ธปท. ดับฝัน ไม่มีประชุม กนง. นัดพิเศษ มองเงินเฟ้อติดลบไม่ใช่เงินฝืดเชื่อทั้งปีเข้ากรอบ

ธปท. ดับฝัน ไม่มีประชุม กนง. นัดพิเศษ มองเงินเฟ้อติดลบไม่ใช่เงินฝืดเชื่อทั้งปีเข้ากรอบ

ธปท. ดับฝัน ไม่มีประชุม กนง. นัดพิเศษ มองเงินเฟ้อติดลบไม่ใช่เงินฝืดเชื่อทั้งปีเข้ากรอบ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ธปท. ดับฝันไม่มีประชุม กนง. นัดพิเศษ มองเงินเฟ้อติดลบไม่ใช่เงินฝืด เชื่อทั้งปีเข้ากรอบ

นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยืนยันว่า ไม่จำเป็นต้องมีการประชุม คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) นัดพิเศษก่อนถึงการประชุม กนง.ตามกำหนดนัดแรกของปีนี้ในวันที่ 7 ก.พ.67
พร้อมทั้งชี้แจงว่า กนง.ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อเป็นการสะท้อนการชั่งน้ำหนักที่พิจารณาปัจจัยทั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และเสถียรภาพการเงิน ขณะที่อัตราดอกเบี้ยของไทยยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับดอกเบี้ยโลก

“จุดยืนของ กนง. คือ ต้องการให้อยู่ในภาวะสมดุล เป็นกลาง ภาวะการเงินไม่ฉุดรั้งเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี ค่าเงินบาทในช่วงที่ผ่านมาอาจผันผวนไปบ้าง แต่อยู่ในขอบเขตที่รับได้”

นายปิติ กล่าวว่า การกำหนดอัตราดอกเบี้ยต้องทำให้อยู่ระดับที่พอดี ไม่สูงจนเป็นอุปสรรคต่อเศรษฐกิจ และไม่ต่ำเกินไปจนสร้างปัญหาเชิงเสถียรภาพ และสะสมความไม่สมดุลทางการเงิน กนง. จะดูข้อมูลที่เข้ามา และพร้อมจะปรับจุดยืนนโยบาย หากแนวโน้มเศรษฐกิจมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ไม่ได้ยึดจุดยืนไว้ว่าจะไม่ปรับเปลี่ยน แต่ขึ้นอยู่กับการประเมินภาพเศรษฐกิจว่ามีพัฒนาการอย่างไร

คาดเงินเฟ้อติดลบต่อเนื่องถึงก.พ. แต่ทั้งปียังอยู่ในกรอบ 1-2%

สำหรับปัญหาเงินเฟ้อในไทยคลี่คลายไปพอสมควรจากก่อนหน้าที่อยู่ในระดับสูง ปัจจุบันการที่เงินเฟ้อต่ำเป็นการสะท้อนระดับราคาสินค้าที่ไม่เพิ่มขึ้นจนเป็นภาระให้ประชาชน และสินค้าบางประเภทที่เคยปรับขึ้นราคาไปก่อนหน้านี้ก็เริ่มชะลอตัวลง

การที่เงินเฟ้อลดลงจนติดลบนั้น กนง. ได้คาดการณ์ไว้แล้ว เพราะเป็นผลมาจากราคาอาหารสดปรับลดลง ตลอดจนราคาพลังงานที่ลดลงจากการอุดหนุนของภาครัฐ แต่หากหักราคาอาหารสดและราคาพลังงานแล้ว เงินเฟ้อทั่วไปก็ยังไม่ได้ติดลบ

“อัตราเงินเฟ้อที่ติดลบ ไม่ได้สะท้อนว่าอุปสงค์หรือกำลังซื้อหมดไป ไม่ใช่ภาวะเงินฝืด หากจะถามว่าทำไมเงินเฟ้อติดลบแล้วไม่ลดดอกเบี้ย เพราะเงินเฟ้อที่ติดลบ มาจากปัจจัยเฉพาะที่ไม่ยั่งยืน เงินเฟ้อที่ลดไม่ได้สะท้อนว่ากำลังซื้อแผ่วลง เงินเฟ้อคาดการณ์ยังอยู่ในกรอบ 2% ซึ่งการลดลงของเงินเฟ้อ สะท้อนปัญหาการผลิตที่คลี่คลายลง” นายปิติ ระบุ

การดำเนินนโยบายการเงินจะดูแลให้เงินเฟ้ออยู่ในเป้าหมายอย่างยั่งยืน ซึ่ง กนง.คาดว่าเงินเฟ้อติดลบไปจนถึงเดือน ก.พ.67 และจากนั้นจะค่อยๆ เพิ่มขึ้น ทั้งปีนี้คาดว่าจะอยู่ในระดับ 1-2% ตามกรอบเป้าหมาย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook