ธ.โลกคาดไทยฟื้นฟูปท.2ปีงบ7.5แสนล.

ธ.โลกคาดไทยฟื้นฟูปท.2ปีงบ7.5แสนล.

ธ.โลกคาดไทยฟื้นฟูปท.2ปีงบ7.5แสนล.
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
น.ส.กิริฎา เภาพิจิตร นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก ประจำประเทศไทย กล่าวว่า จากการสำรวจและศึกษาผลกระทบจากปัญหาอุทกภัย ใน 26 จังหวัด พบว่า เศรษฐกิจไทย จะได้รับความเสียหายและสูญเสียแล้ว กว่า 1.357 ล้านล้านบาท เป็นความสูญเสีย 710,000 ล้านบาท ความเสียหาย 640,000 ล้านบาท โดยเป็นความเสียหายของภาคเอกชน 1.275 ล้านล้านบาท หรือ คิดเป็นร้อยละ 94 ของความเสียหายทั้งหมด ส่วนภาครัฐเสียหาย อยู่ที่ 81,000 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 6 ซึ่งภาคอุตสาหกรรมนั้น จะได้รับความเสียหายสูงสุดที่ 1 ล้านล้านบาท ส่งผลให้ทาง ธนาคารโลก ปรับลดอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจ ในปี 2554 ของประเทศไทย ลงจากร้อยละ 3.6 เหลือร้อยละ 2.4 หรือ ลดลงร้อยละ 1.2 แต่ในมุมกลับกันนั้นจะมีโรงงานหลายครัวเรือนที่จับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ในการฟื้นฟู หลังน้ำท่วม ซึ่งอาจทำให้อัตราการขยายตัวของ GDP ในปี 2555 เพิ่มเป็นร้อยละ 3.7 เป็นร้อยละ 4 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 ส่วนในปี 2556 นั้น GDP จะขยายตัวเพิ่มขึ้น จากร้อยละ 4.5 เป็นร้อยละ 5.6


ขณะที่ การฟื้นฟูหลังปัญหาอุทกภัยประเทศไทยนั้น เชื่อว่า จะใช้เวลาในการฟื้นฟู 2 ปี คาดว่า ภาคเอกชน จะต้องใช้งบประมาณ จำนวน 520,000 ล้านบาท และภาครัฐใช้งบประมาณจำนวน 235,000 ล้านบาท รวมการใช้งบในการฟื้นฟูทั้งหมดกว่า 756,000 ล้านบาท โดยภาคที่ต้องใช้งบประมาณมากที่สุด คือ ด้านการเงินการธนาคาร ที่ต้องมีการปล่อยกู้ให้ภาครัฐและเอกชน กว่า 429,536 ล้านบาท รองลงมาคือ งบประมาณในการฟื้นฟูโรงงานอีก 150,586 ล้านบาท และระบบการจัดการน้ำอีก ประมาณ 69,075 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ภาครัฐจะต้องหารายได้เพิ่มขึ้นทั้งจากการกู้เงินภายในประเทศและนอกประเทศ ตามกรอบที่กฎหมายกำหนด เนื่องจาก ยังคงมีช่องว่างให้พอกู้ได้



สศค.เผยน้ำท่วมกระทบศก.ตค.หดตัวทุกด้าน

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ทาง สศค. ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจภายใน ปี 2554 ลดลงจากร้อยละ 2.6 เหลือร้อยละ 1.7 - 2 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วม และเศรษฐกิจในเดือนตุลาคม ที่ผ่านมา ถือว่าเป็นภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ปกติ เป็นเพราะภาวะเศรษฐกิจในทุกๆ ด้าน มีสัญญาณหดตัวอย่างชัดเจน ทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคแอกชน จากผลกระทบของน้ำท่วม อย่างไรก็ตามเชื่อว่า ในเดือนตุลาคม จะเป็นเดือนที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดจากปัญหาดังกล่าว ขณะเดียวกัน ได้ส่งผลให้การจับจ่ายใช้สอยในประเทศและการส่งออกชะลอตัวลดลง โดยสะท้อนได้จากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่ขยายตัวเพียงร้อยละ 11.3 หากเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวกว่า 13.3

นายสมชัย กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ส่วนในเดือนพฤศจิกายน และเดือนธันวาคม นั้น สถานการณ์จะเริ่มดีขึ้น และคงไม่รุนแรงเท่ากับเดือนตุลาคม ที่ผ่านมา เนื่องจากมีสัญญาณที่ดีหลังเห็นบริษัทบางแห่งเริ่มกระบวนการผลิตได้แล้ว
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook