แรงงาน 5.5 ล้านคนอยู่ในข่ายจะได้ขึ้นค่าแรงเป็นวันละ 300 บาท

แรงงาน 5.5 ล้านคนอยู่ในข่ายจะได้ขึ้นค่าแรงเป็นวันละ 300 บาท

แรงงาน 5.5 ล้านคนอยู่ในข่ายจะได้ขึ้นค่าแรงเป็นวันละ 300 บาท
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

(6 ก.ย.) นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า จากการหารืออย่างไม่เป็นทางการกับ นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน และนางจิราภรณ์ เกษรสุจริต อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ถึงการเดินหน้านโยบายปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท ล่าสุดวานนี้ (5 ก.ย.) กระทรวงแรงงานแจ้งว่า มีแรงงานที่ทำงานในโรงงาน ภาคการค้า และบริการ ที่อยู่ในข่ายจะได้ขึ้นค่าแรงประมาณ 5.5 ล้านคน

ในขณะที่ ส.อ.ท.แจ้งให้กระทรวงแรงงานทราบว่า ส.อ.ท.เห็นด้วยกับการดูแลแรงงาน แต่ต้องการให้มาตรการปรับขึ้นค่าแรงส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการน้อยที่สุด โดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) และต้องการให้มีระยะเวลาปรับตัวในการปรับขึ้นค่าแรง 3-4 ปี เนื่องจากเป็นการเปลี่ยนแปลงค่าแรงอย่างก้าวกระโดด ซึ่งเชื่อว่าหลังจากนั้นการปรับขึ้นค่าแรงจะเป็นไปตามกลไกตลาดได้ ซึ่งกระทรวงแรงงานยังไม่ให้คำตอบชัดเจนว่าจะเป็นไปตามที่ ส.อ.ท.ร้องขอหรือไม่

นอกจากนี้ ส.อ.ท. และกระทรวงแรงงานยังมีความเห็นเบื้องต้นที่จะทำงานร่วมกันในการพัฒนาความพร้อมของแรงงาน โดยหากแรงงานที่เข้าทำงานอยู่เดิมแล้ว กลุ่มนี้จะจัดให้มีชุดมาตรการพัฒนาฝีมือแรงงาน ส่วนแรงงานใหม่ที่จะเข้ามาจะได้รับการเตรียมความพร้อม เช่น การปฐมนิเทศ 5-7 วัน และการเตรียมความพร้อมอื่น ๆ ซึ่งกรมพัฒนาฝีมือแรงงานจะร่วมกับ ส.อ.ท.จัดทำมาตรการนี้ต่อไป ส่วนในแง่ของการเพิ่มศักยภาพแรงงานจะเป็นมาตรการที่ต้องดำเนินการในระยะกลาง เนื่องจากต้องใช้ระยะเวลา

ด้านความหมายของรายได้ ทางกระทรวงแรงงานและ ส.อ.ท.ยังให้ความหมายที่ต่างกันอยู่บ้าง โดยกระทรวงแรงงานมองเป็นค่าจ้างรายวัน ในขณะที่ ส.อ.ท.มองรวมถึงการจัดสวัสดิการที่ให้กับแรงงานในรูปแบบต่าง ๆ ด้วย เพราะเห็นว่าผู้ประกอบการหลายรายที่มีการให้สวัสดิการอยู่แล้ว หากต้องปรับขึ้นค่าแรงเป็นวันละ 300 บาท เท่ากับผู้ประกอบการรายที่ไม่จัดสวัสดิการให้แรงงานจะทำให้การปรับขึ้นค่าแรงทำได้ยากกว่า ซึ่ง ส.อ.ท.ไม่เห็นด้วยหากจะมีการปรับลดสวัสดิการที่ให้แก่แรงงาน อย่างไรก็ตาม แรงกดดันในการปรับขึ้นค่าจ้างขณะนี้ลดน้อยลงแล้ว เนื่องจากประเทศไทยยังมีปัญหาขาดแคลนแรงงาน

นายพยุงศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ส.อ.ท.แจ้งกับกระทรวงแรงงานว่าต้องการบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเอสเอ็มอีหากต้องปรับขึ้นค่าจ้างแก่แรงงาน โดยขอหารือกระทรวงแรงงานช่วยให้เอสเอ็มอีสามารถนำค่าใช้จ่ายส่วนที่เพิ่มขึ้นไปหักลดหย่อนรายจ่ายต่าง ๆ ได้ แต่เรื่องนี้จะต้องศึกษาว่าในทางกฎหมายสามารถทำได้มากน้อยเพียงใดและจะได้รับความเห็นชอบหรือไม่

นายพยุงศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ในอีก 2 สัปดาห์จากนี้ไป ส.อ.ท.จะเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อแสดงความยินดีและรับทราบแนวทางการทำงานร่วมกันกับภาคเอกชน และรับทราบนโยบายการปรับค่าแรงงานขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท. - สำนักข่าวไทย

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook