ค่าเงินบาทวันนี้ 14 พ.ย. 66 เปิดที่ระดับ 35.99 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย

ค่าเงินบาทวันนี้ 14 พ.ย. 66 เปิดที่ระดับ 35.99 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย

ค่าเงินบาทวันนี้ 14 พ.ย. 66 เปิดที่ระดับ 35.99 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ค่าเงินบาทวันนี้ 14 พ.ย. 66 เปิดที่ระดับ 35.99 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย แทบไม่เปลี่ยนแปลง จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 36.01 บาทต่อดอลลาร์ คาดกรอบ 35.85-36.25 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงินธนาคารกรุงไทย ระบุค่าเงินบาทวันนี้ 14 พ.ย. 66 เปิดที่ระดับ 35.99 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย แทบไม่เปลี่ยนแปลง จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 36.01 บาทต่อดอลลาร์

โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวน sideway ใกล้ระดับ 36.00 บาทต่อดอลลาร์ (แกว่งตัวในช่วง 35.95-36.10 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะอ่อนค่าลง ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์และโฟลว์ซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว ก่อนที่เงินบาทจะทยอยแข็งค่าขึ้นบ้าง หลังราคาทองคำรีบาวด์ขึ้น ในช่วงที่เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลง ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นการปรับสถานะถือครองของผู้เล่นในตลาดก่อนรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ ในวันนี้

ดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.08% หลังบรรดาผู้เล่นในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น เพื่อรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ รวมถึงรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทค้าปลีก (Retailers) ในสัปดาห์นี้ นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดยังคงจับตาประเด็นการเมืองสหรัฐฯ ว่าสภาคองเกรสจะสามารถผ่านร่างกฎหมายงบประมาณได้ทันภายในวันที่ 17 พฤศจิกายน นี้หรือไม่ เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะ Government Shutdown

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทอาจแกว่งตัว sideway ใกล้ระดับ 36.00 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ อย่าง อัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ทำให้ ทั้งการอ่อนค่าและการแข็งค่าของเงินบาท ในช่วงก่อนตลาดรับรู้รายงานข้อมูลดังกล่าว ก็อาจเป็นไปอย่างจำกัด อย่างไรก็ดี ควรระวังความผันผวนในช่วงระหว่างวัน จากฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติที่ยังมีความไม่แน่นอน โฟลว์ธุรกรรมทองคำ และความผันผวนของเงินเยนญี่ปุ่น (หลังผู้เล่นในตลาดยังคงกังวลการเข้าแทรกแซงค่าเงินของทางการญี่ปุ่น และช่วงนี้จะมีสัญญา Option เงินเยน ใกล้หมดอายุในปริมาณที่มาก)

อนึ่ง เราแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรเตรียมรับมือความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ โดยเฉพาะในกรณีที่ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน กลับไม่ได้ชะลอลงตามคาด และออกมาสูงกว่าที่ตลาดประเมินไว้ ก็อาจทำให้ ผู้เล่นในตลาดกลับมากังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ซึ่งจะสะท้อนผ่านการเพิ่มโอกาสเฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนธันวาคม ส่งผลให้ เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีโอกาสปรับตัวขึ้นได้ไม่ยาก กดดันให้ ราคาทองคำเสี่ยงปรับตัวลงต่อ และทำให้เงินบาทมีโอกาสผันผวนอ่อนค่าลงทดสอบโซนแนวต้านระยะสั้นแถว 36.20-36.30 บาทต่อดอลลาร์ ได้

ในช่วงนี้ ทุกสินทรัพย์ยังอยู่ในช่วงเผชิญความผันผวนสูง จากทั้งความไม่แน่นอนของทิศทางนโยบายการเงินและสถานการณ์สงคราม ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.90-36.10 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงก่อนตลาดรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ และประเมินกรอบ 35.85-36.25 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ

ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 รีบาวด์ขึ้น +0.75% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงาน TotalEnergies +1.2% หลังราคาน้ำมันดิบทยอยปรับตัวสูงขึ้น จากมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่คาดว่าทางกลุ่ม OPEC+ อาจเดินหน้าลดกำลังการผลิตต่อเนื่อง ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากนัก เพื่อรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อทิศทางบอนด์ยีลด์ทั่วโลกได้

ในฝั่งตลาดบอนด์ ผู้เล่นในตลาดต่างรอลุ้น รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ รวมถึงรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ อาทิ ยอดค้าปลีก และผลประกอบการของบรรดาบริษัทค้าปลีกสหรัฐฯ ทำให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงแกว่งตัว ผันผวนใกล้ระดับ 4.65% ทั้งนี้ เราประเมินว่า หากรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ออกมาสูงกว่าคาด ก็อาจหนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นต่อได้บ้าง โดยเราคงมุมมองเดิมว่า ผู้เล่นในตลาดควรอาศัยจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้นในการทยอยเข้าซื้อ

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวน โดยมีจังหวะแข็งค่าขึ้น ตามการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และการอ่อนค่าของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ที่เกือบทะลุระดับ 152 เยนต่อดอลลาร์ ก่อนที่เงินดอลลาร์จะพลิกกลับมาอ่อนค่าลง ตามการปรับสถานะถือครองของผู้เล่นในตลาดก่อนรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ซึ่งส่งผลให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลง พร้อมกับการแข็งค่าขึ้นของบรรดาสกุลเงินหลัก ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ทยอยย่อตัวลงสู่ระดับ 105.7 จุด (กรอบ 105.6-106 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ บรรยากาศในตลาดการเงินที่กลับมาอยู่ในภาวะระมัดระวังตัวมากขึ้น รวมถึงการย่อตัวลงบ้างของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้ช่วยหนุนให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) สามารถรีบาวด์ขึ้น กลับสู่โซน 1,950 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อย่างไรก็ดี การปรับตัวขึ้นของราคาทองคำก็ถูกจำกัดไว้ เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างรอลุ้น รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ และอาจมีการปรับสถานะถือครองที่ชัดเจนหลังรับรู้รายงานข้อมูลดังกล่าว

สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ในเดือนตุลาคม โดยนักวิเคราะห์ต่างมองว่า การปรับตัวลดลงของราคาพลังงานอาจส่งผลให้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้น +0.1%m/m หรือ +3.3%y/y ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า ทว่า ในส่วนของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ซึ่งไม่รวมผลของราคาอาหารและพลังงาน อาจยังคงเพิ่มขึ้น +0.3%m/m หรือ +4.1%y/y หลังราคาสินค้าบางส่วนอาจชะลอตัวในอัตราน้อยลง อาทิ ราคารถยนต์มือสอง ซึ่งการชะลอตัวลงของอัตราเงินเฟ้อ โดยเฉพาะในส่วนของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ช้ากว่าที่เฟดต้องการ อาจทำให้บรรดาเจ้าหน้าที่เฟดยังคงมองว่า เฟดมีโอกาสเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ หรือ คงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นาน (ซึ่งต้องรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดในตลอดทั้งสัปดาห์นี้)

ส่วนในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจยุโรป ผ่านรายงานข้อมูลตลาดแรงงานอังกฤษ โดยเฉพาะในส่วนของยอดการจ้างงานและอัตราการเติบโตของค่าจ้าง รวมถึง อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจยูโรโซนในไตรมาสที่ 3 และ รายงานดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจโดย ZEW สำหรับเยอรมนีและยูโรโซน นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) และธนาคารกลางยุโรป (ECB)

และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามประเด็นการเมืองสหรัฐฯ ว่าสภาคองเกรสจะสามารถผ่านร่างกฎหมายงบประมาณเพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดภาวะ Government Shutdown ได้หรือไม่ พร้อมกับรอลุ้น รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทค้าปลีก อาทิ Home Depot ซึ่งจะช่วยสะท้อนภาพการใช้จ่ายในฝั่งสหรัฐฯ ได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook