือตตั้ง (กกต.) กทม. ผู้อำนวยการเขตทั้งหมด เพื่อวิเคราะห์หาสาเหตุที่ทำให้ผู้มาใช้สิทธิน้อยกว่าเป้าร้อยละ 60 และน้อยกว่าการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ครั้งที่ผ่านมา แต่ยังเร็วเกินไปที่จะสรุปสาเหตุ เพราะการเลือกตั้งทุกครั้งมีปัจจัย ตัวแปรไม่เหมือนกัน อย่างครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ครั้งที่ 2 ในรอบ 3 เดือน และยังมีปัญหาเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม รวมถึงการเปลี่ยนถ่ายรัฐบาลด้วย

ทั้งนี้ เขตที่มีผู้มาใช้สิทธิมากที่สุด คือ เขตทวีวัฒนา มีผู้มาใช้สิทธิ 31,221 คน คิดเป็นร้อยละ 58.51 ส่วนเขตที่มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งน้อยที่สุด คือ เขตดุสิต มีมาใช้สิทธิ 38,869 คน คิดเป็นร้อยละ 45.94

ระงับนับหน่วย70พญาไท

นายพิง รุ่งสมัย ประธาน กกต.กทม. กล่าวว่า ขณะนี้ได้สั่งระงับการนับคะแนนบัตรเลือกตั้งที่หน่วยเลือกตั้ง 70 เขตพญาไท ซึ่งนายวิชาญ มีนชัยนันท์ ผู้อำนวยการการเลือกตั้ง กทม.ของพรรคเพื่อไทย ได้ร้องเรียนที่ กกต.กทม. ว่าเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้งเปิดหีบบัตรออกมานับทันทีที่ถึงเวลาปิดหีบเลือกตั้ง พร้อมทั้งสั่งประชุม กกต.กทม. เพื่อหาข้อสรุปและตรวจสอบเรื่องดังกล่าว เบื้องต้นจากการฟังข้อมูลถือว่าเป็นการส่อแววทุจริต แต่ต้องตรวจสอบให้ชัดเจนอีกครั้ง

ทั้งนี้ เวลา 20.00 น. นายวิชาญกล่าวภายหลังเดินทางไปยังสำนักงานเขตพญาไทว่า ได้ให้เจ้าหน้าที่ของพรรคนำหนังสือร้องเรียน ลงชื่อโดยนายยุรนันท์ ภมรมนตรี ผู้สมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.หมายเลข 10 เรื่องระงับการนับคะแนนเขตพญาไท พร้อมส่งหลักฐาน คือ ซีดี 1 แผ่น บันทึกภาพเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้งเปิดหีบบัตรและหน่วยเลือกตั้งอื่นๆ อาทิ 70,71,73 เจ้าหน้าที่ประจำหน่วยไม่ปิดผนึกหีบบัตรก่อนขนส่งไปยังสถานที่นับคะแนน

ลีน่า จัง เผาพริกไม่ผิด

นายพิงกล่าวว่า ขณะนี้มีเรื่องร้องเรียนทุจริตเลือกตั้ง 14 เรื่อง โดยเจ้าหน้าที่ชุดสืบสวนเคลื่อนที่เร็วได้ลงพื้นที่ตรวจสอบแล้ว สรุปว่าไม่มีมูลว่าเป็นการทุจริต 12 เรื่อง ยังไม่ได้รายงานผล 2 เรื่อง โดยเรื่องที่ร้องเรียน พบว่า 1.มีการแจกเงินหรือสัญญาจะให้ทรัพย์สิน ที่เขตทุ่งครุ 2.ติดป้ายหาเสียงใกล้หน่วยเลือกตั้ง ที่เขตพระโขนง บางแค วัฒนา 3.เพิ่มชื่อในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ เขตทุ่งครุ จากการตรวจสอบพบว่าเป็นการเพิ่มชื่อของเจ้าหน้าที่ ณ หน่วยเลือกตั้ง ซึ่งสามารถทำได้ 4.เจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้งฉีกบัตรเลือกตั้งรอก่อนที่ผู้มีสิทธิจะเดินทางมาถึงหน่วยเลือกตั้ง ที่เขตสายไหม ซึ่งได้แจ้งเตือนและให้หยุดการฉีกบัตรล่วงหน้า 5.มีการแจกหลอดไฟ และเก็บบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ที่เขตบางซื่อ 6.ประชาชนเปิดรายการเอเอสทีวี ขณะที่มีรายการวิจารณ์ผู้สมัครรับเลือกตั้งใกล้หน่วยเลือกตั้ง ที่เขตสวนหลวง ส่วนกรณีของ นางลีน่า จัง ที่เผาพริกเกลือนั้น หากไม่ได้พูดโจมตีผู้สมัครคนอื่นหรือไม่ได้เอะอะโวยวายใกล้หน่วยเลือกตั้งก็ไม่ถือว่าผิดกฎหมายเลือกตั้ง

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ นางลีน่าได้เดินทางมายังศาลาว่าการ กทม. ทำการเผาพริกเผาเกลือประท้วง และให้สัมภาษณ์ว่า เพื่อสาปแช่งคนโกงเลือกตั้ง เพราะอาจมีการเปลี่ยนหีบบัตรเหมือนการเลือกตั้งวันที่ 5 ตุลาคมที่ผ่านมา

รองศาสตราจารย์ หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร (22 กันยายน 2495 - ) รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นบุตรของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุขุมาภินันท์ (พระโอรสใน จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต) และหม่อมดุษฎี บริพัตร ณ อยุธยา (นามสกุลเดิม ณ ถลาง) ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร มีชื่อเล่นว่า คุณชายหมู

หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร สมรสกับ คุณนุชวดี บำรุงตระกูล มีบุตรคือ หม่อมหลวงพินิตพันธุ์ บริพัตร และสมรสกับ คุณสาวิตรี บริพัตร ณ อยุธยา (ภมรบุตร) มีบุตรคือ หม่อมหลวงวราภินันท์ บริพัตร

ปัจจุบัน ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร พำนักอยู่ที่วังสวนผักกาด และเป็นประธานกรรมการมูลนิธิจุมภฏ-พันธุ์ทิพย์

ภายหลังการเลือกตั้ง 23 ธันวาคม พ.ศ. 2550 และมีการจัดตั้งรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช พรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นฝ่ายค้านพรรคเดียวได้ประกาศจัดตั้ง รัฐบาลเงา หรือ ครม.เงา ขึ้น ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 และ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ได้รับเลือกจากที่ประชุมพรรค ให้ทำหน้าที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเงา

ต่อมาเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 คณะกรรมการบริหารพรรค มีมติส่ง ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ เป็นผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

รับราชการในตำแหน่งอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2523 - พ.ศ. 2539

เคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (พ.ศ. 2530 - พ.ศ. 2536)

เคยดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร (พ.ศ. 2530 - พ.ศ. 2531 และ พ.ศ. 2532 - พ.ศ. 2534) และตำแหน่งที่ปรึกษาคณะ กรรมาธิการกิจการรัฐสภา (พ.ศ. 2532 - พ.ศ. 2534)

เคยดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาทางด้านนโยบายของนายกรัฐมนตรี (พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ) (พ.ศ. 2531 - พ.ศ. 2532)

เคยดำรงตำแหน่งนายกสมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย (พ.ศ. 2534 - พ.ศ. 2536)

เคยดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาการพาณิชย์ฝ่ายต่างประเทศของกระทรวงพาณิชย์ (พฤศจิกายน พ.ศ. 2535 - กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2537)

ประธานคณะทำงานร่วมอาเซียน-เวียดนาม เพื่อศึกษาและเสนอแนะแนวทางส่งเสริมความร่วมมือระหว่างอาเซียน-เวียดนาม (พ.ศ. 2535 - พ.ศ. 2536)

ประธานคณะทำงานร่วมอาเซียน-กัมพูชา-ลาว เพื่อศึกษาและเสนอแนะ แนวทางในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างอาเซียน-กัมพูชา-ลาว

เคยดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาของ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ดร.พิจิตต รัตตกุล) ในคณะกรรมการต่างๆ คือ

ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน

ประธานคณะกรรมการบริหารกิจการสำนักงานตลาด

ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านการตรวจสอบและป้องกันการทุจริตและ ประพฤติมิชอบในวงราชการกรุงเทพมหานคร

กรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมายและการยุติธรรม

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร เป็นผู้ร่วมก่อตั้งพรรคนำไทย ร่วมกับนายอำนวย วีรวรรณ เมื่อ พ.ศ. 2537 และเคยดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการพรรคนำไทย

ต่อมา ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร เข้าเป็นกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ ได้รับเลือกตั้งเป็น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร เขตเลือกตั้งที่ 6 (บางรัก สัมพันธวงศ์ สาทร แขวงยานนาวาและแขวงทุ่งมหาเมฆ) เมื่อปี พ.ศ. 2539 และ 2544

ดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ระหว่างเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2540 ถึง กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในระบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 24 ของพรรคประชาธิปัตย์ จากการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2548 นอกจากนี้ยังดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการพรรค และดูแลงานทางด้านต่างประเทศและความมั่นคง ในการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2550 ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งในระบบสัดส่วนโซน 6 กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ และนนทบุรี ลำดับที่ 3 และชนะการเลือกตั้ง

ทั้งนี้ ยังอยู่ร่วมในเหตุการณ์สำคัญ คือ การตกลงเป็นตัวประกันในเหตุการณ์ยึดสถานทูตพม่า พ.ศ. 2542

ดูบทความหลักที่ เหตุการณ์ก๊อด อาร์มี่ บุกยึดสถานทูตพม่า พ.ศ. 2542 และบุกยึด ร.พ.ศูนย์ราชบุรี พ.ศ. 2543

เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2542 ในรัฐบาลนายชวน หลีกภัย เกิดเหตุการณ์กองกำลังติดอาวุธของนักศึกษาพม่า บุกเข้ายึดสถานเอกอัครราชทูตพม่า ประจำประเทศไทย ที่ถนนสาทรเหนือ และจับเจ้าหน้าที่สถานทูตเป็นตัวประกัน

หลังการเจรจาต่อรองเป็นเวลาหลายชั่วโมง ผู้ก่อการร้ายยินยอมปล่อยตัวประกัน แลกกับให้ทางการไทยจัดเฮลิคอปเตอร์ไปส่งที่ อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี ซึ่งเป็นชายแดนไทย-พม่า โดย หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในขณะนั้น เสนอตัวเป็นตัวประกันนั่งโดยสารไปด้วยเพื่อรับรองความปลอดภัยจนกระทั่งถึงที่หมาย ทำให้เหตุการณ์ครั้งนั้นยุติลงได้โดยไม่มีการสูญเสียชีวิต

นอกจากนี้ ยังเกี่ยวข้องกับการลงนามในบันทึกข้อตกลงปักปันเขตแดนไทย-กัมพูชา พ.ศ. 2543

ในปี พ.ศ. 2543 ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศขณะนั้น ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย - กัมพูชา (ฝ่ายไทย) ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลกัมพูชา ว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก ในระหว่างการเยือนกัมพูชาอย่างเป็นทางการของ นายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี ระหว่างวันที่ 14 - 16 มิถุนายน พ.ศ. 2543

บันทึกความเข้าใจดังกล่าว มีสาระสำคัญส่วนหนึ่ง คือ การสำรวจและปักหลักเขตแดนทางบกจะดำเนินการโดยใช้เอกสารหลักฐานที่ผูกพันไทยและกัมพูชาตามกฎหมายระหว่างประเทศ คืออนุสัญญาฉบับลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1904 สนธิสัญญาฉบับลงวันที่ 23 มีนาคม ค.ศ. 1907 กับพิธีสารแนบท้าย และ แผนที่แสดงเส้นเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชามาตราส่วน 1:200,000 ซึ่งจัดทำขึ้นตามผลงานของ คณะกรรมการปักปันเขตแดนระหว่างสยามกับอินโดจีน

ต่อมาในปี พ.ศ. 2551 หลังเกิดกรณี นายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ลงนามในเอกสารแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ซึ่งอาจมีผลเปลี่ยนแปลงเขตแดนประเทศไทยโดยมิชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เกิดการโจมตี มรว.สุขุมพันธุ์ และ พรรคประชาธิปัตย์ เกี่ยวกับการลงนามในบันทึกความเข้าใจ ไทย-กัมพูชา พ.ศ. 2543 ที่ระบุให้การจัดทำหลักเขตแดนยึดตามแผนที่ฝรั่งเศส-สยาม (ค.ศ. 1904) เป็นแนวทาง โดยไม่ระบุ แผนที่แอล 7017 ของ สหรัฐอเมริกา ที่ ไทยใช้อ้างอิง ซึ่งอาจตีความได้ว่ามีผลเปลี่ยนแปลงเขตแดนประเทศ มาตั้งแต่ พ.ศ. 2543 ก่อนการลงนามของนายนพดล ปัทมะ เรื่องดังกล่าว ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ได้ชี้แจงว่าการระบุถึงแผนที่ ค.ศ. 1904 เป็นการระบุประกอบเอกสารหลักคือ อนุสัญญา ค.ศ. 1904 และ สนธิสัญญา ค.ศ. 1907 ซึ่งแผนที่จะขัดหรือแย้งไม่ได้ การลงนามในปี พ.ศ. 2543 จึงไม่มีผลเปลี่ยนแปลงเขตแดนประเทศแต่อย่างใด

ส่วนผลงานวิชาการ

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ มีผลงานวิจัยและบทความเกี่ยวกับความมั่นคงและความสัมพันธ์ระหว่าง ประเทศมากมาย ซึ่งได้ตีพิมพ์และเผยแพร่ทั้งในและนอกประเทศ อาทิ ประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศญี่ปุ่น ประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นต้น อีกทั้งได้มีผลงานทางวิชาการร่วมกับนักวิชาการระดับนานาชาติหลาย คน อาทิ Professor Robert Scalapino

งานเขียนอื่นๆ : เคยเขียนคอลัมน์ประจำให้แก่ หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายสัปดาห์ และ หนังสือพิมพ์แนวหน้า เคยเขียนคอลัมน์รับเชิญให้แก่นิตยสารต่างประเทศหลายฉบับ รวมถึง Far Eastern Economic Review, The International Herald Tribune, The Asian Wall Street Journal

สำหรับการดำรงตำแหน่งอื่นๆ

ประธานมูลนิธิจุมภฏ-พันธุ์ทิพย์ (ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530 ถึงปัจจุบัน)

เป็นกรรมการหรือสมาชิกของสถาบันระดับนานาชาติหลายแห่ง รวมถึง THE ASIA SOCIETY แห ่งนครนิวยอร์ก และ สถาบันยุทธศาสตร์และนานาชาติศึกษาแห่งกรุงลอนดอน

กรรมการบริหารของสถาบันพระปกเกล้า (ปี 2544 ถึง ปัจจุบัน)

อาจารย์พิเศษในสถาบันการศึกษาหรือหลักสูตรของหน่วยงานราชการ ต่าง ๆ เช่น กองทัพ กระทรวงมหาดไทย กรมตำรวจ กรุงเทพมหานคร

อาจารย์พิเศษ มหาวิทยาลัยต่างประเทศ เช่น มหาวิทยาลัยโคลัมเบียแห่งนครนิวยอร์ก และ มหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์แห่งกรุงวอชิงตัน ดีซี

วิทยากรบรรยายพิเศษให้กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยนเรศวร

สมาชิก Commission For A New Asia (พ.ศ. 2537)

เรื่องเกียรติประวัติ

ได้รับการยกย่องเป็นหนึ่งในร้อยผู้นำระดับโลกในศตวรรษที่ 21 โดยนิตยสาร TIME ในปี พ.ศ. 2538

(ขอบคุณข้อมูลจาก วิกิพีเดีย)

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook