“ไก่ ณฐพล” ความเชื่อ ความบ้า และความกล้าที่จะก้าวสู่การกำกับสารคดี “ตูน บอดี้สแลม”

“ไก่ ณฐพล” ความเชื่อ ความบ้า และความกล้าที่จะก้าวสู่การกำกับสารคดี “ตูน บอดี้สแลม”

“ไก่ ณฐพล” ความเชื่อ ความบ้า และความกล้าที่จะก้าวสู่การกำกับสารคดี “ตูน บอดี้สแลม”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

พรุ่งนี้ (6 กันยายน 2561) คือวันแรกของการเข้าฉายภาพยนตร์คลุกวงในเรื่อง 2,215 เชื่อ บ้า กล้า ก้าว กับเรื่องราว 55 วันการวิ่งจากใต้สุดสู่เหนือสุดแห่งสยามประเทศของชายที่ชื่อ อาทิวราห์ คงมาลัย หรือ ตูน บอดี้สแลม ที่ชาวไทยทุกคนไม่มีใครไม่รู้จัก แต่สำหรับชายอีกหนึ่งคนที่ได้รับการแปะป้ายว่าเป็นผู้กำกับภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้อย่าง ไก่-ณฐพล บุญประกอบ ต้องยอมรับว่าความเชื่อ ความบ้า และความกล้าในการก้าวมาสู่การเป็น “ผู้เล่าเรื่อง” เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ดังกล่าวของเขาก็ไม่น้อยหน้าไปกว่าใคร บุคคลภายนอกอาจมองว่ามันไม่ใช่เรื่องง่ายในการทำหนังเรื่องนี้ ใช่ มันไม่ง่าย อาจเต็มไปด้วยความคาดหวังจากใครหลายคน ก็ใช่อีกนั่นแหละ เพราะแม้แต่ตัวละครเอกของเรื่องอย่าง “ตูน” เองก็ยังคาดหวังในสิ่งที่เขาอยากเห็น และอยากให้หนังเรื่องนี้เป็น

ท้ายที่สุดบทสนทนาในเที่ยงวันนั้นระหว่าง Sanook! TV/Movies และ ไก่ ณฐพล ที่กลายมาเป็นตัวอักษรเบื้องล่างนี้ เทุกกระบวนการ ทุกความรู้สึกที่เกิดขึ้น นับเป็นข้อพิสูจน์ที่ชัดเจนอย่างหนึ่งว่า ไม่มีอะไรเป็นไปไม่ได้ … หากเรา “ลงมือทำ”


ในงานแถลงข่าวคุณบอกว่า จริงๆ คุณตัดสินใจจะทำงานที่อเมริกาต่อหลังเรียนปริญญาโทด้าน Social Documentary จาก School of Visual Arts กรุงนิวยอร์ก แต่ท้ายที่สุดคุณก็กลับมากำกับหนัง 2,215 เชื่อ บ้า กล้า ก้าว ทั้งๆ ที่ในมุมหนึ่ง การทำงานที่นั่นก็เป็นโอกาสที่ท้าทายอยู่ไม่น้อย?

คือจริงๆ จุดเริ่มต้นมันมาจากการที่พี่ตูน (บอดี้สแลม) มาขอให้พี่เก้ง (จิระ มะลิกุล) ช่วยเอาฟุตเทจตอนที่เขาวิ่งที่บางสะพานมาทำเป็นหนัง เพื่อที่จะเป็นจุดเริ่มสำหรับการวิ่งเบตง-แม่สาย พี่เก้งก็เลยมาชวนเรา ซึ่งตอนนั้นยังเรียนอยู่อเมริกา แต่มันมีช่วงระยะเวลาที่ลากลับมาได้ แล้วทำหนังจบภายใน 3 เดือน ก็ตกลงว่าจะทำ ทีนี้ก็มีทีมงานของโครงการก้าวคนละก้าวไลน์มาบอกเราว่า พี่ตูนเปลี่ยนใจ อยากทำเป็นสารคดีการวิ่งเบตง-แม่สายแทน ไอ้จังหวะที่คิดก็คือตอนนั้นแหละว่าจะทำดีไหม แต่ใช้เวลาตัดสินใจไม่นานนะ เพราะเรารู้สึกว่างานนี้ท้าทาย ตัวละครก็น่าสนใจมาก อาจจะเป็นใบเบิกทางในแง่อาชีพ หรือในแง่วงการสารคดีไทย

ความท้าทายที่คุณรู้สึกคืออะไร?

พอมันเป็นงานสารคดี ในฐานะผู้กำกับ การจะทำงานสักชิ้นเราต้องเข้าใจบริบทวัฒนธรรมนั้นสูง แล้วถ้าสมมติจะบอกเล่าเรื่องอะไรในสังคม เราก็ต้องเข้าใจพื้นฐานของสังคมนั้นมากและลึกซึ้งพอ ซึ่งถ้าเราอยู่อเมริกา การที่จะทำให้ผู้ถูกสัมภาษณ์รู้สึกไม่เกร็ง ทำให้เขารู้สึกสนุก ตลก หรือพูดถึงสิ่งนี้สิ่งนั้น ต่อยอดให้บทสนทนามันไม่ตาย พอมันไม่มีความเชื่อมโยงถึงกัน เรารู้สึกว่ามันทำงานลำบาก แล้วเราก็ไม่อินกับหลายๆ อย่างที่เขาอินกัน เราเลยรู้สึกว่า อยากทำงานที่เมืองไทย เพราะเราอินกับสิ่งที่เราเล่า สิ่งที่เราทำ

เราจะเรียก 2,215 เชื่อ บ้า กล้า ก้าว ว่าเป็นภาพยนตร์หรือสารคดี?

มันคือสารคดีแหละ แต่วิธีการประชาสัมพันธ์หนังเราใช้คำว่า ภาพยนตร์คลุกวงใน เพื่อต้องการจะดึงคนมาให้ได้มากที่สุด คือเราไม่ได้ต้องการสร้างความเข้าใจเบื้องต้นว่ามันจะเป็นสารคดีที่ข้อมูลแน่นเอี้ยดแน่ๆ แต่ถ้ามันมีพื้นที่อธิบายแบบนี้ มันคือภาพยนตร์สารคดี เพราะวิธีการมันคือ non-fiction แต่จริงๆ คำถามนี้มันสะท้อนลึกลงไปอีกว่า ความเข้าใจของคำว่า สารคดี ภาพยนตร์ หรือภาพยนตร์สารคดีมันคืออะไรกันแน่ จริงๆ คำว่า Documentary มันกว้างมาก เรียงความ ภาพถ่าย นิตยสารสามารถเป็นสารคดีได้หมด ในขณะที่ Film คือภาพยนตร์ พอสารคดีมาอยู่ในคำว่าภาพยนตร์ ก็กลายเป็นภาพยนตร์สารคดี นิยามของภาพยนตร์คือ ภาพเคลื่อนไหวที่ได้รับการเรียบเรียงให้เป็นเรื่องเล่า จะด้วยวิธีไหนก็ตาม ฉะนั้นคุณก็สามารถเอาคำว่าสารคดีมาอยู่ในภาพยนตร์ได้ บางคนเข้าใจว่าภาพยนตร์ต้องมีนักแสดง แต่บางทีมันก็ไม่ใช่

แต่ดูจากภาพยนตร์ตัวอย่างก็ไม่ได้มีความเป็นสารคดีจ๋าขนาดนั้น?

ถ้าจะให้นิยามง่ายที่สุด สิ่งที่เราทำคือ actual event คือสิ่งที่ถ่ายจากตัวละครจริง เหตุการณ์จริง เราบันทึกสิ่งที่เกิดขึ้นจริง แต่เราเรียบเรียงมันด้วยแนวคิดของภาพยนตร์ fiction สมมติคำว่า “ภาพยนตร์” เป็นเซตที่ใหญ่ที่สุด ในนั้นก็จะมี fiction ก็คือเรื่องแต่งและจินตนาการล้วน non-fiction ก็คือขั้วตรงข้าม แต่พื้นที่ตรกลางก็จะมีคนตั้งคำถามอีกว่า แล้วอย่าง The Blair Witch Project ล่ะ วิธีการถ่ายเป็นสารคดี แต่มันเป็นภาพยนตร์ fiction นะ อย่างนี้เป็นต้น มันเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมาเนิ่นนาน

ย้อนกลับไปตอนตัดสินใจ ส่วนตัวมีความเชื่อแค่ไหนว่าจะทำหนังเรื่องนี้ออกมาได้ดี หรือเป็นอย่างที่วาดหวังเอาไว้?

ไม่มีคำถามนี้อยู่ในหัวเลยนะ เพราะงานทุกงานเราก็อยากทำให้มันดีอยู่แล้ว เราปล่อยไปตามสิ่งที่มันเกิดขึ้น แต่ว่าในแง่ความกดดัน ความคาดหวัง มันมีอยู่แล้วแหละ เพราะสิ่งที่เราต้องทำคือ การเล่าเรื่องผู้ชายคนหนึ่งที่เป็นซูเปอร์ร็อคสตาร์ที่เราเองก็ติดตามมาตั้งแต่เด็กๆ ในอีเวนต์ระดับชาติ เราจะทำมันดีพอหรือเปล่า แต่มันก็เป็นแค่ช่วงแรกๆ นะ  คือสัปดาห์แรกนี่เครียดมาก ข่าวลงรายวันเลย มีแต่เรื่องดราม่า อันโน้นก็ไม่ได้ถ่ายไว้ อันนี้ก็พลาด เพราะโปรดักชั่นมีแค่ 4 คนกับกล้องอีก 2 ตัว แต่ท้ายที่สุดเราตัดสินใจโฟกัสความรู้สึกและมุมมองเราที่มีต่อเหตุการณ์ มันไม่ใช่ว่าเราต้องเล่าร้อยเปอร์เซ็นต์ แล้วร้อยเปอร์เซ็นต์ของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน ประสบการณ์ที่ทุกคนมีต่อเหตุการณ์นี้ก็ไม่เหมือนกันอีก ก็เลยกลับมาที่จุดตั้งต้นว่า ทีมเรารู้สึกอย่างไรกันวะ เฮ้ย อันนี้น่าสนใจนะ อะไรประมาณนี้

ท้ายที่สุดประเด็นที่อยากจะสื่อสารผ่านหนังเรื่องนี้คืออะไร?

คือเรารู้อยู่แล้วว่าจะฉายหนังเรื่องนี้ตอนพี่ตูนวิ่งจบไปแล้ว เพราะฉะนั้นจะวิ่งถึงหรือไม่ถึงไม่ใช่โจทย์ที่เราจะสื่อสารแน่ๆ แล้วอะไรล่ะที่มันลึกกว่านั้น อะไรที่ผ่านไปแล้ว 1 ปียังกลับมาดูได้ เราแค่อยากถ่ายทอดพี่ตูนในฐานะมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง ไม่ใช่ในสื่อกระแสหลักที่แต่งตั้งให้เขาเป็นฮีโร่ขาวสะอาด เราอยากเห็นเขาเป็นพี่คนหนึ่งที่คุยกับเราปกติแบบนี้แหละ เพราะเราสัมผัสได้ไง แต่ในระหว่างทางเราก็พยายามสร้างไอเดียหลายอย่าง แต่ก็พับเก็บไป ท้ายที่สุดคำตอบสุดท้ายคือพี่ตูน เรากลับมาให้พี่ตูนเป็นจุดศูนย์กลางของหนังอยู่ดี แต่เสน่ห์ของระหว่างทางคือเราไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นต่อไปอยู่ตลอดเวลา มันมีความสดลักษณะนั้นอยู่ คือในแง่ของการทำงานสารคดีมันเป็นแบบนี้แหละ เราจะชอบบอกว่า การทำสารคดีเหมือนทาร์ซาน ตอนเริ่มก็ต้องมีเถาวัลย์เส้นแรกก่อน มโนเอาว่ามันจะเกิดแบบนั้นแบบนี้ พอโหนไปเจอเถาวัลย์เส้นใหม่ เราต้องกล้าที่จะปล่อยเส้นเดิมแล้วโหนเส้นต่อไป แต่มันจะยังนำไปสู่ทิศทางที่เราตั้งใจไว้ตั้งแต่แรก คือเลือกที่จะปรับตัว แต่ต้องหนักแน่นในทิศทางที่เราจะไป ชัดเจนในสิ่งที่เราอยากจะทำ

ก่อนหน้านี้คุณเคยกำกับมิวสิควิดีโอ, หนังสั้น, เขียนบทภาพยนตร์ แต่สำหรับประโยคที่ว่า “ภาพยนตร์เรื่องแรกในชีวิต” มันมีความหมายต่อชีวิตคุณอย่างไรในฐานะผู้กำกับ?

(คิดนาน) มันรู้สึกหวิวๆ แปลกๆ คืออย่างที่บอกไปตอนแรกแหละ มันเหมือนเป็นตัวเซตอัพอาชีพ เซตอัพสิ่งที่เราคิดว่ามันจะเป็นตลาดของหนังสารคดี พี่เต๋อ (นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์) ทำไปแล้ว ก็รู้สึกว่าเราต้องช่วยๆ กันทำ แต่ในแง่ของความรู้สึกจริงๆ มันเหมือนมีรอบซ้อมไปแล้วตอนที่ได้เขียนบท ทั้ง SuckSeed..ห่วยขั้นเทพ และ เมย์ไหน..ไฟแรงเฟร่อ เหมือนเราได้เป็นครีเอเตอร์ระดับหนึ่ง แต่พอมาได้ทำจริงๆ มันเป็นคนละเรื่องเลย กระบวนการการทำงานเราทำกันอยู่ 4-5 คน นั่งจ้องหน้ากันไปมา แต่จนถึงเวลาที่เราต้องโปรโมตมัน มันกลายเป็นเหมือนอยู่ดีๆ เราก็ไปยืนอยู่ข้างพี่ตูนในสปอตไลต์นั้น มันรู้สึกแปลกมากว่า ทำไมคนอื่นสนใจเราขนาดนั้น เราเป็นคนโชคดีเหรอวะที่มีโอกาสได้ทำ มีคนเชื่อใจให้ทำ ก่อนหน้านี้เรายืนอยู่แถวหลังไง แต่นี่มันคือ พี่ตูน ถัดมาคือเราเลย จากคนที่เราเคยเห็นเขามาเล่นคอนเสิร์ตที่โรงเรียน แต่ไม่มีใครลุกขึ้นมาเต้น เพราะเขายังไม่ดัง จนกระทั่งวันนี้เราไปกินเบียร์บ้านเขา  คือถามว่าการเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกในชีวิตมันมีความหมายอย่างไรกับเรา มันอาจจะไม่ใช่เพราะเป็นเรื่องแรก แต่มันเพราะเป็นหนังเรื่องนี้ มันมีความพิเศษประหลาดๆ อยู่ เราเชื่อว่าคนทำหนังคนอื่นมาทำเรื่องนี้ก็จะรู้สึกหวิวๆ แปลกๆ คล้ายกันล่ะมั้ง เพราะว่าก้าวนี้มันคือภูเขาสักลูกหนึ่งซึ่งมันสูงมาก

การทำงานกับผู้ชายที่ชื่อ ตูน บอดี้สแลม แวบแรกคิดว่ายากหรือง่ายอย่างไร?

ก็ได้ยินกิตติศัพท์เขามาบ้างในแง่ของความซีเรียสในการทำงาน พิถีพิถันทุกเม็ด แต่เอาจริงๆ พอพี่ตูนวิ่งครั้งแรกที่บางสะพานไปแล้ว เขาอยู่ในจุดที่ค่อนข้างคลี่คลายแล้ว ดูอัลบั้มล่าสุดของ บอดี้สแลม สิ ชื่อ วิชาตัวเบา ก่อนหน้านี้ ดัม-มะ-ชา-ติ แค่ชื่อยังไม่ค่อยเข้าใจเลย เนื้อเพลงแต่ละเพลงก็ยากมาก มาถึงอัลบั้มนี้มันสะท้อนชัดอยู่แล้วในงานว่าเขาผ่อนลง จริงๆ คนอย่างพี่ตูนควรมีสารคดีตั้งนานแล้ว แต่เขาอาจจะไม่รู้สึกถึงความจำเป็น แต่พอมาครั้งนี้เขาให้เราอยู่กับเขาตลอดเวลา เขาออกมาวิ่ง อยู่หน้ากล้อง เพื่อให้คนบริจาคเงินเยอะที่สุด อีกทีมไปถ่ายตอนที่เขาพัก ตอนที่เขาอยู่เป็นส่วนตัว สุดท้ายออกมาเป็นหนังเรื่องหนึ่ง จริงๆ สิ่งนี้สะท้อนชัดที่สุดตอนที่เราฉายหนังให้เขาดูครั้งแรก โมเมนต์ที่เขาเปลี่ยนความคาดหวังที่เขามีกับหนังเรื่องนี้ว่า เป็นเรื่องของเขาก็ได้ถ้ามันจะสร้างอิมแพ็ค สร้างแรงบันดาลใจได้ดีที่สุด ซึ่งมันอาจจะไม่ตรงกับสิ่งที่เขาคาดหวังตั้งแต่แรกว่ามันจะต้องเป็นเรื่องหมอ พยาบาล หรือเรื่องของคนอื่น แล้วเขาเป็นแค่ทางผ่าน ไม่ต้องมาโฟกัสที่เขา แม้ว่าเขาจะเป็นคนมีอำนาจในการจะเปลี่ยนอะไรก็ได้ แต่สุดท้ายเขาโอเค ไม่เป็นไร คือพี่ตูนละวางตัวตนมากๆ แล้ว ซึ่งมันพาเขาไปไกลอีกขั้นหนึ่งในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง

ความบ้าคลั่งที่สุดระหว่างการถ่ายทำ?

9 วันแรกบ้าคลั่งมาก ถ่ายวันแรกฝนตกหนัก กล้องดับ เปิดไม่ติด แล้วตามแพลนคือวิ่ง 4 วัน พัก 1 วัน แต่ช่วงแรกยังควบคุมขบวนวิ่งได้ไม่ดี ประชาชนก็ยังไม่รู้วิธีการ หรือกระทั่งตัวพี่ตูนเองก็ตามที่มาด้วยความไฟแรงมาก แวะถ่ายรูป แวะเซลฟี่กับทุกคน คือทุกคนจริงๆ จนตัวเองเจ็บตั้งแต่สองวันแรก มันเลยวิ่งไม่ถึงระยะที่กำหนด ฉะนั้นวันที่จะได้พักก็เลยต้องวิ่งต่อ กลายเป็น 9 วันที่ไม่ได้พักเลย แล้วฝนก็ตกระดับพายุแทบทุกวัน เสื้อสตาฟฟ์มี 5 ตัว ใส่ 9 วัน ใส่เสื้อซ้ำในขบวนที่ต้องวิ่งทั้งวัน กลางแดด กลางฝน ร่างกายก็ยังไม่คุ้นชิน เข้าเมืองที่คนเยอะก็บ้าคลั่งมาก เหมือนมีเล่นสงกรานต์กันทุกวัน (หัวเราะ) เหนื่อยมาก อยากกลับบ้าน แต่ก็ไม่ท้อนะ

ในฐานะผู้กำกับ ต้องใช้ความกล้ามากแค่ไหนในการทำภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ให้เสร็จสมบูรณ์?

ในขณะที่ถ่ายมันไม่ใช่ความกล้าที่เราจะต้องฮึกเหิม มันจะมาหนักในช่วงตัดต่อ ในแง่การเรียบเรียงมันยาก ทำอย่างไรให้ลื่นไหลที่สุดในความเป็นไปได้ในชิ้นส่วนที่เรามี นั่งตัดต่อกันทุกวัน ฟุตเทจเยอะมาก แต่ถ้าจะเจาะไปที่เรื่องความกล้า ต้องย้อนกลับไปวันที่จะฉายให้พี่ตูนดูครั้งแรกนั่นแหละ คุยกันครั้งแรกสุดพี่ตูนเขาออกตัวอยู่แล้วว่าไม่อยากให้หนังเกี่ยวข้องกับเขา หลังจากนั้นพี่ตูนก็ไม่เคยรีวิวฟุตเทจใดๆ ทั้งสิ้น ไม่เคยถามเลยว่าหนังเกี่ยวกับอะไร เป็นอย่างไร จนกระทั่ง 1 สัปดาห์ก่อนฉายให้เขาดู เขาไลน์มาถามว่าหนังเป็นอย่างไรบ้าง เราก็เลยโทรไปเล่าให้เขาฟัง เขาไม่สบายใจ เขาไม่อยากให้มันเป็นแบบนี้ ผมก็เครียดทันที นอนไม่หลับ จุดยืนเรา จุดยืนพี่ตูน จะแก้ดีไหม จะเปลี่ยนไหม ซึ่งมันก็ไม่ทันแน่ๆ พี่วรรณฤดี พงษ์สิทธิศักดิ์ โปรดิวเซอร์ก็มาบอกว่า ไม่เป็นไร ไม่ต้องกลัว เพราะสุดท้ายถ้าเขาไม่โอเคก็ต้องแก้อยู่ดี เครียดไปก็ไม่มีประโยชน์ ทำเต็มที่ในจุดที่เราอยู่ ให้เขาเห็นว่าเราพยายามอย่างดีที่สุดแล้วในความตั้งใจของเรา มันอาจจะไม่ใช่ความกล้าซะทีเดียวหรอก เพราะถ้าพูดว่าความกล้าเราอาจจะต้องตั้งใจเพื่อที่จะเดินไป แต่นี่เราไหลไปตามสายพาน รอเขาถือมีดอยู่ เขาจะฟันไหมวะ (หัวเราะ) อ๋อ เขาไม่ฟันเว้ย

>> ผกก. “2,215 เชื่อ บ้า กล้า ก้าว” เผย “ตูน บอดี้สแลม” นั่งเงียบนาน 5 นาทีหลังดูหนังจบครั้งแรก

พูดถึง หมู-ชยนพ บุญประกอบ ซึ่งเป็นพี่ชายแท้ๆ ของคุณสักนิด ซึ่งเปิดตัวในฐานะผู้กำกับได้สวยหรูทีเดียว มันสร้างความกดดันให้น้องชายอย่างคุณบ้างไหม?

(ตอบทันที) ไม่ ไม่เลย มันอาจจะเป็นข้อดีที่ที่บ้านเลี้ยงมาแบบไม่ได้กดดันลูก และไม่เคยกดดันกัน ทำงานด้วยกันแต่ไม่เคยเอาตัวเองไปเปรียบเทียบ พี่หมูประสบความสำเร็จ เราล้มเหลว มันไม่เคยมีคำนั้น ไม่มีความรู้สึกนั้นอยู่ในหัวเลย ก็คือทำด้วยกัน แค่นั้นเลย ไม่รู้จะเปรียบเทียบไปทำไม อีกอย่างเราอาจจะไม่ได้เป็นคนมีฝันว่าต้องเป็นผู้กำกับมาตั้งแต่เด็ก คือมันเป็นของมันเอง มีคนไว้ใจให้เราทำ เรื่องนี้เราได้ทำ เราก็ทำเต็มที่ หลายคนชอบถามว่าเมื่อไหร่จะมีหนังของตัวเอง นี่ไง ก็ทำอยู่ นี่ก็หนัง คนจะชอบยกภารกิจที่ใหญ่กว่านั้น พอเราบอกว่าจะทำสารคดีต่อ เขาก็จะแบบ อ้าว ทำแค่สารคดีเองเหรอ อ้าวพี่ นี่เป็นงานที่ผมตั้งใจทำงาน ดูเป็นลูกเมียน้อย ดูไม่จริงจัง แต่จริงจังนะเว้ย

ตั้งแต่จุดเริ่มต้นของ 2,215 เชื่อ บ้า กล้า ก้าว, 55 วันที่ไปออกกอง จนมาถึงวันนี้ ความเชื่อที่มีต่อบางอย่างในชีวิตเปลี่ยนแปลงไปบ้างไหม?

เราเชื่อในการลงมือทำมากขึ้นมั้ง เหมือนที่พี่ตูนลงมือทำ เหมือนที่เราทำหนังเรื่องนี้ แมสเสจเดียวกัน เราอาจจะมองกว้างขึ้นว่า มันไม่ได้มีแค่ถูกหรือผิดในประเด็นใดประเด็นหนึ่ง เรามองบริบทมันมากขึ้น แล้วเราก็ละวางตรงจุดนั้นมากขึ้น พิจารณาสิ่งที่เราทำ ตรวจสอบตัวเองมากขึ้น ทำมากขึ้น คือมันเป็นเรื่องธรรมะมากเลยนะ เหมือนเราดูหนังแล้ววิจารณ์สิ่งที่คนอื่นทำเป็นปกติอยู่แล้ว เราไม่ห้ามตัวเอง เราก็ไม่ควรห้ามคนอื่น เราทำบนพื้นฐานของหลักการ เหตุและผล สุดท้ายคือ เราทำอะไรสักอย่างหนึ่ง การถกเถียงอภิปรายก็เป็นการเก็บข้อมูลเพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตัวเองไปสู่การกระทำต่อๆ ไป เราจะทำอะไรล่ะหลังจากนี้ สิ่งที่น่าสนใจคือ บางคนตั้งคำถามว่า การวิ่งของพี่ตูนสะท้อนโน่นสะท้อนนี่ สะท้อนถึงการล้มเหลวของการบริหารอะไรก็แล้วแต่ มันไม่มีผิดไม่มีถูก อยู่ที่เรามองด้วยเลนส์ไหน มุมไหน สุดท้ายตัวเราในฐานะปุถุชนคนหนึ่ง เราจะแสดงปฏิกิริยาโต้ตอบอย่างไรในขอบเขตที่เราทำมากกว่า

ก้าวต่อไปของผู้ชายที่ชื่อ ไก่ ณฐพล?

ก็ทำงานทำหนังไปเรื่อยๆ เราก็ไม่ได้จำกัดตัวเองว่าต้องทำหนังสารคดี นั่นคือสิ่งที่คนแปะป้ายให้เรา นั่นคือสิ่งที่เราเรียนมา แต่เราก็มีความสุขกับมันนะ ไม่ได้ปฏิเสธมัน ถ้าเราเจอสิ่งที่เราอยากเล่า หรือเราไปเจอเหตุการณ์ไหนที่อยากบันทึก เราก็ทำ นอกนั้นเราก็สนใจเรื่องการศึกษา ในแง่ของการเวิร์กช็อป การสอน ก็พยายามทำกับเพื่อน อยากเอากระบวนการการทำสารคดี วิธีการมองสารคดีมาถ่ายทอดให้คนเข้าใจ และตระหนักถึงความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่คนดู คนทำ หรือตัวละครในหนังเกี่ยวโยงกัน จริงๆ แล้ววิธีการมองหนังสารคดีมีหลายแบบ อย่างรายการกระจกหกด้าน หรือสารคดีสัตว์โลก คนเล่าก็จะมีอำนาจเหนือกว่า เพราะว่าเป็นคนให้ความรู้ แล้วก็คอมเมนต์ตัวละครได้เหมือนเป็นพระเจ้า หรืออาจจะเป็นสารคดีแบบ observe เราเป็นมนุษย์ล่องหนไปอยู่ในชีวิตเขา คนดูก็จะเทียบเท่ากับตัวละคร ไม่มีคอมเมนต์จากเบื้องบน หรืออย่างรายการ คนค้นฅน คนเล่ากับตัวละครมีปฏิกิริยาโต้ตอบกัน เปลี่ยนไดนามิกความสัมพันธ์ไปในการมองแบบต่างๆ เราว่าประเด็นนี้น่าสนใจ ถ้าองค์ความรู้นี้ไปในวงกว้างได้ก็จะดี

เหตุผลที่ต้องไปดู 2,215 เชื่อ บ้า กล้า ก้าว?

เรารู้สึกว่าประสบการณ์ที่ได้รับจากการเป็นคนเล่าเรื่องนี้มันพิเศษมาก ถ้าให้ยกมาแบบเท่ๆ จะชอบมีคำคมบอกว่า อย่าไปรู้จักไอดอลคุณในชีวิตจริง เพราะจะทำให้คุณเสื่อมศรัทธา แต่พี่ตูนตรงกันข้าม ในฐานะที่เราเป็นคนที่ได้ไปสัมผัสเขาในชีวิตจริง สิ่งที่เขาเป็นมันกลับให้แรงบันดาลใจเรามากกว่าการที่เขาเป็นไอดอลเราตั้งแต่เด็ก เรารู้จักเขาแล้วเรานับถือเขามากขึ้น และเราอยากให้คนดูรู้สึกเหมือนกัน

 

ลิงค์ชมวิดีโอ "ไก่ ณฐพล" จากหัวใจที่รักสารคดี สู่ผู้กำกับ "2,215 เชื่อ บ้า กล้า ก้าว"

ย้ำกันอีกสักครั้งว่า ภาพยนตร์เรื่อง 2,215 เชื่อ บ้า กล้า ก้าว จะฉายให้ชมฟรี ตั้งแต่วันที่ 6-16 กันยายน 2561 ที่โรงภาพยนตร์ในเครือเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ และโรงภาพยนตร์ในเครือ เอส เอฟ วันจันทร์-ศุกร์ ฉายให้ชม 1 รอบ ส่วนวันเสาร์-อาทิตย์ฉายให้ชม 2 รอบ อีกทั้งยังมีการเชิญชวนให้ร่วมบริจาคเงินเพื่อหารายได้ซื้ออุปกรณ์การแพทย์ เพื่ออาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล อาคารหลังสุดท้ายที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานนามให้ เพื่อผู้ป่วยด้อยโอกาส โรงพยาบาลศิริราช และผลิตบุคลากรทางการแพทย์รุ่นใหม่ต่อไป โดยมี คิง เพาเวอร์ ไทย เพาเวอร์ พลังคนไทย ร่วมสนับสนุนการฉายภาพยนตร์ “2,215 เชื่อ บ้า กล้า ก้าว” ให้คนไทยได้ชมฟรีจำนวน 720,000 ที่นั่งอีกด้วย

>> ฟรีกว่า 7 แสนใบ! “คิง เพาเวอร์” จัดให้ มอบตั๋วดูหนังคลุกวงในก้าวคนละก้าวของ ตูน บอดี้สแลม

ใครสนใจร่วมบริจาคเพื่อจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ ให้แก่อาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ผ่านช่องทางเหล่านี้ :

1) บัญชีรับบริจาค ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาศิริราช เลขที่บัญชี 016-3-04556-7 ประเภทบัญชีกระแสรายวัน ชื่อบัญชี เพื่อการรักษาพยาบาลผู้ป่วยอาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา โรงพยาบาลศิริราช

2) SMS บริจาคครั้งละ 10 บาท โดยพิมพ์ T แล้วกดส่งมาที่ 4545099 (เริ่มบริจาคทาง SMS ได้ตั้งแต่ 1 ก.ย. 61)

3) สแกน QR Code ผ่าน Mobile Banking เพื่อการบริจาค

4) SCB EASY APP สามารถบริจาคผ่านปุ่ม "บริจาค" ใน SCB EASY APP และเลือก โครงการ “ก้าวคนละก้าว” เพื่อโรงพยาบาลศิริราช (เริ่มบริจาคได้ตั้งแต่ 11 ส.ค. 61)

5) กล่องรับบริจาค ตรงเคาน์เตอร์หน้าโรงภาพยนตร์

6) บริจาคผ่านช่องทาง True Money Wallet

อัลบั้มภาพ 33 ภาพ

อัลบั้มภาพ 33 ภาพ ของ “ไก่ ณฐพล” ความเชื่อ ความบ้า และความกล้าที่จะก้าวสู่การกำกับสารคดี “ตูน บอดี้สแลม”

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook