ทอท.-นกแอร์ บทเรียนแรกคดีผู้บริโภค

ทอท.-นกแอร์ บทเรียนแรกคดีผู้บริโภค

ทอท.-นกแอร์ บทเรียนแรกคดีผู้บริโภค
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ศาสตราภิชาน ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีตสมาชิกวุฒิสภา กลายเป็นตัวอย่างผู้บริโภคที่มีประสบการณ์ฟ้องร้องคดี พ.ร.บ.วิธีพิจารณาผู้บริโภค

และสามารถฟ้องร้องชนะคดีเรียกร้องค่าชดใช้เป็น "รายแรก" ของเมืองไทย

ภายหลังกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้เมื่อ 23 ส.ค.2551 ในกรณีร้องสิทธิ์ผู้บริโภคกับ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด(มหาชน) หรือ (ทอท.)และสายการบิน "นกแอร์" บกพร่องในหน้าที่การให้บริการ "ไม่ใช้" เครื่องตรวจสแกนระเบิดวัตถุโลหะแก่ผู้โดยสาร

เรื่องเกิดขึ้นเมื่อดร.เจิมศักดิ์ เดินทางไปทำงานในหน้าที่ยังจังหวัดนครศรีธรรมราช ระหว่างวันที่ 15 -16 สิงหาคม 2551 โดยได้ใช้บริการของสายการบิน "นกแอร์" และขึ้นเครื่องที่สนามบินจังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อเดินทางกลับเข้ากรุงเทพฯ ในวันที่ 16 สิงหาคม 2551

ปรากฎว่า ก่อนเข้าประตูเพื่อจะขึ้นเครื่องไม่มีการตรวจตัวผู้โดยสาร ด้วยเครื่องสแกนตัวผ่านประตู ซึ่งปกติก่อนขึ้นเครื่อง ผู้โดยสารทุกคนจะต้องเดินผ่านประตูที่มีเครื่องสแกนตัว เพื่อตรวจหาวัตถุระเบิดหรือ วัตถุโลหะต่างๆ หากพบเครื่องจะมีเสียง "ติ๊ด" เตือนให้เจ้าหน้าทีได้ยิน จากนั้นผู้โดยสารคนนั้นจะต้องถูกค้นตัวด้วยเครื่องสแกนมือจากเจ้าหน้าที่อีกครั้งหนึ่ง

ดร.เจิมศักดิ์ เล่าให้ฟังว่า ในวันที่เดินทางกลับเพื่อไปขึ้นเครื่องบินสายการบินนกแอร์ ไม่ได้มีการตรวจสแกนหาวัตถุโลหะ จึงรู้สึกแปลกใจเป็นอย่างมากโดยได้เดินไปสอบถามเจ้าหน้าที่การท่าฯ

ได้รับคำตอบกลับมาว่า "ทางมหาวิทยาลัยวิลัยลักษณ์ ได้ยืมเครื่องสแกนผ่านประตูไป และยังไม่ได้นำกลับมาคืน"

"ผมเคยเป็นบอร์ดการท่าอากาศยานมาก่อน จึงถามเจ้าหน้าที่ว่า ทำไมไม่ตรวจตัวผม เขาบอกว่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ขอยืมเครื่องตรวจตัวผ่านประตูไป ผมตกใจว่า ถ้าหากมีใครเอาระเบิดขึ้นมา หรือจี้กัปตันบนเครื่อง ผมจะต้องถูกเป็นตัวประกันไปด้วย จึงถามถึงเครื่องสแกนตัวด้วยมือ ก็ถูกขอยืมไปด้วยเหมือนกัน"

ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ของสายการบินนกแอร์ ก็ไม่ได้คิดที่จะดูแล หรือ แก้ไขเหตุการณ์แต่อย่างใด จนกระทั่งเมื่อดร.เจิมศักดิ์ เดินทางกลับไปถึงสนามบินดอนเมือง ก็ยังรู้สึกไม่สบายใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น บังเอิญได้พบกับ คุณสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงนำเรื่องปรึกษา และได้รับรู้รายละเอียดเกี่ยวกับกฎหมายวิธีพิจารณาคดีเพื่อผู้บริโภค ซึ่งผู้บริโภคมีสิทธิ์ที่จะฟ้องร้องด้วยตัวเองได้

เขาเล่าต่อไปว่า วันนั้นเป็นวันที่ 17 ส.ค.2551 และรู้ว่ากฏหมายจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 23 ส.ค.2551 ซึ่งเป็นวันเสาร์ ก็กลับบ้านมานอนคิด จึงรู้ว่าเรื่องของผมเข้าเกณฑ์กฎหมายคดีเพื่อผู้บริโภคทุกอย่าง หลังจากที่ได้พูดคุยรายละเอียดเกี่ยวกับกฎหมายชัดเจนดีแล้ว จึงนำเรื่องฟ้องร้องศาลในวันจันทร์ 25 ส.ค.ทันที

"ผมรู้ว่า ไม่ต้องใช้ทนาย ก็สามารถฟ้องร้องด้วยตัวเองได้ พร้อมกับนำหลักฐานที่มีไป เช่น ตั๋วเครื่องบิน ซึ่งในวันนั้นเป็นคดีผู้บริโภครายแรก ยังไม่เคยมีคดีแบบนี้มาก่อน ศาลจึงให้นิติกรมาช่วย คุณสารีก็ไปด้วย ผมก็เล่าให้เจ้าหน้าที่ และมีนิติกรทำคดีชั่วคราวคอยจดบันทึก จากนั้นเขาก็ไปแต่งเรื่องให้เรียบร้อยเหมือนกับทนาย แล้วจึงเซ็นลายมือ"

จากนั้น ดร.เจิมศักดิ์ จึงคำนวณค่าเสียหายเอง เพราะเป็นนักเศรษฐศาสตร์อยู่แล้ว โดยใช้สมมติฐานว่า การที่ไม่ตรวจตัวผู้โดยสารทำให้ตัวเขามีความเสี่ยงที่จะตาย หรือ พิการ โดยถ้าไม่มีการตรวจตัวผู้โดยสาร 10 เที่ยวบิน ก็จะมีโอกาสที่จะเกิดการตายได้ 1 ใน 10 เที่ยว จากนั้นมานั่งถามตัวเองว่า ยังต้องทำงานอีก 15 ปี มีรายได้ปีละ 3 ล้าน รวม 15ปี เท่ากับ 45 ล้าน

ถ้าตายไปเงินก้อนนี้ก็สูญไป เทียบกับโอกาสตาย 1 ใน 10 ก็จะได้ตัวเงินชดใช้เรียกไป 4.5 ล้านบาท

ประกอบกับ การเกิดความหวาดกลัว ทำให้เกิดความว้าวุ่นระหว่างเดินทาง จึงเรียกค่าเสียไปอีก 5 แสนบาท รวมกับถ้าหากตัวเองต้องตายแล้ว ภรรยาจะขาดไร้ผู้อุปการะอีก 1 ล้าน รวมเป็น ทั้งหมด 6 ล้านบาท

เสร็จแล้วเกิดฉุกคิดขึ้นมาว่า กฎหมายฉบับนี้มีเรื่องขอ "คุ้มครองฉุกเฉิน" ให้แก่คนอื่นได้อีกด้วย เพราะถ้ายังไม่มีการติดตั้งเครื่องตรวจ อาจจะเกิดการตายได้ จึงขอร้องเพื่อคุ้มครองฉุกเฉินให้แก่คนอื่นด้วย

โดยเขาขอความคุ้มครองจากศาลว่า หากสนามบินยังไม่มีเครื่องตรวจวัตถุดิบระเบิดและโลหะ ก็ห้ามไม่ให้ครื่องบินขึ้นทำการเด็ดขาด

จากนั้นอีกราว 2 สัปดาห์ ผู้พิพากษาได้นัดไตร่สวนและไกล่เกลี่ยทั้งฝ่ายโจทย์และจำเลยสองฝ่าย ตามหลักการของกฏหมาย ซึ่งจำเลยยอมรับว่า ไม่มีเครื่องตรวจจริงในวันดังกล่าว ขณะที่ศาลมองว่า ดร.เจิมศักดิ์ มีเจตนาที่ดีที่จะคุ้มครองสิทธิ์ของผู้บริโภค

ดร.เจิมศักดิ์ บอกว่า เขาขอให้ศาลขอวิดีโอวงจรปิดมาดูอีกครั้งว่า สนามบินได้มีการตรวจตัวผู้โดยสารหรือไม่ ซึ่งปรากฏว่า มีการตรวจเฉพาะประตูทางเข้าอาคารสนามบินเพียงครั้งเดียวเท่านั้น และเป็นการตรวจเพื่อความปลอดภัยของอาคาร แต่ภายในสนามบินมีทั้งร้านค้า ร้านอาหารมากมาย ย่อมจะไม่ปลอดภัยแก่ผู้โดยสารอย่างแน่นอน หากไม่มีการตรวจผู้โดยสารประตูขึ้นเครื่องอีกครั้ง

รวมถึงขอให้ศาลเรียกเอกสารจากท่าอากาศยานฯ เพื่อดูว่า ทางมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้นำเครื่องสแกนมาคืนเมื่อวันที่เท่าไหร่

"ทางทอท.บอกไม่ทราบ ศาลจึงเรียกพยานหลักฐาน พบว่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้นำเครื่องตรวจมาคืนในวันที่ 15 ส.ค.2551 แต่ผมเดินทางกลับในวันที่ 16 ส.ค. แต่นำมาติดตั้งใหม่ในวันที่ 17 ส.ค. ห่างไปอีก 2 วัน ได้รับฟังเหตุผลว่า เจ้าหน้าที่ขี้เกียจเสียบปลั๊ก "

ศาลแพ่งจึงตัดสินให้ชนะคดีในวันที่ 14 ธ.ค.2551 รวมเวลาฟ้องร้อง 3 เดือนเศษ

"ผมชนะคดี และท่าอากาศยานฯ ต้องชดใช้ค่าความกลัวตลอดการเดินทาง ซึ่งแต่ละคนมีความกลัวไม่เท่ากัน ผมได้เดินไปสอบถามเจ้าหน้าหลายครั้ง และเคยเป็นบอร์ดของทอท.ด้วย จึงย่อมรู้ว่าจะเกิดภัยได้ จึงเกิดความหวาดกลัวจริง แต่วัดค่ายาก จึงชดใช้ให้ 5 หมื่นบาท"

ดร.เจิมศักดิ์ บอกว่า ตัวเงินที่ได้รับไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่มองว่า กรณีนี้จะเป็นบรรทัดฐานให้แก่ผู้บริโภคโดยรวมในอนาคตมากกว่า

อย่างไรก็ตาม คดีนี้ยังเปิดทางให้สามารถอุทธรณ์ได้อีก ผมจึงอุทธรณ์ขอให้สายการบินนกแอร์ ต้องมีส่วนร่วมชดใช้ค่าเสียหายด้วย เพราะ 1. ผมจ่ายเงินค่าตั๋วเดินให้กับนกแอร์ ไม่ได้เคยจ่ายกับทอท. ตรงนั้นเขาแบ่งรายได้กันเองอยู่แล้ว และ 2. สายการบินนกแอร์ ต้องดูแลความปลอดภัยด้วยไม่ใช่สักแต่บินอย่างเดียว ซึ่งเจ้าหน้าที่สายการบินไม่ได้คิดแก้ไขปัญหาอะไรช่วงนั้นเลย ผมคิดว่า สายการบินต้องร่วมชดใช้ในความเสี่ยงภัยที่ผมได้รับด้วย

ขณะเดียวกัน ในสายการบินต่างประเทศ เช่น สายการบิน ยูไนเต็ดแอร์ไลน์ ที่สนามบินสุวรรณภูมิ ได้จ้างรปภ.มาตรวจความปลอดภัยอีกชั้นหนึ่งเองด้วย รวมถึงสายการบินอีกหลายแห่งทั่วโลก จะค้นตัวผู้โดยสารอีกครั้ง ก่อนจะเข้าประตูขึ้นเครื่อง

"แต่นี่เขาบอกไม่ใช่หน้าที่ ผมจึงอุทธรณ์ต่อไปอีก คงต้องรอฟังคำพิพากษาจากศาลต่อไป แต่จะแพ้หรือชนะไม่เป็นไร ตอนนี้ผมชนะแล้ว อย่างน้อยได้ทำให้ผู้ประกอบการต้องระมัดระวังมากขึ้น และดูแลเครื่องตรวจวัตถุระเบิดอย่างดี

เชื่อว่า ประชนชนได้บทเรียนจากกรณีนี้ เพื่อเป็นบรรทัดให้แก่สังคมต่อไป" ดร.เจิมศักดิ์ กล่าว

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook