ราคาบัตรคอนเสิร์ตศิลปินต่างประเทศ ถึงเวลาต้องควบคุมหรือยัง | Sanook Music

ราคาบัตรคอนเสิร์ตศิลปินต่างประเทศ ถึงเวลาต้องควบคุมหรือยัง

ราคาบัตรคอนเสิร์ตศิลปินต่างประเทศ ถึงเวลาต้องควบคุมหรือยัง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เรื่องของสิทธิพิเศษของบัตร VIP และความเหมาะสมของราคาบัตร ตรงไหนที่จะเป็นจุดที่แฟนคลับ ค่ายเพลง และผู้จัดคอนเสิร์ตจะอยู่ด้วยกันได้แบบปรองดอง 

คอนเสิร์ตของ Jackson Wang และ Stray Kids ที่กำลังจะจัดขึ้นในประเทศไทย เป็นที่พูดถึงกันอย่างมากในโลกออนไลน์ในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากราคาบัตรที่สูงลิบลิ่วจนแตะหลักเกือบหมื่น และเกือบสองหมื่น ในขณะที่กลุ่มแฟนคลับส่วนใหญ่ยังอยู่ในวัยเรียน-วัยเริ่มทำงาน และแฟนๆ เริ่มถามหาความเหมาะสมของการตั้งราคาบัตรคอนเสิร์ตว่าควรเริ่มมีการตั้งเพดานเพื่อควบคุมราคาบัตรกันอย่างจริงจังหรือไม่

ถ่ายรูปคู่ศิลปินแบบ group photo VS 1:1

คอนเสิร์ต JACKSON WANG MAGIC MAN WORLD TOUR 2022 BANGKOK ของ Jackson Wang ที่เพิ่งประกาศรายละเอียดของราคาบัตรและผังที่นั่ง เมื่อวันที่ 10 ต.ค. ที่ผ่านมา ทำเอาแตกตื่นกันไปทั้งโลกโซเชียล เพราะตัวเลขราคาบัตรแพงที่สุดพุ่งไปถึง 5 หลัก ในราคา 18,000 บาท แลกกับสิทธิพิเศษที่ได้รับ ได้แก่

  • บัตรยืน (เป็นโซนที่ใกล้เวทีที่สุด)
  • ถ่ายรูปรวมกับแฟนคลับ (ไม่ต่ำกว่า 5 คน แต่ไม่ได้ระบุว่ากี่คน)
  • ลายเซ็น
  • เข้าชมรอบซ้อม หรือซาวด์เช็ก
  • ของที่ระลึกประจำทัวร์
  • เข้าคอนเสิร์ตก่อนใคร

ซึ่งแฟนๆ ต่างวิพากษ์วิจารณ์กันถึงสิทธิพิเศษที่ได้รับไม่เหมาะสมกับราคาบัตร โดยส่วนใหญ่มองว่าราคาบัตรที่แพงที่สุดแบบนี้ควรได้ถ่ายรูปกับศิลปินแบบเดี่ยว 1:1 มากกว่า ซึ่งแฟนๆ ได้เข้าไปคอมเมนต์พูดคุยกับหนุ่มแจ็คสันที่เข้าทวิตเตอร์เพื่อพูดคุยกับแฟนๆ พอดี และเขาตอบว่าเขากำลังต่อรองกับทีมงานที่มีกันอยู่หลายคน เพื่อที่จะได้เจอแฟนๆ แบบสองต่อสองมากกว่า และในที่สุดทีมผู้จัดก็เปลี่ยนสิทธิพิเศษจากถ่ายรูปแบบกลุ่ม เป็นถ่ายรูปเดี่ยวกับศิลปินได้ในเวลาต่อมา

 

ถ่ายรูป 1:1 ของแต่ละศิลปิน

สำหรับคอนเสิร์ตศิลปินเกาหลี หรือไอดอล K-POP โดยทั่วไปสิทธิพิเศษที่แฟนๆ มักจะได้รับส่วนใหญ่เป็นถ่ายรูปแบบกลุ่ม การแตะมือแบบไฮไฟว์ (Hi-Touch) กับศิลปิน การได้เข้าชมรอบซ้อมก่อนขึ้นเวทีจริง (Sound Check) การได้ไปส่งศิลปินก่อนขึ้นรถกลับโรงแรม (Send-Off) และการได้ลายเซ็นจากศิลปิน ที่มาพร้อมกับรูปโพลารอยด์ โปสเตอร์ หรือซีดีอัลบั้ม ทั้งรับเองก่อน-หลังงานจบ และรับจากมือศิลปินโดยตรง แต่ก็มีบางงาน (และโดยส่วนใหญ่เป็นงานแฟนมีตติ้งมากกว่าคอนเสิร์ตเต็มรูปแบบ) ที่จะได้ถ่ายรูปคู่ศิลปินแบบตัวต่อตัว หรือ 1:1 ซึ่งมักจะเป็นสิทธิพิเศษสำหรับบัตร VIP ที่ราคาสูงที่สุดและมีจำนวนจำกัด

อย่างไรก็ตาม สำหรับการถ่ายรูปคู่แบบ 1:1 ทางฝั่งศิลปินตะวันตกมักเรียกว่า Meet & Greet เป็นสิทธิพิเศษของบัตร VIP ที่ราคาหลักหมื่นบาท… หลายหมื่นบาท อาจพบได้ตั้งแต่ราคา 30,000-60,000 บาท ยกตัวอย่างคอนเสิร์ตของ Ariana Grande ใน The Sweetener Tour เมื่อปี 2019 ที่อเมริกา ราคาบัตร VIP ไปถึงราคา 40,000 กว่าบาทไทย มาพร้อมกับสิทธิที่ได้ถ่ายรูปคู่กับศิลปินแบบ 1:1 ถ่ายรูปได้หลายช็อตจากกล้องของทีมงาน และได้พูดคุยกับศิลปินอย่างใกล้ชิดสั้นๆ ทางด้านศิลปินก็เป็นกันเองกับแฟนคลับมากๆ จับมือ กอด อุ้ม ทำท่าขอแต่งงาน ไปจนถึงหอมแก้มก็ทำได้ แฟนๆ จึงมักบอกต่อๆ กันว่าแพกเกจ VIP คุ้มสุดๆ

ในขณะที่สิทธิถ่ายรูปแบบ 1:1 ของศิลปินเกาหลี อาจมีกฎที่เข้มงวดมากกว่าศิลปินฝั่งตะวันตกเล็กน้อย กับจำนวนภาพที่ได้ที่อาจจะไม่มากเท่า หรือข้อจำกัดในการถึงเนื้อต้องตัว และจำนวนเวลาในการพูดคุย อาจจะไม่มากมายเท่ากับศิลปินตะวันตก (อาจมีเหตุผลทางด้านความปลอดภัยด้วย) แต่ราคาของบัตรก็ถูกกว่าตามไปด้วย (แต่ก็ไม่เสมอไปเช่นกัน)

คลิปของคุณ พาร์ค พากย์นรก กับประสบการณ์บัตร VIP และแพกเกจ Meet & Greet กับ Ariana Grande​, Fifth Harmony​, Beyoncé​, Rihanna​, Meghan Trainor​, Iggy Azalea​, Britney Spears​ และ Jennifer Lopez ที่อเมริกา

สิทธิพิเศษของบัตร VIP กับความคุ้มค่าของราคาที่จ่ายไป

คอนเสิร์ต Stray Kids 2nd World Tour MANIAC BANGKOK มาพร้อมบัตร VIP ราคา 8,500 บาทที่สิทธิพิเศษของผู้ถือบัตร VIP มีเพียงแค่ได้เข้าชมชอบซ้อม (Sound Check) สิทธิในการซื้อ Tour Merchandise หรือสินค้าประจำทัวร์คอนเสิร์ตก่อนใคร และของที่ระลึกเล็กน้อย ไม่มีการถ่ายรูปกับศิลปินหรือแม้กระทั่งการถ่ายรูปกับศิลปินแบบหมู่ หรือ Group Photo ทำให้แฟนๆ วิพากษ์วิจารณ์เรื่องของราคาบัตรและความคุ้มค่าของสิทธิพิเศษที่ได้รับกันอย่างมาก

รวมถึงราคาบัตรคอนเสิร์ตที่พุ่งสูงขึ้นไม่หยุด จากบัตรคอนเสิร์ตศิลปินเกาหลีที่ส่วนใหญ่ยังไม่เกิน 7,000 บาท แต่คอนเสิร์ตนี้กลับพุ่งไปถึง 8,500 บาท และบัตรยืนที่ปกติอยู่ในราคา 4,000-5,000 บาท คอนเสิร์ตนี้เริ่มต้นที่ 7,000 บาทและเวทีไม่ได้ยื่นมาถึงโซนบัตรยืนอย่างที่ควรจะเป็น (ที่นั่งติดขอบเวทีทั้งหมดเป็นบัตรราคา 8,500 ทั้งหมด) ทำให้การจัดผังที่นั่งดังกล่าวเป็นที่พูดถึงกันอย่างดุเดือดถึงความเหมาะสมของทั้งการจัดผังที่นั่ง และการกำหนดราคาที่สูงขึ้นเรื่อยๆ

Stray Kids 2nd World Tour MANIAC BANGKOK

Super Junior Super Show 9 Bangkok 2022ผังที่นั่ง และราคาบัตรคอนเสิร์ต SUPER JUNIOR WORLD TOUR - SUPER SHOW 9 : ROAD in BANGKOK

VIP ที่ไม่ได้ถ่ายรูปคู่ ก็มีเหมือนกัน

บัตรคอนเสิร์ตแบบ VIP ไม่ได้มาพร้อมสิทธิ์ในการ Meet & Greet หรือถ่ายรูปคู่เสมอไป บัตรราคา 16,500 บาทของคอนเสิร์ต Justin Bieber ในไทย นอกจากที่นั่งในโซนที่ใกล้เวทีที่สุดแล้ว ก็มีสิทธิพิเศษเพียงของที่ระลึกพิเศษต่างๆ ที่ไม่มีวางจำหน่ายตามปกติเท่านั้น

บัตร VIP หรือจะสู้ Top Spender 

นอกจากนี้ หากคิดว่าราคาบัตร VIP เพื่อได้ถ่ายรูปสองต่อสองกับศิลปินแพงลิบลิ่วแล้ว ขอแนะนำให้รู้จักกับคำว่า Top Spender ซึ่งหมายถึงคนที่ซื้อของมูลค่ารวมเยอะที่สุด มักเป็นกติกาในการได้ถ่ายรูปหรือพูดคุยกับศิลปินอย่างใกล้ชิด เช่น งาน fansign ที่ต้องเป็น Top Spender ในการซื้ออัลบั้มสูงที่สุด อาจจะ 50-300 คน เพื่อมีโอกาสได้ถือซีดีไปให้ศิลปินเซ็นปกให้เองกับมือ และได้พูดคุยกับศิลปินในระยะใกล้ๆ (ช่วงโควิด-19 ระบาด มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบเป็น video call คุยกับศิลปินในเวลาที่จำกัด)

หรือจะเป็นงานอีเวนต์ต่างๆ ที่แฟนๆ ต้องซื้อของจากสปอนเซอร์หลักของงาน เพื่อให้ได้เป็นผู้ที่ซื้อของมูลค่าสูงสุดจำนวน 5-20 คน (แล้วแต่งาน) เพื่อได้นั่งแถวหน้าของงานอีเวนต์นั้นๆ และได้พูดคุย และถ่ายรูปกับดารา-ศิลปินที่ชื่นชอบ ซึ่งเมื่อไม่มีการกำหนดราคา การต่อสู้จึงเข้มข้น และดันราคาไปได้จนถึงหลักล้านบาทได้เลยทีเดียว เช่นเดียวกับงาน Exhibition ล่าสุดของ JAY B ที่ร่วมกับ Siam Center ที่ Top Spender อันดับ 1 จ่ายเงินไป 1,127,000 บาท

Siam Center x JAY B 'Be Yourself' The First Exhibition in Bangkok

ราคาบัตรคอนเสิร์ต ควรมีการควบคุมราคาได้หรือยัง

จากราคาบัตรคอนเสิร์ต โดยเฉพาะศิลปินต่างประเทศที่มีราคาแพงกว่าศิลปินในประเทศเนื่องด้วยต้นทุนที่สูงกว่า ทำให้ราคาบัตรมักจะแพงกว่าอย่างเห็นได้ชัด แต่ราคาบัตรที่พุ่งสูงขึ้นอย่างไม่มีกรอบ และไม่มีองค์กรหรือมาตรการในการควบคุมราคาอย่างเป็นรูปธรรม อาจทำให้มีปัญหาว่าราคาของบัตรคอนเสิร์ตจะไปสิ้นสุดอยู่ที่เท่าไร ความคุ้มค่าคุ้มราคาวัดกันที่ตรงไหน ความเหมาะสมของราคาบัตรคอนเสิร์ตต้องดูที่อะไรบ้างถึงจะเรียกว่ายุติธรรมและสมน้ำสมเนื้อ ในส่วนนี้อาจจะมีแค่ค่ายเพลงและผู้จัดคอนเสิร์ตเท่านั้นที่จะตอบได้ แต่การฟังเสียงของลูกค้าก็เป็นส่วนที่สำคัญเช่นกัน เพราะต้องไม่ลืมว่าสำหรับศิลปินเกาหลีแล้ว แฟนคลับส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักเรียนที่ยังไม่มีรายได้ และวัยเริ่มทำงานที่ยังมีรายได้ไม่มากนัก การกำหนดราคาบัตรที่สูงเกินไป อาจเป็นการ “กีดกัน” กลุ่มแฟนๆ ชนชั้นกลางที่ไม่สามารถเจอหน้าศิลปินได้ เพราะโดนตัดสิทธิออกโดยอัตโนมัติจากอุปสรรคของราคาบัตร

VIP กับการเป็นแฟนพันธุ์แท้

การเป็นเจ้าของบัตร VIP ที่ราคาสูงลิบลิ่ว อาจการันตีได้ในระดับหนึ่งว่าคุณคือแฟนคลับที่จริงจังกับศิลปินมากถึงขั้นยอมเสียเงินหลายหมื่นหลายแสนเพื่อได้พบกับศิลปินที่ชอบ เป็นการสนับสนุนศิลปินอย่างถูกต้องตามกฎระเบียบข้อบังคับทุกอย่าง ไม่มีอะไรผิด (หากคุณได้บัตร VIP มาด้วยความสามารถของตัวเองล้วนๆ) แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคนที่ไม่เคยซื้อบัตร VIP จะถูกด้อยค่าว่าเป็นแฟนคลับชนชั้นที่ต่ำกว่าแต่อย่างใด เพราะการสนับสนุนศิลปินไม่ได้มาจากการใช้เงินเพียงอย่างเดียว คุณอาจเป็นสายซัพพอร์ตจากการดูคอนเสิร์ตด้วยบัตรราคาธรรมดา ฟังเพลง ดูมิวสิควิดีโอ ตามอ่านข่าว ตามดูคอนเทนต์ต่างๆ ที่มาจาก official คอยโหวตให้กับศิลปินเมื่อมีการแข่งขันหรืองานประกาศรางวัลต่างๆ หรือแม้กระทั่งการคอมเมนต์ พูดถึงศิลปินกับคนรอบข้างหรือในโลกออนไลน์ พูดคุยกับศิลปินผ่านโซเชียลมีเดียอย่างสม่ำเสมอ ก็ถือเป็นการสนับสนุนศิลปินได้ในแบบที่ไม่ต้องเสียเงินมากมาย และไม่ได้ทำให้คุณเป็นแฟนพันธุ์แท้ของดารา-ศิลปินนั้นน้อยกว่าใครในด้อม (กลุ่มแฟนคลับ)

ในขณะที่คอนเสิร์ตของสาว Taylor Swift ไม่มีการจำหน่ายบัตรพร้อมสิทธิพิเศษในการถ่ายรูปคู่กับเธอ แต่เธอเลือกที่จะถ่ายรูปและพูดคุยกับแฟนๆ อย่างใกล้ชิดแบบฟรีๆ ไม่ต้องเสียเงินเพิ่ม แต่คุณต้องเป็นแฟนที่ติดตามเธออย่างใกล้ชิดจนเธอจำคุณได้ ไม่ว่าจะเป็นจากการตามดูเธอในคอนเสิร์ตบ่อยๆ หรือการตามโพสต์ คอมเมนต์หาเธอจนเธอจำ username ได้ เธอจะติดต่อคุณเพื่อให้คุณพบเธอที่หลังเวทีเป็นการส่วนตัวเอง เพราะฉะนั้นทุกๆ คอมเมนต์ของคุณมีค่า และศิลปินอาจจะเคยอ่าน หรือเห็น username ของคุณผ่านตามาบ้างก็เป็นได้

 

ความสัมพันธ์ระหว่างดารา-ศิลปิน และแฟนคลับ อาจดูเป็นเรื่องที่ซับซ้อนในสายตาของคนทั่วไป แต่จริงๆ แล้วไม่ได้ยากแก่การเข้าใจ หากคุณเป็นสายเปย์ อยากได้สิทธิเจอตัวจริงของศิลปิน อยากเจอศิลปินบ่อยๆ ก็ทำต่อไป (หากเป็นสิทธิที่ได้มาจากการจ่ายเงินของตัวเองล้วนๆ) หากคุณไม่มีเงินมากก็ไม่ต้องเสียใจ ไม่จำเป็นต้องใช้เงินมหาศาลเพื่อจะเป็นแฟนคลับใครมากขนาดนั้น แค่สนับสนุนผลงานในแบบที่ตัวเองแล้วตัวเองมีความสุข ไม่เดือดร้อน ไม่โกงเงินคนอื่น ไม่ใช้เงินจนเกินตัว หรืออาจจะแค่ซื้ออัลบั้ม นั่งฟังเพลง ดูเอ็มวีอยู่ที่บ้านเฉยๆ ถึงจะไม่เคยไปดูคอนเสิร์ต หรือไม่เคยเสียเงินกับการซื้อสินค้าใดๆ ก็ไม่ใช่เรื่องผิด ขอเพียงแค่ให้การชื่นชอบใครสักคนเป็นพื้นที่มอบความสุขให้กับเราก็เพียงพอ

และขอฝากไว้เป็นการบ้านให้กับค่ายเพลง และผู้จัดคอนเสิร์ตที่หลงมาอ่านบทความนี้ ว่าคุณจะ “ขาย” ศิลปินให้กับแฟนคลับแบบบัวไม่ให้ช้ำ น้ำไม่ให้ขุ่น ได้อย่างไร เพื่อไม่ให้ชื่อค่ายหรือชื่อผู้จัดต้องติดเทรนด์ในโลกออนไลน์ในแง่ที่ไม่ดี และเปลี่ยนเป็นการจัดการที่เหมาะสม เพื่อรอรับคำชมและรักษาฐานแฟนคลับต่อไปได้เรื่อยๆ แบบน้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า กันไปยาวๆ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook