"บอนไซ" งานศิลปะในกระถางของญี่ปุ่น

"บอนไซ" งานศิลปะในกระถางของญี่ปุ่น

"บอนไซ" งานศิลปะในกระถางของญี่ปุ่น
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

อยากรู้เรื่องบอนไซต้องอ่าน รวมข้อมูลต่างๆ ของศาสตร์และศิลป์แห่งการจับไม้ใหญ่ใส่กระถางของญี่ปุ่นที่ไม่ธรรมดา แม้แต่ที่เที่ยวที่เกี่ยวกับบอนไซเราก็มีแนะนำให้ ใครสนใจต้องอ่านต่อ

 

ความหมายของบอนไซ

ความหมายของบอนไซ

คำว่า บอนไซ 盆栽 เป็นการนำคำว่า 盆 ซึ่งแปลว่ากระถาง และคำว่า 栽 ซึ่งแปลว่าการปลูก มาประกอบเข้าด้วยกัน

ความหมายของบอนไซ ไม่ใช่แค่ตัวต้นไม้อย่างเดียว แต่ยังรวมถึงการปลูก การชื่นชม การพินิจพิจารณาความงามของต้นบอนไซที่ปลูกลงในกระถางสำหรับบอนไซโดยเฉพาะ (盆栽鉢) การเฝ้าดูความเจริญเติบโตของกิ่งก้าน รูปทรงของใบไม้ของต้นบอนไซ รากที่ชอนไช รวมไปถึงรูปทรงกระถางด้วย คำว่าบอนไซนั้นรวมถึงทุกอย่างที่กล่าวมานี้ เป็นงานอดิเรกกึ่งงานศิลปะชนิดหนึ่งของชาวญี่ปุ่น พบเห็นได้ทั่วไปตามบ้านหรือสวนของคนญี่ปุ่น

 

บอนไซคืออะไร?

บอนไซคืออะไรpixabay.com

นอกจากการนั่งชื่นชมพวกต้นไม้เหล่านั้นแล้ว บอนไซยังนับรวมไปถึงการจัดแต่งทรงกิ่งต้นไม้ให้ดูเป็นธรรมชาติด้วยเช่นกัน นี่คือจุดเด่นที่ทำให้บอนไซแตกต่างจากการปลูกไม้กระถางอื่นๆ ทั่วไปนั่นเอง 

กล่าวโดยละเอียดถึงความแตกต่างของบอนไซกับการปลูกไม้กระถางอื่นๆ ทั่วไป ก็คือ ผู้ปลูกบอนไซจะต้องทำการตัดแต่ง ดัดแปลงให้กิ่งของบอนไซมีลักษณะคล้ายกับต้นไม้ใหญ่ทั่วไปที่เราไม่สามารถปลูกได้ อาจจะด้วยข้อจำกัดของบริเวณบ้านที่มี บอนไซจึงถูกดัดแปลงให้เหมือนเป็นต้นไม้ใหญ่ที่ย่อส่วนลงมาอยู่ในกระถางนั่นเอง

นอกจากนี้ ผู้ที่ไม่สนใจหรือไม่มีโอกาสพอที่จะปลูกด้วยตนเอง การชมบอนไซแค่เพียงอย่างเดียวก็เป็นงานอดิเรกที่ล้ำลึกและใช้เวลาพอดู

 

ประวัติของบอนไซ

วัฒนธรรมบอนไซของญี่ปุ่นเริ่มขึ้นในยุคเฮอัน โดยนำเข้ามาจากจีนในยุคราชวงศ์ถัง และเริ่มได้รับความนิยมในหมู่ชนชั้นสูงและซามูไร โดยทำกันเป็นงานอดิเรกในยุคคามาคุระ 

พอเข้าสู่ช่วงยุคเอโดะ บอนไซ ศิลปะการแต่งสวนต่างๆ ก็เป็นที่นิยมเป็นอย่างมาก เรียกได้ว่าเป็นยุคเฟื่องฟูของบอนไซเลยก็ว่าได้ แม้ว่างานปลูกบอนไซจะเป็นงานอดิเรกทั่วไปของชาวญี่ปุ่น แต่การดูแล จัดแต่งทรง คอยให้น้ำ การเฝ้ามองต้นไม้ 1 ต้นเติบโตขึ้นมานั้นจำเป็นต้องใช้เวลายาวนานพอสมควร ทำให้ในยุคเมจิบุคคลที่เล่นบอนไซจึงเหลือแต่พวกที่ใจรักมากจริงๆ เท่านั้น และส่วนใหญ่จะเป็นคนในช่วงอายุสูงวัยที่พอจะมีเวลาเหลือ ทำให้หลังจากนั้นค่านิยมการปลูกบอนไซกลายเป็นค่านิยมที่ดูแก่และไม่ทันสมัย แต่ในขณะเดียวกันในช่วงยุคปี 1990 เป็นต้นมา บอนไซก็เริ่มเป็นที่นิยมในหมู่ชาวต่างชาติและทั่วโลกมากยิ่งขึ้น ทำให้ความสนใจในหมู่คนญี่ปุ่นเองค่อยๆ ฟื้นกลับมาอีกครั้ง

 

การปลูกบอนไซ

การปลูกบอนไซupload.wikimedia.org

คนที่ไม่มีความสนใจในเรื่องการปลูกไม้กระถาง หลายคนอาจจะคิดว่าบอนไซเป็นชื่อต้นไม้ชนิดหนึ่ง แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ มีต้นไม้หลากหลายชนิด หลากหลายสายพันธุ์ที่เราสามารถนำมาปลูกเป็นบอนไซได้ ไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์ดอก สายพันธุ์ใบ สายพันธุ์กิ่ง แม้กระทั่งสายพันธุ์ที่ให้ผลก็นำมาปลูกได้ 

สำหรับคนญี่ปุ่นต้นไม้ที่นิยมนำมาปลูกบอนไซได้แก่ ไม้พันธุ์ต้นสนต่างๆ ต้นสนเกี๊ยะ ต้นสนดำ ไม้พุ่มเตี้ยตระกูลเดียวกับต้น Holly ต้นพลับ ต้นซากุระ ต้นไผ่ เป็นต้น 

โดยเมื่อเราได้ต้นไม้ที่ต้องการนำมาปลูกบอนไซแล้ว ขั้นแรกคือการย้ายมาที่กระถางสำหรับปลูกบอนไซโดยเฉพาะ โดยการเลือกกระถางให้เหมาะสมกับต้นไม้ที่นำมาปลูกก็เป็นสิ่งสำคัญ ขนาดของกระถางควรจะอยู่ที่ 1 ใน 3 ของขนาดต้นไม้ นอกจากนี้แล้วภายในกระถางควรจะเป็นเนื้อดินเผา ไม่มีการเคลือบอะไรใดๆ ทั้งสิ้น ส่วนรูปทรงและสีสันก็ให้ขึ้นอยู่กับต้นไม้ที่จะนำมาปลูก 

การวางบอนไซควรจะวางในที่ที่แสงแดดส่องถึงได้ดี กล่าวกันว่าสิ่งที่ยากที่สุดในการปลูกบอนไซคือการให้น้ำ ถ้าให้น้ำน้อยไปบอนไซก็จะเหี่ยวแห้ง ให้น้ำมากไปก็จะเน่าตาย โดยปกติแล้วคนญี่ปุ่นจะกำหนดการให้น้ำบอนไซโดยขึ้นอยู่กับช่วงฤดู ที่สำคัญคืออย่าให้ดินแห้ง ในทางกลับกันก็อย่าให้น้ำจนท่วม ไม่ควรจะใช้กระถางรองใส่น้ำไว้ตลอด เพราะจะทำให้รากเน่าได้ โดยแต่ละครั้งให้รดน้ำที่รากจนชุ่มเต็มกระถาง ไม่ควรรดไปที่ด้านบนอย่างกิ่งหรือใบหรือดอก 

หัวใจของการปลูกบอนไซคือ การตัดราก ตกแต่งกิ่ง และจำกัดการให้น้ำ หากทำได้ครบและดีจะทำให้ต้นบอนไซที่ได้รับการเลี้ยงดูแข็งแรงและไม่มีขนาดใหญ่ขึ้น ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ปีก็มีขนาดที่เล็กกะทัดรัด แต่ดูแข็งแรง สวยงามอยู่เสมอ

 

ที่เที่ยวเกี่ยวกับบอนไซ - Omiya Bonsai Museum

ที่เที่ยวเกี่ยวกับบอนไซ - Omiya Bonsai Museumwww.bonsai-art-museum.jp

แรกเริ่มเดิมที โอมิยะ เมืองใหญ่ที่สุดของจังหวัดไซตามะ เป็นแหล่งรวมสวนบอนไซมากกว่า 10 ที่ ซึ่งเจ้าของสวนเหล่านี้และรัฐบาลท้องถิ่นได้รวมตัวกัน และตั้งฉายาให้อาณาบริเวณนี้มีชื่อว่า Bonsai-cho (盆栽町) หรือถ้าแปลเป็นภาษาไทยก็คือ "แขวงบอนไซ" นั่นเอง โดยบ้านเรือนที่ตั้งอยู่ในย่านนี้จะมีคำว่า "แขวงบอนไซ" ในที่อยู่จริงๆ ด้วย

ที่ญี่ปุ่นเราสามารถหาชมบอนไซได้ทั่วไป ไม่ว่าจะไปตามโรงแรมหรู สวนสาธารณะแบบเสียเงิน เรียวกังตามต่างจังหวัด ที่ไหนๆ ก็อาจมีบอนไซวางไว้เป็นของประดับได้ แต่หากใครมีความสนใจในด้านนี้เป็นพิเศษ เราขอแนะนำ พิพิธภัณฑ์ศิลปะบอนไซ หรือ Omiya Bonsai Museum ซึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดไซตามะ ใกล้กับโตเกียวเมืองหลวงนี่เอง 

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เปิดตัวขึ้นเมี่อปี 2010 เรียกได้ว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะบอนไซที่จัดตั้งโดยรัฐเป็นแห่งแรกของโลก ภายในสวนจะมีการจัดตั้งบอนไซประมาณ 60 ต้น โดยผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปตามแต่ละฤดูกาล นอกจากนี้ภายในบริเวณอาคารพิพิธภัณฑ์ยังมีการจัดแสดงวิธีการปลูกบอนไซ คอลเลคชั่นกระถางบอนไซต่างๆ อีกด้วย 


Omiya Bonsai Museum

2-24-3 Toro-cho, Kita Ward, Saitama City, Saitama 331-0804 (จากที่อยู่จะสังเกตุได้ว่าพิพิธภัณฑ์ตั้งอยู่ที่ Toro-cho ไม่ได้ตั้งอยู่ที่ Bonsai-cho หรือแขวงบอนไซ นั่นก็เพราะตัวพิพิธภัณฑ์นั้นสร้างตามมาทีหลังนั่นเอง แต่ก็ใกล้กันนิดเดียว)

ค่าเข้าชม 
ผู้ใหญ่ : 300 เยน (ประมาณ 90 บาท)
นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย นักศึกษา ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป : 150 เยน (ประมาณ 45 บาท) 
นักเรียนประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น : 100 เยน (ประมาณ 30 บาท)

เวลาเปิดทำการ
9.00 น. ถึง 16.30 น. (เดือนมีนาคมถึงเดือนตุลาคม) 
9.00 น. ถึง 16.00 น. (เดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์)
หยุดทุกวันพฤหัสบดี และวันที่ 29 ธันวาคม ถึง 3 มกราคม

การเดินทาง
สามารถใช้รถไฟ JR Utsunomiya Line (宇都宮線) ลงสถานี Toro (土呂駅) ทางออกฝั่งทิศตะวันออกแล้วเดินต่ออีกประมาณ 5 นาที 
หรือรถไฟ Tobu Noda Line (東武野田線) ลงสถานี Omiya Koen (大宮公園駅) แล้วเดินต่ออีก 10 นาที

ข้อมูลเพิ่มเติม 
www.bonsai-art-museum.jp (ภาษาอังกฤษ)


ปิดท้าย

ที่โอมิยะ นอกจากในส่วนของพิพิธภัณฑ์ศิลปะบอนไซแล้ว ในละแวกใกล้เคียงยังมีสวนบอนไซอีกมากมาย ซึ่งแต่ละที่ต่างก็มีประวัติความเป็นมาและความสวยในคนละแบบ หากใครมีความสนใจในเรื่องนี้สามารถเดินเที่ยวชมต่อจากพิพิธภัณฑ์ศิลปะบอนไซต่อได้เลย แล้วคุณจะได้พบกับความงามและความเงียบสงบของธรรมชาติอย่างแท้จริง แล้วจะเข้าใจว่าทำไมงานอดิเรกนี้ถึงอยู่คู่กับคนญี่ปุ่นมาได้หลายร้อยปี

อัลบั้มภาพ 4 ภาพ

อัลบั้มภาพ 4 ภาพ ของ "บอนไซ" งานศิลปะในกระถางของญี่ปุ่น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook