“หนุ่ม กะลา โดนหมายจับ” กับปัญหาการจ่ายค่าลิขสิทธิ์ที่ไม่จบไม่สิ้น(สักที) | Sanook Music

“หนุ่ม กะลา โดนหมายจับ” กับปัญหาการจ่ายค่าลิขสิทธิ์ที่ไม่จบไม่สิ้น(สักที)

“หนุ่ม กะลา โดนหมายจับ” กับปัญหาการจ่ายค่าลิขสิทธิ์ที่ไม่จบไม่สิ้น(สักที)
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กลายเป็นกระแสสังคมอยู่ในขณะนี้สำหรับข่าวคราวของ ณพสิน แสงสุวรรณ หรือที่ทุกคนรู้จักกันดีในนาม “หนุ่ม กะลา” ที่โดนหมายจับในความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้าด้วยการเผยแพร่ภาพและเสียงต่อสาธารณชน ซึ่งงานดนตรีกรรมหรือโสตทัศนวัสดุโดยไม่ได้รับอนุญาต เหตุจากการที่เขานำเพลง “ยาม” ของวง Labanoon ไปร้องตามร้านรวงต่างๆ และสถานที่จัดคอนเสิร์ตรวมแล้ว 47 ครั้ง

คำถามก็คือ เกิดอะไรขึ้นกับการจ่ายค่าลิขสิทธิ์ ทั้งๆ ที่ตัว หนุ่ม กะลา เองก็เป็นนักร้องชื่อดัง และต้นสังกัดของเขาก็เป็นค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ของเมืองไทย?

(อ่านข่าวย้อนหลัง : หนุ่ม กะลา มอบตัวแล้ว หลังถูกออกหมายจับเพราะร้องเพลง "ยาม")

หากจะว่ากันตามความจริงแบบโลกไม่สวย ปัญหาลิขสิทธิ์นับเป็นปัญหาที่บั่นทอนอุตสาหกรรมดนตรีในบ้านเราหรือแม้แต่อุตสาหกรรมดนตรีโลกมาอย่างยาวนาน ไล่เรียงมาตั้งแต่เว็บไซต์ดาวน์โหลดเพลงฟรีอย่าง Napster สู่ยุคเทปผีซีดีเถื่อนที่ทำลายล้างการทำอัลบั้มเต็มของเหล่าศิลปินเพลงลงอย่างไม่เหลือชิ้นดี จนหลายคนมองว่า ซีดีได้ตายไปเรียบร้อยแล้ว รวมไปถึงปัญหาการก็อปปี้เพลง ที่กลายเป็นข่าวใหญ่โตบ้าง หรือไม่ในทางกลับกัน ก็หายจ้อยไปกับสายลม

และหากยังพอจะจำกันได้เมื่อราวๆ 2 ปีก่อน เกิดประเด็นที่เจ้าของร้านกาแฟในจังหวัดแพร่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ (2537) หลังเปิดเพลงจากเว็บไซต์ YouTube ภายในร้าน และเสียค่าปรับเป็นจำนวนเงิน 20,000 บาท, กรณีนายชนินทร์ วรากุลนุเคราะห์ กรรมการบริษัท เพาเวอร์ เทรเซอร์ จำกัด ค่ายเพลง Music Bugs ยื่นฟ้องบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) และวง Labanoon เรียกค่าเสียหายถึง 50 ล้านบาท เรื่องละเมิดลิขสิทธิ์เพลงทั้ง 7 อัลบั้มของวง Labanoon ซึ่งเป็นสิทธิ์ของบริษัท, ข่าวคราววงมหาหิงค์ ที่ทำเพลง “สิ่งรอบข้าง” โดยลอกทำนองเพลง What You Know” ของศิลปินต่างชาติอย่าง Two Door Cinema Club หรือแม้แต่ล่าสุดกับกรณีวง Big Ass ที่แม้ว่าจะนำเพลงของ ‘ตนเอง’ อย่าง “ก่อนตาย” มาร้อง แต่กลับถูกเจ้าของลิขสิทธิ์ฟ้องเช่นกัน

Labanoon

Big Ass

ซึ่งหากจะว่ากันตามกฎหมาย งานลิขสิทธิ์ที่เกี่ยวข้องกับเพลง หรือ งานดนตรีกรรม ซึ่งจะหมายถึง คำร้อง ทำนอง การเรียบเรียงเสียงประสาน รวมถึงตัวโน้ตเพลงที่แยกและเรียงเรียงเสียงประสานที่สร้างสรรค์โดยนักแต่งเพลง เมื่อมีการนำมาบันทึกเป็นเทปหรือซีดี จัดทำเป็นสินค้าจัดจำหน่ายซึ่งตัวเสียงของดนตรี งานดนตรีกรรมดังกล่าวจะถือเป็นงานสิ่งบันทึกเสียงที่สร้างสรรค์โดยบริษัทเทป การที่บริษัทเทปจะนำงานดนตรีกรรมไปให้นักดนตรีเล่น หรือให้นักร้องร้องบันทึกเป็นเทปต้นแบบเพื่อปั๊มเป็น เทป/ซีดี เพื่อจัดจำหน่าย ก็ต้องขออนุญาตสิทธิทำซ้ำงานดนตรีกรรมดังกล่าวจากนักแต่งเพลงก่อน โดยจ่ายผลตอบแทนให้สิทธิส่วนนี้เรียกว่า “สิทธิทำซ้ำ” และหากผู้ประกอบการใดๆ ที่มีการเปิดหรือแสดงเพลงเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจ ต้องทำการขออนุญาตสิทธิเผยแพร่ต่อสาธารณชนเสียก่อน โดยจะเรียกว่า “สิทธิเผยแพร่ต่อสาธารณชน”

หรือถ้าอธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ หากจะนำเพลงที่มีเจ้าของลิขสิทธิ์ไปเล่นสด เปิดเพลงในร้านกาแฟ ร้านอาหาร หรือแม้กระทั่งสปา ต้องขออนุญาตเจ้าของลิขสิทธิ์ก่อน หากไม่ทำการขออนุญาต ถือว่า “ผิดกฎหมาย”

ย้อนกลับมาที่กรณีของ หนุ่ม กะลา ที่นำเพลง “ยาม” ของศิลปินร่วมค่าย (ในปัจจุบัน) อย่าง Labanoon ไปเล่นสด ปัญหาก็คือ เพลงดังกล่าวอยู่ในอัลบั้ม นมสด ที่ปล่อยออกมาเมื่อปี 2541 และตอนนั้น Labanoon สังกัดค่าย Music Bugs ซึ่งถือลิขสิทธิ์เพลงมาจนถึงบัดนี้

สิ่งที่น่าสนใจคือ การนำเพลงของศิลปินอื่นมาร้อง ย่อมต้องมีการขออนุญาตเป็นเรื่องเป็นราว ซึ่งหากจะลงลึกไปอีกก็คงเป็นเรื่องข้อสัญญาที่ระบุไว้ว่าเป็นเช่นไร หรือแม้แต่ข้อตกลงที่น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยอยู่พอสมควร

สิ่งที่เราเห็นจนชินตาตั้งแต่สมัยอดีตเป็นต้นมา ยกตัวอย่างง่ายๆ ก็คือศิลปินเพลงลูกทุ่งนำเพลงในตำนานต่างๆ ของศิลปินท่านอื่นกลับมาร้องในสไตล์ของตนเอง นับเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่น่าขบคิดว่า เรื่องลิขสิทธิ์ในสมัยก่อนนั้นเข้มข้นและเข้มงวดมากน้อยเพียงใด

(อ่านข่าวย้อนหลัง : โพสต์แรก "หนุ่ม กะลา" หลังโดนหมายจับ ละเมิดลิขสิทธิ์เพลง)

ในขณะที่เรื่องราวชวนคิดที่น่าสนใจมากๆ ในวันนี้ ก็คือ 2 ฟากฝั่งคือคู่กรณีเดิมตั้งแต่เคสวง Labanoon เมื่อ 2 ปีก่อนนั่นก็คือ ผู้ยื่นฟ้องอย่าง Music Bugs และผู้ถูกฟ้องอย่าง จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่

คงไม่อาจล้วงเจาะไปถึงเบื้องลึกเบื้องหลังถึงการจ่ายค่าลิขสิทธิ์ระหว่าง 2 บริษัทดังกล่าวว่ามีกระบวนการหรือขั้นตอนอย่างไร แต่หากย้อนกลับไปคราวที่เกิดกรณีการฟ้องร้องวง Labanoon ทาง จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ก็ออกมาแถลงข่าวอย่างเป็นทางการว่า เป็นเรื่องราวเข้าใจผิดกันเพียงเท่านั้น โดยชี้แจงว่า เพลงใน 7 อัลบั้มเก่าของ Labanoon นั้นอยู่ภายใต้สัญญาที่ทาง Music Bugs เซ็นเหมาเพื่อใช้ในการจัดเก็บลิขสิทธิ์ทั่วไปกับทางแกรมมี่ และเมื่อ Labanoon เซ็นสัญญาเข้ามาเป็นศิลปินของ แกรมมี่ ภายใต้การดูแลของ genie records ก็มีการตรวจสอบสัญญาและพบว่า ในข้อตกลง Labanoon สามารถนำเพลงจากอัลบั้มเก่ามาใช้ในการแสดงสดได้ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารของ Music Bugs ในช่วงกลางปีดังกล่าวอาจนำมาซึ่งความไม่เข้าใจในสัญญาก็เป็นได้

หนุ่ม กะลา

ทั้งนี้ ใช่เพียงค่ายเพลงและศิลปินเท่าที่ต้องทำความเข้าใจเรื่องราวของลิขสิทธิ์ เพราะประชาชนทั่วไปก็ควรศึกษาและเรียนรู้ เพื่อประโยชน์ต่อตัวท่านเอง หรือแม้แต่บริษัทที่ดูแลและจัดการเรื่องลิขสิทธิ์ ก็สามารถรณรงค์และให้ความรู้เพิ่มเติมได้

เพราะท้ายที่สุดหากทุกคนมีความเข้าใจที่ถูกต้องและตรงกัน ผลดีก็จะเกิดขึ้นต่ออุตสาหกรรมดนตรี และภาพรวมของสังคมอย่างไม่ต้องสงสัย

 

Story by: Chanon B.
ขอขอบคุณภาพจาก: genie record / FB - Num KALA
ขอขอบคุณข้อมูลจาก: mct.in.th

 

อ่านข่าวเพิ่มเติม

>>> เคลียร์ไม่ได้ "หนุ่ม กะลา" ยื่นเงินแสนประกันตัว เดินสาย 47 โรงพักที่ถูกแจ้งความ

>>> หนุ่ม กะลา เดินสายรับทราบข้อหาลิขสิทธิ์เพลง "ยาม" ที่ สน.บางเขน

>>> ช็อค!! มิวสิคบั๊กส์ เตรียมฟ้องค่าเสียหาย วงลาบานูน และ เเกรมมี่ 50 ล้านบาท

>>> Big Ass ยังไม่แถลงข่าว! รอพูดคุยเรื่องปัญหาลิขสิทธิ์เพลง

>>> หนุ่ม กะลา ฉลอง 19 ปีในวงการเพลง! ประกาศจัดคอนเสิร์ตใหญ่ครั้งแรกในชีวิต

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook