ออกกม.พิเศษฟันทึ้งงบ

ออกกม.พิเศษฟันทึ้งงบ

ออกกม.พิเศษฟันทึ้งงบ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กระทรวงการคลังทำคลอดกฎหมายเอาผิด นักการเมือง-ขรก. ใช้เงินหลวงหละหลวม ดูแลงบประมาณให้มีประสิทธิภาพ

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังได้เร่งรัดพิจารณาร่างพระ ราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การเงินการคลังออกมาบังคับใช้ได้ทันภายในปีนี้ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ เพื่อกำกับดูแลการใช้เงินภาษีของแผ่นดินให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ร่างพ.ร.บ.การเงินการคลังที่จะเสนอต่อรัฐบาลและรัฐสภานั้น ได้มีกำหนดบทลงโทษทางแพ่ง สำหรับข้าราชการการเมืองและข้าราชการประจำ ที่ทำให้เกิดความเสียหายกับงบประมาณประเทศ ต้องชดใช้เงินที่เกิดขึ้น พร้อมกับปรับอีก 1 เท่า

อย่างไรก็ตาม จะไม่มีโทษทางอาญา เพราะเห็นว่าจะรุนแรงเกินไป

สำหรับสาระสำคัญของร่างพ.ร.บ.การเงินการคลัง จะให้มี การดูแลการบริหารงาน ทั้งด้านรายได้ รายจ่าย การบริหารหนี้ และการบริหารเงินคงคลังให้มีประสิทธิภาพ โดยต้องกำหนดนโยบายการคลังที่ชัดเจนใน 4 ปีข้างหน้า ที่คำนึงถึงการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เสถียรภาพด้านเงินเฟ้อ ประมาณการความต้องการใช้เงินของหน่วยงานรัฐและความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น

นอกจากนี้ ยังให้มีการตั้งคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังขึ้นมา 1 ชุด มี รมว.คลัง เป็นประธาน เพื่อกำกับดูแลนโยบายการเงินการคลัง และมีการตั้งคณะกรรมการรายได้ คณะกรรมการรายจ่าย โดยให้ปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน เพื่อทำแผนรายได้รายจ่ายในระยะ 4 ปี รายงานให้คณะกรรมการการเงินการคลังเห็นชอบเพื่อประสิทธิภาพ

สำหรับการก่อหนี้นั้น จะกำหนดให้หน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจต้องรายงานการก่อหนี้ให้กระทรวงการคลังเห็นชอบ โดยต้องระบุจำนวนเงินที่จะกู้ หนี้คงค้าง เงื่อนไขการกู้เงิน รวมถึงผลที่จะได้รับจากการกู้เงินดังกล่าว

ทั้งนี้ ร่างพ.ร.บ.การเงินการคลัง ได้ระบุบทลงโทษหน่วยงานใดฝ่าฝืนการดำเนินการตามกฎหมายนี้ ให้คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น หากพบ ว่ามีความเสียหาย ให้ข้าราชการการเมือง ข้าราชการประจำ ลูกจ้าง พนักงานเจ้าหน้าที่ ชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้น พร้อมกับค่าปรับอีก 1 เท่า เว้นแต่มีการทักท้วงผู้บังคับบัญชาไว้อย่างเป็นลายลักษณ์อักษร

นายสมชัย กล่าวว่า เรื่องบทลงโทษจะต้องมีการพิจารณากันอีกครั้งว่ามีความรุนแรงมากไปหรือน้อยไปหรือไม่ แต่คงต้องมีการกำหนดโทษอยู่ในกฎหมาย เพราะไม่เช่นนั้นกฎหมายก็จะไม่ศักดิ์สิทธิ์ ไม่มีผลบังคับใช้ได้จริง

แหล่งข่าวกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้มีการทำประชาพิจารณ์ร่างพ.ร.บ.การเงินการคลังหลายครั้ง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการใช้กฎหมายนี้ ก็มีความกังวลเรื่องบทลงโทษว่าอาจจะเป็นอุปสรรคการทำงาน ขณะที่นักวิชาการเห็นด้วยกับร่างกฎหมายนี้ว่าเป็นเรื่องที่จะทำให้การบริหารเงินภาษีมีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook