ฮอลลีวูดพึ่ง ซูเปอร์ฮีโร่ พยุงธุรกิจ

ฮอลลีวูดพึ่ง ซูเปอร์ฮีโร่ พยุงธุรกิจ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
หน้าที่ของซูเปอร์ฮีโร่ ในภาพยนตร์ คือการช่วยเหลือประชาชนที่กำลังเผชิญเหตุร้ายได้ทันท่วงทีในทุกสถานการณ์ แต่ในปี 2551 ที่ผ่านมา ซูเปอร์ฮีโร่ก็ได้มีบทบาทในการเป็นผู้พยุงธุรกิจของสตูดิโอภาพยนตร์ในฮอลลีวูดที่เผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจโลกเช่นเดียวกับธุรกิจอื่นๆ ทั้งยังมีแนวโน้มว่าสตูดิโอภาพยนตร์จะต้องพึ่งพาความช่วยเหลือของเหล่าซูเปอร์ฮีโร่บนจอเงินต่อไปในปี 2552 นี้ด้วย

นายไมเคิล แอล. แคมป์เบล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) บริษัท รีกัล เอนเตอร์เทนเม้นท์ กรุ๊ป จำกัด เจ้าของเชนโรงภาพยนตร์รายใหญ่ที่สุดในประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าวถึงธุรกิจผลิตภาพยนตร์ของฮอลลีวูดว่า เป็นอุตสาหกรรมที่มีภูมิคุ้มกันความถดถอย

บริษัท มีเดีย บาย นัมเบอร์ส จำกัด ผู้จัดเก็บสถิติรายได้ของภาพยนตร์เปิดเผยว่า ในปี 2551 ยอดขายตั๋วหน้าโรงภาพยนตร์ในทวีปอเมริกาเหนืออยู่ที่ระดับ 9,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงเกือบ 1% เมื่อเทียบกับสถิติในปี 2550 แม้ว่าจำนวนผู้ชมภาพยนตร์จะลดลง 5% สู่ระดับ 1,300 ล้านคน แต่อุตสาหกรรมหนังจอเงินสามารถเพิ่มรายได้จากการขยับขึ้นราคาค่าตั๋วชมภาพยนตร์และการเพิ่มจำนวนการฉายภาพยนตร์ 3 มิติ นายแคมป์เบล กล่าวว่า เมื่อพิจารณาถึงสถานการณ์เศรษฐกิจเช่นปัจจุบัน สถิติรายได้เช่นนี้ก็อยู่ในระดับค่อนข้างดี

รายได้ของสตูดิโอภาพยนตร์ฮอลลีวูดในปีที่ผ่านมาส่วนใหญ่เกิดขึ้นมาจากภาพยนตร์ที่มีซูเปอร์ฮีโร่เป็นตัวเด่น ไม่ว่าจะเป็นซูเปอร์ฮีโร่ที่สตูดิโอภาพยนตร์ปลุกขึ้นมาจากภาพในอดีต เช่น ภาพยนตร์เรื่อง เดอะ ดาร์ก ไนท์ ซึ่งทำรายได้สูงสุด รองลงมาได้แก่ ไอออน แมน รวมทั้งภาพยนตร์คอมพิวเตอร์ แอนิเมชัน เรื่อง วอล-อี กังฟู แพนด้า มาดากัสกา : เอสเคป ทู แอฟริกา และ ฮอร์ตัน เฮียร์ส อะ ฮู ซึ่งทุกเรื่องติดอยู่ในอันดับท็อปเทน รวมทั้งภาพยนตร์เรื่อง ทไวไลท์ ที่ได้แวมไพร์วัยรุ่นมาเป็นตัวเอกในเรื่อง

นอกจากนั้นยังมีภาพยนตร์เรื่อง อินเดียน่า โจนส์ แอนด์ เดอะคิงดอม ออฟ คริสตัล สกัลล์ ที่วางแผนการตลาดได้อย่างดีโดยสามารถฟื้นความระลึกถึงความเฟื่องฟูในอดีตของภาพยนตร์ภาคก่อนๆ และสามารถทำรายได้จากการขายตั๋ว 317 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

+ ปัญหาที่รอการแก้ไข

สตูดิโอภาพยนตร์ในฮอลลีวูดต้องเผชิญกับปัญหาใหม่ๆที่สำคัญเช่น ยอดขายแผ่นดีวีดีภาพยนตร์ซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักตกต่ำ รวมทั้งความขัดแย้งด้านค่าแรงระหว่างผู้บริหารสตูดิโอภาพยนตร์ในฮอลลีวูดกับองค์กรสกรีน แอคเตอร์ กิลด์ (Screen Actor Guild) ที่ยังไม่จบสิ้น

บริษัทแม่ของสตูดิโอภาพยนตร์ฮอลลีวูด เช่น เจนเนอรัล อิเลกทริค (จีอี) โซนี่ และ เดอะ วอลท์ ดิสนีย์ คัมปะนี ต้องการปรับลดรายจ่ายในการดำเนินธุรกิจของสตูดิโอลง ส่วนบางแห่งก็ต้องการจะขายหน่วยธุรกิจย่อยๆที่เป็นส่วนประกอบของธุรกิจหลักออกไป เช่น แผนกผลิตภาพยนตร์พิเศษ เพราะแผนกธุรกิจดังกล่าวกำลังเผชิญปัญหาจากรายการโทรทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์ และ ผลิตภัณฑ์อุปโภค-บริโภค

ผู้บริหารสตูดิโอภาพยนตร์ในฮอลลีวูดยังต้องเผชิญกับปัญหาในการ เดาความต้องการของผู้ชมภาพยนตร์ที่เปรียบเสมือนสายลมซึ่งผันเปลี่ยนทิศทางได้อย่างรวดเร็ว ทำให้การกำหนดทิศทางการผลิตภาพยนตร์เป็นไปได้อย่างยากลำบาก ในปี 2551 มีภาพยนตร์หลากหลายเรื่องราวที่ได้รับความนิยม เช่น ภาพยนตร์เพลงเรื่อง มามา เมีย (Mama Mia) ของยูนิเวอร์แซล สตูดิโอ สามารถทำรายได้ 572 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯจากการฉายทั่วโลก ส่วนภาพยนตร์เรื่อง เซ็กส์ แอนด์ เดอะ ซิตี้ ของวอร์เนอร์ บราเธอร์ส ทำรายได้ 415 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่เมื่อวอร์เนอร์ นำภาพยนตร์เรื่อง เดอะ วูแมน ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับผู้หญิงเช่นเดียวกับเรื่องเซ็กส์ แอนด์ เดอะ ซิตี้ กลับทำรายได้จากการฉายได้เพียง 46 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเท่านั้น

แต่ผู้ชมภาพยนตร์กลับให้การต้อนรับสุนัขที่ปรากฏเป็นดารานำบนจอเงิน โดยภาพยนตร์เรื่อง เบฟเวอร์ลี่ ฮิลส์ ชิวาว่า ของวอลท์ ดิสนีย์ สตูดิโอ ทำรายได้ 93 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในสหรัฐฯ ส่วนภาพยนตร์เรื่อง โบล์ท ซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับสุนัขจอมซน สามารถสร้างรายได้ 110 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หลังจากการเปิดตัวจนถึงวันอาทิตย์ (4 มกราคม) ที่ผ่านมา

ชื่อเสียงของดารานำที่เคยเป็นแม่เหล็กดึงดูดผู้ชมในทวีปอเมริกาเหนือก็เริ่มเสื่อมคลายความขลังลงไปแต่กลับเป็นปัจจัยที่สร้างความสำเร็จของภาพยนตร์ในต่างประเทศ ยกตัวอย่างเช่นกรณีของภาพยนตร์เรื่อง บอดี้ ออฟ ลายส์ ของวอร์เนอร์ บราเธอร์ส ที่นำแสดงโดย ลีโอนาโด ดิคาปริโอ และ รัสเซล โครว์ ทำรายได้เมื่อออกฉายในสหรัฐฯเพียง 39 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่กลับมีรายได้เมื่อออกฉายในต่างประเทศประมาณ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ภาพยนตร์ภาคต่อก็ไม่สามารถพึ่งพาชื่อเสียงของภาพยนตร์ในภาคก่อนๆได้อีกต่อไป พิจารณาจากรายได้ของภาพยนตร์เรื่อง เดอะ โครนิเคิล ออฟ นาร์เนีย : พรินซ์ แคสเปียน ซึ่งเป็นภาพยนตร์ภาคต่อในชุด เดอะ โครนิเคิล ออฟ นาร์เนีย สามารถทำรายได้ 420 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯจากการออกฉายทั่วโลกให้กับดิสนีย์ แต่ตัวเลขรายได้ดังกล่าวอยู่ในระดับเกือบครึ่งหนึ่งของรายได้ที่ นาเนียร์ ภาคแรกสามารถทำได้ และด้วยปัจจัยที่ดิสนีย์ ต้องแบ่งปันรายได้กับบริษัทอื่นๆ และ การที่สินค้า

พรีเมียมของภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่เป็นที่นิยมของผู้บริโภค ดังนั้นดิสนีย์จึงตัดสินใจไม่ผลิตภาพยนตร์ภาคต่อของชุด นาเนียร์ ออกมาอีกต่อไป

อย่างไรก็ตามสตูดิโอภาพยนตร์ในฮอลลีวูดกลับมีรายได้จากการฉายภาพยนตร์ระดับพรีเมียมที่มีราคาค่าตั๋วสูงกว่าค่าตั๋วตามโรงภาพยนตร์ทั่วไป ในปี 2550 สตูดิโอภาพยนตร์ในฮอลลีวูดพบว่าผู้ชมยินดีจ่ายเงินสูงถึง 25 ดอลลาร์สหรัฐฯเพื่อซื้อตั๋วเข้าชมภาพยนตร์ในรูปแบบ 3 มิติ เช่น ภาพยนตร์เรื่อง เดอะ ดาร์ก ไนท์ และ กังฟู แพนด้า รวมทั้งคอนเสิร์ตของ ฮานนา มอนทาน่า/ไมลี่ ไซรัส : เบสท์ ออฟโบท เวิล์ดส์ คอนเสิร์ต ทัวร์ ในโรงภาพยนตร์ไอ-แม็กซ์

นายริชาร์ด แอล. เจลฟอนด์ ซีอีโอของ บริษัท ไอแม็กซ์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปีที่ผ่านมาเป็นปีที่ดีที่สุดของไอแม็กซ์ และแสดงให้เห็นว่าผู้ชมต้องการรับชมความบันเทิงเพื่อให้รางวัลเล็กๆน้อยๆกับตัวเอง

+ สถานการณ์ธุรกิจที่แตกต่าง

สตูดิโอภาพยนตร์แต่ละแห่งมีผลประกอบการในปีที่แล้วซึ่งแตกต่างกันออกไป เช่น กรณีของวอร์เนอร์ บราเธอร์ส แม้จะเป็นผู้นำในธุรกิจภาพยนตร์ด้วยส่วนแบ่งในตลาด 18% และเป็นผู้ผลิตภาพยนตร์เรื่องดาร์ก ไนท์ ซึ่งเป็นภาพยนตร์ยอดนิยมอันดับสองของภาพยนตร์ยุคใหม่ (รองจาก ไททานิค) แต่ภาพยนตร์เรื่อง สปีด เรซเซอร์ ของวอร์เนอร์ กลับไม่ได้รับความนิยมแต่อย่างใด

เส้นทางในอนาคตของวอร์เนอร์ ก็ไม่ราบรื่น เพราะวอร์เนอร์เป็นผู้จำหน่ายดีวีดีภาพยนตร์รายใหญ่ที่สุด และกำลังมีปัญหาทางกฎหมายกับ บริษัท เดอะ ทะเวนตี้ เซนจูรี่ ฟ็อกซ์ จำกัด สตูดิโอภาพยนตร์อีกแห่งหนึ่ง โดยวอร์เนอร์อาจจะเป็นฝ่ายแพ้คดีที่ฟ้องร้องเกี่ยวกับภาพยนตร์เรื่อง วอทช์ เมน

วอร์เนอร์กำลังพิจารณาภาพยนตร์เรื่องใหม่ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับซูเปอร์ฮีโร่ โดยอาจจะสร้างภาพยนตร์จากตัวการ์ตูนในหนังสือการ์ตูนของสำนักพิมพ์ กรีน แลนเทิร์น รวมทั้งภาพยนตร์ภาคต่อเรื่อง แฮร์รี่ พอตเตอร์ แอนด์ เดอะ ฮาล์ฟ บลัด พริ้นซ์

ขณะที่ บริษัท พาราเม้าท์ พิคเจอร์ส คอร์เปอเรชั่นฯ สตูดิโอภาพยนตร์ชั้นนำของฮอลลีวูดอีกแห่งหนึ่งที่ได้ทำการตลาดอย่างยอดเยี่ยมในปี 2551 สามารถผลักดันภาพยนตร์ที่ผลิตโดยสตูดิโอแห่งอื่นในฮอลลีวูดจนประสบความสำเร็จในปีที่แล้ว เช่น เรื่องไอออน แมน ของมาร์เวล สตูดิโอ และทรอปิค ธันเดอร์ ของดรีมเวิร์คส์ สตูดิโอ แต่ภาพยนตร์เรื่อง เดอะ คิวเรียส เคส ออฟ เบนจามิน บัททัน ของพาราเม้าท์ กลับไม่เป็นที่นิยมในตลาดสหรัฐฯ

นักวิเคราะห์เชื่อว่าสายตาของทุกคนจะจับจ้องไปที่การดำเนินการของพาราเม้าท์ สตูดิโอ เพราะสตูดิโอแห่งนี้กำลังพยายามผลักดันภาพยนตร์ภาคต่อของ สตาร์ เทร็ค (จะออกฉายเดือนพฤษภาคม) และ เปิดตัวภาพยนตร์เรื่องใหม่ จีไอ โจ (ในเดือนสิงหาคม) รวมทั้งโครงการที่พาราเม้าท์ ร่วมมือกับดรีมเวิร์ค สตูดิโอ ผลิตภาพยนตร์ภาคต่อเรื่อง ทรานส์ฟอร์เมอร์ : รีเวนจ์ ออฟ เดอะ ฟอลเลน ที่มีกำหนดออกฉายในเดือนมิถุนายนปีนี้

ขณะที่ โซนี่ ที่ชื่นชมกับความสำเร็จของภาพยนตร์เรื่อง แฮนคอค (นำแสดงโดย วิลล์ สมิธ) และ ควอนตัม ออฟ โซลาส (ภาคต่อล่าสุดของภาพยนตร์ชุด เจมส์ บอนด์) ที่ออกฉายในปีที่แล้ว กำลังจะเปิดตัวภาพยนตร์เรื่อง แองเจิลส์ แอนด์ ดีมอนส์ ซึ่งสร้างจากนิยายของ แดน บราวน์ ผู้เขียน เดอะ ดาวินชี่ โค้ด

ส่วนดิสนีย์ สตูดิโอ ที่ประสบความสำเร็จจากการฉายภาพยนตร์เรื่อง ไฮสคูล มิวสิคัล 3 : ซีเนียร์ เยียร์ กับยอดรายได้ 237 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากตลาดต่างๆทั่วโลก และภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่อง วอล-อี ก็สามารถทำรายได้เหนือกว่าภาพยนตร์ยอดนิยมจากคู่แข่ง แต่ความสำเร็จดังกล่าวกลับไม่เป็นที่พอใจของผู้บริหารสตูดิโอแห่งนี้ เพราะเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ผู้บริหารของสตูดิโอได้ตัดสินใจลดจำนวนภาพยนตร์ที่จะออกฉายในแต่ละปีลง และกำหนดเป้าหมายรายได้ของภาพยนตร์แต่ละเรื่องในระดับสูง นอกจากนั้นดิสนีย์ยังต้องเผชิญกับความท้าทายอีกครั้งในเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้เมื่อทางสตูดิโอจะนำภาพยนตร์เรื่อง ฮานนา มอนทานา : เดอะ มูฟวี่ ออกฉาย ซึ่งความสำเร็จในการฉายจะเป็นตัวชี้ชะตาภาคต่อของภาพยนตร์เรื่องนี้

สตูดิโอภาพยนตร์ในฮอลลีวูดกำลังเผชิญกับความท้าทายที่แตกต่างกันออกไป แต่บทเรียนในปีหนูที่เพิ่งผ่านไปสามารถสอนให้สตูดิโอเหล่านี้รู้ว่า ผู้ชมยังคงให้การต้อนรับซูเปอร์ฮีโร่บนจอเงินต่อไป ซึ่งซูเปอร์ฮีโร่เหล่านี้ก็จะกลายเป็นผู้ช่วยพยุงฐานะธุรกิจของสตูดิโอภาพยนตร์ของฮอลลีวูดในอนาคตต่อไป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook