จ่ายเงินเยียวยาสะพานพระราม 2 ถล่ม กระทรวงแรงงานเปิดสิทธิที่ผู้บาดเจ็บ-เสียชีวิตจะได้รับ

กระทรวงแรงงาน จ่ายเงินเยียวยาสะพานพระราม 2 ถล่ม พร้อมเปิดสิทธิประโยชน์ที่ได้รับจากการสูญเสีย ทั้งคนไทยและแรงงานต่างด้าว
จากกรณีที่เกิดเหตุการณ์สะพานก่อสร้างถล่มบริเวณพระราม 2 กรมสวัสดิการคุ้มครองแรงงาน และสำนักงานประกันสังคม เข้าดูแลสิทธิแรงงาน และมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว โดยพบว่ามีลูกจ้างบาดเจ็บ 30 ราย (รักษาตัวในโรงพยาบาล 24 ราย) เสียชีวิต 5 ราย (แรงงานไทย 3 ราย และต่างชาติ 2 ราย)
กระทรวงแรงงาน ได้ดำเนินการจ่ายสิทธิประโยชน์ให้กับผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บ ผ่าน กองทุนเงินทดแทน และ กองทุนประกันสังคม ดังนี้
กรณีลูกจ้างเสียชีวิต
- เงินทดแทนกรณีเสียชีวิต สูงสุด 1,680,000 บาท (ขึ้นอยู่กับค่าจ้างของผู้เสียชีวิต)
- ค่าทำศพ 50,000 บาท
- เงินสงเคราะห์กรณีตาย เพิ่มเติมตามกฎหมาย
กรณีลูกจ้างบาดเจ็บ
- ได้รับการรักษาพยาบาล ตามสิทธิประกันสังคม
- ได้รับ เงินทดแทนระหว่างหยุดงาน ตามกฎหมายแรงงาน
นอกจากนี้ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ระบุ หตุการณ์ครั้งนี้เป็นโศกนาฏกรรมที่ส่งผลกระทบต่อแรงงานและนายจ้าง กระทรวงแรงงานจะดูแลให้ลูกจ้างที่ได้รับบาดเจ็บและครอบครัวของผู้เสียชีวิตได้รับสิทธิประโยชน์ครบถ้วน รวมถึงช่วยเหลือนายจ้างที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้ด้วย
กระทรวงแรงงานได้สั่งการให้ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยในสถานที่ก่อสร้างทั่วกรุงเทพฯ เพื่อลดความเสี่ยงจากอุบัติเหตุ โดยเฉพาะ การก่อสร้างโครงสร้างขนาดใหญ่ที่ต้องใช้เครื่องจักรและวัสดุหนัก “มาตรฐานความปลอดภัยของแรงงานเป็นสิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญสูงสุด นายจ้างต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโศกนาฏกรรมซ้ำอีก”กระทรวงแรงงานยังสั่งการให้มีการ ฝึกอบรมด้านความปลอดภัย (Safety Training) สำหรับแรงงานในภาคก่อสร้าง เพื่อเพิ่มมาตรฐานด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยของแรงงานไทย
ล่าสุด สำนักงานประกันสังคม รุดเยี่ยมประสานญาติผู้เสียชีวิตพร้อมเยี่ยมผู้ได้รับบาดเจ็บเพื่อชี้แจงสิทธิความคุ้มครองอันเกิดจากการประสบอันตรายอันเนื่องจากการทำงาน ให้กับทายาทผู้เสียชีวิตได้รับทราบว่าทายาทผู้เสียชีวิตจะได้รับความคุ้มครองจากกองทุนเงินทดแทน ในการดูแลให้ความช่วยเหลือ เยียวยาลูกจ้าง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ทายาทของผู้เสียชีวิตให้ได้รับความคุ้มครองโดยเร็วที่สุดต่อไป
1.ชาย อายุ 39 ปี เป็นวิศวกร ได้รับค่าทำศพ จำนวน 50,000 บาท เงินทดแทนกรณีเสียชีวิตร้อยละ 70 ของค่าจ้าง และชราภาพ 73,157 บาท
2.ชาย อายุ 48 ปี เป็นช่าง ได้รับเงินทดแทน 14,000 บาทต่อเดือนเป็นระยะเวลา 120 เดือนเป็นเงิน 1,680,000 บาท ได้รับค่าทำศพ 50,000 บาท และเงินชราภาพ 49,206.30 บาท
3.ชาย อายุ 40 ปี เป็นช่างรับเหมา ปัจจุบันเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 ได้รับค่าทำศพ 50,000 บาท เงินสงเคราะห์กรณีตาย 28,800 บาท และเงินชราภาพ 130,923.90 บาท
4.ชาย เป็นคนต่างด้าวสัญชาติเมียนมา ลูกจ้าง บ.อิตาเลียนไทยฯ ได้รับเงินทดแทนเดือนละ 6,770.40 บาท เป็นระยะเวลา 120 เดือน เป็นเงิน 182,448 บาท ค่าทำศพ 50,000 บาท และเงินชราภาพ 13,795.14 บาท
5.ชาย เป็นคนต่างด้าวสัญชาติเมียนมา ลูกจ้าง บ.อิตาเลียนไทยฯ ได้รับเงินทดแทนเดือนละ 6,770.40 บาท เป็นระยะเวลา 120 เดือน เป็นเงิน 182,448 บาท ค่าทำศพ 50,000 บาท และเงินชราภาพ 15,152.70 บาท