รัฐปลุกใจเอกชน-ลุยนำลงทุนทุกระดับ จี้ส่วนราชการปรับยุทธศาสตร์-เร่งชงรมต.เดินเครื่อง

รัฐปลุกใจเอกชน-ลุยนำลงทุนทุกระดับ จี้ส่วนราชการปรับยุทธศาสตร์-เร่งชงรมต.เดินเครื่อง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รมช.คลัง กล่าวว่า ปีงบประมาณ 52 คาดว่ารัฐบาลคงจัดเก็บรายได้อย่างต่ำ 1 แสนล้านบาท ซึ่งในสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบันที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจโลก รัฐบาลมีความจำเป็นที่จะต้องเป็นผู้นำด้านการลงทุนทั้งโครงการเมกะโปรเจ็กต์ โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจในทุกระดับ ซึ่งคงต้องรอคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ จะมีแผนกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างไร เพราะขณะนี้เอกชนมีความระมัดระวัง ด้านความสามารถทางการแข่งขันของไทยก็น้อยกว่าประเทศอื่นๆ หลายประเทศ

 

 

สถานการณ์ทางการคลังไม่มีปัญหา เพราะการดำเนินการแก้ไขเศรษฐกิจรัฐบาลจะต้องทำตามวินัยการเงินการคลัง หนี้สินที่รัฐบาลมีอยู่นั้นก็ยังอยู่ในระดับไม่น่าเป็นห่วง เท่าที่ทราบตัวเลขเดิมอยู่ที่ประมาณ 35% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ หรือจีดีพี ซึ่งมาตรฐานไม่ควรเกิน 50% ของจีทีพี ฉะนั้นยังสามารถเพิ่มหนี้ได้ นายประดิษฐ์กล่าว

 

 

นายบัณฑูร สุภัควณิช ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กล่าวว่า เป็นห่วงการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี52 ในช่วงไตรมาสแรก (ต.ค.-ธ.ค.51) ซึ่งมีการเบิกจ่ายเพื่อให้เงินออกสู่ระบบน้อยมาก จากกรอบงบประมาณ 1.835 ล้านล้านบาท ได้จัดสรรให้กับหน่วยงานต่างๆ ไปแล้ว 1.723 ล้านล้านบาท แต่ได้มีการเบิกจ่ายเพียง 3 แสนล้านบาท หรือประมาณ 17.12% ของงบประมาณทั้งหมด โดยเป็นงบประจำถึง 2.7 แสนล้านบาท ส่วนที่เหลือ 3 หมื่นล้านบาทเป็นงบลงทุน โดยเฉพาะงบประมาณลงทุนควรออกสู่ระบบเป็นจำนวนมาก และเงินที่เบิกจ่ายส่วนใหญ่เป็นขององค์กรอิสระสัดส่วนถึง 46.92% เพราะกระทรวงหรือหน่วยงานต่างๆ ยังตัดสินใจเดินหน้าโครงการไม่ได้ ซึ่งทุกปีจะเบิกจ่ายงบทั้งหมดกว่า 20% แต่ในปีนี้มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล ผู้กำหนดนโยบายของหน่วยงานต่างๆ บ่อยครั้ง ทำให้โครงการหยุดชะงัก ดังนั้น เมื่อรัฐบาลทำงานได้สมบูรณ์แล้วน่าจะเร่งรัดการเบิกจ่ายได้รวดเร็วขึ้น

 

 

สำหรับส่วนราชการต่างๆ เมื่อรัฐบาลแถลงนโยบายต่อรัฐสภาไปแล้ว ก็ให้เตรียมพร้อมปรับโครงการให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านต่างๆ ของรัฐบาล เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการเตรียมพร้อมโครงการลงทุนด้านต่างๆ เพื่อให้รัฐมนตรีที่กำกับดูแลได้พิจารณาและนำไปเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้เร็วขึ้น ด้านงบประมาณที่จัดสรรให้กับองค์ปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) 1.1 แสนล้านบาท ได้เริ่มมีการเบิกจ่ายไปบ้างแล้ว แต่ต้องการให้ อปท. เดินหน้าก่อสร้างโครงการต่างๆ ด้วยการเปิดประมูลงาน เพื่องบประมาณส่งไปถึงจะได้เบิกจ่ายให้งานส่วนต่างๆ เดินหน้าไปได้อย่างรวดเร็ว

 

 

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าปี52 เศรษฐกิจถดถอยจึงต้องปรับกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายปี53 จากรายได้รัฐบาลที่ลดลง ทำให้การจัดทำงบประมาณต้องขาดดุลต่อไปอีก และน่าจะขาดดุลเกิน 3 แสนล้านบาท เพื่อใช้เงินกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวได้ ดังนั้น จึงเห็นว่าไม่ควรปรับลดภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 7% เพราะภาษีลดลง 1% จะทำให้รายได้ภาษีหายไป 3 หมื่นล้านบาท หากลดลง 3% รายได้รัฐบาลจะหายไป 9 หมื่นล้านบาท และการลดภาษีลงนั้นทำได้ง่ายกว่าการปรับขึ้นภาษี เพราะรัฐบาลเคยจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 10% ขณะนี้ได้ลดลงเหลือ 7% เป็นเวลา 10 ปี ก็ยังขยับขึ้นไปเหมือนเดิมไม่ได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook