G-Token คืออะไร? โทเคนดิจิทัลของรัฐบาล ที่เตรียมเปิดขายครั้งแรก ปี 2568
.jpg?ip/crop/w1200h700/q80/jpg)
รู้จัก G-Token เครื่องมือกู้เงินรูปแบบใหม่ของรัฐบาล เริ่มต้นแค่หลักร้อย เจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่
จากกรณีที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบวิธีการกู้เงินตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ โดยการออกโทเคนดิจิทัลของรัฐบาล (Government Token : G-Token) โดยอนุมัติหลักการร่างประกาศกระทรวงการคลัง เรื่องการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการออกโทเคนดิจิทัล พ.ศ. ....ตามที่กระทรวงการคลังเสนอนั้น
G-Token คืออะไร?
G-Token (Government Token)ไม่ใช่คริปโต ไม่ใช่เงินแจก แต่คือ ตราสารหนี้ของรัฐในรูปแบบโทเคน ที่เทียบเท่ากับพันธบัตรออมทรัพย์ เป้าหมายคือ เพิ่มทางเลือกในการออมของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ และส่งเสริมให้คนไทยเข้าถึงโอกาสทางการเงินอย่างเท่าเทียม (Financial Inclusion) รัฐวางวงเงินออก G-Token ไว้เบื้องต้นที่ 5,000 ล้านบาท และเตรียมจำหน่ายผ่าน ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล และ บริษัทหลักทรัพย์ ที่ได้รับใบอนุญาต โดยคาดว่าจะเริ่มออกได้ภายใน 1–2 เดือน (ก่อนกันยายน 2568)
จุดเด่นของ G-Token ลงทุนง่าย ขายต่อได้ ผลตอบแทนชัดเจน
G-Token เหมาะสำหรับประชาชนทั่วไปที่ต้องการเริ่มต้นลงทุนอย่างปลอดภัย โดยมีจุดเด่นที่น่าสนใจดังนี้
- ลงทุนเริ่มต้นได้ตั้งแต่หลักร้อยถึงพันบาท
- ให้ผลตอบแทนเทียบเท่าพันธบัตรออมทรัพย์
- ขายต่อในตลาดรองได้ทันที ไม่ต้องรอครบกำหนด
- ความเสี่ยงต่ำ เพราะเป็นตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐบาล
- จัดการง่ายผ่านระบบดิจิทัล ทั้งซื้อ ขาย และรับเงินคืน
ที่สำคัญ G-Token ยังเป็นโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงการลงทุนในระดับเดียวกับสถาบันการเงิน ผ่านเทคโนโลยีใหม่ที่โปร่งใสและทันสมัย
ซึ่ง นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่า การอนุมัติไทยแลนด์ดิจิทัลโทเคน เป็นการเพิ่มช่องทางการออมการลงทุนให้กับประชาชนใหม่ เพิ่มเครื่องมือในการระดมทุนของรัฐบาล กำหนดวงเงินเบื้องต้นราว 5,000 ล้านบาท และการออกไทยแลนด์ดิจิทัลโทเคน เป็นส่วนหนึ่งของหนี้สาธารณะไม่ใช่เป็นการพิมพ์เงินขึ้นมาใหม่ และไม่ได้เป็นประเภทคริปโตเคอเรนซี่ ประชาชนสามารถลงทุนในสัดส่วนเพียงเล็กน้อยได้ เช่น ลงทุนได้ตั้งแต่หลัก 100-1,000 บาท เป็นต้น ทำให้รัฐบาลสามารถขยายฐานการลงทุนได้ และเป็นการวางรากฐานนวัตกรรมด้านเศรษฐกิจดิจิทัล
ด้านนายพชร อนันตศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ยืนยันว่า การออก G-Token ไม่ใช่การกู้เงินพิเศษเพื่อดำเนินการแจกเงินดิจิทัล แต่เป็นการกู้เงิน ภายใต้การชดเชยขาดดุลงบปกติ โดย G-Token เป็นการกู้เงินอีกหนึ่งวิธีใหม่ของรัฐบาล ดำเนินการภายใต้ พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัล จะช่วยลดต้นทุนการดำเนินการ จากเดิมที่ออกพันธบัตรมีค่าธรรมเนียมดำเนินการจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) 0.03% ของกรอบวงเงินจำหน่าย
G-Token จะดำเนินการเฉพาะภายใต้กรอบพันธบัตรออมทรัพย์ออมทรัพย์ ซึ่งจะแบ่งวงเงินบางส่วนมาใช้ในการระดมทุน ซึ่งในปีงบประมาณนี้ วางเป้าหมายระดมทุน 1 แสนล้านบาท เท่าปีงบประมาณ 67 ขณะนี้มีการออกพันธบัตรออมทรัพย์ไปแล้ว 3.5 หมื่นล้านบาท เหลือกรอบวงเงินอยู่ 6.5 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตาม การกู้เงินนั้นจะดูตามความจำเป็นในการใช้จ่าย
ส่วนขั้นตอนต่อไปเราจะทำงานร่วมกับคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ซึ่งจะเป็นผู้กำหนดรายละเอียด G-Token โดยจะมีการจำหน่ายผ่านบริษัทหลักทรัพย์ และศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Exchange) ถือเป็นครั้งแรกของโลก ที่รัฐบาลดำเนินการระดมทุนผ่านดิจิทัล Token ไปยังประชาชนโดยตรง
นายพชร ยืนยันว่า ผลตอบแทนของ G-Token จะเทียบเคียงดอกเบี้ยพันธบัตรออมทรัพย์จะไม่กระทบ Yield curve ของประเทศ เพราะไม่ได้ระดมทุนขนาดใหญ่ วงเงินที่อยู่ในระบบไม่ยาว อยู่ระหว่างพิจารณาการถือครองสูงสุดไม่เกิน 1 ปี อย่างไรก็ตาม G-Token ผู้ซื้อตลาดแรก สามารถขายเปลี่ยนมือได้เลยตั้งแต่วันแรกที่ซื้อ ไม่ได้กำหนดระยะเวลาการถือครองก่อนเปลี่ยนมือเหมือนกับพันธบัตรออมทรัพย์
G-Token ใครซื้อได้บ้าง?
- บุคคลธรรมดาสัญชาติไทย
- มีบัญชีบนแพลตฟอร์มที่ได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต.
วิธีลงทุน G-Token ต้องเตรียมตัวอย่างไร?
- เปิดบัญชี กับศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล หรือบริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต.
- ศึกษาหนังสือชี้ชวน จากกระทรวงการคลัง เพื่อดูอัตราดอกเบี้ย อายุของ G-Token และเงื่อนไขอื่นๆ
- ยืนยันตัวตนและส่งคำสั่งซื้อ ในช่วงเปิดจอง
- ชำระเงินและรับการยืนยันการถือครอง ผ่านระบบบัญชีดิจิทัลของคุณ
หลังจากซื้อแล้ว ผู้ถือสามารถ ขายเปลี่ยนมือได้เลยทันที ผ่านแพลตฟอร์มที่เข้าร่วมโครงการ