รู้ไว้ไม่มีเด๋อ ไหว้ศาลเจ้าที่ญี่ปุ่นแบบถูกมารยาทเขาทำกันอย่างไร?

รู้ไว้ไม่มีเด๋อ ไหว้ศาลเจ้าที่ญี่ปุ่นแบบถูกมารยาทเขาทำกันอย่างไร?

รู้ไว้ไม่มีเด๋อ ไหว้ศาลเจ้าที่ญี่ปุ่นแบบถูกมารยาทเขาทำกันอย่างไร?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ไม่ว่าจะเป็นวันที่ต้องไปวัดครั้งแรกของปี, การไปสวดอธิษฐานขอพร, งานวัดหรืองานธรรมเนียมประเพณีต่างๆ หรือจะเป็นการไปเที่ยวที่วัดหรือศาลเจ้าก็ตาม เราคงจะเคยได้เห็นกันอยู่ใช่ไหมคะว่าคนญี่ปุ่นเขาจะมีวิธีสักการะและวิธีปฏิบัติตัวเมื่อต้องเข้าวัดหรือศาลเจ้ากันอยู่ แม้แต่ในภาพยนตร์หรือในอะนิเมะเองก็มักจะสะท้อนให้เราได้เห็นกันอยู่บ่อยๆ สำหรับคนเคยไปศาลเจ้าญี่ปุ่นกันอาจจะได้ลองทำตามๆเขาไปกันบ้าง แต่ถ้าถามว่าที่เราจำแล้วนำไปปฏิบัติตามกันเนี่ยมันถูกต้อง 100% แล้วหรือไม่นั้น…ก็คงจะพูดได้ไม่เต็มปากนักใช่ไหมล่ะคะ

แน่นอนว่าเมื่อเข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตาม เราจึงอยากจะมาแนะนำวิธีสักการะศาลเจ้าให้ทุกคนได้นำไปใช้กันได้อย่างถูกต้องค่ะ เนื่องจากว่าศาลเจ้าของญี่ปุ่นหลายๆที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีผู้คนต่างพากันไปแวะเวียนกันเป็นจำนวนมาก เพราะฉะนั้นหากใครมีโอกาสได้ไปเที่ยวแล้วก็จะได้โชว์ไปเลยว่าเราซ้อมมาแล้วไม่มีผิดแน่นอน หากเราปฏิบัติได้อย่างถูกต้องก็ไม่มีเรื่องอะไรที่จะต้องอายใช่ไหมคะ นอกจากนี้เทพเจ้าท่านอาจจะเล็งเห็นแล้วตบพรอธิษฐานของเราให้เป็นจริงได้ด้วย

วิธีการสักการะ

1. ขั้นแรก เมื่อเราต้องเดินลอดเสา “โทริอิ” ต้นใหญ่ๆที่มักเห็นอยู่บ่อยๆ บริเวณเขตทางเข้าวัดหรือศาลเจ้าแล้ว

ก่อนจะเดินเข้าไปก็ให้จัดแจงเสื้อผ้าที่ใส่ให้เรียบร้อยแล้วก้มศีรษะเป็นการทักทายสักเล็กน้อยก่อนเดินเข้าไปด้านใน ถือเป็นการสักการะก่อนที่เราจะเดินลอดเข้าสู่เขตแดนของพระเจ้าค่ะ

2. เดินอย่างสำรวมและหลีกเลี่ยงการเดินตรงกลางทางเดินของศาลเจ้า
ทางเดินตรงกลางเป็นทางเดินของพระเจ้าเราจึงควรเลี่ยงที่จะเดินตรงกลางค่ะ ส่วนการเดินอย่างสำรวมก็คือการแสดงความเคารพนั่นเอง

3. การล้างมือ ชำระล้างร่างกายและจิตใจก่อนเข้าไปไหว้เทพเจ้า
เป็นการละทิ้งซึ่งสิ่งสกปรกแปดเปื้อนที่ติดตัวเราผู้อาศัยอยู่บนโลกมนุษย์ค่ะ

ไหว้ศาลเจ้าที่ญี่ปุ่นแบบถูกมารยาทต้องทำอย่างไร?

sahou-9-e1542553693819

4. ก้มศีรษะทักทายเล็กน้อย จากนั้นใส่เหรียญลงไปในกล่องรับบริจาค หรือบางครั้งอาจเจอแบบที่เป็นกล่องไม้ใหญ่ๆวางอยู่หลังกระดิ่งที่บางทีเขาก็จะโยนเหรียญลงไป ทีนี้เมื่อใส่เหรียญลงไปแล้วก็สั่นกระดิ่ง จากนั้นโค้ง 2 ครั้ง ตบมือ 2 ครั้ง อธิษฐานแล้วจึงโค้งอีก 1 ครั้ง เป็นการแสดงความเคารพ จากนั้นก้มหัวเล็กน้อยแล้วถอยออกมา ก็เป็นอันเสร็จเรียบร้อยแล้วค่ะ

วิธีดังกล่าวนี้ในภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า “二拝二拍手一拝” (Nihai Nihakushu Ichihai หรือ Nihai Nihakushu Ippai) หรือ “二礼二拍手一礼” (Nirei Nihakushu Ichirei) ค่ะ

5. ตอนเดินกลับ ก็ให้ทำเหมือนตอนแรกที่เดินเข้าเขตศาลเจ้าเข้าไป นั่นคือการเดินเลี่ยงตรงกลางของทางเดินค่ะ ก่อนเดินลอดเสาโทริอิออกไปก็ให้ก้มศีรษะเล็กน้อยก่อนค่ะ

ขั้นตอนการล้างมือ

เมื่อเราเดินลอดเสาโทริอิเข้าไปในเขตศาลเจ้าแล้ว ที่ข้างๆจะมีที่ล้างมืออยู่ค่ะ ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า “手水舎” (ซึ่งมีชื่อเรียกต่างๆมากมายทั้ง Chozuya, Temizuya, Chozusha, Temizusha เป็นต้น) ซึ่งบริเวณนี้มีไว้ให้ผู้มาสักการะได้ล้างมือและบ้วนปากเพื่อชำระล้างร่างกายและจิตใจค่ะ ซึ่งที่บริเวณอ่างใส่น้ำมากจะมีอักษรคันจิสลักคำว่า “洗心” (senshin) เอาไว้ ซึ่งแปลได้ตรงตัวว่า “การล้างจิตใจ” และการล้างมือทั้งสองข้างของเราก็มีความหมายว่า “การชำระล้างวิญญาณ” ให้บริสุทธิ์นั่นล่ะค่ะ ดังนั้น ก่อนที่เราจะเข้าไปสักการะทางด้านในก็ขอให้ล้างมือเพื่อชำระล้างกายและใจของเรากันก่อนด้วยนะคะ

1. ขั้นแรกให้หยิบกระบวยด้วยมือขวา ตักน้ำ แล้วล้างมือซ้าย

ก่อนอื่นให้ล้างมือซ้ายก่อนนะคะ เนื่องจากในศาสนาพุทธชินโตถือว่าข้างซ้ายเป็นข้างของความศักดิ์สิทธิ์ ข้างซ้ายจึงมาก่อนค่ะ

sahou-2

2. เปลี่ยนมาถือกระบวยตักน้ำด้วยมือซ้าย แล้วจึงล้างมือข้างขวา

ทีนี้เราก็ได้ชำระล้างมือทั้งสองข้างของเราแล้วค่ะ

sahou-3

3. ขั้นต่อไป เปลี่ยนมาจับกระบวยตักน้ำด้วยมือขวาอีกครั้ง เทน้ำใส่ฝ่ามือซ้ายแล้วบ้วนปากจากมือซ้าย ห้ามบ้วนน้ำจากกระบวยโดยตรงเด็ดขาด!

sahou-4

4. ล้างมือซ้ายอีกครั้ง

เรื่องจากใช้มือซ้ายรองน้ำบ้วนปากไปแล้ว จึงต้องล้างอีกครั้งนั่นเองค่ะ

sahou-5

5. ขั้นตอนสุดท้าย ถือกระบวยตั้งตรงด้วยมือทั้งสองข้าง ให้น้ำไหลลงมาล้างที่ด้ามจับของกระบวย

sahou-6

6. วางกระบวยคว่ำลงกลับไปไว้อย่างเดิม

เป็นการแสดงมารยาทต่อคนที่จะมาใช้กระบวยต่อจากเราค่ะ

sahou-7

การจำขั้นตอนต่างๆนี้ให้ได้อาจจะดูเป็นเรื่องยุ่งยากสักหน่อยนะคะ แต่ก็อยากให้เข้าใจในขั้นตอนของการ “ล้างมือทั้งสองข้างและการล้างปาก” โดยเริ่มจากการล้างมือซ้ายแล้วจึงมือขวา จากนั้นจึงล้างปากตามลำดับ โดยจะสรุปลำดับขั้นตอนให้อีกครั้งดังนี้ค่ะ

“มือซ้าย → มือขวา → บ้วนปากจากมือซ้าย → มือซ้ายที่ใช้รองน้ำล้างปาก → ด้ามจับกระบวย → วางคว่ำคืนที่ให้เรียบร้อย”

หากทำได้ตามลำดับขั้นตอนนี้ได้อย่างเป็นธรรมชาติไม่ติดขัดได้ละก็ รับรองไม่ถูกมองว่าเด๋อแน่นอน!
วางกระบวยคว่ำลงกลับไปไว้อย่างเดิม – วิธีปฏิบัติตัวให้ถูกต้องเมื่อต้องไปศาลเจ้า

sahou-8

การโค้ง-ตบมือ-โค้งคืออะไร? แล้วทำอย่างไร?

ถึงแม้จะเคยเห็นคนญี่ปุ่นเขาทำกัน หรือเห็นจากภาพยนตร์หรืออะนิเมะญี่ปุ่นก็ตาม แต่ก็ใช่ว่าจะทำให้มั่นใจว่าที่จำมาใช้เนี่ยถูกต้องแล้วหรือยังใช่ไหมล่ะคะ? ถ้าอย่างนั้นขอถามลองเชิงสักหน่อยแล้วกันค่ะ ว่า รู้หรือไม่คะว่าตอนตบมือ มือของเราต้องอยู่ในลักษณะไหนคะ??

1. ใส่เงินลงในกล่องรับบริจาค

การใส่เงินบริจาคลงไปเป็นเหมือนการนำของสำคัญไปถวาย ดังนั้นตอนที่อธิษฐานเราไม่ควรขอพรที่เป็นความเห็นแก่ตัวเอาแต่ได้นะคะ เช่นขอให้ถูกล็อตตารี่รางวัลที่ 1 ด้วยเถิด แบบนี้ไม่เอานะคะ เรียกว่าเป็นพรที่เห็นแก่ได้ค่ะ

2. สั่นกระดิ่ง

เสียงของกระดิ่งคือการเรียกเทพเจ้ามาปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย

3. การโค้ง 2 ครั้ง (การก้มตัวลงโค้งต่ำ 2 ครั้ง)

เป็นการแสดงความเคารพต่อเทพเจ้า

4. ยกมือขึ้นประนมมือระดับอก จากนั้นเลื่อนมือขวาลงเล็กน้อย แล้วตบมือ 2 ครั้ง หลังจากนั้นก็เลื่อนมือประนมให้ปลายนิ้วเท่ากันเหมือนเดิม เมื่ออธิษฐานเสร็จก็เอามือลง

การเลื่อนมือขวาคงเล็กน้อยตอนประนมมือนั้น แสดงถึงการแบ่งชั้นระหว่างเทพเจ้าและมนุษย์ที่ยังไม่ได้รวมกันเป็นหนึ่งค่ะ การตบมือ 2 ครั้ง เป็นการเชื้อเชิญเทพเจ้า แล้วเมื่อเราประนมมือที่ปลายนิ้วเท่ากันดังเดิมก็คือการที่เรากับเทพเจ้าประสานรวมเป็นหนึ่งแล้ว ส่วนการอธิษฐานขอพรนั้นกล่าวกันว่าเราได้รับพลังจากเทพเจ้าแล้วใส่ลงไปในคำอธิษฐานนั้นด้วยค่ะ

5. จบขั้นตอนสุดท้ายด้วยการโค้ง 1 ครั้ง

โค้งอีก 1 ครั้งเพื่อเป็นการส่งเทพเจ้าค่ะ

*การโค้ง-ตบมือ-โค้ง เป็นมารยาทและธรรมเนียมขั้นพื้นฐานที่ใช้แสดงความเคารพต่อเทพเจ้าโดยเฉพาะค่ะ

แล้วทั้งหมดนี้ก็คือวิธีการปฏิบัติตัวให้ถูกต้องเมื่อต้องไปไหว้ศาลเจ้าของญี่ปุ่น โดยเรียกได้ว่าเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่คนญี่ปุ่นมักทำกันเป็นประจำค่ะ จากที่ได้ลองสอบถามเพื่อนคนญี่ปุ่นมาแล้วนั้น แม้แต่คนญี่ปุ่นเองก็ไม่ได้คำนึงถึงความเป๊ะกันขนาดนั้นหรอกค่ะ เพื่อนคนที่เราถามนี่ตอบว่าไว้ไปตัดสินใจเอาหน้างานด้วยซ้ำว่าจะต้องทำอย่างไรบ้าง ดังนั้นแค่เราปฏิบัติได้อย่างเป็นธรรมชาติโดยไม่ติดขัดอะไรก็ถือว่าเยี่ยมแล้วค่ะ ถึงแม้ว่าจะนับถือคนละนิกายแต่อย่างไรก็ยังเป็นศาสนาพุทธเหมือนกัน การสะสมเอาไว้เป็นความรู้เพื่อนำไปใช้ให้ถูกต้องก็ไม่ใช่เรื่องที่เสียหายเลยจริงไหมล่ะคะ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook