เกิดอะไรขึ้นในแวดวงดนตรี และอุตสาหกรรมเพลงช่วงปลายปี 2019 โดย อนุสรณ์ สถิรรัตน์ | Sanook Music

เกิดอะไรขึ้นในแวดวงดนตรี และอุตสาหกรรมเพลงช่วงปลายปี 2019 โดย อนุสรณ์ สถิรรัตน์

เกิดอะไรขึ้นในแวดวงดนตรี และอุตสาหกรรมเพลงช่วงปลายปี 2019 โดย อนุสรณ์ สถิรรัตน์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ดูเหมือนว่าตั้งแต่ปลายปีก่อนมาถึงตอนนี้ แวดวงดนตรีและอุตสาหกรรมเพลงตื่นตัวขึ้นจนผิดสังเกต ในแง่ของแวดวงดนตรี มีวงดนตรีที่นำเสนอแนวทางแปลกใหม่ ตลอดจนนำดนตรีที่ได้รับความนิยมในอดีตมาเสนอในแง่มุมที่ทันสมัยขึ้น จนยากจะคาดเดาว่าเทรนด์ใหม่ในแวดวงดนตรีอนาคตจะไปในทิศทางใด ขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมเพลงที่ดาวน์โหลดและสตรีมมิงครองตลาดส่วนใหญ่เอาไว้หลายปี กลับพบว่าสถานการณ์ปัจจุบันแสดงให้เห็นว่าทั้งดาวน์โหลดและสตรีมมิงไม่ใช่ของตายสำหรับคนฟังเพลงอีกต่อไป ทั้งการเปิดตัวร้าน HMV ที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่อังกฤษ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้คนยังชอบเดินเข้าร้านหาซื้อสินค้าเกี่ยวกับเพลงที่ตัวเองต้องการอยู่ รวมทั้งฮาร์ดแวร์ที่สามารถผลิตแผ่นเสียงขนาด 10 นิ้วให้เราเอาไว้ฟังเองได้ ซึ่งถ้าเป็นเมื่อ 20-30 ปี ไม่มีใครคิดเลยว่าอุตสาหกรรมเพลงจะก้าวมาถึงจุดนี้ได้ อ่านรายละเอียดกันได้เลยครับ

 
- ร้าน HMV ที่ใหญ่ที่สุดในโลกเปิดตัวที่เมืองเบอร์มิงแฮม ประเทศอังกฤษ

 hmvinstagram_20_10_2019_13_59_1Instagram @hmvinstagramHMV Vault

hmvvault_20_10_2019_14_0_25_9Instagram @hmvvault

hmvinstagram_20_10_2019_13_59Instagram @hmvinstagram

HMV Vault เป็นชื่อร้านใหม่ของ HMV Store ที่ใหญ่ที่สุดในโลก เปิดให้บริการแล้วที่เมืองเบอร์มิงแฮม ประเทศอังกฤษ ซึ่งร้านมีความกว้างเท่ากับคอร์ตเทนนิส 12 สนามเรียงกัน (ประมาณ 2,322.58 ตารางเมตร) ด้วยพื้นที่ใช้สอยมากขนาดนี้ ร้านจึงมีซีดีอยู่ราว 80,000 แผ่น แผ่นเสียงอนาล็อก 25,000 แผ่น นอกจากมีสินค้าเกี่ยวกับดนตรีหลายประเภท ยังมีสินค้าอื่นๆอีกอาทิ หนังสือ, โปสเตอร์, เสื้อทีเชิร์ต และอีกมากมาย อีกทั้งมีพื้นที่เป็นเวทีสำหรับให้วงดนตรีเล่นให้ลูกค้าชมด้วย

คอนเซ็ปต์ใหม่ของ HMV จะไม่ใช่ร้านของสินค้าเกี่ยวกับดนตรีอย่างเดียวอีกต่อไป เพราะร้าน HMV Vault แห่งนี้จะเป็นร้านเอนเตอร์เทนที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปชนิดที่หาคู่แข่งยาก รวมทั้งเป็นการบอกทางอ้อมว่าแบรนด์ HMV กำลังจะกลับมาผงาดอีกครั้ง เป็นการตอบโจทย์ของกลุ่มลูกค้าที่ยังต้องการหาซื้อสินค้าเกี่ยวกับดนตรีโดยวอล์กอินเข้าร้านเหมือนอย่างในอดีตเช่นเดิม แม้ผู้คนอีกจำนวนหนึ่งจะหาเพลงใหม่ ๆ ฟังผ่านสตรีมมิงก็ตาม พวกเขาก็ยังออกจากบ้านไปที่ร้านเพื่อซื้อซีดี แผ่นเสียงและเทปอยู่ดี

จากเหตุการณ์นี้ ทำให้ผมหวังว่าอนาคตร้าน Tower Records ที่เคยเป็นแหล่งนัดฟังของคนฟังเพลงสากลในยุค 90s' จะกลับมาเปิดสาขาในบ้านเราอีกครั้งหนึ่ง เพราะเป็น Music Store ที่มีขายแทบจะเหมือนกับ HMV Vault เลยทีเดียว แม้ภายหลังเปลี่ยนเป็น CD Warehouse ในยุคที่ดาวน์โหลดมีบทบาทมากขึ้น มันก็ยังเป็นที่พึ่งหลักของกลุ่มคนฟังเพลงเข้าสายเลือดอยู่ดี

ในวันเปิดร้านวันแรกมีลูกค้าวัยรุ่นไปต่อแถวกันยาวเหยียดรอร้านเปิด นั่นเพราะศิลปินที่ไปแสดงในร้านคือ Liam Payne จากวง One Direction นั่นเอง

 hmvinstagram_20_10_2019_13_59_2Instagram @hmvinstagram

hmvvault_20_10_2019_14_0_45_4Instagram @hmvvaultLiam Payne at HMV Vault Opening Day

หลายปีก่อน หลายคนคิดว่าอุตสาหกรรมเพลงจะพลิกโฉมไปเป็นการฟังสตรีมมิงเป็นหลัก แต่เวลานี้ พวกเขาอาจจะต้องเปลี่ยนความคิดเสียใหม่ บางทีสตรีมมิงอาจเป็นเพียงตัวเลือกเพื่อการค้นหาเพลงใหม่ฟัง เป็นทางผ่านเพื่อลองผิดลองถูก แต่เมื่อถึงเวลาต้องการฟังเพลงเป็นเรื่องเป็นราว พวกเขาก็ต้องเดินเข้าร้าน ซื้อซีดี แผ่นเสียงกลับไปฟังที่บ้าน มีเป็นสมบัติส่วนตัวที่สามารถหยิบมาฟังได้ทุกเวลาที่ต้องการนั่นเอง


- เครื่องทำแผ่นเสียงส่วนตัวของคุณคนเดียวในราคา 30,000 บาทต้น ๆ

ไม่น่าเชื่อใช่ไหมครับ ถ้าเมื่อก่อนมีเพื่อน ๆ หรือใครสักคนบอกคุณว่ามีเครื่องทำแผ่นเสียงเพื่อให้คุณทำแผ่นขนาด 10 นิ้วไว้ฟังเองได้

แม้ปัจจุบัน โรงงานผลิตแผ่นเสียงในบ้านเราพากันปิดกิจการกันไปหมดแล้ว แต่แว่วว่ามีเจ้าของกิจการขนาดย่อยบางรายมีไอเดียรับผลิตแผ่นเสียงตามออเดอร์กันบ้างแล้ว แต่ติดตรงที่ต้นทุนสูงเหลือเกิน บางทีการทำแผ่นเสียงไว้ฟังเพลงกับบ้านอาจเป็นอีกทางออกหนึ่งสำหรับคนที่ชอบฟังเพลงก็ได้

Phonocut เป็นเครื่องทำแผ่นเสียงอนาล็อกไวนิลได้ตามที่คุณต้องการ มันจะมีเพียงแผ่นเดียวเพื่อคุณคนเดียว แต่คุณต้องจ่ายเงินราว 1,100 เหรียญสหรัฐฯหรือราว 30,000 กว่าบาทเพื่อแลกมันมา

เครื่องนี้สามารถทำแผ่นเสียงขนาด 10 นิ้วที่มีพื้นที่สำหรับเล่นเพลงได้ราว 10-15 นาทีในแต่ละด้าน (ด้านเอและด้านบี) Phonocut ถูกออกแบบมาให้ใช้งานง่าย สะดวก เพียงแค่เสียบปลั๊กด้วยสายออดิโอ เหมือนเสียบแจ๊กเฮดโฟน แล้วกด Play

เครื่องนี้บันทึกเสียงแบบเรียลไทม์ เหมือนเรากำลังฟังเพลงไปตามปกติ แรกสุด เตรียมเพลงเป็นดิจิตัล ออดิโอไว้ เครื่องจะตัดแผ่นออกมาเป็นไวนิลขนาด 10 นิ้ว เวลาบันทึกสิ่งที่เราต้องการลงบนแผ่นไวนิล ขณะที่บันทึก หัวเข็มเพชรทำหน้าที่สร้างรอยหยักคลื่นเสียงลงบนผิวแผ่นไวนิลโดยตรง แน่นอนว่าคุณเลือกให้มันบันทึกสิ่งที่คุณคิดว่าดีที่สุด น่าฟังที่สุดลงบนผิวแผ่น เป็นเพลย์ลิสต์ส่วนตัวของคุณเพียงคนเดียว นอกจากนี้คุณยังปรับโทนเสียง เรียบเรียงเพลง โดยใช้แอปที่อยู่ในเครื่องได้ด้วย

ฟลอเรียน “ด๊อก” แคปส์ ผู้เชี่ยวชาญด้านอนาล็อกและร่วมผู้คิดค้น Phonocut นี้ กล่าวว่า “ดิจิทัลมีปัญหาด้วยตัวมันเอง เพราะมันไม่เหมือนจริงทั้งหมด คุณเข้าถึงและเล่นมันได้ง่ายมาก แต่นั่นคุณได้แค่ฟัง ทว่าจับต้องไม่ได้ ดมหรือเลียมันไม่ได้ มนุษย์อย่างเราๆต้องใช้สัมผัสทั้งห้า ดิจิทัลไม่ตอบสนองตรงนี้ เราจึงต้องคิดค้นสิ่งที่จะตอบสนองสัมผัสทั้งห้าของเราได้”

Phonocut มีขนาดมาตรฐานไม่ต่างจากเครื่องเล่นแผ่นเสียงทั่วไป หนักราว 18 ปอนด์ กว้างยาวด้านละฟุตกว่าๆ ขนาดและน้ำหนักปกติสำหรับคนที่เล่นแผ่นเสียงเป็นประจำอยู่แล้วครับ อนึ่ง ผมยังไม่ทราบว่าผู้ใช้จะหาซื้อแผ่นไวนิลเปล่าจากแหล่งใด หรือจะมีเครื่องผลิตแบบพกพาออกมาขายภายหลัง

 d90bf5f593a8a4016ee7339b8394eKickstarterPhonocut home vinyl recorder

Phonocut เปิดให้สั่งจองล่วงหน้าผ่าน Kickstarter เมื่อวันที่ 15 ตุลาคมที่ผ่านมา หากคุณต้องการฟังตัวอย่างสุ้มเสียงที่ได้จากเครื่อง Phonocut นี้ แวะฟังได้ที่เว็บไซต์อย่างเป็นทางการที่ https://phonocut.com/

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook